จับตา: เพราะ ‘ยากจน’ จึง ‘ป่วยใจ’?

ฐานันดร ชมภูศรี : ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ : 1 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4822 ครั้ง


งานวิจัย WHO ระบุการเจ็บป่วยทางจิตใจนำไปสู่โอกาสที่ลดลงของรายได้และการมีงานทำ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะยากจนลง และหากยากจนลงก็ยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางใจ วนเวียนเป็นวัฏจักร ที่มาภาพประกอบ: Salvio Bhering (CC0)

เราคงเคยได้ยินกันอยู่เนือง ๆ ว่า 'คนจน' มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางจิตใจมากกว่าคนไม่จน จากงานวิจัย Poverty and common mental disorders in low and middle income countries: A systematic review (ความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนกับการเจ็บป่วยทางจิตใจที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นบ้า ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง) ทั้งนี้ธนาคารโลกให้ความหมายว่าประเทศรายได้สูง คือ ประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีมากกว่า 12,475 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ซึ่งงานวิจัยนี้เผยแพร่ในปี 2010 โดยเป็นการรวบรวมงานวิจัยในประเด็นนี้ที่เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ 1 ม.ค. 1990 ถึง 31 ธ.ค. 2008 พบงานวิจัยที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดทั้งหมด 115 ชิ้น จาก 33 ประเทศ เหตุที่เลือกช่วงเวลานี้เพราะก่อนปี 1990 มีงานวิจัยในประเด็นนี้ของประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางน้อยมากที่ได้มาตรฐานของระเบียบวิธีการวิจัย (methodology) ที่กำหนด

โดยใช้เกณฑ์ความยากจนตามที่รายงานแต่ละชิ้นระบุ คือคณะผู้วิจัยมิได้กำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเอง ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ได้แก่ การศึกษา, รายได้, การว่างงาน, ลักษณะของที่อยู่อาศัย เช่น สภาพทางกายภาพของบ้าน สภาพแวดล้อม เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำ สุขาภิบาล รวมถึงความหนาแน่นของประชากร, ความตึงเครียดทางการเงิน, การขาดแคลนอาหาร, ลำดับชั้นทางสังคมเศรษฐกิจ โดยไม่นับงานวิจัยที่มีปัจจัยเกี่ยวกับต้นทุนทางสังคม เช่น การมี connections (รู้จักกับคนระดับไหนบ้าง), และไม่นับที่มีปัจจัยด้านความรุนแรงหรือสงคราม

ส่วนอาการที่งานวิจัยนี้เลือกนำมาใช้จัดเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจแบบทั่วไป (common mental disorder) มี 3 อย่าง คือ 1.ความเครียดหรือวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง (anxiety disorder),  2.ความซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง (depressive disorder), และ  3.อาการที่เหมือนคนป่วยทางร่างกาย แต่แพทย์ตรวจยังไงก็ไม่พบ (somatoform disorders) : พูดง่ายๆว่าเจ็บป่วยทางจิตใจแต่ยังไม่บ้า

แม้ความยากจนจะมีรายละเอียดหรือมิติที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ในปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากจนอันหลากหลาย พบว่าจากผลการวิจัยทั้งหมดที่ systematic review นี้รวบรวมมา 115 ชิ้น จาก 33 ประเทศ มีผลการวิจัยถึง 73-79% (ปัจจัยหลากหลาย) ที่ความยากจนทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจดังกล่าว

และในปี 2014 องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้เผยแพร่รายงาน Social determinants of mental health โดยดูเฉพาะซึมเศร้าต่อเนื่องและเครียด/วิตกกังวลต่อเนื่อง แล้วดูว่าสัมพันธ์กับความยากจนที่ใช้ตัวชี้วัดอันหลากหลายมากน้อยแค่ไหนในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง พบว่า 70% ของจำนวนงานวิจัยทั้งหมดที่นำมาพิจารณา (115 ชิ้น) นั้น ความยากจนทำให้จิตใจเจ็บป่วย

[highest = กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด, lowest = กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด, สีจาง = ผู้หญิง, สีเข้ม = ผู้ชาย]

 ส่วนในประเทศร่ำรวยนั้น จาก Inequality and mental disorders: opportunities for action ที่ถูกอ้างอิงในรายงานของ WHO เช่นกัน พบว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางจิตใจ และ WHO ได้ยกตัวอย่างจากกร๊าฟ (ด้านบน) ที่แสดงผลสำรวจเรื่องความชุก (prevalence) หรือสัดส่วนของความเศร้าต่อเนื่องหรือไม่ก็เครียด/วิตกกังวลต่อเนื่อง (any common mental disorder) ของประชากรแต่ละระดับรายได้ โดยแบ่งเป็น 5 ระดับในประเทศอังกฤษ ปี 2007 ซึ่งให้ถือว่าทุกๆคนในครัวเรือนหนึ่งๆ มีรายได้เท่าเทียมกันหมด (Equivalised household income) จากรายได้ทั้งหมดของครัวเรือน

WHO ยังได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า การเจ็บป่วยทางจิตใจนำไปสู่โอกาสที่ลดลงของรายได้และการมีงานทำ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะยากจนลง หากยากจนลง ก็ยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางใจ แล้วก็จะวนเวียนเป็นวัฏจักร

เด็กยากจนเสี่ยงป่วยใจ

มีผลการศึกษาจาก A systematic review of depressed mood and anxiety by SES in youth aged 10-15 years ที่ระบุในรายงานของ WHO เช่นกัน เพื่อดูความแตกต่างของอารมณ์เศร้าหรือไม่ก็เครียด/วิตกกังวลของเด็กที่มีอายุ 10 ถึง 15 ปี ระหว่างเด็กที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ (SES: socio-economic status) ต่ำ เปรียบเทียบกับเด็กที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจสูง โดยพยายามรวบรวมงานวิจัยตั้งแต่ 1 ม.ค.1980 ถึง 31 ต.ค.2006 ซึ่งพบ 9 งานวิจัยที่มีข้อมูลที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดและผ่านมาตรฐานของระเบียบวิธีการวิจัยที่กำหนด พบว่าเด็กอายุ 10 ถึง 15 ปีที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจต่ำ มีจำนวนเด็กที่มีอารมณ์เศร้าหรือไม่ก็เครียด/วิตกกังวลมากกว่าถึง 2.5 เท่า

ทั่วโลกมีปัญหาสุขภาพจิตและการเข้าไม่ถึงบริการ

ผลการสำรวจสุขภาพจิตระดับชาติในสหรัฐอเมริกา ถึงเหตุผลที่ไม่ไปรับบริการนั้นพบว่าราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีปัญหาโรคทางอารมณ์ วิตกกังวล การควบคุมความยับยั้งชั่งใจ (impulse control) และความผิดปกติทางจิตเวชที่พบในเด็ก รายงานว่าไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการเพื่อขอความช่วยเหลือ (low perceived need) เหตุผลส่วนใหญ่ของการชะลอการรักษาก็คือต้องการจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง และเป็นสาเหตุให้ไม่ไปรับการรักษาหรือหยุดการรักษาก่อนกำหนด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงน้อยหรือปานกลางแต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงมาก เหตุผลส่วนใหญ่ที่ไม่ไปรักษาหรือหยุดการรักษาก่อนกำหนด คืออุปสรรคต่าง ๆ ด้านกายภาพ (เช่น ปัญหาการเงิน ไม่สะดวกเรื่องเวลา การเดินทาง ไม่มีแพทย์ เป็นต้น) การมีโรคจิตเวชหลายโรคนั้นสัมพันธ์กับการหยุดการรักษาก่อนกำหนด แต่การมีประกันสุขภาพนั้นสัมพันธ์กับอัตราการหยุดรักษาก่อนกำหนดที่ต่ำลง

นอกจากนี้ การสำรวจสุขภาพจิตระดับชาติก่อนหน้านั้นในอเมริกาพบว่า ส่วนใหญ่ (80.1%) ของผู้ที่รายงานว่ามีปัญหาสุขภาพจิตในช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะไปรับการรักษาในท้ายที่สุด แต่จะไปรับบริการล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นโดยเฉลี่ย 10 ปี  และพบว่า มีเพียงราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีโรคซึมเศร้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่รายงานว่าได้รับการรักษาโรคซึมเศร้า และในจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษา มีเพียง 41.9% ที่ได้รับการรักษาต่อเนื่องจนครบตามมาตรฐาน การรักษาล่าช้านั้นสัมพันธ์กับปัจจัยหลายตัว เช่น ความรุนแรงของอาการที่น้อยกว่า การเริ่มมีอาการในขณะที่อายุน้อย หรือมีอายุมากในขณะที่ทำการสำรวจการสำรวจสุขภาพจิตระดับชาติในประเทศญี่ปุ่นพบว่า มีเพียงราว 22 % ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในรอบ 1 ปี รายงานว่าได้รับการรักษาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และมีเพียง 37% ของผู้ที่มีอาการรุนแรงได้รับการรักษา โดยเหตุผลส่วนใหญ่ของการไม่ไปรับการรักษาคือ คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องไปรักษา (63.9%) เหตุผลส่วนใหญ่ของการชะลอการรักษาก็คือ ต้องการจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง (68.8%) และเหตุผลส่วนใหญ่ของการหยุดการรักษาก่อนกำหนดคือ คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องรักษาต่อ ปัจจัยที่สัมพันธ์การเข้าไม่ถึงบริการคือเพศหญิงกับมีอายุน้อย การศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลกให้ผลในทิศทางเดียวกันว่า หลังจากที่บุคคลในครอบครัวแสดงอาการทางจิตที่ชัดเจน ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีโดยเฉลี่ย ครอบครัวจึงนำผู้ป่วยมารับการตรวจวินิจฉัยและรักษา การสำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1000 คน จาก 17 ประเทศ พบว่าผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่จะมารับการรักษาในท้ายที่สุด แต่มักปล่อยให้เวลาผ่านไปนานก่อนเข้ารับการรักษา โดยเฉลี่ยเวลาจะผ่านไป 8 ปีก่อนเข้ารับการรักษาสำหรับโรคทางอารมณ์ และอย่างน้อย 9 ปีสำหรับโรควิตกกังวล ผู้ที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมักพบในผู้ที่อายุน้อยหรือไม่ก็อายุมาก เพศชาย การศึกษาต่ำ หรือมีชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในชนกลุ่มน้อย

การสำรวจสุขภาพจิตระดับชาติโลก (World Mental Health Survey) นั้นพบว่าสัดส่วนผู้ป่วยที่ไม่ไปรับการรักษาหรือมีความล่าช้าในการไปรับการรักษานั้นมีแนวโน้มสูงกว่าในประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มผู้สูงอายุเพศชาย และเริ่มป่วยในขณะที่อายุยังน้อยส่วนการหยุดรักษาก่อนกำหนด โดยภาพรวมทั่วโลกนั้นมีราว 31.7% โดยแยกเป็น 26.3% ในกลุ่มประเทศ รายได้สูง 45.1% ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปทางสูง (upper-middle income countries) และ 37.6% ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำหรือปานกลางไปทางต่ำ (low/lower-middle) โดยสัดส่วนของผู้ที่หยุดรับการรักษากับจิตแพทย์นั้นโดย เฉลี่ยมีราว 21.3% และทุกกลุ่มประเทศมีตัวเลขนี้ใกล้เคียงกัน โดยการหยุดการรักษามักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการรักษา โดยเฉพาะหลังจากพบจิตแพทย์เป็นครั้งที่สอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: