เจาะเงินฝากวัด 3 แสนล้าน 'เจ้าอาวาสคุม-ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 13 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 10595 ครั้ง

พบวัดไทยมีเงินฝากในธนาคาร 3 แสนล้านบาท งานวิจัยของนิด้า พบเฉลี่ยวัดมีรายได้3.2ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค บางวัดมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า50ล้านบาทต่อปี เผยการดูแลทรัพย์สินวัดส่วนใหญ่อยู่ในมือเจ้าอาวาส ทั้งเก็บสมุดบัญชี แต่งตั้งไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัด งานวิจัยระบุระบบบัญชีวัดไทยขาดธรรมาภิบาล

กรณีของวิรพล สุขผล หรืออดีตพระเณรคำ ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดในวงการผ้าเหลืองเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากพฤติกรรมที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับสมณสารูป เช่น การใช้กระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง การเช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว หรือการถ่ายรูปคู่กับรถเบนซ์ในลักษณะที่ไม่สำรวม เป็นต้น ยังไม่นับข่าวคาวเรื่องสีกาและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการยักยอกเงินบริจาค

ภาพความหรูหราฟู่ฟ่าของอดีตพระเณรคำ นำไปสู่คำถามว่า เหตุใดพระรูปหนึ่งจึงสามารถสะสมความมั่งคั่งได้นับร้อยล้านโดยไม่ถูกตรวจสอบ ทั้งที่โดยทั่วไปแล้ว ทรัพย์สินของวัดจะต้องมีการจัดทำบัญชี แต่จากการศึกษาเรื่อง ‘การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย’ ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า พบว่า จากจำนวนวัด 37,000 วัด มีเพียงหลักพันเท่านั้น ที่ส่งรายงานบัญชีให้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สำคัญคือการจัดทำบัญชีของวัดก็ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลแต่อย่างใด

บัญชีเงินฝากวัด 3 แสนล้าน

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแบ่งองค์กรไม่แสวงหากำไรไว้ 7 ประเภทคือ บริการสังคมสงเคราะห์ สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาคมการค้า หอการค้า สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน องค์กรศาสนา พรรคการเมือง และองค์กรเอกชนต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ.2549 ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งสิ้น 65,457 แห่ง ซึ่งองค์กรศาสนามีสัดส่วนสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 63.2 ของจำนวนองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2544 ร้อยละ 1.8

ส่วนข้อมูลจากการจัดทำบัญชีองค์กรไม่แสวงหากำไรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2553 พบว่า รายรับขององค์กรไม่แสวงหากำไรรวมทั้งหมดในปี 2551 มีประมาณ 306,363 ล้านบาท และมีรายจ่ายประมาณ 234,790 ล้านบาท การผลิตโดยรวมขององค์กรไม่แสวงหากำไร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.8 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งไม่ถือว่าสูงนัก

อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย เมื่อกลางปีที่แล้ว พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน ตลาดที่ยังมีการแข่งขันเงินฝากไม่รุนแรงมากคือวัดและมหาวิทยาลัย

“โดยเฉพาะเงินฝากวัดที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ เพราะสาขาส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาอยู่มาก ประกอบกับฐานลูกค้าที่เป็นข้าราชการของธนาคารมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าอาวาสรวมถึงเจ้าหน้าที่ในวัด ในปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2555) ฐานเงินฝากทั้งระบบที่มาจากวัดมีประมาณ   2 แสนล้านบาท ในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท ในส่วนของธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ …ในส่วนของวัดนั้นธนาคารจะเน้นการดูแลที่เจ้าอาวาส เช่นการดูแลสุขภาพเจ้าอาวาส หรือการให้ความสะดวก  เช่น การนำรถเอทีเอ็มเคลื่อนที่ไปตั้งไว้ให้ในวัด"

490 วัด รายรับเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อปี 5 วัดมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท

เงิน 3 แสนล้านบาท  ถือว่ามหาศาลสำหรับวัดที่พุทธศาสนิกชนยังติดกับภาพความสมถะเรียบง่าย หากคำนวนจากตัวเลขจำนวนวัดของ ผศ.ดร.ณดา คือ 37,000 วัด หารด้วยเงิน 3 แสนล้านบาท หมายความว่าวัดแต่ละแห่งในเมืองไทยมีเงินฝากประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมทรัพย์สินอื่นๆ

การสำรวจของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า รายรับรวมโดยเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี เงินส่วนใหญ่หรือ 2,022,501 บาท มาจากเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซม โบสถ์ หรือศาสนสถานอื่น ๆ รองลงมาคือรายรับจากการสร้างเครื่องบูชา 1,460,907 บาท และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต เป็นต้น 1,054,324 บาทต่อปี

ขณะที่รายจ่ายรวมเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 2,770,927 บาทต่อปี ซึ่งโดยมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัด 2,384,146 บาทต่อปี รองลงมาเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์ 451,832 บาทต่อปี

ส่วนผลการสำรวจวัด 490 วัด พบว่า 107 วัด มีรายรับระหว่าง 500,001-1,000,00 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.8 และโดยส่วนมากคือ 100 วัด มีรายจ่ายอยู่ที่ 200,001-500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.41 งานศึกษาของ ผศ.ดร.ณดา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วัดที่มีรายได้และรายจ่ายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปมีจำนวน 9-10 วัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 โดยในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท

ขณะที่วัดมีเงินฝากจำนวนมากขึ้นทุกขณะ ทว่า การจัดเก็บข้อมูลทางการเงินของวัดกลับมีความหละหลวม เนื่องจากหน่วยงานที่ควรมีบทบาทในการเก็บรวมรวมข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการให้วัดนำส่งรายงานทางการเงินตามมาตรฐานทางบัญชีที่กำหนดให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เพื่อทำการรวบรวมเป็นข้อมูลสำหรับการรายงานผลในภาพรวมได้เท่าที่ควร

“ทางสำนักพระพุทธฯ มีการจัดแบบฟอร์มบัญชีขึ้นมา แต่จากข้อมูลที่ไปเก็บจากสำนักงานพระพุทธฯ พบว่า สำนักพระพุทธฯ ก็อยากให้วัดนำส่งบัญชีเข้าไปที่สำนักพระพุทธฯ จังหวัด และส่งต่อเข้าสู่ระบบที่เป็นการรายงานข้อมูล แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติหรือบทลงโทษชัดเจนว่า ถ้าไม่ส่งจะเป็นอย่างไร สำนักพระพุทธฯ เองก็ไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับวัดโดยตรง เพียงแต่มีแนวปฏิบัติไว้ให้ทำตามกฎกระทรวง อีกทั้งมติของคณะสงฆ์ที่จะให้วัดจัดทำตามแบบฟอร์มและนำส่งแบบฟอร์มให้สำนักพระพุทธฯ ก็ไม่ได้มีการจัดส่งทุกวัด” ผศ.ดร.ณดา กล่าว

‘เจ้าอาวาสวัด’ กุมบัญชีและทรัพย์สินเบ็ดเสร็จ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายหลักที่ดูแลในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัดคือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ซึ่งยังมีกฎกระทรวงฉบับต่าง ๆ ที่ออกตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของวัด และแม้ว่าจะมีการแต่งตั้งไวยาวัจกรหรือคณะกรรมการวัดขึ้นมาดูแลตรวจสอบทรัพย์สินของวัด แต่ก็เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าการได้มาของไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัด ส่วนใหญ่มักมาจากการเลือกของเจ้าอาวาส

จากการสำรวจด้วยแบบสอบถามเจ้าอาวาส กรรมการวัด และไวยาวัจกรของวัดจำนวน 490 วัด ครอบคลุม 15 จังหวัด 5 ภาค (ภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ กรุงเทพฯและปริมณฑล) รวม 1,306 คน ในงานของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 92.4 ตอบว่ามีการแต่งตั้งไวยาวัจกร และร้อยละ 91.7 ระบุว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการวัด แต่ร้อยละ 68.8 ระบุว่า วิธีการคัดเลือกไวยาวัจกร เจ้าอาวาสเป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการวัด ร้อยละ 51.2 ระบุว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้เลือก

“ธรรมาภิบาลข้อที่สำคัญคือ ความรับผิดรับชอบ ซึ่งตรวจสอบได้ โปร่งใส่ และมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่ที่มาของไวยาวัจกร ถ้าดูตามกฎกระทรวงก็ไม่มีข้อห้ามไม่ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้ง เพียงแต่บอกว่าไวยาวัจกรต้องไม่เคยโดนฟ้องคดี ไม่ใช่บุคคลล้มละลาย เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นการพูดถึงคุณสมบัติกว้าง ๆ ไม่ได้บอกว่าห้ามเป็นญาติเจ้าอาวาส ตามที่ได้ศึกษามา เจ้าอาวาสมีสิทธิ์เสนอชื่อเข้าไปแต่งตั้ง เพียงแต่ไม่ได้พูดถึงที่มาที่ไป เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ที่เจ้าอาวาสไว้วางใจบุคคลในเครือญาติ” ผศ.ดร.ณดา อธิบาย

ในด้านการจัดทำบัญชีอสังหาริมทรัพย์ของวัด พบว่า ร้อยละ 46.5 ดำเนินการโดยเจ้าอาวาส ร้อยละ 28.0 ไม่มีการดำเนินการใด ๆ และมีเพียงร้อยละ 9.7 เท่านั้นที่จัดทำโดยคณะกรรมการวัด

ส่วนการเก็บรักษาเงินของวัด ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 76.7 เก็บไว้ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินและเจ้าอาวาสหรือกรรมการวัดเบิกได้ 1-2 คน โดยร้อยละ 93.7 หรือ 1,178 คน ระบุว่าอยู่ในรูปบัญชีออมทรัพย์ วิธีการเบิกจ่าย ระบุว่า ร้อยละ 27.3 ต้องใช้ 2 ใน 3 คนเป็นผู้เบิกโดยมีเจ้าอาวาสเป็นหลัก โดยการเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝาก พบว่า ร้อยละ 70.0 เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล, ร้อยละ 13.8 ไวยาวัจกรเป็นผู้ดูแล และร้อยละ 11.0 กรรมการวัดเป็นผู้ดูแล

สรุปชัดการทำบัญชีวัดขาดธรรมาภิบาล

งานศึกษาเรื่อง ‘การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย’ ของ ผศ.ดร.ณดา สรุปไว้ชัดเจนว่า (1) วัดโดยส่วนมากยังไม่มีโครงสร้างในการบริหารการเงินของวัดอย่างเป็นระบบ (2) การจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานบัญชีของวัดยังไม่มีหลักฐานเด่นชัดว่ามีการดำเนินการได้ถูกต้อง โดยแม้ว่าวัดจะมีการบันทึกรายรับ-รายจ่ายและจัดทำบัญชีเป็นประจำ แต่อาจเป็นบัญชีที่จัดทำขึ้นอย่างง่ายหรือตามความเข้าใจของผู้จัดทำเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับหลักมาตรฐานบัญชีที่รับรองกันทั่วไป รวมถึงไม่มีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

(3) การเผยแพร่ให้สาธารณะรับทราบข้อมูลทางการเงินของวัดยังอยู่ในวงจำกัดและยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดอย่างเป็นระบบ (4) วัดยังไม่มีกระบวนการตัดสินใจด้านการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากศาสนสมบัติของวัดที่มีการจัดทำเขตจัดประโยชน์อย่างเป็นระบบ และ (5) ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า มีเงินหมุนเวียนในรูปของรายได้และรายจ่ายของระบบวัดอยู่ประมาณ 100,000-120,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่การจัดทำบัญชีและตรวจสอบยังไม่มีระบบที่ชัดเจนนัก

ช่องโหว่ในเงินบริจาค

ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง “เงินบริจาค” มักหมายถึง เงินบริจาคที่ทางวัดจะออกใบอนุโมทนาบัตรให้ คำถามที่ตามมาคือ แล้วเงินบริจาคตามตู้รับบริจาคที่มีให้เห็นจำนวนมากตามวัดต่าง ๆ ซึ่งไม่มีการออกใบอนุโมทนาบัตรให้ ถือว่าเป็นเงินที่ต้องถูกนับรวมอยู่ในบัญชีวัดหรือไม่

ผศ.ดร.ณดา ตอบว่า เงินบริจาคตามตู้รับบริจาคในวัดล้วนถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่จะต้องถูกคิดอยู่ในบัญชีทั้งสิ้น “แม้แต่เงินในตู้ ถ้าจะให้เกิดความโปร่งใส การเปิดตู้แต่ละครั้งก็ควรให้ผู้มีส่วนร่วมเข้ามารู้เห็นเป็นพยาน แล้วก็ลงบัญชีให้ชัดเจน มีการเก็บหลักฐานการเปิดตู้แต่ละครั้ง อย่างนี้จึงจะโปร่งใส เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนให้รับรู้กัน ไม่ใช่ยกตู้ไปเปิดกันในกุฏิเจ้าอาวาส นี้เป็นสิ่งที่ระบบต้องสร้าง”

ผศ.ดร.ณดา ย้ำอีกครั้งว่า หากผู้บริจาคไม่ระบุวัตถุประสงค์ในการบริจาคแต่ละครั้ง ก็มีโอกาสที่เงินนั้นจะเป็นเงินตามกิจนิมนต์ที่พระสงฆ์จะนำไปใช้ตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้นผู้บริจาคจะต้องชัดเจนในจุดนี้ว่า  การที่เราบริจาคเงินให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นการเอากิเลสไปให้ท่านหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้อง คิดกัน

“คือการบอกว่าเราไม่มีหน้าที่ในการดูแลพุทธศาสนา ก็คงไม่ใช่ การเอาเงิน 10-20 ล้านไปบริจาคให้กับพระรูปหนึ่ง ถ้าหากท่านนำเงินไปสร้างวัด บูรณะเจดีย์ หรือทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำนุบำรุงพระ พุทธศาสนา เราก็ต้องชัดเจนว่าบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์นั้น แต่เราก็ต้องดูเรื่องของกลไกและระบบ เพื่อให้เงินที่เราบริจาคถูกใช้ตามวัตถุประสงค์ด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจบทบาทของตัวเรา”

การบริจาคให้แก่วัดหรือพระรูปใดรูปหนึ่ง เป็นความเชื่อ ความศรัทธาส่วนบุคคล ที่หวังว่าเงินที่ตนบริจาคไปจะมีส่วนช่วยทำนุบำรุงศาสนา ซึ่งการมีกลไกควบคุมตรวจสอบทรัพย์สินของวัดที่รัดกุม โปร่งใส และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ ก็น่าจะช่วยให้ความตั้งใจของผู้บริจาคบรรลุวัตถุประสงค์ ทว่า ในปัจจุบัน กลไกดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและยังไม่เปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ จึงไม่จำเป็นต้องถามว่ากรณีของอดีตพระเณรคำจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
จับตา: เงินวัดกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: