พิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์...ทำไมถึงอยู่ได้ทั้งที่ค่าตั๋วแพง

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล : 7 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 9155 ครั้ง


หนังสือท่องเที่ยวเนเธอร์แลนด์ทุกเล่มแนะนำไปในทางเดียวกันว่า การเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นกิจกรรมที่ควรทำเมื่อมาเยือนประเทศนี้

โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่มีมาตรฐานระดับโลก อย่างในเมืองอัมสเตอร์ดัม พิพิธภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อเช่นไรค์ซ มิวเซียม (Rijks Museum) มิวเซียมศิลปินวาดภาพฟาน ค็อก (Van Gogh Museum) เมืองเดน ฮาก (Den Haag) หรือ เดอะ เฮค (The Hague) ในภาษาอังกฤษ ก็มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่รวบรวมคอลเล็คชันศิลปะและวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พิพิธภัณฑ์เทศบาลเมืองเดน ฮาก (Gemeentemuseum Den Haag) ที่มีผลงานของพีท มนดรีอาน (Piet Mondriaan) และศิลปินแนว De Stijl ซึ่งแนวทางศิลปะสมัยใหม่ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 หรือพิพิธภัณฑ์เมาริทเฮาส์ (Mauritshuis) ที่มีภาพวาดชื่อดังอย่าง “หญิงสาวกับต่างหูมุก” ของโยฮันเนส แฟร์เมียร์ (Johannes Vermeer) หรือในร็อตเตอร์ดัม มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะโบเอยมันส์ ฟาน เบอนิงเกอ (Museum Boijmans Van Beuningen) ที่สะสมงานของศิลปินยุคปลายสมัยกลางอย่างเยรอนิมุส บอช (Jheronimus Bosch) ไว้จำนวนหนึ่ง

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไรค์ซ มิวเซียม (Rijks Museum) ช่วงจัดนิทรรศการ Late Rembrandt

คำแนะนำของหนังสือท่องเที่ยวเนเธอร์แลนด์สอดคล้องกับตัวเลขที่มีการจัดทำขึ้นทุกปีโดยสำนักงานสถิติของเนเธอร์แลนด์ เช่น ในปี 2009 ระบุว่า 41% ของนักท่องเที่ยวเกือบ 10 ล้านคนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศนี้อย่างน้อยหนึ่งแห่ง และพิพิธภัณฑ์ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 6 ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด

แต่สิ่งที่มาพร้อมกับคุณภาพระดับโลกของพิพิธภัณฑ์คือ ราคาค่าเข้าชมที่ค่อนข้างแพง คิดเป็นเงินไทยตั้งแต่ 500-600 บาท หรือเกือบๆ 1,000 บาทสำหรับพิพิธภัณฑ์ใหญ่ บางแห่งผู้เข้าชมต้องจ่ายเพิ่มสำหรับนิทรรศการพิเศษ ทำให้บางเมืองอย่างอัมสเตอร์ดัมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยส่วนลดพิเศษ หรือมีโปรโมชันแบบซื้อบัตรที่ใช้ได้กับรถสาธารณะและเป็นส่วนลดในการเข้าพิพิธภัณฑ์ ตรงนี้ต่างจากบางประเทศอย่างอังกฤษหรืออเมริกาที่การเข้าชมนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์หลักๆ ไม่เสียค่าเข้า แต่ให้ผู้เข้าชมบริจาคตามความสมัครใจแทน หรือบางแห่งอาจกำหนดอัตราบริจาคขั้นต่ำไว้

สิ่งที่ฉันพยายามทำความเข้าใจคือเหตุใดพิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์ถึงจัดการโดยให้ผู้ชมต้องจ่ายค่าเข้าและราคาตั๋วก็ไม่ใช่น้อย โดยเบื้องต้นเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศนี้มีแนวคิดพยายามให้พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีการจัดการแบบแปรรูปหรือให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม (privatization) แม้ว่าพิพิธภัณฑ์เกือบทุกแห่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ทั้งในรูปแบบโครงการระยะสั้นคือ 4 ปี และโครงการระยะยาว โดยสูงสุดคือ 30 ปี กระนั้น รัฐก็ไม่ได้เข้ามาบริหารแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปัจจุบัน การจัดการพิพิธภัณฑ์ดัตช์เป็นแบบผสมผสานเปิดทางให้เอกชนเข้ามาบริหารเพื่อหารายได้ทั้งในรูปของมูลนิธิหรือภาคเอกชนจัดการเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มตัดงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ลงอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พร้อมกับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นงบประมาณที่มีอยู่ต้องนำไปสนับสนุนด้านประกันสุขภาพและสวัสดิการสำหรับประชากรวัยหลังเกษียณ

นอกจากรัฐจะสนับสนุนการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์แบบเอกชนแล้ว การสร้างสำนึกของสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญของพิพิธภัณฑ์นั้นต้องการความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย สมาคมพิพิธภัณฑ์เนเธอร์แลนด์  (Netherlands Museum Association หรือ Nederlandse Museum Vereniging –NMV ในภาษาดัตช์) เป็นอีกหน่วยงานที่กำหนดนโยบายในการบริหารพิพิธภัณฑ์ สมาคมนี้เห็นว่าการจัดการพิพิธภัณฑ์ควรเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชนในการให้ทุนสนับสนุน และสาธารณะหรือประชาชนในฐานะปัจเจกที่สามารถบริจาควัตถุที่มีค่าให้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุที่สะสมในพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งเป็นการได้วัตถุสะสมและผู้เข้าชมกลุ่มใหม่และหลากหลายมากขึ้น และทำให้ชุมชนรู้สึกได้รับความสำคัญและสามารถร่วมจัดการในเชิงสร้างสรรค์ หากชุมชนที่พวกเขาอยู่มีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ มีงานวิจัยระบุว่าพื้นที่ในชุมชนดังกล่าวอาจมีราคาที่ดินที่สูงขึ้น และที่สำคัญคือการจัดการแบบมีอาสาสมัคร ซึ่งเป็นอีกแรงกระตุ้นในการบริหารพิพิธภัณฑ์ของเนเธอร์แลนด์ จากตัวเลขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนอาสาสมัครที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ด้านชาติพันธุ์วรรณาที่เมืองไลเดิ้น (Museum Volkenkunde)

 


  

การจัดการพิพิธภัณฑ์โดยภาคเอกชนของเนเธอร์แลนด์สะท้อนได้ชัดจากประวัติศาสตร์การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ต่างจากประเทศยุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคอาณานิคมที่ประเทศเจ้าอาณานิคมส่วนใหญ่เริ่มสะสมสิ่งหาดูยากหรือสิ่งแปลกจากสังคมของพวกเขาเพื่อสร้างแหล่งรวบรวม ขณะที่พิพิธภัณฑ์ระดับชาติของดัตช์มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเจริญทางการค้ามากกว่าสนใจในความแปลกใหม่ของคนและสิ่งของ ดังนั้น กลุ่มพ่อค้าเรือทางทะเลซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นหลักที่ก่อร่างสร้างประเทศเนเธอร์แลนด์ในยุคทองจึงมีบทบาทในการสะสมสิ่งของแหล่านี้มากกว่าดำริจากชนชั้นนำหรือจากรัฐเป็นจุดเริ่มต้น จนกระทั้งรัฐเริ่มเห็นความสำคัญกับของสะสมที่มากขึ้นและเข้ามาจัดการให้เป็นระบบในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 กระทั่งในปี 1985 นโยบายการจัดการพิพิธภัณฑ์โดยรัฐเป็นศูนย์กลางนั้นเริ่มลดลง

การบริหารพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า สังคมคนดัตช์เองก็ต้องใฝ่หาความรู้มากพอที่จะทำให้มรดกและความภาคภูมิใจของชาติเหล่านี้อยู่ต่อไปได้ แม้ว่าการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์ก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมของยุโรปโดยรวม ที่พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นที่สะสมของมีค่าของพวกแวดวงนักบวชในโบสถ์หรือชนชั้นนำระดับสูง พิพิธภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงของสาธารณะจริงๆ เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงหลังยุครุ่งเรืองทางปัญญา (Enlightenment) ที่คนเริ่มตื่นตัวในการหาความรู้และหาเหตุผล ในปี 1759 พิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) ในกรุงลอนดอนถูกสร้างและเปิดให้คนภายนอกเข้าชมเป็นแห่งแรก ส่วนในเนเธอร์แลนด์ พิพิธภัณฑ์ที่เก่าแกที่สุดคือ Teylers Museum สร้างขึ้นในปี 1784 ในเมืองฮาร์เล็ม (Haarlem) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เสนอนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์  สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความก้าวหน้าของมนุษย์ในยุคแสงสว่างแห่งปัญญา หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐและเอกชนเองพยายามจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งสะสมวัตถุ และให้รัฐรับรองเพื่อรับงบประมาณสนับสนุน

จนมาในช่วงทศวรรษ 1970 หน่วยงานรัฐที่จัดการด้านมรดกวัฒนธรรม ในชื่อภาษาดัตช์ Rijksdienst voor het Cultureel Erfgoed ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการฯ ได้แบ่งประเภทของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดออกเป็นแบบจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนกับหน่วยงานนี้ และแบ่งเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดของเป็น 5 ประเภท คือ1.ศิลปะ 2. ประวัติศาสตร์ 3. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (natural history) 4.การพาณิชย์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม และ 5.ชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) และ 6.แบบผสมผสาน ข้อมูลจากกลุ่มยุโรปด้านสถิติพิพิธภัณฑ์ (European Groups Museum Statistics-EGMS) ระบุว่าปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีพิพิธภัณฑ์ที่จดทะเบียนทั้งหมด 685 แห่ง แบ่งเป็นประเภทศิลปะ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ทั้งหมด 489 แห่ง ประเภทวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และชาติพันธุ์วรรณา 156 แห่ง และอื่นๆ หรือผสมผสาน 40 แห่ง จากจำนวนทั้งหมดนี้มี 67 แห่งที่รัฐให้การสนับสนุนแบบเต็มรูปแบบ ส่วนที่เหลือ 618 แห่งมีส่วนผสมของรัฐกับเอกชน เอกชนเต็มรูปแบบ และแบบมูลนิธิ

แต่หากพิจารณารายชื่อและการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ที่นี่ ฉันคิดว่ามีความหลากหลายมากกว่าการแบ่งประเภทโดยทางการค่อนข้างมาก ขอยกตัวอย่างคร่าวๆ บางแห่งฉันก็ไปได้ไปชมด้วยตนเอง บางแห่งฉันเห็นจากรายชื่อในเวบไซต์เท่านั้น นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทิ่เน้นความรุ่งเรืองของดัตช์และมรดกอาณานิคมและศิลปะของศิลปินดัตช์แล้ว เนเธอร์แลนด์มีพิพิธภัณฑ์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสิ่งประดิษฐ์เฉพาะตัวของสังคมตัวเอง เช่น พิพิธภัณฑ์จักรยานที่เมืองไนเมเกิน (Nijmegen) พิพิธภัณฑ์กระเป๋า (Museum of Bags and Purses)  พิพิธภัณฑ์ไบเบิล (Biblical Museum) พิพิธภัณฑ์เพชร (Diamant Museum ในภาษาดัตช์) พิพิธภัณฑ์ไปป์ (Amsterdam Pipe Museum) ในเมืองอัมสเตอร์ดัม พิพิธภัณฑ์รถไฟ (Het Spoorwegmuseum) เครื่องดนตรีไขลานและออร์แกนที่เล่นบนถนน (Museum Speelklok) ในเมืองอูเทรค  

รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยอย่าง พิพิธภัณฑ์การ์ตูนช่อง (Het Nederlands Stripmuseum) ในเมืองโครนิงเงอ (Groningen) เบียร์ (Nationaal Biermuseum De Boom) ในเมืองอลาคมาร์ (Alkmaar) เครี่องดื่มเยเนเวอร์ (Jenever) ที่เป็นต้นกำเนิดของเครื่องดื่มจิน (Nationaal Jenevermuseum Schiedam) ในเมืองสคีดัม (Schiedam) ชีสที่มีให้ดูหลายเมืองที่ผลิตและจำหน่าย เช่น อัมสเตอร์ดัม อาลคมาร์ และเคาด้า (Gouda) ตลอดจนเรื่องราวที่ดูเป็นของต้องห้ามในสังคมอื่นแต่ก็ได้รับการบอกเล่าภายใต้บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์แบบไม่เป็นทางการ (ตั้งโดยเอกชนและไม่ได้จดทะเบียนกับทางการ) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอัมสเตอร์ดัม เช่น กัญชา (Hash Marihuana & Hemp Museum) และเรื่องราวโรแมนติก เซ็กส์ และภาพโป๊ (Sexmuseum Amsterdam Venustempel)

สิ่งของและเรื่องเล่าจากพิพิธภัณฑ์ (หมุนตามเข็มนาฬิกา): กระเป๋า – เครื่องเล่นออร์แกนบนถนน – เครื่องดื่มเยเนเวอร์ - การ์ตูนช่องล้อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน

 


 

พิพิธภัณฑ์ดัตช์ส่วนใหญ่ต้องหารายได้เพื่อให้อยู่รอดตามแนวทางแปรรูปแบบเอกชน วิธีการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในปี 1981 มีการจัดตั้งมูลนิธิบัตรพิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมการ์ดรายปี (Stichting Museumjaarkaart) โดยตั้งเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนเข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้นหรือให้มาเที่ยวซ้ำอีก รวมถึงดำเนินกิจกรรมและความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องระหว่างคนชมและพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการตั้งเป้าให้มีการจำหน่ายบัตรพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้น จนในปี 2003 มูลนิธิมิวเซียมการ์ดก็ยุบรวบกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และการขายบัตรดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การมีบัตรพิพิธภัณฑ์รายปีนั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง ฉันซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่นหลายปียอมรับว่าคุ้มค่ามากในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่มีมากมายทั่วประเทศ เพราะบัตรนี้ทำให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นสมาชิกของมูลนิธิ 418 แห่งทั่วประเทศ (ตัวเลขในปี 2015) บัตรนี้มีอายุ 1 ปีในราคาสมาชิก 2 ประเภท คือประเภทที่อายุต่ำว่า 18 ปีหรือเยาวชน และประเภทผู้ใหญ่ ตอนที่ฉันสมัครตอนไปเรียนปีแรกที่อัมสเตอร์ดัม อยู่ที่ประมาณ 55 ยูโร และขึ้นราคามาเรื่อยๆ เป็น 59.90 ยูโรในปี 2016 ปีสุดท้ายก่อนฉันกลับเมืองไทย บัตรนี้สามารถใช้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมกี่ครั้งก็ได้ภายในอายุบัตร แต่มีข้อแม้ว่าห้ามใช้ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังการใช้ครั้งแรกในพิพิธภัณฑ์เดียวกัน

จำนวนผู้ใช้บัตรพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสะท้อนว่าคนให้ความสนใจการเข้าพิพิธภัณฑ์ และการใช้บัตรก็คุ้มค่ามากกว่าซื้อตั๋วเข้าแต่ละแห่งที่มีราคาสูง ล่าสุดที่มีการสำรวจในปี 2015 มีคนถือบัตรนี้ราว 1.1 ล้านคน หรือมากขึ้น 10% จากปี 2014 นอกจากนี้ การเยี่ยมชมโดยใช้บัตรนั้นมากขึ้นเป็น 17% หรือจาก 6.4 เป็น 7.5 ล้านคน ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแผนกระตุ้นให้คนมาชมพิพิธภัณฑ์ซ้ำอีกเป็นไปตามเป้าหมายของมูลนิธิ สำนักงานสถิติของเนเธอร์แลนด์ยังแจกแจงว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนดัตช์เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ราว 4 ครั้งในเวลา1 ปี และค่าเฉลี่ยของคนใช้บัตรพิพิธภัณฑ์เพิ่มจาก 6.5 ครั้งในปี 2013 เป็น 6.6 ครั้งในปี 2014

มิวเซียมการ์ดระบุภาพถ่ายและวันเดือนปีเกิดของผู้ถือบัตร (ในภาพเป็นตัวอย่างโดยใช้ชื่อของเรมแบรนด์ต ฟาน ไรน์) ที่มาภาพ: Elsevierweekblad

นอกจากกระตุ้นการเป็นสมาชิกบัตรพิพิธภัณฑ์แล้ว มูลนิธิพิพิธภัณฑ์เนเธอร์แลนด์ยังจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อกระตุ้นให้คนมาเยี่ยมชมมิวเซียมมากขึ้น เช่น คืนพิพิธภัณฑ์ (Museum Night) และ สุดสัปดาห์พิพิธภัณฑ์ (Museum Weekend) กิจกรรมเหล่านี้สร้างกระแสให้มีคนหลายกลุ่มมากขึ้นมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ที่สำคัญคือไม่ได้ทำให้การชมพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งทัศนศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนอย่างเดียว แต่เป็นอีกกิจกรรมที่คนทุกวัยเข้าร่วมได้

สำหรับนักเรียน โรงเรียนในเนเธอร์แลนด์กำหนดหลักสูตรให้ 1 ใน 30 สัปดาห์ของการเรียนคือการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ สถิติผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ระบุว่า เด็กจากครอบครัวรายได้ไม่สูงกับรายได้สูงมีการเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในอัตราที่ไม่แต่งต่างกัน ย้ำให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นช่องทางหนึ่งของการศึกษาและความบันเทิงที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างชนชั้นของคนในสังคม อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมอาจสะท้อนว่าชนชั้น เพศ และรายได้มีผลต่อการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ของคน สมาคมพิพิธภัณฑ์เนเธอร์แลนด์รายงานว่าผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังเป็นคนดัตช์ท้องถิ่น มีพื้นเพการศึกษาสูง และเป็นผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองหลักๆ 4 เมืองของประเทศคือ อัมสเตอร์ดัม ร็อตเตอร์ดัม เดอะ เฮค และอูเทรค ส่วนประชากรที่ไม่ใช่ดัตช์ดั้งเดิมนิยมไปห้องสมุดประชาชนมากกว่าพิพิธภัณฑ์

 


 

นอกจากนี้ การกระตุ้นให้คนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ่อยครั้ง คือการจัดนิทรรศการชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์ต้องทำการบ้านอย่างหนักและต่อเนื่อง นั่นคือการทำวิจัยและนำเสนอข้อมูลทันสมัยและมีพลวัต ควบคู่ไปกับการสร้างเรื่องเล่าจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ด้วยกรอบแนวคิดแบบใหม่ อีกทั้งพยายามจัดโอกาสหรือเฉลิมฉลองการครบรอบของมรดกสำคัญของชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือคนสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะศิลปินที่มีชื่อเสียง ระหว่างที่ฉันอยู่ที่นั่นก็ได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการที่จัดพิเศษอยู่หลายครั้ง

ที่น่าจดจำคือนิทรรศการ Late Rembrandt ของศิลปินดัตช์ในศตวรรษที่ 17—เรมแบรนด์ต ฟาน ไรน์ (Rembrandt van Rijn) ที่จัดขึ้นที่ไรค์ซ มิวเซียม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ปี 2015 แม้ว่าหลายคนได้มีโอกาสชมภาพเขียนชื่อดังของศิลปินคนนี้อย่าง The Night Watch หรือ The Jewish Bride ได้อยู่แล้วในพิพิธภัณฑ์นี้ แต่การจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมเอาภาพวาดและภาพพิมพ์ในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเขากว่า 100 ชิ้น มีทั้งงานที่พิพิธภัณฑ์ของเนเธอร์แลนด์เองเป็นเจ้าของ การยืมจากที่อื่น และของสะสมส่วนตัวจากเอกชนมาแสดงรวมกัน

Wim Pijbes ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์นี้ถึงกับกล่าวว่า นี่อาจจะเป็นนิทรรศการที่คนชมมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะเป็นการจัดในธีมเกี่ยวกับเรมแบรนด์ตที่จัดขึ้นทุกๆ 20 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกรุ่นระลึกและทำความคุ้นเคยกับงานของศิลปินอันยิ่งใหญ่ของยุคทองเนเธอร์แลนด์ นิทรรศการนี้ได้รับการตอบรับดีตามความคาดหมาย ทางพิพิธภัณฑ์ต้องจัดโควต้าในการเข้าชมในแต่ละช่วงในแต่ละวันเพื่อไม่ให้จำนวนคนที่มากเกินไปทำให้เสียอรรถรสในการเข้าชม และการเข้าชมนิทรรศการนี้ยังต้องเสียค่าบัตรต่างหากอีก 10 ยูโร นอกจากราคาค่าเข้าปกติ รวมถึงฉันที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกแม้ว่าจะมีบัตรพิพิธภัณฑ์ประจำปีแล้วก็ตาม

อีกนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ในปี 2016 เป็นวาระครบรอบ 500 ปีการตายของเยรอนิมุส บอช ที่แม้ไปมีชีวิตส่วนใหญ่สร้างชื่ออยู่ที่สเปนก็ตาม ในวาระนี้ทางพิพิธภัณฑ์นอร์ด บราบันต์ (Noordbrabants Museum) ที่เมืองเดน บอช (Den Bosch) เมืองเกิดของศิลปินผู้นี้ ได้จัดนิทรรศการธีม “Jheronimus Bosch – Visions of genius” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ปี 2016 ถือเป็นนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ต้องจองบัตรล่วงหน้ากันเป็นเดือนและจ่ายค่าตั่วเพิ่ม เพราะงานหลายชิ้นทางพิพิธภัณฑ์ต้องยืมจากพิพิธภัณฑ์ชั้นน้ำในประเทศอื่นที่เป็นเจ้าของงาน อย่าง Museo Nacional del Prado ที่เมืองมาดริด ประเทศสเปน หรือมิวเซียม Palazzo Grimani ที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี และเมื่อนิทรรศการเปิดตัวได้ไม่เท่าไรตั๋วก็ขายหมด จนทำให้ทางพิพิธภัณฑ์ต้องขยายเวลาเปิดชมนิทรรศการในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตีหนึ่งของอีกวัน และเปิดทุกวันจนนิทรรศการจบโดยไม่มีวันหยุด เมื่อเสร็จสิ้นนิทรรศการ ทางพิพิธภัณฑ์สรุปว่ามียอดของคนเข้าชมถึง 421,700 คน

ทั้งเมืองเดน บอชประดับประดาเพื่อการเฉลิมฉลองนิทรรศการศิลปินเยโรนิมุส บอช

นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการเสนอในพิพิธภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่ฉันสัมผัสได้คือเนื้อหาในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์เองพร้อมปฏิเสธเรื่องเล่าหลักหรือการเชิดชูความยิ่งใหญ่ของคนชนชาติดัตช์เพียงอย่างเดียว เมื่อกาลเวลาผ่านไป บางสิ่งบางอย่างควรถูกนำมาทบทวนแก้ไขเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับมนุษยชาติ เช่น ในเดือนธันวาคม ปี 2015 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไรค์ซเป็นแห่งแรกที่มีนโยบายเลิกใช้คำ 23 คำที่แสดงถึงการเหยียดผิว การแสดงอำนาจของเจ้าอาณานิคม หรือแสดงความดูถูกหรือเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในคำบรรยายใต้ภาพงานศิลปะ เช่นคำว่า “นิโกร” (Negro) “เอสกิโม” (Eskimo)  และ “อินเดียน” (Indian) ทางพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนจากคำว่า “ทาสนิโกร” (Nigro servant) เป็น “ทาสเด็กผิวดำ” "young black servant" ในคำบรรยายภาพเหมือนของ Margaretha van Raephorst เป็นต้น

อีกตัวอย่างคือพิพิธภัณฑ์ของการขัดขืน (Dutch Resistance Museum หรือ Verzetsmuseum Amsterdam ในภาษาดัตช์) เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ช่วงที่พรรคนาซีของเยอรมนี เข้ายึดประเทศเนเธอร์แลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการบอกกล่าวถึงขบวนการต่อต้านขัดขืนการยึดครองเยอรมนี ซึ่งเป็นทั้งขบวนการแบบเปิดเผยในระดับพรรคการเมือง และระดับตัวบุคคล ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงที่คนดัตช์และชาวยิวถูกกดขี่โดยทหารนาซี นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับอินโดนีเซียช่วงที่ถูกยึดครองโดยดัตช์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับรางวัลด้านการสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมดีเด่น (Leukste Innovatieve Uitje award) ปี 2014 และรางวัล Dutch Museum Prize ปี 2016

พิพิธภัณฑ์นี้พยายามเสนอเรื่องราวที่ไม่ได้ยกย่องความเป็นดัตช์ หรือมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกชาตินิยมหรือความภูมิในในชาติเพียงอย่างเดียว เช่นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2015 ถึงเดือนเมษายน 2016 มีการจัดนิทรรศการ “Colonial War 1945-1949: Desired and Undesired Images” เล่าเรื่องราวช่วงที่ทหารดัตช์เข้าในอินโดนีเซียอีกหลังที่อินโดนีเซียถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแพ้สงครามถอยทัพออกไปในเวลาต่อมา นิทรรศการเปิดโปงการทำงานของสื่อมวลชนดัตช์ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทหารดัตช์ ที่เบื้องหน้าแสดงให้เห็นว่าเข้าไปช่วยเหลือคนท้องถิ่น แต่เบื้องหลังของภาพสวยงามคือการกดขี่และบังคับโยกย้ายคนท้องถิ่น นิทรรศการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้จากหลักฐานภาพถ่ายส่วนตัวของเหล่าทหารดัตช์ เพื่อย้ำให้เห็นถึงการทำงานของสื่อที่เล่นกับความรู้สึกของมวลชนชาวดัตช์ในขณะนั้น

นิทรรศการ “Colonial War 1945-1949: Desired and Undesired Images” ในพิพิธภัณฑ์ของการขัดขืน (Dutch Resistance Museum)

อีกมิติหนึ่งที่ฉันเห็นได้ชัดคือพิพิธภัณธ์ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาตร์หรือชาติพันธุ์วรรณาหลายแห่งพยายามเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคนอพยพซึ่งมีราว 10% ของประชากรในสังคมดัตช์ รวมถึงชนกลุ่มน้อย หรือคนระดับล่างในสังคม การนำเสนอเรื่องราวของคนเหล่านี้เริ่มเป็นปรากฏการณ์ชัดเจนในช่วงปี 1960 เมื่อมีการนำศาสตร์ทางพิพิธภัณฑ์มาเชื่อมโยงกับการสร้างความรู้ในสถาบันศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีนักประวัติศาสตร์เป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงคำว่า “วัฒนธรรม” จากที่แวดล้อมอยู่กับสังคมชนชั้นสูงและผู้นำเป็นหลัก การเล่าเรื่องคนธรรมดาสามัญกลายเป็นหัวใจของแนวคิดวัฒนธรรมแบบใหม่ ในช่วงนี้เองเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์เองก็ตามกระแสนี้เช่นกัน มีเรื่องราวของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยได้รับการนำเสนอมากขึ้น

จนก้าวเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1970 การส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ถือเป็นนโยบายหลักของพรรคการเมืองอย่างเห็นได้ชัด จำนวนพิพิธภัณฑ์ในช่วงทศวรรษนี้เพิ่มขึ้นถึง 11 เท่าจากจำนวนที่มีอยู่ในปลายทศวรรษ 1960 พร้อมๆ กับการสนับสนุนให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์จากชุมชนหรือคนระดับล่างให้กว้างขวางขึ้นด้วย แนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

ฉันขอเล่าพอเป็นตัวอย่างสัก 2-3 นิทรรศการ เช่น พิพิธภัณฑ์อัมสเตอร์ดัม (Museum Amsterdam) ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับผู้หญิงดัตช์ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ในปี 2014 [1] หรือนิทรรศการแรงงานอพยพจากโมร็อกโกที่เข้ามาในเนเธอร์แลนด์ช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 หรือพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาในอัมสเตอร์ดัม (Tropenmuseum) และเมืองไลเดิ้น (Museum Volkenkunde) จัดนิทรรศการสำหรับเยาวชน “ZieZo Marokko” จำลองสถานการณ์ให้เด็กเข้าร่วมนั่งเครื่องบินไปกับตัวละครที่จะบินไปโมร็อกโก เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างแบบมีส่วนร่วมหรือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการและผู้เข้าชม นอกจากนี้ หลายพิพิธภัณฑ์ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมกลุ่มย่อย คนรักร่วมเพศและคนข้ามเพศตามอุดมการณ์เสรีของสังคมดัตช์อย่างต่อเนื่อง

นี่คือประสบการณ์ส่วนหนึ่งของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์ ฉันได้เรียนรู้เรื่องราว มากมายจากนิทรรศการถาวรและชั่วคราว และไม่ใช่แค่เพียงเรื่องราวประวัติศาสตร์หรือสังคมดัตช์เท่านั้น ฉันยังได้ความรู้เกี่ยวกับทวีปยุโรปและโลกใบนี้อีกด้วย แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งหรือทุกนิทรรศการไม่ได้ดีเทียบเท่ากันหมด แต่ที่ยืนยันได้คือการได้เห็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์และทำให้มันอยู่ได้จริงกับสังคมและชุมชนที่เกื้อหนุนกัน

 

[1] อ่านรายละเอียดได้ที่  https://prachatai.com/journal/2014/08/55092

 


 

  

อ้างอิง

Bína, Vladimír. “Netherlands”. Retrieved from: http://www.egmus.eu/uploads/tx_usermusstatistic/The_Netherlands.pdf

Bína, Vladimír, Oosterhuis, Robert, Verhoogt, Robert, and Heerschap, Nico. 2016. “Egmus: Country Report: The Netherlands”. Retrieved from: http://www.egmus.eu/uploads/tx_usermusstatistic/Country_Report_Netherland_2016.pdf

Boztas, Senay. “Dutch gallery removes racist artwork titles” (11 December 2015). Retrieved from The Telegraph: http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/netherlands/12046714/Dutch-gallery-removes-racist-artwork-titles.html

Centraal Bureau voor de Statistiek. “Leisure activities income-related” (15 April 2008). Retrieved from: https://www.cbs.nl/en-gb/news/2008/16/leisure-activities-income-related

Cultural Heritage Agency, Ministry of Education, Culture and Science. “The Heritage Monitor”. Retrieved from: https://erfgoedmonitor.nl/en

Dutch Ministry of Education, Culture and Science. 2014. Culture at a Glance 2014. The Hague: Ministry of Education, Culture and Science.

Dutch Resistance Museum. “Colonial war 1945-1949. Desired and undesired images”. Retrieved from: https://www.verzetsmuseum.org/museum/en/exhibitions/missed/colonial-war-1945-1949

European Group on Museum Statistics. Retrieved from: http://www.egmus.eu/en/

Het Noordbrabrants Museum. “421,700 visitors for Hieronymus Bosch exhibition” (9 May 2016). Retrieved from: http://www.hetnoordbrabantsmuseum.nl/topmenu/english/press/press-releases/421,700-visitors-for-hieronymus-bosch-exhibition/

Mehos, Donna C. 2008. “Colonial Commerce and Anthropological Knowledge: Dutch Ethnographic Museums in the European Context”. In Henrika Kuklick (Ed) New History of Anthropology (pp.173-190). Blackswell Publishing: MA, Oxford, and Victoria. 

Overduin, Henk. 1986. “Polarity in Museum Policy: Dutch Museums as an Expression of Present-day Society”. The International Journal of Museum Management and Curatorship, 5: 65-72.

Rijks Museum. “OUDLate Rembrandt”. Retrieved from: https://www.rijksmuseum.nl/en/whats-on/exhibitions-past/oudlate-rembrandt

Tropen Museum Junior. “A plane’s waiting for you in the Tropenmuseum Junior. Go on board, fasten your seat belt, let’s go to… Morocco!”. Retrieved from: http://tropenmuseumjunior.nl/en/exhibition/ziezo-marokko

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จักรยานในฐานะเครื่องมือสลายชนชั้น...ประสบการณ์จากเนเธอร์แลนด์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: