บริษัทผลิตชิ้นส่วนให้ ‘ซัมซุง’ และ ‘พานาโซนิค’ ในมาเลเซีย ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิแรงงาน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 21 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5083 ครั้ง

บริษัทผลิตชิ้นส่วนให้ ‘ซัมซุง’ และ ‘พานาโซนิค’ ในมาเลเซีย ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิแรงงาน

ข่าวสืบสวนเรื่องการค้ามนุษย์ของสื่อดังจากอังกฤษอย่าง ‘เดอะการ์เดียน’ เผยแพร่เรื่องราวของแรงงานข้ามชาติชาวเนปาลในบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ ‘ซัมซุง’ และ ‘พานาโซนิค’ ที่มาเลเซีย พบถูกหลอกมาขายแรงงานในราคาถูก นายจ้างยึดหนังสือเดินทาง ถูกบังคับให้ทำงานถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน และต้องจ่ายค่าหัวคิวสูงจนเป็นหนี้สิน ด้าน ‘ซัมซุง’ และ ‘พานาโซนิค’ ระบุจะต้องสืบสวน และบริษัทฯ ไม่มีนโยบายให้ซับพลายเออร์ละเมิดสิทธิแรงงาน

เมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติชาวเนปาลที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ซัมซุง (Samsung) และพานาโซนิค (Panasonic) ในมาเลเซียร้องเรียนต่อเดอะการ์เดียน (theguardian.com) ว่าถูกละเมิดสิทธิ โดยพวกเขาระบุว่าพวกเขาถูกหลอกมาขายแรงงานในราคาถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางและต้องจ่ายค่าปรับในราคาแพงหากกลับประเทศก่อนสิ้นสัญญาจ้าง นอกจากนี้ คนงานยังร้องว่าถูกบังคับให้ทำงานถึง 14 ชั่วโมง ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ เวลาพักห้องน้ำถูกจำกัดเข้มงวด ต้องจ่ายค่าจัดหางานสูงถึง 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 44,000 บาท) ทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกโกงและติดกับดักหนี้สิน ทำงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ส่งออกยังตลาดต่างประเทศ

“หัวใจผมเจ็บช้ำ” คนงานวัยหนุ่มผลิตไมโครเวฟยี่ห้อซัมซุงกล่าว “ผมทำงานอย่างยากลำบาก ไม่ได้รับเงินเดือนตามที่พวกเขาได้บอกกล่าว”

สภาพการทำงานผลิตไมโครเวฟซัมซุงในมาเลเซียนั้น คนงานอธิบายว่ามีเวลารับประทานอาหารเพียง 45 นาทีต่อ 1 กะ (12 ชั่วโมง) และทุก 2 ชั่วโมงมีเวลาพักดื่มน้ำ 7 นาที

นักข่าวจากเดอะการ์เดียนได้สัมภาษณ์คนงานชาวเนปาลจำนวน  30 คนที่ผลิตสินค้าให้แก่ซัมซุงและพานาโซนิค บางคนเป็นลูกจ้างโดยตรงให้ซัมซุง แต่ส่วนใหญ่ถูกจ้างผ่านบริษัทจัดหางาน ส่วนคนงานที่ผลิตสินค้าให้พานาโซนิคมาจากบริษัทซับคอนแทรค (sub-contract) อีกที

แม้ว่าซัมซุงและพานาโซนิคจะห้ามไม่ให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนให้แบรนด์ของตนเองหรือซับพลายเออร์ (suppliers) ยึดหนังสือเดินทางและเก็บค่านายหน้าจัดหางาน แต่คนงานทุกคนร้องเรียนว่าถูกเรียกเก็บค่านายหน้าถึง 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 44,000 บาท) และหนังสือเดินทางยังผิดกฎหมายแรงงานของมาเลเซียด้วย ทำให้สิทธิเสรีภาพในการเดินทางถูกจำกัดและเปิดช่องให้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม เพราะถ้าไม่มีหนังสือเดินทางก็ออกจากงานไม่ได้และกลับบ้านไม่ได้เช่นกัน ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินเท่ากับเงินเดือน 3-4 เดือนเลยทีเดียว

แบรนด์ทั้งสองกล่าวว่าได้ทำการสอบสวนพฤติกรรมของซับพลายเออร์ตามคำร้องเรียนแล้ว ซึ่งการใช้บริษัทรับเหมาจ้างผลิตให้แก่แบรนด์ข้ามชาติในมาเลเซียเป็นสิ่งที่กระทำกันเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ และเป็นระบบการจ้างงานที่เสี่ยงต่อการกดขี่ขูดรีดแรงงาน

คนงานชาวเนปาลบอกว่าต้องจ่ายค่านายหน้าถึง 90,000-115,000 รูปี (ประมาณ 30,140-38,500 บาท) ให้บริษัทจัดหางานในเนปาล ในขณะที่ตามกฎหมายของเนปาลกำหนดแล้วที่ 10,000 รูปี (ประมาณ 3,300 บาท)

โฆษกของซัมซุงกล่าวว่า ในฐานะเป็นสมาชิกของสมาคมพลเมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EICC ได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางการค้าและไม่พบหลักฐานในการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ถูกจ้างงานโดยตรงจากโรงงานในมาเลเซีย และบริษัทกำลังสอบสวนข้อเท็จจริงในโรงงานรับเหมาจ้างผลิต หากพบว่ามีการละเมิดจริงจะหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวกับซับพลายเออร์นั้น

ส่วนคนงานที่ผลิตสินค้าให้พานาโซนิคให้สัมภาษณ์ว่า ทำงานกะยาวนานถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน พวกเขายังทำงานเพื่อใช้หนี้สินและยังกลับบ้านยังไม่ได้จนกว่าจะหมดหนี้ คนงานชาวเนปาลที่ทำงานให้พานาโซนิคในตอนใต้ของเมืองยะโฮร์ บาห์รู (Johor Bahru) กล่าวว่าได้รับเงินเดือน 700 ริงกิต (ประมาณ 5,800 บาท) เท่านั้น ทั้งนี้พวกเขาต้องทำงานถึง 3 ปี กว่าจะใช้หนี้หมด อีกทั้งการทำงานในโรงงานก็ยากลำบาก คนงานพักอาศัยในที่พักรวมในย่านอุตสาหกรรมที่ต้องอยู่รวมกันถึง 14 คนต่อ 1 ห้อง

ส่วนสภาพการทำงานคนงานต้องยืนทั้งวันโดยไม่มีเวลาพักที่เหมาะสม คนงานคนหนึ่งบอกว่าได้รับอนุญาตให้เข้าห้องน้ำได้แค่ 2 ครั้งต่อ 1 กะ (12 ชั่วโมง)

ทั้งนี้บริษัทพานาโซนิคระบุว่าได้ดำเนินการสอบสวนข้อร้องเรียนนี้ และพบว่าซับพลายเออร์แห่งหนึ่งได้ละเมิดกฎหมายแรงงาน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในมาเลเซียส่งออกสินค้า 35% ของการส่งออกทั้งหมด ถูกองค์กรระหว่างประเทศสืบสวนเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น ในปี 2014 จาก รายงานการจ้างงานในห่วงโซ่การผลิต โดย องค์กรเฝ้าระวังห่วงโซ่การผลิต ‘Verité’ พบว่า 1 ใน 3 ของคนงานภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นี้ถูกบังคับใช้แรงงาน และ  Verité ยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปนโยบายเกี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติที่จะมาดำเนินธุรกิจในมาเลเซียด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Samsung and Panasonic accused over supply chain labour abuses in Malaysia, Pete Pattisson, theguardian.com, 21/11/2016

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: