กทม.-ปริมณฑลทรุดต่อเนื่องปี 2-3 ซม. ใช้ ‘น้ำบาดาล’ ทำบางที่สะสมเป็นเมตร

ทีมข่าว TCIJ 9 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 29858 ครั้ง

พบหลายพื้นที่ใน “กรุงเทพ-ปริมณฑล” ยังคงทรุดตัวมากกว่าปีละ 2 ซม.  การใช้น้ำบาดาลเป็นปัจจัยเร่งสำคัญ อนาคตปี 2570 หวั่นสูบน้ำบาดาล 1,386,411 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะยังทรุดตัวต่อไปอีกอย่างน้อย 1.07 เซนติเมตรต่อปี ที่มาภาพประกอบ: patrolnews.net

สถานการณ์การทรุดตัวของกรุงเทพและปริมณฑล

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม ซึ่งมีชั้นดินเหนียวที่อ่อนและหนาปกคลุม แทรกสลับกับชั้นน้ำบาดาล จึงมีการทรุดตัวของพื้นดินตามปัจจัยภายใน คือการอัดตัวของดินอ่อนซึ่งเกิดตามธรรมชาติและปัจจัยภายนอก อันได้แก่ การใช้น้ำบาลดาล  การรับน้ำหนักจากสิ่งก่อสร้าง และการสั่นสะเทือนจากการจราจร เป็นต้น ซึ่งปัญหาแผ่นดินทรุดตัวถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ และมีหลายหน่วยงานทำการสำรวจมาตั้งแต่ในอดีต

เริ่มต้นจากกรมแผนที่ทหาร สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ในอดีต) กรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบันคือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT: Asian Institute of Technology) ได้ทำการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ.2521-2524  การสำรวจครั้งแรกนั้นพบว่ามีการทรุดตัวมากกว่าปีละ 10 เซนติเมตร จากนั้นได้มีการสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจที่นำโดยกรมแผนที่ทหารนี้นั้น เมื่อพิจารณาในภาพกว้างพบว่า พื้นที่ในเขตบางเขน บึงกุ่ม บางกะปิ ประเวศ สมุทรปราการ ช่วงตลอดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521-2551 มีระดับการทรุดตัวสะสมมากกว่า 1 เมตร แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา การทรุดตัวค่อย ๆ ลดลงและมีความเสถียรโดยมีการทรุดตัวสะสมประมาณปีละ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมการใช้น้ำบาดาลให้น้อยลง แต่กระนั้นก็ยังพบพื้นที่ที่มีอัตราการทรุดตัวมากกว่า 2 เซนติเมตรต่อปี ได้แก่ บริเวณมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด), บริเวณอำเภอเมืองสมุทรสาคร และบริเวณศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

แผนที่แสดงอัตราการทรุดตัวสะสมของพื้นดินกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พ.ศ. 2521-2554) (ที่มา: กรมแผนที่ทหาร)

แผนที่แสดงความสูงต่ำของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยเทคนิคการประมาณค่า (ที่มา: กรมแผนที่ทหาร)

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำการศึกษาวิจัยและประเมินการทุดตัวของแผ่นดินบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไว้ อาทิเช่น

จากการสำรวจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปี พ.ศ. 2549 พบอัตราการทรุดตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ บริเวณเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เดิมมีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน 3.2 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2521 - 2528) ปัจจุบันอัตราการทรุดตัวเหลือ 1.3 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2549) น้ำบาดาลที่เคยมีระดับต่ำสุดจากระดับพื้นดิน -31 เมตร (พ.ศ. 2540) ได้ฟื้นตัวเป็น -23 เมตร (พ.ศ. 2549) บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพมหานคร เดิมมีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน 10 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2521 - 2528) ปัจจุบันอัตราการทรุดตัวเหลือ 1.3 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2548) น้ำบาดาลเคยมีระดับต่ำสุด -54 เมตร (พ.ศ. 2539) ได้ฟื้นตัวเป็น -33 เมตร (พ.ศ. 2549)

บริเวณลาดกระบัง มีนบุรี กรุงเทพมหานคร เดิมมีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน 3.4 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2521 - 2542) ปัจจุบันอัตราการทรุดตัวเหลือ 0.65 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2549) น้ำบาดาลเคยมีระดับต่ำสุด -69 เมตร (พ.ศ. 2540) ได้ฟื้นตัวเป็น -41 เมตร (พ.ศ. 2549)  บริเวณปริมณฑลของกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ) เดิมมีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน 5.7 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2529 - 2541) ปัจจุบันอัตราการทรุดตัวเหลือ 2.3 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2549) น้ำบาดาลเคยมีระดับต่ำสุด -50 เมตร (พ.ศ. 2540) ได้ฟื้นตัวเป็น -34 เมตร (พ.ศ. 2549)

บริเวณปริมณฑลของกรุงเทพมหานครด้านเหนือ (อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี) เดิมมีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน 0.3 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2529 - 2545) ปัจจุบันคาดว่ายังคงตัวอยู่ใกล้กับอัตราเดิม เนื่องจากหมุดหลักฐานชำรุด และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างใหม่ ส่วนน้ำบาดาลเคยมีระดับต่ำสุด -28 เมตร (พ.ศ. 2540) ได้ฟื้นตัวเป็น -22 เมตร (พ.ศ. 2549) สำหรับบริเวณปริมณฑลของกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) เดิมที่มีการใช้น้ำบาดาลไม่มากนัก มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดิน 0.9 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2522 - 2532) และ 2.6 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2533 - 2540) แต่ในปัจจุบันอัตราการทรุดตัวของพื้นดินเหลือ 2.3 เซนติเมตรต่อปี (พ.ศ. 2549) สถานการณ์การทรุดตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในอัตราที่สูง ส่วนสถานการณ์น้ำบาดาลเคยมีระดับต่ำสุด -51 เมตร (พ.ศ. 2540) ได้ฟื้นตัวเป็น -33 เมตร (พ.ศ. 2549)

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ. 2551 ที่สำรวจและเก็บข้อมูลในเขตราชเทวี เขตหัวหมาก เขตมีนบุรี อำเภอบางพลีสมุทรปราการ และอำเภอเมืองสมุทรสาคร พบอัตราทรุดตัวในปี พ.ศ. 2549 อยู่ระหว่าง 0.65-2.3 เซนติเมตรต่อปี

อัตราการทรุดตัวของพื้นดินในแต่ละพื้นที่ที่ตรวจวัด (ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี, 2551)

ข้อมูลจากโครงการศึกษาหาสาเหตุการทรุดตัวของแผ่นดินบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ สำหรับเหตุการณ์ทรุดตัวในช่วงปี พ.ศ. 2546-2550 ว่าเกิดจากน้ำหนักกดทับอาคาร, การสูบน้ำบาดาล และการทรุดตัวตามธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ในอัตราส่วนที่ต่างกัน ซึ่งมีการทรุดตัวระหว่าง 0.001-4 เซนติเมตรต่อปี

ตารางแสดงอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ สำหรับเหตุการณ์ทรุดตัวบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปี พ.ศ. 2546-2550 (ที่มา: โครงการศึกษาหาสาเหตุการทรุดตัวของแผ่นดิน บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

สรุปได้ว่าการทรุดตัวของพื้นดิน ในที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเองยังมีการทรุดตัวต่อไป ประกอบกับชุมชนเมืองมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปมากขึ้นทุกปี ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากไม่มีมาตรการมารองรับปัญหานี้  ในอนาคตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจจะเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้นได้ ทั้งนี้พบว่าสาเหตุใหญ่ของการทรุดตัวของแผ่นดินเกิดจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมากเกินกว่าที่น้ำบาดาลตามธรรมชาติจะไหลเข้ามาแทนที่ได้ทัน

พบถนนในกรุงเทพ 114 จุด ใน 32 เขต มีความเสี่ยงในการทรุดตัว

ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2555 ระบุว่าผลการสำรวจถนน ตรอก ซอย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังจากได้มีการสั่งการให้ 50 สำนักงานเขต ทำการสำรวจโดยเฉพาะในบริเวณที่มีประวัติการซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง ซึ่งขณะนี้มีสำนักงานเขต 49 เขต ได้รายงานผลการสำรวจปรากฏว่า มี 17 เขต ที่ไม่พบว่ามีถนน หรือจุดที่มีความเสี่ยงในการยุบตัว ส่วนอีก 32 เขต พบมีผิวทางเท้า และผิวถนนที่มีความเสี่ยงในการยุบตัว รวมจำนวน 114 จุด ดังต่อไปนี้

ดังนี้ บริเวณถนนเสรีไทย ระหว่างซอยเสรีไทย 20-22 และบริเวณภายในซอยเสรีไทย 43 เขตบึงกุ่ม ถนนลาดปลาเค้า ช่วงคอสะพานข้ามคลองหลุมไผ่ทั้งสองฝั่ง ถนนลาดพร้าววังหิน ช่วงคอสะพานข้ามคลองเสือน้อย ทั้งสองฝั่ง และช่วงคอสะพานข้ามคลองหนองบอน ทั้งสองฝั่ง ถนนโชคชัย 4 ช่วงคอสะพานข้ามคลองเสือน้อย ทั้งสองฝั่ง และช่วงคอสะพานข้ามคลองทรงกระเทียม ทั้งสองฝั่ง ถนนนาคนิวาส ช่วงคอสะพานข้ามคลองสองตอน ทั้งสองฝั่ง และช่วงคอสะพานข้ามคลองทรงกระเทียม ทั้งสองฝั่ง ถนนสุคนธสวัสดิ์ ช่วงคอสะพานข้ามคลองเสือน้อย ทั้งสองฝั่ง และช่วงคอสะพานข้ามคลองเสือใหญ่ ทั้งสองฝั่ง เขตลาดพร้าว ถนนนิมิตรใหม่ เขตคลองสามวา, ถนนรามคำแหง ช่วงตั้งแต่ซอยรามคำแหง 24-ถนนศรีนครินทร์ ช่วงปาก ซ.รามคำแหง 68 และช่วงบริเวณปากซอยรามคำแหง 24 แยก 22 เขตบางกะปิ

บริเวณปากซอยถนนราษฎร์พัฒนา ตัดกับถนนรามคำแหง บริเวณทางเท้าถนนราษฎร์พัฒนา ข้างคลองบางเลา บริเวณปลายซอยรามคำแหง 118 แยก 33 ตัดกับถนนเลียบวงแหวนกาญจนาภิเษก เขตสะพานสูง, บริเวณถนนสีหบุรานุกิจ หน้าร้านมีนบุรีโฟโต้ และบริเวณถนนนิมิตใหม่ ช่วงบริเวณหน้าโรงงานผลิตน้ำประปา เขตมีนบุรี, ถนนราชวงศ์ จากแยกเสือป่า ถึงท่าน้ำราชวงศ์ ถ.เยาวราช จากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ-สะพานภาณุพันธ์ ถ.เจริญกรุง จากสะพานดำรงสถิตย์ ถึงสะพานพิทยเสถียร และ ถ.พระราม 4 จากสะพานเจริญสวัสดิ์ ถึงแยกหมอมี ถ.ทรงวาด จากราชวงศ์ ถึงเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์, ถนนพระรามที่ 1 บริเวณหน้าหอศิลป์ และหน้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ถนนวิทยุ บริเวณแยกเพลินจิต ถนนราชดำริ บริเวณแยกสารสิน ถนนพระรามที่ 4 บริเวณแยกมหานคร และบริเวณแยกสะพานเหลือง และถนนพญาไทบริเวณหน้ามาบุญครอง เขตปทุมวัน, บริเวณซอยสันติภาพ ซอยจินดาถวิล ถนนพระรามที่ 4 บริเวณหน้าศาลแรงงานกลาง บริเวณหัวมุมถนนมหาพฤฒาราม ตัดถนนพระรามที่ 4 และปากตรอกเฉลิมกรุง ถนนเจริญกรุง บริเวณแยกถนนสุรวงศ์ ตัดถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ บริเวณแยกถนนนเรศ ตัดถนนสุรวงศ์ และบริเวณแยกสถานีดับเพลิงบางรัก เขตบางรัก, บริเวณคอสะพาน ซ.อินทามระ 45 เขตดินแดง, ถนนบริพัตร ใกล้อาคารเลขที่ 101 ถนนมิตรพันธ์ ใกล้อาคารเลขที่ 185 และถนนบำรุงเมือง ใกล้อาคารเลขที่ 615 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ถนนบำรุงเมือง ตัดถนนอัษฎางค์ ถนนเจริญกรุง ตัดถนนอัษฎางค์ ถนนกรุงเกษม บริเวณท่ารถประจำทางสาย 53 และถนนกรุงเกษม บริเวณหน้าวัดมกุฎกษัตริยาราม เขตพระนคร,

ถนนสุขุมวิท ถนนพระรามที่ 4 ถนนอาจณรงค์ ถนนพระรามที่ 3 ถนนสุนทรโกษา ถนนรัชดาภิเษก ซ.สุขุมวิท 26, 36, 40, 42 เขตคลองเตย, บริเวณซอยสาธุประดิษฐ์ 58 หน้าบ้านเลขที่ 1074-1058/2 ถนนพระรามที่ 3 บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ บริเวณหน้าร้านโฮคิทเช่น บริเวณใต้สะพานคลองหีบ บริเวณสะพานคลองภูมิ บริเวณปากซอยพระรามที่ 3 (36) และบริเวณทางเท้าหน้าโกดังเอเชีย ตัดคลองเสาหิน เขตยานนาวา, ถนนฉลองกรุง ช่วงถนนมอเตอร์เวย์ ถึงคลองลำมะขาม เขตลาดกระบัง, บริเวณผิวจราจรและทางเท้าตามคลองต่างๆ ในเขตประเวศ, ถนนเจริญกรุง จากแยกเฉลิมพันธุ์ ถึงคลองกรวย ซ.เจริญกรุง 57 จากถนนเจริญกรุง ถึงถนนเจริญราษฎร์, ถนนสาทรใต้ จากแยกวิทยุ ถึงเชิงสะพานสาทร ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จากแยกนรินทร์ ถึงถนนจันทน์เก่า ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 17 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงถนนนางลิ้นจี่ และถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ ถึงแยกวิทยุการเงิน เขตสาทร, บริเวณหน้าหมู่บ้านภักดี บริเวณหน้าหมู่บ้านฟิวเจอร์ปาร์ค บริเวณหน้าอาคารลุมพินีเพลส ถนนเจริญราษฎร์ บริเวณหน้าสถานี BRT และบริเวณซอยพระราม 3 (22/1) เขตบางคอแหลม, บริเวณผิวจราจรและทางเท้าตามคลองต่างๆ และบริเวณใกล้กับรางรถไฟตัดกับถนนพระราม 9 (มอเตอร์เวย์) เขตสวนหลวง, ถนนเพชรเกษม และ ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางกอกใหญ่, ถนนชักพระ บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองวัดตลิ่งชัน ถนนบางพรม บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองสาธารณะใกล้ซอยบางพรม 46 ถนนแก้วเงินทอง บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองสาธารณะ ใกล้ซอยแก้วเงินทอง 27 เขตตลิ่งชัน, ถนนเพชรเกษม บริเวณผิวทาง และเชิงลาดสะพาน ข้ามคลองบางจาก ซ.เพชรเกษม 54 ใกล้สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ บริเวณผิวทาง และทางลอดใต้สะพานบางไผ่ (คลองบางกอกใหญ่) ถนนบางแค บริเวณผิวทาง และเชิงลาดสะพานข้ามคลองราชมนตรีบริเวณซอยยิ้มประยูร ถนนบางแวก ผิวทางและเชิงลาดสะพานข้ามคลองลัดวัดฉิม และบริเวณผิวทางพร้อมเชิงลาดสะพานข้ามคลองราชมนตรี เขตภาษีเจริญ, ถนนเพชรเกษม จากคลองราชมนตรี ถึงบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เขตบางแค, ถนนอรุณอมรินทร์ฝั่งขาเข้า ปากทางแยกใกล้ปากซอยอรุณอมรินทร์ 51 เขตบางพลัด      

ถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณทางเท้าหน้าปากซอยสุขสวัสดิ์ 19 บริเวณคอสะพานข้ามคลองนางปาน เยื้องทางเข้าแฟลตทหารเรือ ซ.สุขสวัสดิ์ 26 เขตราษฎร์บูรณะ, ถนนเอกชัย ผิวการจราจรเชิงลาดสะพานข้ามคลองด่าน (สะพานบางขุนเทียน) เขตจอมทอง, ถนนเอกชัย และถนนบางขุนเทียน บริเวณแยกบางบอน เขตบางบอน, ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ทางเท้าถนนพิบูลย์สงคราม ช่วงตั้งแต่โค้งสะพานพระราม 7 หน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครเหนือ จนถึงคลองบางเขน เขตบางซื่อ, ถนนราชสีมา ช่วงแยกราชสีมา ตัดถนนศรีอยุธยาและช่วงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ถนนสวรรคโลก บริเวณแยกยมราช ถนนพระรามที่ 5 บริเวณแยกสะพานแดง, บริเวณหน้าปั๊ม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริเวณใกล้ทางเข้าวังสวนจิตรลดา เขตดุสิต, ถนนพญาไท บริเวณสี่แยกพญาไท บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS ไปถึงบริเวณสี่แยกราชเทวี บริเวณหน้าอาคารวรรณสรณ์ บริเวณหน้าสำนักงานเขตราชเทวี บริเวณเชิงสะพานหัวช้าง ปากซอยวิบูลย์ศรี ถนนพระรามที่ 6 บริเวณสี่แยกตึกชัย บริเวณหน้ากรมทรัพยากรธรณี ถนนราชวิถี บริเวณซอยราชวิถี 12 บริเวณหน้าวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก บริเวณประตูระบายน้ำพรหมโยธี แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนศรีอยุธยาบริเวณทางเท้าหน้าสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และถนนเพชรบุรีบริเวณปากซอยเพชรบุรี 3, ถนนพหลโยธิน ทั้งสองฝั่ง บริเวณคอสะพานข้ามคลองบางซื่อหน้าวัดไผ่ตัน บริเวณขุดดันท่อประปาถนนพหลโยธินช่วงคลองสามเสน ถึงคลองบางซื่อ (ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการก่อสร้างตามแผนที่จุดที่เป็นบ่อพักใหญ่) ถนนพระรามที่ 6 บริเวณสามแยกโรงกรองน้ำ ถนนกำแพงเพชร 5 บริเวณหลังโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ถนนเศรษฐศิริ บริเวณหน้าร้านสามเสนวิลลา และบริเวณสี่แยกสะพานควาย ซึ่งเคยมีการทรุดตัวเมื่อปี 2551 และถนนสุขุมวิท 71 เขตวัฒนา

กรุงเทพฯ และปริมณฑลทรุดจากการใช้น้ำบาดาล

กรุงเทพและปริมณฑลเริ่มใช้น้ำบาดาลอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ทั้งด้านการอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม เนื่องจากน้ำบาดาลมีต้นทุนต่ำทำให้มีการใช้ในปริมาณมาก เกินสมดุลตามธรรมชาติมาเป็นเวลานาน ทำให้หลายพื้นที่เกิดวิกฤต น้ำบาดาลมีปริมาณน้อยและแรงดันต่ำจนเกิดผลกระทบด้านแผ่นดินทรุด

อย่างในช่วงปี พ.ศ. 2521-2525 มีการสูบน้ำบาดาลในปริมาณมหาศาล เนื่องจากระบบน้ำประปาผิวดิน ไม่สามารถขยายพื้นที่ให้บริการได้ทันอัตราการเติบโตของเมืองและอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดแผ่นดินทรุดในอัตราที่สูงถึง 10 มิลเมตรต่อปี ซึ่งผลจากการติดตามระดับการทรุดตัวของดินโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมแผนที่ทหาร พบว่าการทรุดตัวของดินเกิดจากสาเหตุหลักคือการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เกินกว่าค่าทดแทนโดยสภาพธรรมชาติ ทำให้สูญเสียแรงดันของน้ำใต้ดิน

ผลจากการทรุดตัวที่ปรากฏเด่นชัดควบคู่กับระดับน้ำบาดาลที่ลดลงต่ำเร็วมากก็คือ พื้นที่รามคำแหงและบางกะปิ ที่มีการทรุดตัวสะสมมากถึง 108 เซนติเมตร ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการใช้น้ำบาดาลที่สูงมากจากการเติบโตและขยายความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การทรุดตัวได้กระจายตัวตามทิศทางของการขยายตัวของเศรษฐกิจและเมืองที่มีความต้องการใช้น้ำประปา แต่การขยายตัวของระบบน้ำประปาผิวดินยังไม่สามารถรองรับได้อย่างทั่วถึงทำให้ต้องใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก พบว่าการสูบน้ำบาดาลจะสอดคล้องกับบริเวณที่มีความหนาแน่นของประชากร เช่น บริเวณหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดเขตวิกฤตน้ำบาดาลเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของผลกระทบด้านแผ่นดินทรุด ในปี พ.ศ. 2526 และ ปี พ.ศ. 2538 ประกอบไปด้วย 7 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา โดยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 ประกาศเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุดขึ้นใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด คือ เขตวิกฤตอันดับ 1 ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของพื้นดินมากกว่า 3 เซนติเมตรต่อปี และระดับน้ำบาดาลลดลงมากกว่า 3 เมตรต่อปี, เขตวิกฤตอันดับ 2 ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของพื้นดิน 1-3 เซนติเมตรต่อปี และระดับน้ำลดลงระหว่าง 2-3 เมตรต่อปี และเขตวิกฤตอันดับ 3 ครอบคลุมพื้นที่ที่การทรุดตัวของพื้นดินน้อยกว่า 1 เซนติเมตรต่อปี และระดับน้ำบาดาลลดลงน้อยกว่า 2 เมตรต่อปี

แผนที่การกำหนดเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลเป็น 3 ระดับ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ (ที่มา: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล)

แผนที่การขยายเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุด เพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด และกำหนดเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลเป็น 3 ระดับ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 รวมครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา (ที่มา: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล)

นอกเหนือจากการกำหนดเขตวิกฤตน้ำบาดาลแล้วก็ยังมีความพยายามแก้ไขปัญหาการใช้น้ำบาดาลที่จะส่งผลต่อการทรุดตัวของพื้นดิน เช่น มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยกเลิกการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ที่น้ำประปาเข้าถึง รวมทั้งการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเลิกใช้น้ำบาดาลเป็นน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขตวิกฤตอันดับ 1 และ 2  ส่วนเอกชนให้ลดการใช้น้ำบาดาลลง โดยกำหนดอัตราในการลดในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน และมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลติดตามตรวจวัดระดับน้ำบาดาลทุก ๆ เดือน และให้กรมแผนที่ทหารดำเนินการรังวัดสำรวจการทรุดตัวของพื้นดินทุก ๆ ปีในส่วนของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ขยายเขตการบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด รอบกรุงเทพมหานคร และให้กรมทรัพยากรธรณี (กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปัจจุบัน) เร่งรัดการปรับปรุงอัตราค่าใช้น้ำบาดาลให้ใกล้เคียงกับอัตราค่าใช้น้ำประปาโดยเร็ว

โดยเฉพาะมาตรการป้องกันด้านเศรษฐศาสตร์ได้มีการเริ่มจัดเก็บค่าใช้น้ำบาดาลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2528 ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยกเว้นนครปฐม ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 1 บาท ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ได้เพิ่มเป็นลูกบาศก์เมตรละ 3.50 บาท และในวันที่ 18 มกราคม 2538 ได้เริ่มเก็บค่าใช้น้ำบาดาลในอัตราเดียวกันนี้ทั่วประเทศ จากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ได้เริ่มเพิ่มอัตราค่าใช้น้ำบาดาลจากลูกบาศก์เมตรละ 3.50 บาท เป็นลูกบาศก์เมตรละ 8.50 บาท เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และนครปฐม รวมเป็น 7 จังหวัด โดยทยอยขึ้นไตรมาสละ 0.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 2547 เริ่มจัดเก็บค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล รวม 7 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดยกำหนดอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ลูกบาศก์เมตรละ 8.50 บาท จัดเก็บทุกราย ทุกประเภท ไม่มีการยกเว้นหรือลดหย่อน ทั้งในท้องที่ที่มีน้ำประปาใช้และไม่มีน้ำประปาใช้ โดยทยอยขึ้นไตรมาสละ 1 บาท ต่อลูกบาศก์เมตร ครบลูกบาศก์เมตรละ 8.50 บาท เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549

ปัจจุบันข้อมูลจากสำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลระบุว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 7 จังหวัด เป็นเขตที่ที่มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ชั้นน้ำบาดาล ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน, การแพร่กระจายของน้ำเค็มเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล, การลดตัวลงของระดับน้ำในชั้นน้ำบาดาลและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ จึงต้องมีการควบคุมปริมาณการใช้น้ำบาดาล ซึ่งปริมาณน้ำบาดาลที่ใช้ในการควบคุมทั้ง 7 จังหวัดต้องไม่เกิน 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยกำหนดปริมาณรายจังหวัดดังนี้

* ข้อมูลการใช้น้ำบาดาล อ้างอิงจากโครงการสำรวจสถานภาพบ่อน้ำบาดาล ศึกษากำหนดเครือข่ายบ่อสังเกตการณ์และประเมินการใช้น้ำบาดาลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศปี 2552 โดยประเมินการใช้น้ำบาดาลของประปาหมู่บ้าน/เทศบาล และบ่อน้ำตื้น ร้อยละ 50 ของข้อมูลโครงการฯ เนื่องจากปัจจุบันมีการอดกลบบ่อเป็นจำนวนมาก

** ข้อมูลบ่อน้ำบาดาลเอกชน ใช้ข้อมูลปริมาณน้ำ การใช้น้ำจริง ณ ธันวาคม 2557 โดยข้อมูลบ่อน้ำเอกชน ประเภทอุปโภค-บริโภค และเกษตรกรรม ที่ไม่เก็บค่าใช้น้ำบาดาล ทำการประเมินน้ำใช้จริงร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำตามใบอนุญาต

จากมาตรการที่ผ่านมาทำให้บางพื้นที่เริ่มเกิดการคืนตัวของชั้นดินระดับลึกเนื่องจากการเพิ่มตัวของระดับน้ำใต้ดิน แต่การทรุดตัวที่ผิวดินยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เนื่องจากการยุบอัดตัวของดินชั้นตื้นมีค่ามากกว่าการคืนตัวของดินชั้นล่าง และในอนาคตหากการเติบโตของเมืองและภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลโดยที่ระบบน้ำประปามีจำกัด ไม่ทั่วถึง รวมทั้งปริมาณน้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ ไม่เพียงพอ ก็อาจจะมีการใช้น้ำบาดาลเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยมีการประเมินว่าในปี พ.ศ. 2570 อัตราการสูบน้ำบาดาลในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะเพิ่มเป็น 1,386,411 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดินยังมีต่อไปเฉลี่ยที่อย่างน้อย 1.07 เซนติเมตรต่อปีเลยทีเดียว

อ่าน 'จับตา': “การควบคุมการใช้น้ำบาดาลกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5724

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: