สำรวจ 'ความฝัน Gen-Y' ไทยหนี้ท่วม ธุรกิจล้ม 50-50 Startup ทั่วโลกสะดุด

ทีมข่าว TCIJ : 6 พ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 15589 ครั้ง

Gen-Y ทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคนคิดเป็นสัดส่วน 30% ของประชากรโลกประเทศไทยมี 22 ล้านคน ส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 5 ล้านล้านบาทต่อปีหรือ 25% รายได้รวมของประเทศ  ถูกตั้ง ‘ความคาดหวังสูง’ ในหลายเรื่อง แต่อีกด้านพบ ‘หนี้สิน’ และ ‘หนี้เสีย’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นิยมทำธุรกิจร้านกาแฟ-ร้านค้าออนไลน์ แต่ประสบความสำเร็จเพียง 50% ด้าน Startup กว่า 9 ใน 10 ก็ทยอยล้มเหลว เม็ดเงินอัดฉีดลดลงฮวบ ที่มาภาพประกอบ: Morgen Schuler

กลุ่มคน Generation Y หรือ ‘คน Gen-Y’ คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2523-2540 (ค.ศ.1980-1997) เติบโตมาในช่วงที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคสารสนเทศข่าวสารข้อมูลเต็มรูปแบบ มีการปฎิวัติทางเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้กลุ่มคน Gen-Y ยังผ่านความผันผวนมาหลายครั้ง ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด (ช่วงปี 2530- ก่อนปี 2540) ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญในปี 2540 และ 2550 ผ่านการรัฐประหารปี 2534, 2549 และ 2557 ปัจจุบันคนกลุ่ม Gen-Y ที่มีอายุระหว่าง 19-36 ปี ถูกตั้งความคาดหวังสูงกว่ากลุ่มที่เกิดก่อนหน้านี้ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเป็น ‘ผู้บริโภค’ ที่ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่ม Gen-Y ทั่วโลกมีกว่า 2 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดราว 30% ของประชากรโลก ส่วนในไทยประเมินว่ามีถึง 22 ล้านคน ทำให้คน Gen-Y ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ธุรกิจเกือบทุกประเภทจึงพยายามเจาะตลาดกลุ่ม Gen-Y นี้  และในด้านการก้าวสู่การเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ นั้น กลุ่มคน Gen-Y ก็ถูกมองเป็นความหวังอีกเช่นกัน เนื่องจากเกิดมาในยุคของข่าวสารข้อมูล ใช้เทคโนโลยีคล่องแคล่ว กล้าเสี่ยง และมีความทะเยอทะยานในการเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ที่มีค่านิยมมุ่งไปที่การทำงานประจำ

ในรายงานชิ้นนี้ TCIJ ได้รวบรวมข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ ของคน Gen-Y ทั้งความคาดหวังต่อคนกลุ่มนี้ รวมถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

(คลิ๊กอ่าน ‘จับตา: เจเนอเรชั่นไหน? เกิดระหว่างปีใด?’ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องช่วงอายุของแต่ละเจเนอเรชั่นก่อนอ่านหัวข้อต่อไป)

Gen-Y แต่งงาน-มีลูกลดลง อยู่คนเดียวมากขึ้น

ข้อมูลจากจากรายงานสุขภาพคนไทย 2559 จัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้การสนับสนุนของทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2559 ที่ได้ทำการ ศึกษาข้อมูลประชากรในสัดส่วนหลายเจเนอเรชั่น มีการแบ่งสัดส่วนประชากรของประเทศไทย พบว่าคน Gen-X (ในรายงานสุขภาพคนไทย 2559 นิยามว่าเกิดระหว่างปี พ.ศ.2504-2524 แต่โดยทั่วไปแล้วนิยามว่าเกิดระหว่างปี พ.ศ.2508-2522) มีจำนวนสูงที่สุดถึง 23 ล้านคน ตามมาด้วยคน Gen-Y (ในรายงานสุขภาพคนไทย 2559 นิยามว่าเกิดระหว่างปี พ.ศ.2525-2548 แต่โดยทั่วไปแล้วนิยามว่าเกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2540) 22 ล้านคน และ Baby boomers (ในรายงานสุขภาพคนไทย 2559 นิยามว่าเกิดระหว่างปี พ.ศ.2486-2503 แต่โดยทั่วไปแล้วนิยามว่าเกิดระหว่างปี พ.ศ.2489-2507) อยู่ที่ 11.7 ล้านคน และกลุ่มคนหลัง Gen-Y อยู่ที่ 7.8 ล้านคน ทั้งนี้พบว่ากลุ่มคน Gen-X และ Gen-Y มีการแต่งงานลดลงเช่นเดียวกับความต้องการมีลูก สาเหตุหลักมาจากคนสองกลุ่มนี้ต้องการความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต รวมทั้งผู้หญิงยุคใหม่นิยมพึ่งพาตนเองมากขึ้น ชอบใช้ชีวิตอิสระโดยมากกว่า 1 ใน 3 ใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดมิเนียม หอพัก นอกจากนี้กลุ่มคน Gen-Y ในเขตเมืองมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ย 15 ปี และจำนวนคู่นอนเฉลี่ยในผู้หญิงสูงขึ้นโดยวัยรุ่นหญิง 15-19 ปี จำนวนคู่นอนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 คน เท่ากับวัยรุ่นชาย

Gen-Y ‘เปลี่ยนงานบ่อย-ชอบทำงานที่มีคอมมิชชั่น’

ในรายงาน 'Insight กลยุทธ์มัดใจผู้บริโภค Gen-Y' โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ทำการสำรวจกลุ่มคนเจเนอเรชั่นต่าง ๆ (Baby Boomers, Gen-X และ Gen-Y) รวม 7,500 คน ในกรุงเทพฯ 57% และต่างจังหวัด 43% เมื่อปี 2557 ผลสำรวจระบุว่ากลุ่ม Gen-Y ไทยนั้นชอบเลือกงาน เปลี่ยนงานบ่อยกว่าคนเจเนอเรชั่นก่อน และพอใจกับค่าตอบแทนตามผลการทำงาน เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าทั้งแรงงาน Gen-Y ไทยและตะวันตกมักจะช่างเลือกและเปลี่ยนงานบ่อย โดยกว่า 50% ของ Gen-Y กลุ่มบน (อายุระหว่าง 30 ถึง 34 ปี) เคยเปลี่ยนงานมาแล้ว 2-3 ที่ ขณะที่ Baby Boomers ส่วนใหญ่ราว 35% ยังคงทำงานที่แรกอยู่ และครึ่งหนึ่งของ Gen-X ยังทำงานที่แรกหรือไม่ก็ที่ที่สอง ส่วน Gen-Y กลุ่มล่าง (อายุระหว่าง 25 ถึง 29 ปี) จำนวนมากเปลี่ยนไปทำงานที่ที่สองแล้ว จึงเห็นได้ชัดเจนว่า Gen-Y เป็นกลุ่มที่ยังมีอายุน้อยแต่เปลี่ยนงานบ่อยกว่าเจเนอเรชั่นก่อน  ทั้งนี้หากพิจารณาถึงการเข้าสังคมของกลุ่มคน Gen-Y มักจะโอกาสในหน้าที่การงานใหม่ ๆ มากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า นอกจากนี้ 41% ของ Gen-Y ชอบค่าตอบแทนแบบคอมมิชชั่น ในขณะที่มีเพียง 33% ของ Gen-X และ 25% ของ Baby Boomers เท่านั้นที่ชอบค่าตอบแทนรูปแบบนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคน Gen-Y ช่างเลือกและเรียกร้อง จึงพอใจกับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามปริมาณงานที่ทำจริง

Gen-Y – ต้องใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ทำการตลาด

นอกจากนี้ ในรายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังระบุว่ากลุ่ม Gen-Y ไทยยังมีรายได้ค่อนข้างสูงแม้จะยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว รวมทั้งยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ ประมาณการว่า Gen-Y ไทยมีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 5 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 25% ของรายได้รวมของประเทศ คน Gen-Y ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับคนรุ่นก่อนมาก (รายได้เฉลี่ยของกลุ่ม Gen-X เท่ากับ 35,000 บาท และ Baby boomers เท่ากับ 32,000 บาท)  และเนื่องจากกลุ่ม Gen-Y ยังอยู่ในช่วงอายุที่มีการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ดังนั้นรายได้ที่ค่อนข้างสูงของผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงด้วย โดยกลุ่ม Gen-Y มีรายจ่ายสูงถึงประมาณ 80% ของรายได้ (ในขณะที่อีกสองเจเนอเรชั่นก่อนหน้าใช้จ่ายเพียง 65-70% ของรายได้เท่านั้น) ปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ ก็มองว่ากลุ่ม Gen-Y เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างชัดเจนเนื่องจากมีศักยภาพการจับจ่ายใช้สอยสูงสุด

ความคล้ายคลึงและแตกต่างของคน Gen-Y ชาวไทยและชาวตะวันตก [ที่มา: รายงาน 'Insight กลยุทธ์มัดใจผู้บริโภค Gen-Y' โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์]

ผลสำรวจยืนยันว่ากลุ่ม Gen-Y ไทยมีความคล่องตัวด้านเทคโนโลยีมากกว่ารุ่นอื่น ๆ จากระดับการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ โดย 79% ของ Gen-Y ติดตามและรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ และ 69% อ่านข่าวจากเว็บไซต์ต่าง ๆ มีเพียง 26% เท่านั้นที่ยังคงอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์  ทั้งนี้ ในแต่ละวัน Gen-Y กว่าครึ่งหรือราว 55% ใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมงในการเข้าใช้เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ในขณะที่ Gen-X และ Baby Boomers มีเพียง 36% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในแต่ละกลุ่มอายุ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่สนับสนุนว่า Gen-Y มีความคล่องตัวด้านเทคโนโลยี เช่น ความถี่ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต วิธีซื้อสินค้าและชำระเงิน รวมถึงประเภทของอุปกรณ์ที่ใช้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ภาคธุรกิจจึงหันมาใช้เทคโนโลยีในการเป็นช่องทางเข้าถึง ดึงดูดและตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภค Gen-Y

‘เป็นผู้ใหญ่นั้นเจ็บปวด’ เมื่อหนี้สินคน Gen-Y พุ่ง

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ระบุว่าจากฐานข้อมูลบัญชีสินเชื่อในระบบของเครดิตบูโรที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 93 แห่ง ทั้งสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (Bank) และสถาบันการเงินไม่รับฝากเงิน (Non-bank) ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2559 นั้นมีสินเชื่อทั้งสิ้น 92.50 ล้านบัญชี พบว่ากลุ่มคน Gen-Y อายุ 19-36 ปี (นิยามของเครดิตบูโรใช้เหมือนคำนิยามทั่วไปคือเกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2540) เป็นกลุ่มที่มีการขอสินเชื่อรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ในกลุ่มสินเชื่อบ้านแต่ละปีจะมีบัญชีลูกค้าใหม่เพิ่มเฉลี่ยปีละ 3 แสนบัญชี และครึ่งแรกปี 2559 นี้มีลูกค้าใหม่ 1.6 แสนบัญชี ซึ่งพบว่าเป็นการกู้ของลูกค้า Gen-Y ถึง 50% เพิ่มขึ้นจาก 46% และ 40% จากปี 2558 และปี 2557 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีบัญชีใหม่ 6.3 แสนบัญชี เป็นลูกค้า Gen-Y 43% เพิ่มขึ้นจาก 41% และ 38% ในปี 2558 และปี 2557 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีลูกค้าใหม่ 1 ล้านบัญชี เป็น Gen-Y 53% เพิ่มขึ้นจาก 50% ในปีที่ผ่านมาและ 47% จากปี 2557 สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วง 6 เดือนแรก มีบัญชีใหม่ 1.26 ล้านบัญชี เป็นสัดส่วนลูกค้า Gen-Y 48% เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีสัดส่วน 46% ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันคน Gen-Y เป็นกลุ่มที่มีการขอสินเชื่อหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ โดยในสินเชื่อบ้านเป็นสัดส่วนของลูกค้า Gen-Y  ถึง 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคน Gen-Y มีหนี้เสียในสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาสในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กลุ่มคน Gen-X และ Gen-Y ก็ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาในประเด็นหนี้เสียในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen-Y ที่ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมุ่งเป้าเป็นกลุ่มตลาดที่สำคัญ จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่าลูกค้ากลุ่ม Gen-Y นี้มีหนี้เสียในบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในด้านจำนวนบัญชีและมูลค่าหนี้เสีย แตกต่างจากกลุ่ม Baby boomers ที่จำนวนบัญชีและมูลค่าหนี้เสียค่อย ๆ ชะลอตัวแล้ว ปัจจุบันพบว่าธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวมุ่งไปทำตลาดอยู่ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท กับกลุ่มขอกู้ครั้งแรก ซึ่งก็คือกลุ่มคน Gen-Y ทั้งนี้คน Gen-Y ถูกมองว่าแม้จะไม่มีเงินออมแต่ก็มีรายได้และใช้อุปกรณ์ดิจิตอล ทำให้บริษัทบัตรเครดิตต่าง ๆ จึงรุกทำตลาดกลุ่มนี้ผ่านสื่อดิจิตอลที่ต้นทุนในการทำการตลาดไม่แพงมากนัก สอดคล้องกับข้อมูลจากธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ระบุว่าหลายปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ หันมาเน้นกลุ่มลูกค้า Gen-Y ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และมีบัตรเครดิตใบแรก ทำให้มีการใช้งานในระยะยาว ซึ่งบริษัทฯ จะเน้นจัดแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อให้ตอบสนองความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น แคมเปญส่วนลดในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์ในการอนุมัติบัตรเครดิตก็ขึ้นอยู่กับอาชีพ รายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของตัวลูกค้า ในภาพรวมมีอัตราอนุมัติอยู่ที่ 46-47% โดยกลุ่ม Gen-Y มักจะจับจ่ายหมวดอาหารและซื้อทางออนไลน์มาก ส่งผลให้ธนาคารพยายามออกโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่ม Gen-Y นี้

ธุรกิจของคน Gen-Y โอกาสสำเร็จและล้มเหลว 50% - 50%

ร้านกาแฟเท่ ๆ เก๋ ๆ หนึ่งในธุรกิจยอดฮิตที่คน Gen-Y เลือกทำเมื่อจบการศึกษาหรือออกจากงานประจำมา (ภาพประกอบร้านกาแฟจากต่างประเทศ ที่มาภาพ: Courier Mail)

ในขณะเดียวกัน กลุ่มคน Gen-Y ก็ถูกมองอย่างคาดหวังเนื่องจากเกิดมาในยุคของข่าวสารข้อมูล ใช้เทคโนโลยีคล่องแคล่ว กล้าเสี่ยงและมีความทะเยอทะยานในการเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าที่มีค่านิยมมุ่งไปที่การทำงานประจำที่มั่นคง ส่วนกรณีของไทยจากการสำรวจของธนาคารไทยพาณิชย์พบว่าค่านิยมการเป็นเจ้าของธุรกิจของคนไทยอาจจะไม่เท่ากับชาวตะวันตก แต่คน Gen-Y ไทยเองก็มีค่านิยมในการทำธุรกิจส่วนตัวมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2558 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD ได้สำรวจพบว่าคน Gen-Y อายุ 20-35 ปี ที่มีความต้องการทำธุรกิจของตัวเองเมื่อเรียนจบคิดเป็นสัดส่วนถึง 38% ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนไม่ถึง 20% สำหรับธุรกิจที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าออนไลน์ และการขายสินค้าต่าง ๆ อย่างไรก็ตามโอกาสที่ธุรกิจของคน Gen-Y จะประสบความสำเร็จนั้น OKMD ประเมินว่ามีเพียง 50% เท่านั้น ส่วนอีก 50% ยังล้มเหลว โดยสาเหตุหลักที่คน Gen-Y  ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เนื่องจากไม่มีข้อมูลและไม่ได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งแนวโน้ม โอกาสของตลาด และเทรนด์ของลูกค้าอย่างเพียงพอ รวมทั้งการที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน

โดยเฉพาะ ‘ร้านกาแฟ’ ที่อาจจะเป็นหนึ่งดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการทำธุรกิจของคน Gen-Y เพราะถือว่าเป็นธุรกิจเริ่มต้นยอดฮิตของคนกลุ่มนี้  เนื่องด้วยมูลค่าตลาดของร้านกาแฟในประเทศไทยที่มีอยู่สูงกว่า 8,000 ล้านบาท และมีแบรนด์ใหญ่ข้ามชาติที่มีทุนสูงและการจัดการแบบมืออาชีพ อาทิเช่น Starbucks และ The Coffee Bean & Tea Leaf และอื่น ๆ ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ รวมทั้งยังมีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ได้ส่งผลให้ร้านกาแฟ ‘เท่ ๆ เก๋ ๆ’ ของคน Gen-Y ทยอยล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้สูง

ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2558 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก จำนวน 580 รายจากทั่วประเทศ เกี่ยวกับธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่ง และดาวร่วง ประจำปี 2559 พบว่าธุรกิจที่เป็น 'ดาวร่วง' 10 แรกอันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์/รถไฟ 2. ร้านกาแฟสด 3. ร้านบุฟเฟต์ราคาถูก (เช่น หมูกระทะ) 4. ร้านอินเทอร์เน็ต 5. เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก 6. ร้านโชวห่วย 7. อาหารทะเลแปรรูป 8. สายการบินทั่วไป 9. ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ และ 10. ร้านขายโทรศัพท์มือถือมือสอง

บทเรียนจากธุรกิจร้านกาแฟในสิงคโปร์

จากการสำรวจของหน่วยงานกำกับธุรกิจและการบัญชีสิงคโปร์ พบว่า มีการเปิดธุรกิจร้านกาแฟราว 369 แห่งในปี 2011 แต่ในปลายปี 2014 เหลือเพียง 100 แห่งเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบธุรกิจอธิบายว่าเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟสมัครเล่น (Hipster หรือคน Gen-Y ?) มักไม่ได้ทำการศึกษาตลาดอย่างดีก่อนการเริ่มธุรกิจ อีกทั้งยังขาดแคลนความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น การสต๊อกวัตถุดิบ และการบริหารสภาพคล่อง เป็นต้น

จากการศึกษาในปี 2014 โดย Singapore Productivity Centre หรือ SPC ระบุว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสภาพการเงิน เป็นความท้าทายหลักที่ผู้ประกอบการสิงคโปร์ต้องเผชิญ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรจำกัด ขณะเดียวกันยังจำกัดโควตาสำหรับแรงงานต่างชาติอีกด้วย ขณะที่พนักงานพาร์ตไทม์ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งมักจะทำงานโดยเฉลี่ยเพียง 2 เดือน จากนั้นจึงกลับไปเรียนต่อ ปัญหาขาดแคลนแรงงานนี้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟหลายรายต้องปิดตัวเองไปในที่สุด นอกจากนี้ปัญหาค่าเช่าก็ยังเป็นอุปสรรคหลักของธุรกิจร้านกาแฟเนื่องจากเป็นต้นทุนอันดับต้น ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเสียเป็นประจำทุกเดือน โดย SPC ระบุได้ว่าสำหรับเทรนด์ธุรกิจร้านกาแฟจะอยู่ในสิงคโปร์ได้อีกนานเท่าไรนั้นยังไม่มีคำตอบ แต่ยอมรับว่ากระแสในธุรกิจนี้แผ่วลงไปเป็นอย่างมาก

"เราตัดสินใจเปิดร้านของเรา เพราะเรารักการทำอาหารและการกิน การเข้ามาทำร้านกาแฟนั้นง่ายมาก แต่การจะอยู่ให้รอดในระยะยาวกลับเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง เราพบคนที่รักการทำอาหารแบบเรา แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเช่นกัน"  ผู้ประกอบการร้านกาแฟรายหนึ่งในสิงคโปร์กล่าวกับ CNBC

ที่มา: cnbc.com


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากระแสการทำธุรกิจเองของคน Gen-Y ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในเชิงของการเป็น ‘ความหวัง’ ไม่ว่ากระแสการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) มาถึงระลอกล่าสุดอย่าง การเป็น 'Startup'  ซึ่งมีจุดเด่นคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างธุรกิจรวมทั้งการระดมทุนจากผู้ลงทุนอื่น ๆ  โดยคำนิยามจาก ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า “Startup เป็นกิจการที่เริ่มต้นธุรกิจจากจุดเล็ก ๆ สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำได้โดยง่าย (Repeatable) และขยายกิจการได้ง่าย (Scalable) มีการนำเทคโนโลยี และ/หรือ นวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ มักเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน หรือเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยคิดหรือทำมาก่อน” ส่วนในการสัมมนาเรื่อง Startups Growth – Learn from The Best Experience เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ได้ให้คำนิยามความแตกต่างระหว่าง SMEs และ Startup ไว้ว่า "ข้อแตกต่างระหว่างธุรกิจ SMEs และธุรกิจ Startup คือ ที่ธุรกิจ Startup จำเป็นจะต้องเติบโตให้เร็วที่สุด เนื่องจากทุกไอเดียอาจจะเกิดการลอกเลียนแบบกันได้ ซึ่งนอกจากจะต้องทำให้คนรูจักกับสินค้าและบริการแล้ว ก็ยังต้องหาแหล่งเงินทุนที่จะมาช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างคล่องตัว รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์ และความประทับใจในสินค้าและบริการ เพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้ง"

Startup เทรนด์ธุรกิจ Gen-Yไทย 9 ใน 10 ล้มเหลว

ในปัจจุบันนั้น คน Gen-Y ต่างมุ่งสู่การเป็น Startup มากขึ้นแทนการทำงานประจำ เฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการทำธุรกิจอย่างที่เรียกว่า Tech Startup ข้อมูลจากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ระบุเมื่อปี 2558 ว่ามีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ Tech Startup ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 400-500 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ (หรือกลุ่ม Gen-Y) โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะนิยมทำธุรกิจเอง สำหรับประเทศไทย Tech Startup เป็นคำที่ถูกเรียกในช่วง 2-3 ปีมานี้ ขณะที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ มีการทำธุรกิจแบบ Tech Startup มาหลายปีแล้ว ซึ่งสิงคโปร์ถือเป็นตลาดหลักของการทำTech Startup ของเอเชีย มีการลงทุนธุรกิจโดยระดมทุนผ่านเว็บไซต์ที่เปิดให้เอกชนและคนที่สนใจเข้ามาร่วมระดมทุนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ  เพื่อร่วมขยายธุรกิจด้วยกัน โดยเป็นการลงทุนที่ประเทศทั้งสหรัฐและยุโรปนิยมมากและประสบความสำเร็จ  ซึ่งเป็นโมเดลที่เริ่มจากสหรัฐฯ มาก่อน  คนรุ่นใหม่ที่มีธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจก็สามารถระดมทุนผ่านทั้งเว็บไซต์ระดมทุนยอดนิยมอย่าง www.kickstarter.com และเว็บไซต์ www.indiegogo.com ที่การระดมทุนของกลุ่ม Tech Startup เงินลงทุนที่มีการลงทุนจะเริ่มตั้งแต่ 5-300 ดอลลาร์สหรัฐฯ และก็สามารถดึงนักลงทุนจากทั่วโลกที่สนใจในธุรกิจ เข้ามาร่วมลงทุนได้ทันที

แต่กระนั้น กระแส Startup น่าจะถูกกล่าวอ้างในแง่บวกจนเกินจริง  และอาจกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ก็เป็นได้ โดยข้อมูลจาก forbes.com เมื่อปี 2557 ระบุว่า Startup กว่า 90% หรือ 9 ใน 10 มักพบกับจุดจบที่ล้มเหลว และมาในปี 2559 ก็พบว่ากระแสปลุกใจของการทำธุรกิจ Startup ในระดับโลกเริ่มแผ่วลง รวมทั้งข่าวร้ายต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับ Startup ชื่อดังที่เริ่มประสบปัญหาในการทำธุรกิจ ก็มีมากขึ้น

ข้อมูลจาก The Wall Street Journal Asia เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ระบุว่า บริษัทวิจัย Zero2IPO Group ในจีน ได้ชี้ว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2559 กองทุนร่วมลงทุนใหม่ 173 รายในจีนระดมทุนได้ 78,900 ล้านหยวน ลดลงจาก 42% เหลือ 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 และปี 2557  ส่วนนักธุรกิจร่วมทุน ก็ลงทุนเพียง 1,264 ครั้ง หรือลดลง 1 ใน 3 จากปี 2558 โดยนักวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ระบุว่าสิ่ งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทรุดตัวของตลาด แต่ตลาดกำลังลดความร้อนแรงลง ทำให้ Startup หน้าใหม่หลายรายได้รับผลเสียจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาน้อยลง ขณะที่ Startup ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น ก็กำลังปรับตัวด้วยการลดต้นทุน แม้ว่านักลงทุนลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากเมื่อปี 2558 แต่ในปี 2559 นี้กลับมีท่าทีระมัดระวังตัวมากขึ้น

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน พ.ค. 2559 The Wall Street Journal ก็ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับ Startup ในเอเชีย โดยระบุว่าในอินเดียการเข้าลงทุนให้กับ Startup ก็ลดลงเช่นกัน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ 736 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 17% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่มีถึง 891 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในเกาหลีใต้มีการเข้าลงทุนให้กับ Startup ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ที่ 45.8 ล้านดอลลาร์ ลดลงถึง 37% จากจำนวน 72.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้นักวิเคราะห์ชี้ว่าตามปกติแล้วการลงทุนด้านเงินทุนใด ๆ ก็ตามให้กับธุรกิจต่าง ๆ ก็มีความเสี่ยงในตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งความสำเร็จของ Startup ในช่วงเวลาที่ธุรกิจขึ้นถึงจุดสูงสุดก็ไม่อาจสามารถรับประกันได้ว่านักลงทุนจะไม่สูญเสียเงิน และการชะลอเข้าลงทุนครั้งล่าสุดนี้  ยังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Startup ทั่วโลกอีกด้วย

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: เจเนอเรชั่นไหน? เกิดระหว่างปีใด?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: