จับตาสแกนลายพราง: ‘สำนักข่าวกรองแห่งชาติ’ หน่วยงานข่าวกรองของ ‘พลเรือน’ 

28 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 5816 ครั้ง


ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ต่างประเทศมีการพัฒนาองค์การข่าวกรองอย่างจริงจัง รัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยราชการที่เป็นศูนย์กลาง รวบรวมข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานการข่าวตามปกติ หรือจากหน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ หน่วยข่าวฝ่ายทหาร และหน่วยข่าวตำรวจ รวมทั้งข่าวที่ได้จากวิธีการทางลับ และข่าวจากแหล่งข่าวเปิดที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายและท่าทีทางการเมืองภายในและต่างประเทศของรัฐบาล จึงได้จัดตั้ง "กรมประมวลราชการแผ่นดิน" อยู่ในสังกัดทบวงคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2497 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2496 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 70 ตอนที่ 81 หน้าที่ 13 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2496) โดยได้แต่งตั้งให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เป็นอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดินอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กรมประมวลราชการแผ่นดิน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประมวลข่าวกลาง" เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2502 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2502 และต่อมาในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กรมประมวลข่าวกลางได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)" เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติและพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 213 มีฐานะเป็นหน่วยข่าว แห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

สขช. จึงเป็นหน่วยข่าวระดับชาติหน่วยเดียวของประเทศไทยที่เป็นหน่วยราชการพลเรือน มีหัวหน้าส่วนราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ

ในด้านอำนาจหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนดไว้ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 สรุปรวมกันได้ดังต่อไปนี้

1. ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสารและการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน

2. ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติและรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม

3. ศึกษา วิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรองและการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

4. เป็นศูนย์กลางประสานกิจการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง กับหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ทำหน้าที่เป็นประธานคณะที่ปรึกษาการข่าว และรับผิดชอบการบริหารจัดการศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ

5. เสนอแนะนโยบายและมาตรการ ตลอดจนให้คำแนะนำ และคำปรึกษาด้านการข่าวกรองการต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนต่อนายกรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ

พ.ศ. 2528  


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2528

เป็นปีที่ 40 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยข่าวกรองแห่งชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ  พ.ศ. 2528

มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้

การข่าวกรอง หมายความว่า  การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติ หรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ  ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ

การต่อต้านข่าวกรอง หมายความว่า  การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้ายที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย

การข่าวกรองทางการสื่อสาร หมายความว่า  การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเครื่องมือสื่อสารด้วยการดักรับการติดต่อสื่อสารทางสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของต่างชาติหรือองค์การก่อการร้าย อันอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ

การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน หมายความว่า  การให้คำแนะนำช่วยเหลือและกำกับดูแลส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ราชการส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ สถานที่ เอกสารและสิ่งของอื่น ๆ ของทางราชการ ให้พ้นจากการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย

มาตรา 4  ให้มีสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง  การข่าวกรองทางการสื่อสาร และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน

 (2) ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(3) กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม

 (4) ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

(5) เป็นศูนย์กลางประสานกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรองและการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ

(6) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกิจการการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรองกับหน่วยข่าวกรองของต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ

(7) เสนอแนะนโยบายและมาตรการ ตลอดจนให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย

มาตรา 5  ในกรณีที่หน่วยข่าวกรองอื่นของรัฐได้รวบรวมและรายงานข่าวกรองให้ผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่รับผิดชอบในหน่วยข่าวกรองนั้นแล้ว ให้หน่วยข่าวกรองดังกล่าวจัดส่งสำเนารายงานข่าวกรองนั้นต่อสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนด โดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี

มาตรา 6  ให้มีผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รับผิดชอบขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ให้มีรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และจะให้มีผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้

ให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ

มาตรา 7  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

  ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

    พลเอก ป. ติณสูลานนท์

       นายกรัฐมนตรี

                                    


หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกิจการด้านข่าวกรองแห่งชาติเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอันจะเกิดประโยชน์แก่ความมั่นคงของชาติ รัฐบาลจึงจัดตั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติขึ้น ให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในกิจการดังกล่าว เพื่อให้มีอำนาจและหน้าที่ในด้านการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรองของชาติ และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน พร้อมกับให้มีผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่ควบคุมและดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รับผิดชอบขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: