พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย

ศูนย์ข่าว TCIJ 25 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 41434 ครั้ง


เมื่อ พ.ศ.2555 สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้แถลงผลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กไทย อายุ 6 เดือน ถึง 12 ปี ว่า เด็กไทยกำลังเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ ทั้งด้านการขาดสารอาหารบางอย่างและการได้รับสารอาหารบางอย่าง มากเกินความต้องการของร่างกาย โดยร้อยละ 20 ของเด็กไทยมีน้ำหนักเกินมาตรฐานเข้าข่ายโรคอ้วน เนื่องจากพฤติกรรมในการบริโภคและได้รับสารอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และร้อยละ 60-70 บริโภคอาหารที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ซี และดี เด็กบางคนอาจได้รับอาหารเพียงพอ แต่สัดส่วนของอาหารไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ร้อยละ 18 ของเด็กในต่างจังหวัด และร้อยละ 9 ของเด็กในเมือง มีปัญหาโลหิตจาง รวมถึงภาวะขาดธาตุเหล็กและวิตามินดี อาจส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็กในด้านที่สำคัญ เช่น การเรียนรู้ และร่างกายแคระแกร็นเป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลสำรวจในภาพรวมยังพบว่า เด็กในอาเซียน โดยเฉพาะเด็กไทยและมาเลเซีย ประสบปัญหาภาวะโภชนาการคล้ายกัน คือมีน้ำหนักเกินและเข้าข่ายโรคอ้วน  ขณะที่อินโดนีเซียประสบปัญหาเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและแคระแกร็นอย่างเห็นชัด ส่วนในเวียดนามเด็กในเขตเมืองจะมีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน  ขณะที่เด็กในต่างจังหวัด จะมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานและแคระแกร็น

การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ.2556 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 26,520 ครัวเรือนทั่วประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การบริโภคอาหารมื้อหลัก (3 มื้อ/วัน)

ร้อยละ 88.0 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทานอาหารมื้อหลักในแต่ละวันครบ 3 มื้อ โดยพบว่ากลุ่มวัยเด็ก (6-14 ปี) มีสัดส่วนดังกล่าวสูงสุดร้อยละ 92.7 และต่ำสุดในกลุ่มวัยเยาวชน (15-24 ปี) ร้อยละ 86.7

เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจปี 2548 2552 และปี 2556 พบว่าประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักครบ 3 มื้อเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 82.2 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 87.1 และ 88.0 ในปี 2552 และ 2556 ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มวัยเด็ก (6-14 ปี) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) และกลุ่มวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ส่วนกลุ่มวัยเยาวชน (15-24 ปี) มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย

การบริโภคอาหารว่าง

ผู้บริโภคอาหารว่างมีประมาณ 3 ใน 4 (ร้อยละ 79.3) ของประชากร อายุ 6 ปีขึ้นไป โดยประชากรวัยเด็ก (6-14 ปี) มีอัตราการบริโภคอาหารว่างสูงสุดร้อยละ 89.8 รองลงมาคือวัยเยาวชน (15-24 ปี) ร้อยละ 85.5 วัยทำงาน (25-59 ปี) ร้อยละ 77.6 ส่วนวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีอัตราการบริโภคอาหารว่างต่ำสุด ร้อยละ 70.8

ในกลุ่มผู้ที่ทานอาหารว่างนั้น ได้ระบุสาเหตุที่ทานเพราะอยากทาน สูงถึงร้อยละ 45.5 รองลงมาคือ ทานเพราะรู้สึกหิว ร้อยละ 36.3 และเพราะได้เวลาทาน/เคยทานเป็นประจำร้อยละ 18.0 ซึ่งพบว่ารูปแบบการทานอาหารว่างมีลักษณะที่เหมือนกันในทุกกลุ่มอายุ

รสชาติอาหารมื้อหลักที่รับประทานเป็นประจำ

สำหรับรสชาติอาหารที่ทานเป็นประจำพบว่าประชากรส่วนใหญ่ทานรสจืดมากที่สุด ร้อยละ 39.9 รองลงมาคือรสเผ็ดร้อยละ 27.3 รสเค็มร้อยละ 13.0 รสชาติหวานร้อยละ 11.2 รสเปรี้ยวร้อยละ 4.0 รส อื่นๆ เช่น รสกลางๆ ร้อยละ 4.6 แต่ทั้งนี้จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มอายุ กล่าวคือ กลุ่มวัยเด็ก (6-14 ปี) ส่วนใหญ่จะทานรสจืดและรสหวาน (ร้อยละ 55.8 และ 20.1 ตามลำดับ) กลุ่มวัยเยาวชน (15-24 ปี) ทานรสเผ็ดมากกว่ารสจืด (ร้อยละ 33.8 และ 28.7 ตามลำดับ) และกลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) จะทานรสเผ็ดและรสจืดใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 33.0) ส่วนกลุ่มวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะทานรสจืดมากกว่ารสเผ็ด (ร้อยละ 64.5 และ11.4 ตามลำดับ)

วิธีปรุงอาหารที่รับประทานเป็นประจำ

ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 54.9 ทานอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้มหรือลวกสุก รองลงมาคือ ผัด ทอด ตุ๋น/นึ่ง/อบ ปิ้ง/ย่าง ลวกแบบสุกๆ ดิบๆ และวิธีอื่นๆ (ร้อยละ 25.4 11.0 4.0 3.0 0.4 และ 1.3 ตามลำดับ) แต่มีข้อสังเกตว่าวิธีการปรุงฯ จะแตกต่างกันไปตามภาค กล่าวคือ ภาคกลางและกรุงเทพมหานครจะมีการผัดและทอดมากกว่าภาคอื่นๆ (มากกว่าร้อยละ 40) ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการปิ้ง/ย่างสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 6.3)

ความถี่ในการบริโภคอาหารแต่ละกลุ่ม

การบริโภคอาหารของประชากรจะแตกต่างกันตามประเภทของกลุ่มอาหาร คือ กลุ่มอาหารที่ร่างกายต้องการเป็นประจำได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ และกลุ่มผัก/ผลไม้สด พบว่ามีสัดส่วนผู้ที่ทานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์สูงสุด (ร้อยละ 70.8 และร้อยละ 88.9 ตามลำดับ)

สำหรับกลุ่มอาหารที่ทานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและกลุ่มแร่ธาตุ วิตามิน พบว่ามีเพียงร้อยละ 19.1 ที่ทาน

ส่วนอาหารในกลุ่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพหากบริโภคมากเกินพอดี ได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีไขมันสูงพบว่าทาน 1-2 วัน/สัปดาห์ สูงสุด (ร้อยละ 48.1) และมีประมาณร้อยละ 12.4 ที่ไม่ทาน ส่วนกลุ่มขนมสำหรับทานเล่น/ขนมกรุบกรอบ พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งไม่ทาน (ร้อยละ 50.7)

สำหรับกลุ่มอาหารประเภทจานด่วนทางตะวันตกพบว่ามากกว่า 2 ใน 3 ที่ไม่ทาน (ร้อยละ 70.8) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ทาน ร้อยละ 52.2) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งหรืออาหารพร้อมปรุงแช่เย็นตามร้านสะดวกซื้อกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ซึ่งทาน 1-2 วันต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 38.6) กลุ่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอร์ที่มีรสหวาน พบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ไม่ดื่ม (ร้อยละ 41.7 และ 36.4 ตามลำดับ)

สิ่งที่คำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนเลือกซื้ออาหาร

สิ่งที่คนส่วนใหญ่คำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนเลือกซื้ออาหารคือรสชาติมากที่สุด (ร้อยละ2 4.5) รองลงมาคือความสะอาดและความชอบ (ร้อยละ1 9.4 และ 17.7 ตามลำดับ) อยากทาน (ร้อยละ 14.9) คุณค่าทางโภชนาการ (ร้อยละ 12.8) ความสะดวก รวดเร็วและราคามีน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยในทุกกลุ่มอายุส่วนใหญ่ก่อนซื้ออาหารคำนึงถึงรสชาติเป็นอันดับแรก รองลงมาสำหรับกลุ่มอายุ 6-14 ปี จะคำนึงถึงความชอบ (ร้อยละ 23.7) และกลุ่มวัยทำงาน 25-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป จะคำนึงถึงความสะอาด (ร้อยละ 20.5 และ 18.8 ตามลำดับ)

************************************************************

ที่มา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: