จับตา: ค่าใช้จ่ายครัวเรือนจากการดื่ม ‘แอลกอฮอล์’-สถานการณ์คนไทยติดสุรา 2.1 ล้านคน

ทีมข่าว TCIJ : 22 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6947 ครั้ง


ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ใช้ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 197 บาทต่อเดือนในปี 2543 มาเป็น 145 บาทต่อเดือนในปี 2556 แต่การลดลงของค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความชุกของผู้ดื่มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นตัวบ่งชี้ว่าราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าวเติบโตไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ ที่มาภาพประกอบ: tnews.co.th

จากงานศึกษา 'ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเทศไทย FACTS AND FIGURES: ALCOHOL IN THAILAND' โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุราและหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2559) รวบรวมจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2556ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ใช้ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 197 บาทต่อเดือนในปี 2543 มาเป็น 145 บาทต่อเดือนในปี 2556 (ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการสำรวจ และค่าใช้จ่ายถูกปรับตามอัตราเงินเฟ้อเป็นค่าเงินบาทในปี 2543)  โดยอัตราการลดลงของค่าใช้จ่ายต่อปี (annual percent change: APC) ระหว่างปี 2543 ถึง2556 คิดเป็นร้อยละ 3.7

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือนในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างปี 2543 ถึง 2556 (ปรับตามอัตราเงินเฟ้อเป็นค่าเงินบาทในปี 2543) ที่มา: การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2543, 2544, 2545, 2547, 2549, 2550, 2552, 2554 และ 2556, สำนักงานสถิติแห่งชาติ *ปรับตามอัตราเงินเฟ้อโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของครัวเรือนมาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายรวมของครัวเรือนพบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง เกือบครึ่งหนึ่งจากร้อยละ 2 ในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 1.08 ในปี 2556 และเมื่อนำค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของครัวเรือนมาเปรียบเทียบกับรายได้ของครัวเรือนพบแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน คือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงครึ่งหนึ่งจากร้อยละ 1.62 ในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 0.81 ในปี 2556

สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือนในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างปี 2543 ถึง 2556 เทียบกับรายจ่ายรวมและรายได้ของครัวเรือน ที่มา: การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2543, 2544, 2545, 2547, 2549, 2550, 2552, 2554 และ 2556, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความชุกของผู้ดื่มในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นตัวบ่งชี้ว่าราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าวเติบโตไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ในทางปฏิบัติประชาชนมีอำนาจในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละ 3.3 ล้านคน จาก ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’  ตั้งเป้าลดอันตรายนี้ให้ได้ลง 10% ภายในปี 2568

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละ 3.3 ล้านคน จากอันตรายที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ [1] ทั้งนี้สหประชาชาติ (UN) ได้ตั้งเป้าหมายการรณรงค์ระดับโลกไว้ว่าในปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) จะต้องลดอันตรายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ลง 10% ซึ่งใน รายงานความก้าวหน้าของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำปี 2558 (2015 PROGRESS REPORT:  Beer, Wine and Spirits Producers’ Commitments to Reduce Harmful Drinking) พบว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่ม ‘พันธมิตรนานาชาติเพื่อการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ’ (International Alliance for Responsible Drinking - IARD) ระบุว่า มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามพันธกิจนี้ อย่างเช่นในปี 2558 มีการดำเนินโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควร 257 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 49% และมีประเทศต่าง ๆ ร่วมทำโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิม 57 ประเทศเป็น 82 ประเทศ โครงการดังกล่าวเข้าถึงผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดเกือบ 30 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู หรือผู้นำชุมชน โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีผู้เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 192 ล้านคนผ่านการให้ความรู้ ผ่านทางสื่อ และการรณรงค์บนโซเชียลมีเดีย

อนึ่ง IARD เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขโลกอันเกิดจากการดื่มแบบอันตราย ตลอดจนส่งเสริมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ ไวน์ และสุรา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการใช้แอลกอฮอล์แบบอันตราย โดยบรรดาผู้ผลิตได้ลงนามในพันธกิจครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2555 และเห็นพ้องกันในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เป็นเวลา 5 ปี มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับและขยายความพยายามในการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแบบที่เป็นอันตราย โดยบริษัท 12 แห่งที่ร่วมลงนามในพันธกิจนี้ประกอบด้วย Anheuser-Busch InBev, Asahi Group Holdings, Bacardi, Beam Suntory, Brown-Forman Corporation, Carlsberg, Diageo, Heineken, Kirin Holdings Company, Molson Coors, Pernod Ricard และ SABMiller

สถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย

ข้อมูลจาก 'ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเทศไทย FACTS AND FIGURES: ALCOHOL IN THAILAND' โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุราและหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2559) ได้รวบรวมสถานการณ์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่น่าสนใจไว้ดังนี้

การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ไทยจะใช้ ‘ระบบใบอนุญาตขายสุรา’ ซึ่งเป็นมาตรการที่คุ้มค่าสูงสุดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยรัฐบาลได้ควบคุมร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในด้านจำนวนวันและชั่วโมงที่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวประสบความสำเร็จทั้งในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ สำหรับประเทศไทยพบว่าร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ถูกกฎหมาย) เทียบกับประชากรต่อใบอนุญาตขายสุราในปี 2557 มีสัดส่วนเยาวชน (15 ถึง 24 ปี)  16 คน ต่อ 1 ใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีร้านค้าที่ไม่มีใบอนุญาตอีกจำนวนมาก ทำให้คนไทยเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย โดยผลการศึกษาความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการบริโภคและผลกระทบของประเทศไทย พบว่าในปี 2552  คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยเพียง 4.5 นาที โดยมีระยะทางจากที่อยู่ไปถึงร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยเพียง 324 เมตร เท่านั้น  

ผลกระทบต่อสุขภาพ จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ปี 2556  ข้อมูลล่าสุดพบว่าการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ประชากรชายไทยสูญเสียสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ นับรวมเป็น 496,000 ปีของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งคิดเป็น 22.3% ของปีแห่งการสูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสาเหตุอื่น ๆ แล้วการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการสูญเสียปีสุขภาวะในประชากรชายสูงถึง 537,000 ปี หรือ 8.8% ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด และจากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยต่อเนื่องทุก 5 ปี โดยในการสำรวจครั้งที่ 4 ในปี 2556 (ครั้งล่าสุด) พบว่าประชากรไทยประมาณ 9.3 ล้านคน (18%) มีภาวะความผิดปกติจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในตลอดช่วงชีวิต นอกจากนี้ประชากรไทยกว่า 2.1 ล้านคน (4.1%) ยังเป็นโรคติดสุราในช่วงชีวิตที่ผ่านมา

อุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ของปี 2560 ในช่วงเทศกาลปีใหม่เกิดอุบัติเหตุ 3,919  ครั้ง ผู้เสียชีวิต 478 ราย ผู้บาดเจ็บ 4,128  คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ เมาสุรา 36.59% ขับรถเร็วเกินกำหนด 31.31% ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เกิดอุบัติเหตุ 3,690 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 390 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,808 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ เมาแล้วขับ 1,589 ครั้ง ขับรถเร็ว 1,028 ครั้ง ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็ว 146 ราย เมาแล้วขับ 124 ราย

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากแอลกอฮอล์ ในงานศึกษาเรื่อง 'การศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย' โดย ธัชนันท์ โกมลไพศาล (2558) ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2554 พบว่า แอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสังคมทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 89,797,223,270 บาท เลยทีเดียว

 

ที่มาข้อมูล

ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเทศไทย FACTS AND FIGURES: ALCOHOL IN THAILAND (ศูนย์วิจัยปัญหาสุราและหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, พ.ย. 2559)
2015 PROGRESS REPORT:  Beer, Wine and Spirits Producers’ Commitments to Reduce Harmful Drinking (International Alliance for Responsible Drinking, 22/7/2016)
Global Health Observatory (GHO) data (WHO, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20/10/2017)



ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: