อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลา (TOU) ลดวิกฤตช่วงพีคได้

ทีมข่าว TCIJ : 10 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 63414 ครั้ง

พีค 7 ครั้งช่วงฤดูร้อน 2559

ช่วงฤดูร้อนของทุกปี (ปลายเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ประเทศไทยมักจะเกิด ‘พีค’ (Peak) หรือ ‘การใช้ไฟฟ้าสูงสุด’ ซึ่งพบว่าทุก ๆ ปี ปริมาณของพีคนี้จะเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเมื่อปีที่แล้วเกิดพีคสูงสุดอยู่ที่ 27,346 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2558 ส่วนในปี 2559 นี้ พีคได้ทะลุไปถึง 29,618.8 เมกะวัตต์ และการเกิดพีคก็มีถึง 7 ครั้ง ดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2559 เวลา 20.21 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 27,639.3 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 31.1 องศาเซลเซียส ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2559 เวลา 14.17 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด28,35 1.7 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 36.6 อาศาเซลเซียส ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 เวลา 14.53 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 28,475.3 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 36.6 องศาเซลเซียส ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 เวลา 14.13 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,004.6 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 38.1 องศาเซลเซียส ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 เวลา 14.33 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,249.4 เมกะวัตต์ ทำลายตัวเลขการที่อุณหภูมิเฉลี่ย 38 องศาเซลเซียส ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 เวลา 14.23 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,403.7 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 37.8 องศาเซลเซียส และ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 เวลา 22.28 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 29,600.8 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 14.12 น. ของวันเดียวกัน (11 พ.ค.) ซึ่งนับเป็นการทำลายตัวเลขพีคครั้งที่ 7 ของ ปี 2559 เป็นรอบที่ 2 (การนับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีคของแต่ละวันจะมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวันที่ 11 พ.ค. 2559 ที่มี 2 ครั้งนั้น จึงนับพีคที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 22.28 น. เป็นพีคครั้งที่ 7 ของปี 2559)

การเกิดพีคขึ้นถึง 7 ครั้งในปีนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการ และบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวันทำงานปกติ รวมทั้งปัจจัยด้านอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนเปิดแอร์ พัดลม ทั้งในภาคที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ความน่าสนใจของสถิติพีคในปีนี้ ก็คือมีพีคในช่วงเวลากลางคืนถึง 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2559 และวันที่ 11 พ.ค. 2559 ทั้งนี้โดยปกติแล้วความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเฉลี่ยอยู่ในช่วงเวลา 14.00 - 15.00 น. นอกจากนี้การเกิดพีคที่เกือบ 30,000 เมกะวัตต์ นั้นก็ถือเป็นสัญญาณเตือนในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในบ้านเราในอนาคตอันใกล้นี้

อัตราค่าไฟฟ้า TOU ประชาชนได้-การไฟฟ้าเสีย ?

นอกจากผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นพลังงานแล้ว คนไทยโดยทั่วไปแทบจะไม่รู้จัก 'อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ ‘ (Time of Use Rate) หรือ อัตราค่าไฟฟ้า TOU ซึ่งถือว่าเป็นอีกมาตรการสำคัญที่สามารถลดพีคได้ รวมทั้งผู้ใช้ไฟสามารถประหยัดรายจ่ายค่าไฟฟ้า หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสงสัยต่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้งสอง คือ ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)’ และ ‘การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)’ ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงว่า ทำไมไม่ประชาสัมพันธ์รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปเลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้า TOU ให้แพร่หลายกว่าที่ควรจะเป็น  จึงมีคำถามคาใจว่าหากประชาชนใช้อัตราค่าไฟฟ้า TOU มากขึ้น การไฟฟ้าฯ เกรงจะกระทบต่อผลกำไรของตนหรืออย่างไร ?

ทั้งนี้พบว่าไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นั้นในปี 2557 มีรายได้ถึง 200,677.73 ล้านบาท จากผู้ใช้ไฟฟ้ารวม 3,379,621 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่ายอดการใช้อัตรา TOU ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยในเขต กฟน. นั้นลดลงทุก ๆ ปี (2553-2557) สวนทางกับประเภทกิจการขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่างนั้นบังคับให้ต้องใช้อัตรา TOU อยู่แล้ว

ส่วนไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในปี 2557 มีรายได้ทั้งสิ้น 465,003 ล้านบาท โดยร้อยละ 97 ของรายได้จำนวน 450,633 ล้านบาท เป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า และเมื่อหักรายจ่ายต่าง ๆ แล้ว กฟภ. มีกำไรสุทธิปี 2557 เป็นเงินถึง 20,399 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาโครงสร้างจากผู้ใช้ไฟฟ้า 17.68 ล้านราย แบ่งเป็น ประเภทบ้านอยู่อาศัยติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน มีผู้ใช้ไฟฟ้า 10.05 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 57 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด บ้านอยู่อาศัยติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ หรือใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน มีผู้ใช้ไฟฟ้า 5.87 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 33 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม และอื่น ๆ มีผู้ใช้ไฟฟ้า 1.76 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด  ซึ่งจากผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า เมื่อนำอัตราค่าไฟฟ้า TOU มาใช้ในบ้านที่อยู่อาศัย จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละ 300-1,700 บาทเลยทีเดียว (ดูตามตาราง) 

ในปี 2557 ได้มีการหยิบยกเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า TOU ขึ้นมาอีกครั้งอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการการปฏิรูปพลังงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้หน่วยงานการไฟฟ้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทำการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทั่วไป ให้รู้จักและทำความเข้าใจกับอัตราค่าไฟฟ้า TOU ให้แพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงอุปกรณ์ในขอติดมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU ได้ง่ายและราคาถูก (ในปี 2557 ราคาของ TOU Meter อยู่ที่ 18,000 บาท)  นายดุสิต เครืองาม เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ผลักดันให้มีการใช้อัตราค่าไฟฟ้า TOU  ระบุว่าค่าไฟฟ้าในช่วง Peak ที่มีราคาสูงกว่าอัตราปกติ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องใช้ทรัพยากรการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการมาก ส่วนช่วงกลางคืนราคาค่าไฟจะถูกลง เนื่องจากการไฟฟ้ามีต้นทุนรับซื้อไฟจากฝ่ายผลิตถูกลง  แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดพีคของไฟฟ้าช่วงกลางวันได้ และจะสามารถชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงออกไปได้ แต่ข้อมูลที่ กฟภ. และ กฟน. เคยเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการการปฏิรูปพลังงานของ สปช. เมื่อปี 2557  ระบุว่าการใช้อัตราค่าไฟฟ้า TOU โดยเฉพาะประเภทครัวเรือนทั่วไปนั้น ประชาชนไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของอัตราค่าไฟฟ้า TOU ได้มากนัก ซึ่งเป็นความเห็นที่สวนทางกับผลการศึกษาของ สนพ. ที่ระบุว่าครัวเรือนสามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริง

ทำความรู้จักอัตราค่าไฟแบบ TOU

นอกเหนือจากการรณรงค์เรื่องการใช้เครื่องไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5, การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1องศา, การปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ และการขอความร่วมมือปิดไฟในวาระต่าง ๆ ที่เราคุ้นหูกันแล้ว  พบว่าคนในสังคมยังคงมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการประหยัดไฟน้อยมาก รวมทั้งการไม่ประชาสัมพันธ์นโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้คนประหยัดพลังงานและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้แพร่หลายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอัตราค่าไฟแบบ TOU ที่ผลการศึกษาชี้ว่าช่วยให้ใช้ไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลดปริมาณการใช้ไฟในช่วงพีคได้

อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate)นั้นค่าไฟจะแพงในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (On Peak) และค่าไฟจะถูกในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off Peak) (ที่มาภาพ: การไฟฟ้านครหลวง)

‘อัตราค่าไฟฟ้า TOU’ เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate) โดยค่าไฟจะแพงในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (On Peak) ระหว่างเวลา 09.00 - 22.00 น. ของวันจันทร์ - วันศุกร์ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งที่มีราคาถูกและแพง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off Peak) ระหว่างเวลา 22.00 - 09.00 น. ของวันจันทร์ - วันศุกร์ และทั้งวันของวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดราชการที่ไม่รวมวันหยุดชดเชย ค่าไฟจะถูก เนื่องจากการไฟฟ้าสามารถเลือกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงราคาถูกได้ ดังนั้นอัตราค่าไฟฟ้า TOU จึงเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริง

อัตราค่าไฟฟ้า TOU ได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2540 แล้ว เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (On Peak) ลง โดยกำหนดให้เป็นอัตราเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม และเป็นอัตราบังคับสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 355,000 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป หรือใช้พลังไฟฟ้าเกินกว่า 2,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป จากนั้นปี 2545 รัฐได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กสามารถเลือกใช้อัตรา TOU ได้

ทั้งนี้อัตราค่าไฟฟ้า TOU นั้นเหมาะกับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ซึ่งจากผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วง 800-1,500 หน่วยต่อเดือน โดยทั่วไปจะมีเครื่องปรับอากาศเฉลี่ย 2 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง โทรทัศน์ 1-2 เครื่อง หม้อหุงข้าว 1 เครื่อง เครื่องซักผ้า 1 เครื่อง มีการใช้ไฟฟ้ามากในช่วงเวลา 18.00-22.00 น. และเวลา 23.00-07.00 น.ของวันจันทร์-ศุกร์ รวมทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ มีการใช้ไฟมากกว่าวันปกติ อัตราค่าไฟฟ้า TOU จะช่วยลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 300-400 บาท ต่อเดือน ส่วนบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 1,500 หน่วยต่อเดือน โดยทั่วไปพบว่า มีเครื่องปรับอากาศ 4 เครื่อง ตู้เย็น 3 เครื่อง โทรทัศน์ 4-5 เครื่อง หม้อหุงข้าว 3 เครื่อง เครื่องซักผ้า 1 เครื่อง มีการใช้ไฟฟ้ามาก ตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. เป็นประจำทุกวัน อัตราค่าไฟฟ้า TOU จะช่วยลด ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 1,200-1,700 บาท ต่อเดือน 

ส่วนผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟของกิจการขนาดเล็กที่ได้ประโยชน์จาก TOU ของ สนพ. นั้น ก็พบว่ากิจการขนาดเล็กที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วง Off Peak มากกว่า On Peak ในสัดส่วนร้อยละ 60 ต่อ 40 หรือมีการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอและเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ (1) อาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้จะใช้ไฟฟ้ามากตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเช้า โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้มาก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ พัดลม (2) กิจการการประปาจะใช้ไฟฟ้ามาก (มอเตอร์ปั๊มน้ำ) ในช่วงเวลา 18.00-04.00 น. และเวลา 06.00-20.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ นอกจากนี้ในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่าวันทำการ (3) กิจการร้านค้า หรือห้างขายสินค้าทั่วไป และใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีการใช้ไฟฟ้ามากตั้งแต่เวลา 18.00-04.00 น. อุปกรณ์ไฟฟ้าหลักที่ใช้ ได้แก่ แสงสว่าง และความเย็น (4) กิจการร้านขายของชำ (ค้าส่ง) มีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสม่ำเสมอและเป็นประจำทุกวัน (5) กิจการร้านขายอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ และเป็นบ้านอยู่อาศัย มีการใช้ไฟฟ้ามากในช่วง 18.00-24.00 น. เป็นประจำทุกวัน และมีการใช้ไฟฟ้ามากรองลงมาในช่วงหลัง 24.00 - 04.00 น. (6) กิจการสถานีบริการน้ำมัน ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน (7) กิจการโรงแรม มีการใช้ไฟฟ้ามากตั้งแต่เวลา 21.00-06.00 น. เป็นประจำทุกวัน (8) กิจการสถานที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเช่า แฟลต อพาร์ตเม้นท์ จะมีการใช้ไฟฟ้ามากในช่วงเวลา 18.00-07.00 เป็นประจำทุกวัน และ (9) กิจการบริการโทรศัพท์ มีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสม่ำเสมอ และเป็นประจำทุกวัน

การเตรียมตัวและการขอใช้อัตรา TOU

ลองจดหน่วย 1 สัปดาห์ ก่อนเลือกใช้อัตรา TOU : เพื่อการตัดสินใจของผู้ใช้ไฟฟ้าหากต้องการเปลี่ยนมาใช้อัตรา TOU จึงควรตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าของตนเองในเบื้องต้น โดยจดหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดมิเตอร์วันละ 2 เวลา ในช่วงวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00 น. ครั้งหนึ่ง และเวลา 22.00 น.อีกครั้งหนึ่ง ส่วน วันเสาร์ - วันอาทิตย์ ซึ่งเป็น Off Peak ทั้งวัน ดังนั้นเมื่อจดหน่วยวันศุกร์เวลา 22.00 น. แล้ว ให้ข้ามมาบันทึกในวันจันทร์เวลา 09.00 น. อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงนำผลการบันทึกมาคำนวณราคาตามช่วงเวลาของอัตรา TOU ซึ่งนอกจากนำไปเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าปกติ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนเปลี่ยนมาใช้อัตรา TOU แล้ว ยังทำให้ทราบสัดส่วนของการใช้ไฟฟ้าในช่วง On Peak และ Off Peak ด้วย

เครื่องวัดฯ สำหรับอัตราค่าไฟฟ้า TOU : ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กที่เลือกใช้อัตรา TOU จะต้องรับภาระเกี่ยวกับเครื่องวัดฯ TOU ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบด้วยกัน คือ การติดตั้งเครื่องวัด TOU ใหม่แทนเครื่องวัดเดิม หรือเรียกว่าระบบ RMR (Remote Meter Reading) วิธีนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ่านจำนวนหน่วยตามช่วงเวลาของการใช้จากมิเตอร์ TOU ได้โดยตรง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 17,000 - 20,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) การดัดแปลงเครื่องวัดเดิมให้วัดหน่วย TOU ได้ หรือเรียกว่าระบบ AMR (Automatic Meter Reading) รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายแรกเข้าโครงการและค่าบริการด้านเครื่องวัดฯ รายเดือน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากอัตรา TOU: เปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงเวลา 22.00 - 09.00 น., ใช้ไฟในช่วงเช้าให้เสร็จก่อนเวลา 09.00 น., ซักผ้า รีดผ้า ในวันเสาร์ -วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการที่ไม่ใช่วันหยุดชดเชยอย่างเต็มที่ หรือ ถ้าจำเป็นต้องทำในวันปกติก็ให้ทำในช่วงก่อนเวลา 09.00 น. หรือหลังเวลา 22.00 น., สำหรับกิจการต่างๆ ที่ทำงานเป็นกะ อาจพิจารณาเลื่อนการทำงานเป็นกะกลางคืน และวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยหยุดงานในวันธรรมดาแทน และ ใช้ไฟฟ้าช่วง On Peak เท่าที่จำเป็น

ประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามรายละเอียดอัตราค่าไฟฟ้า TOU เพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานการไฟฟ้า (ภูมิภาคและนครหลวง) ใกล้บ้านท่าน, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โทร. 0-2612-1555 ต่อ 545-547, การไฟฟ้านครหลวง ฝ่ายจัดการธุรกิจและพลังไฟฟ้า โทร. 0-2223-1628, 0-2220-5706-7 และกองวิจัยภาระไฟฟ้า โทร. 0-2220-5706, 0-2220-5774-5, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กองอัตราและธุรกิจไฟฟ้า โทร. 0-2590-9120-25

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: