นักกม.ถกสิทธิการชุมนุม ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

พรรณษา กาเหว่า ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2664 ครั้ง

 

ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย เช่น การยึดสนามบินการของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การปิดถนนบริเวณสี่แยกราชประสงค์ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 การชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จังหวัดสงขลา รวมทั้งการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว เป็นต้น การชุมนุมเหล่านี้ ผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสิทธิและขอบเขตเสรีภาพการแสดงออกของตนเอง

 

ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ร่วมกับสมาคมนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ จัดเวทีสาธารณะ “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุม มองผ่านคำพิพากษา” โดยมีผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

 

ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทยและหลักการสากลให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม แม้จะเกิดการรบกวนบุคคลที่ 3 แต่รัฐธรรมนูญและหลักสากลก็เห็นความสำคัญของการใช้หลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงให้การรับรองการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ

 

 

การชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงการชุมนุมก่อนว่า การชุมนุมหมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนมาชุมนุมกัน โดยผู้ชุมนุมต้องมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเดียวกันที่แน่นอนและชัดเจน การกระทำร่วมของผู้ชุมนุมทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้เจตจำนงค์เดียวกัน การกระทำใดที่ถือเป็นการกระทำส่วนตัวไม่เรียกว่าเป็นการชุมนุม”

 

การชุมนุมมีระยะเวลาจำกัด แต่ไม่ได้หมายความว่าการชุมนุมต้องจบในระยะเวลาครึ่งวัน หนึ่งวัน หรือสามถึงห้าวัน การชุมนุมที่ยาวนานหนึ่งร้อยกว่าวันสามารถทำได้ และการชุมนุมที่กินระยะเวลานานเกิดขึ้นแล้วในประเทศเกาหลีใต้ การชุมนุมต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องมีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงต้องมีการนัดหมายและบอกถึงเจตจำนงค์ของการชุมนุม ทำให้การชุมนุมต่างจากการนัดหมายอื่นๆ และกิจกรรมขณะที่ชุมนุมต้องอยู่ในขอบเขตของวัตถุประสงค์ และวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้การชุมนุมต่างจากการชุมนุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร

 

ดร.จันทจิรา อธิบายประเภทของการชุมนุมว่า ‘การชุมนุมโดยสงบ’ ในการตีความอย่างกว้าง หมายถึงการชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรง กิจกรรมขณะชุมนุมมีความสมดุล ซึ่งการใช้เครื่องขยายเสียงหากดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่มีลักษณะก่ออันตรายต่อสาธารณชน และไม่ปกปิดใบหน้า ถือเป็นการชุมนุมด้วยความสงบ

 

 

 

ผิดหรือไม่? การพกพาอาวุธในที่ชุมนุม

 

‘การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ’ สามารถแยกคำจำกัดความของอาวุธได้ 3 ข้อ คือ 1.อาวุธโดยสภาพ กรณีที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มพกพาอาวุธเข้าไปยังสถานที่ชุมนุม เช่น คดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ผู้ชุมนุมพกกรรไกร, ปืน, ไม้คันธง, หนังสติ๊ก เข้ามาในสถานที่ชุมนุม ศาลถือเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ เนื่องจากเป็นการกระทำส่วนตัวของผู้พกพาอาวุธ เพราะอาวุธที่พบเมื่อเทียบกับปริมาณผู้มาชุมนุมมีจำนวนน้อยกว่ามาก

 

2.อาวุธโดยการใช้ สามารถดูได้จากเจตนาในการชุมนุม การนำอาวุธมาใช้เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาสลายการชุมนุม ศาลถือเป็นเจตนาของแต่ละบุคคลและไม่ถือเป็นการชุมนุมโดยใช้อาวุธ

 

3.อาวุธป้องกันอาวุธหรืออุปกรณ์ป้องกันอาวุธ การที่ผู้ชุมนุมพกพาหน้ากากป้องกันก๊าซ, หมวกกันน็อค, ไม้เบสบอล เป็นต้น ถือเป็นการชุมนุมโดยใช้อาวุธตามกฎหมายของเยอรมนี เพราะถือว่าผู้ชุมนุมมีเจตนาใช้อุปกรณ์ดังกล่าวตอบโต้เจ้าหน้าที่

 

ดร.จันทจิรากล่าวต่อว่า การชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ คือการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งอาจจะผิดกฎหมายบางอย่างของบ้านเมือง เช่น พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2535 หรือประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา เช่น มาตรา 215 และ มาตรา 216 ว่าด้วยการชุมนุม มั่วสุมกัน ตั้งแต่ 10 คน เพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง รวมถึงการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการ จุดนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพัฒนาการวุฒิภาวะของสังคมที่จะเรียนรู้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมที่เป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรองทางสังคม

 

เมื่อการชุมนุมเป็นวิถีการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะมุมมองตุลาการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกับคุณค่าตามพระราชบัญญัติกฎหมายที่มุ่งคุ้มครอง และต้องสร้างความสมดุลว่า คุณค่าใดเป็นคุณค่าที่ต้องรักษาไว้มากกว่ากัน

 

 


“อย่างการเข้าไปคัดค้านการตรากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถ้าบริบทของเรื่องมีน้ำหนัก ศาลควรพิจารณาคุณค่าทางตามรัฐธรรมนูญมากกว่าคุณค่าทางพระราชบัญญัติ” ผศ.ดร.จันทจิรากล่าว

 

‘สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม’ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

 

         “เมื่อกล่าวถึงเสรีภาพในการชุมนุม คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพการยึดสถานที่ราชการ ยึดสนามบิน หรือยึดท้องถนนเป็นเวลาหลาย ๆ วัน เป็นเสรีภาพที่ใครก็ทำได้ ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้อำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย สกัดกั้นการชุมนุม จำกัดขอบเขตการชุมนุม หรือแม้กระทั่งสลายการชุมนุม” ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า

 

ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายมาจำกัดการชุมนุม ผู้ชุมนุมเชื่อว่าสามารถกระทำการใดก็ได้โดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะ แต่ผู้ชุมนุมยังไม่มีความเข้าใจในคำจำกัดความของพื้นที่สาธารณะเพียงพอ

 

         “กรณีผู้ชุมนุมรายหนึ่งที่นครศรีธรรมราช เดินเข้าไปในบ้านผู้พิพากษาเพื่อขอเข้าห้องน้ำ โดยอ้างความเป็นสาธารณะสมบัติ ซึ่งผู้พิพากษากได้บอกกับผู้ชุมนุมว่า ไม่มีสิทธิ์ใช้ แต่จะอนุญาตให้ใช้เป็นการชั่วคราว ซึ่งนี่เป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งของความเข้าใจผิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของผู้ชุมนุม”

 

ขณะที่เมื่อพูดถึงการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ยังมีความไม่มั่นใจในอำนาจหน้าที่ของตนและไม่ทราบถึงขอบเขตอำนาจการปฏิบัติหน้าที่ ยกตัวอย่างนายตำรวจผู้ใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายของฝ่ายตำรวจ เคยตั้งคำถามถึงกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจในการจัดการการชุมนุม เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 ให้สิทธิประชาชนในการชุมนุมเต็มที่ ตำรวจจะจำกัดสิทธินี้ได้ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะ เพราะฉะนั้นตำรวจจึงไม่มีอำนาจ สะท้อนให้ห็นว่า ตำรวจรู้สึกไม่มั่นใจในอำนาจของตน ไม่มั่นใจในความรู้ทางกฎหมาย และเกิดความสับสนในฝ่ายตำรวจ

 

 

 

ความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพ ผิดพลาดจากในห้องเรียน

ดร.กิตติศักดิ์เชื่อว่า ความไม่เข้าใจในขอบเขตสิทธิการชุมนุมและปัญหาการใช้สิทธิเสรีภาพ เกิดจากการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่ยังไม่เพียงพอ องค์ความรู้และความเข้าใจในสังคมยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่ตรงกันอยู่หลายประการ ตามหลักวิชาการเรียนการสอนและทำความเข้าใจใน การใช้สิทธิและการเข้าใจในสิทธิเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เมื่อผู้เรียนไม่สามารถตกผลึกทางความรู้และไม่สามารถถ่ายทอดได้ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของผู้ที่จะเข้ามาสู่ฝ่ายปกครองในอนาคต

 

หากไม่เร่งเสริมสร้างความเข้าใจขอบเขตสิทธิเสรีภาพ บทบาท และหน้าที่ให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา เชื่อว่าอนาคต ประเทศจะยังคงย่ำอยู่กับที่และไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: