พบอาคารโรงเรียนใน 9 จังหวัดภาคเหนือ และ 1 จังหวัดภาคตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว และในอีก 7 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหว มีจำนวน 202 หลัง (ภาพแบบแปลนอาคารแบบ สปช.2/28 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
'อาคารแบบ สปช.2/28' เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3 ชั้น ใช้การออกแบบด้วยวิธี Working Stress Design ตามข้อกำหนดของ กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ซึ่งไม่ได้มีการพิจารณาออกแบบให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหว โดยจากการสำรวจของโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ระยะที่ 3) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. พบว่าแบบอาคารดังกล่าวนี้ได้มีการก่อสร้างและมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยโรงเรียนใน 9 จังหวัดภาคเหนือ และ 1 จังหวัดภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวบริเวณที่ 2 ตาม กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้าน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 รวมทั้งใน 7 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พบว่ามีการก่อสร้างอาคารแบบ สปช.2/28 (3 ชั้น) จำนวน 202 หลัง
ทั้งนี้ อาคารแบบ สปช.2/28 (3ชั้น) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3 ชั้น มีระบบโครงสร้างเป็นแบบโครงคาน-เสา (Beam - Column Frame) พื้นอาคารเรียนทั่วไปเป็นแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จ ยกเว้นพื้นระเบียงกันสาดและพื้นห้องน้ำ เป็นแผ่นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่โครงสร้างหลังคาเป็นโครงเหล็กถัก อาคารนี้มีลักษณะสมมาตรในผังแปลน ในทิศทางตามแนวขวางของอาคาร มีคานหลักขนาดใหญ่ซึ่งพาดระหว่างเสา ยาว 9.4 เมตร จำนวน 1 ช่วง ในทิศทางตามยาวของอาคาร มีคานรองพาดระหว่างเสา ยาว 4 เมตร จำนวน 14 ช่วง ความสูงระหว่างชั้นเท่ากับ 3.5 เมตรเท่ากันหมดทั้งสามชั้น เสามีขนาดเท่ากันหมดตลอดความสูงของอาคาร โดยมีการลดขนาดและปริมาณเหล็กเสริมในเสา ขนาดหน้าตัดเสาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการวางหน้าตัดเสาให้ทิศทางด้านยาวอยู่ในแนวขวางและทิศทางด้านสั้นอยู่ในแนวตามยาวของอาคารเนื่องจากขนาดหน้าตัดคานในทิศทางแนวขวางของอาคารเป็นคานหลักมีขนาดใหญ่กว่าหน้าตัดเสา และมีลักษณะโครงสร้างเป็นแบบคานแข็ง-เสาอ่อน (Strong Beam-Weak Column) ดังนั้น โครงสร้างในทิศทางตามขวางจึงมีโอกาสที่จะวิบัติแบบชั้นอ่อนได้ (Weak Story) และดังที่กล่าวว่า อาคารแบบ สปช.2/28 นี้ไม่ได้มีการพิจารณาออกแบบให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหว การเสริมเหล็กจึงมีรายละเอียดเช่นเดียวกันกับการออกแบบรับน้ำหนักบรรทุกแบบ Gravity Load เช่น เหล็กปลอกในเสาและคานมีระยะห่างเท่ากันตลอดความยาวขององค์อาคาร การต่อทาบเหล็กยืนในเสาอยู่ที่บริเวณเหนือระดับคานของแต่ละชั้น เหล็กเสริมตามยาวในคานช่วงนอกไม่ได้มีการกำหนดระยะฝังยึดที่เสา เป็นต้น ดังนั้น การเสริมเหล็กเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงต่อการวิบัติในรูปแบบต่างๆ ภายใต้แรงแผ่นดินไหว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ