13 ปี สื่อตีข่าว ‘ปอบ’ อย่างน้อย 74 ครั้ง คนถูกตีตรา ‘เจ็บ-ตาย’ รัฐต้องไกล่เกลี่ยหวั่นรุนแรง

สมานฉันท์ พุทธจักร ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 26 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 9534 ครั้ง

ยุคสมัยใหม่ที่ความเชื่อ ‘ผีปอบ’ อาจเป็นสิ่งขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์  กลับพบว่าระหว่าง 2547-2560 สื่อนำเสนอเหตุปอบอาละวาดอย่างน้อย 74 ครั้ง โผล่มาทีทำวุ่นทั้งหมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ บางครั้งคนถูกมองเป็นปอบโดนทำร้ายร่างกาย-ฆาตกรรม เริ่มมีการฟ้องหมิ่นประมาท ก.ยุติธรรม ต้องลงไกล่เกลี่ยหวั่นความรุนแรง สถิติพบคนอีสานเจ็บป่วย 100 คน จะวินิจฉัยสาเหตุไม่ได้ 1 คน ที่มาภาพประกอบดัดแปลงจาก: Youtube/You Like

ความรับรู้เกี่ยวกับ ‘ผีปอบ’ ที่ติดหูติดตาคนไทย มักเป็นภาพหญิงวัยกลางคนวิ่งไล่ล่าผู้คนเพื่อจกกินตับไตไส้พุง และผู้ถูกไล่ล่าก็ต่างเอาชีวิตรอดด้วยสารพัดวิธี นี่คือ ‘การสร้างภาพจำ’ จากภาพยนตร์ผีตลกระดับคลาสสิคเรื่อง ‘บ้านผีปอบ’ ที่ถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง 14 ภาค สร้างความบันเทิงให้คนไทยมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี โดยภาพยนตร์เรื่อง ‘บ้านผีปอบ 2’ (ปี 2533) ถึงกับได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

ในชนบทของภูมิภาคอีสาน มีคนจำนวนมากที่เชื่อการดำรงอยู่ของผีปอบ เหมือนความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณอื่น ๆ ในโลกที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และความเชื่อเรื่องผีปอบนั้นได้นำมาซึ่งปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่าสนใจ นอกจากในมุมของความเชื่อพื้นถิ่นแล้ว ยังมีงานศึกษามากมายที่พยายามตีความปรากฏการณ์ผีปอบในหลากหลายแง่มุม ทั้งด้านจิตเวชศาสตร์และการเป็นเครื่องมือใส่ร้ายบุคคลอื่นเมื่อมีความขัดแย้งในชุมชน

คนอีสานมองปอบอย่างไร? และปอบในมุมมอง ‘จิตเวชศาสตร์’

นิยามของผีปอบจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ แม้ในภาคอีสานเองผีปอบในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีที่มาและพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน มีงานศึกษาการดำรงอยู่ของผีปอบมากมายทั้งในด้านความเชื่อ สังคม วิทยาศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ผีปอบจากหลากหลายมุมมอง อย่างในงานศึกษา ‘ผีปอบ-พิธีกรรมการไล่ผีปอบทางไสยศาสตร์’ ของ สุพัตรา มะโรงรัตน์ ได้ให้นิยามของผีปอบตามความเชื่อของผู้คนภาคอีสานว่า “คนที่มีเวทย์มนต์คาถาและมีเครื่องรางของขลังติดตัว เมื่อประพฤติตัวไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ก็จะมีผีมาเกาะกับตัวและออกเที่ยวไปสิงคนอื่นเพื่อกิน ตับ ไต ไส้ ของคนที่โชคร้ายคนนั้น และอาจจะเป็นมนต์คาถาของดีของขลังทั้งหลายเหล่านั้นที่ซึ่งแต่ก่อนมีคุณวิเศษได้กลับ กลายเป็นพลังอันชั่วร้ายกลายเป็นวิญญาณร้ายขึ้นมาแทนที่”

ปอบในความคิดความเชื่อของของชาวอีสาน แม้จะมีหลายรูปแบบก็ตาม แต่โดยหลักสำคัญมีอยู่ 2 ชนิดแบ่งตามวิธีการเป็นผีปอบ คือ ‘ปอบเชื้อ’ และ ‘ปอบมนต์’ โดย ‘ปอบเชื้อ’ เป็นปอบที่เกิดจากคนที่มีญาติพี่น้องเคยเป็นปอบมาก่อน โดยเฉพาะแม่เคยเป็นปอบ เมื่อแม่ที่เป็นปอบตายไป เชื่อกันว่าปอบของคนที่ตายไปจะไปสิงอยู่กับลูกสาวหรือญาติพี่น้องต่อมา ส่วน ‘ปอบมนต์’ หรือปอบเกิดใหม่ จะเกิดกับคนที่เรียนมนต์วิชาประเภทอาคมของขลัง แต่ได้กระทำผิดในข้อห้ามจากคุณวิเศษของคาถา ของขลังเหล่านั้นจะกลับกลายเป็นสิ่งชั่วร้าย นั่นคือการที่วิญญาณกลายเป็นผีปอบ

นอกจากมุมมองทางด้านความเชื่อแล้ว ยังมีคำอธิบายผีปอบผ่านมุมมองของจิตเวชศาสตร์ จากบทความ ‘ผีปอบ ผีเข้า ในทรรศนะทางจิตเวชศาสตร์’ ของนายแพทย์สงัน สุวรรณเลิศ ได้อธิบายว่าผู้ที่ถูกผีปอบเข้าสิงนั้นมีลักษณะเหมือนดังกับผู้ที่ถูกผีชนิดอื่น ๆ เข้า คือมักจะพบว่ามีอาการเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘อุปาทาน’ หรือ ‘ฮีสทีเรีย’ บางคนอาจจะเป็นโรคจิตเภท โรคเกี่ยวกับอารมณ์ โรคจิตจากแพ้พิษต่าง ๆ ผสมกับความเชื่อเรื่องผีปอบที่มีมาดั้งเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ใน ‘แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องผีปอบ’ ของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้อธิบายว่า ผู้ถูกผีเข้าหรือโรค ‘ภาวะภวังค์’ และ ‘ถูกผีสิง’ (Trance and Procession Disorder) มีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลเรื่องความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพจิตซ้ำ เนื่องจากการเผชิญปัญหาไม่เหมาะสม ทั้งนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาผีปอบในทางจิตเวชศาสตร์ เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขในชุมชนต้องค้นหาสาเหตุการตายปริศนาของคนในชุมชนให้แน่ชัด และแจ้งให้คนในชุมชนเข้าใจเพื่อป้องกันการตีตราบุคคลอื่นให้เป็นผีปอบ ให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสระบายถึงความรู้สึกคับข้องใจต่างๆ เช่น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในอดีต ให้หน่วยงานสาธารณสุขมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเพื่อให้คลายความเครียด และสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน

 

ผู้ป่วยจิตเวชในภาคอีสาน 

ข้อมูลจาก ‘จำนวนผู้ป่วยใน จำแนกตามกลุ่มสาเหตุป่วย 75 โรค จากสถานบริการสาธารณสุข ของกระทรวง  สาธารณสุข ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2546 - 2555’ ในปี 2555 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยในที่มีอาการความ ผิดปกติทางจิตใจที่มีสาเหตุจากโรคทั้งกลุ่มอาการของโรค 6,540 คน ความผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรมที่มี สาเหตุจากสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาท 35,738 คน ความผิดปกติทางจิตใจ จิตเภทและประสาทหลอน 15,376 คน  ความผิดปกติทางอารมณ์ (สะเทือนอารมณ์) 5,865 คน ความผิดปกติจากโรคประสาท  ความเครียด และอาการ  ทางกาย ที่หาสาเหตุไม่ได้ 12,292 คน โรคของประสาทอื่น ๆ 57,230 คน

  

ผลกระทบและการถูกตีตราเป็น ‘ผีปอบ’  

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษา ‘การทำให้เป็นผีปอบ และการกีดกันทางสังคมในมุมมองของการบริหารความขัดแย้ง’ ของ กมเลศ โพธิกนิษฐ์ ได้ อธิบายการทำให้บุคคลกลายเป็นผีปอบว่า คือการสร้างบุคคลอื่นที่มีความเห็นหรือแนวความคิดไม่ตรงกับกลุ่มของตน โดยใช้วาทกรรมผีปอบเป็นเครื่องมือในการสร้าง’ความเป็นอื่น’ให้ ซึ่งเป็นการพยายามลดพื้นที่ทางสังคมของบุคคลนั้นให้เหลือน้อยที่สุด และถือเป็นการสร้างตราบาปให้ติดตัวบุคคลนั้น เมื่อเกิดการเชื่อว่าเป็นผีปอบจริงจนขยายลุกลามไปเป็นการกีดกันทางสังคม และการลงโทษทางสังคม เพื่อรักษาผลประโยชน์ เช่นเดียวกันการสร้างความเป็นอื่นให้บุคคลในเรื่องการเมือง ศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่  พิธีกรรมจับ-ไล่ผีปอบในภาคเหนือและอีสาน จึงยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อมีคนหรือสัตว์เลี้ยงในชุมชนเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ

สื่อมวลชนรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ที่ได้ลงเก็บข้อมูลที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร  ได้ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่าจากการสัมภาษณ์คนในหมู่บ้านแห่งนี้ พบว่าเมื่อเกิดปัญหาเรื่องความขัดแย้งในการจัดการผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กับครอบครัว รัฐ ไปจนถึงมีความขัดแย้งกับผู้อิทธิพล มักมีการกล่าวหาคู่ขัดแย้งเป็นผีปอบ ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งมีที่ดินติดพื้นที่ชลประทานแล้วไม่ยอมเวรคืนที่ดิน, คนที่แบ่งมรดกไม่ลงตัวกับครอบครัว, หรือไปรับราชการทหารเป็นเวลานานพอกลับมาถูกญาติแย่งทรัพย์สมบัติ ฯลฯ สอดคล้องกับบทความของ สมชาย นิลอาธิ เรื่อง ‘หมูบ้านผีปอบ บ้านรักษาผีปอบ กรณีบ้านนาสาวนาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร’ ได้แสดงให้เห็นถึงกรณีที่คนมีความเห็นทางการเมืองขัดกับรัฐส่วนกลาง แล้วถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ตัวอย่างในอดีตคนที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลายคนก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ปอบคอม’  ในบทความนี้ชี้ว่า เมื่อคนในสังคมมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกจากคนปกติทั่วไปมักนำมาสู่กระบวนการตีตราให้เป็นผีปอบ ซึ่งรวมไปถึงการลงโทษโดยวิธีต่าง ๆ แก่ผู้ที่ถูกตีตรา ตั้งแต่วิธีการทางสังคมไปจนถึงใช้ความรุนแรงทางกายภาพ โดยตัวอย่างการลงโทษทางสังคมได้แก่ 1. การที่สังคมลดปฏิสัมพันธ์ลง เช่นการพยายามพูดคุยให้น้อยลง หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า 2. การเป็นเป้าหมายในการถูกจับตามอง การจับจ้องสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่ถูกล่าวหาอย่างใกล้ชิด 3. คว่ำบาตรทางสังคม งดหรือตัดขาดความสัมพันธ์กับผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบในทุก ๆ ด้าน เช่นไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน 4. การขับไล่ออกไปจากสังคม เพราะเชื่อว่าวิญญาณของผีปอบจะติดตามผู้ที่ถูกขับไล่ไปเป็นวิธีการลงโทษทางสังคม 5. การทำร้ายร่างกาย มักเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ผีปอบในพื้นที่รุนแรงขึ้น ผู้ที่ได้ผลกระทบจะมาทำร้ายผู้ที่ถูกกล่าวว่าเป็นผีปอบเพื่อลงโทษ หรือใช้วิธีทรมานเพื่อให้วิญญาณผีปอบออกไป และ 6.การทำลายทรัพย์สิน มีหลายครั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเผาที่พักอาศัย

ปี 2547-2560 สื่อเสนอข่าว ‘ผีปอบ’ มากกว่า 74 ครั้ง คนถูกกล่าวหาถึงขั้น ‘เจ็บ-ตาย’

ในงานศึกษาเรื่อง ‘การศึกษากระบวนการตีราทางสังคมที่ให้บุคคลกลายเป็นผีปอบ’ ของอภิมุข สดมพฤกษ์ ได้รวบรวมการพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ผีปอบอาละวาดในรอบ 10 ปี (2547-2557) ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างน้อย 40 เหตุการณ์ พบว่า 38 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในภาคอีสาน โดยทั้ง 40 เหตุการณ์ได้สร้างผลกระทบในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างน้อย 3,949  ครัวเรือน และผลกระทบต่อคนในชุมชนที่มีเหตุการณ์ปอบอาละวาดอย่างน้อย  9,400  คน มีการกล่าวหาว่าผู้อื่นเป็นผีปอบ 9 ครั้ง และมีผู้ถูกขับไล่ออกจากชุมชน 11 คน 

  

นอกจากนี้ TCIJ ยังรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ  พบว่าในช่วงปี 2558-2560 (ณ วันที่ 22 พ.ย. 2560) มีการนำเสนอข่าวผีปอบอาละวาดอย่างน้อย 34 เหตุการณ์  ในจำนวนนี้ 25 เหตุการณ์เกิดขึ้นในภาคอีสาน มีการถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 4 เหตุการณ์ และมีผู้เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายถึง 2 ราย

เริ่มฟ้องหมิ่นประมาท ก.ยุติธรรม ต้องไกล่เกลี่ยหวั่นเกิดความรุนแรง

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงหลัง ครอบครัวของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบเริ่มมีการปกป้องสิทธิของตนเอง เช่น กรณีเมื่อเดือน เม.ย. 2558 ชาวบ้าน ต.นาผือ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีกรณีพิพาทกันขึ้นในชุมชนเมื่อฝ่ายหนึ่งมีอาการผิดปกติแล้วหลุดปากออกมาว่าอีกฝ่ายเป็นปอบที่เข้าสิงร่าง เลยถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทเรียกเงิน 4 ล้านบาท สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ต้องเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยยุติความขัดแย้ง [1] อีกกรณีในเดือน มิ.ย. 2559 บุตรสาวของหญิงอายุ 56 ปี รายหนึ่ง ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ให้เอาผิดกับญาติและชาวบ้านในหมู่บ้าน หลังได้ถูกญาติและชาวบ้านรุมกล่าวหาใส่ร้ายว่าหญิงรายนี้เป็นผีปอบ อีกทั้งหญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบนี้ยังถูกทำร้ายร่างกายหลายครั้ง [2]

ความขัดแย้งเรื่องปอบนี้ทำให้กรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ไกล่เกลี่ยหลายครั้ง และเมื่อเดือน ส.ค. 2560  ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงกระทรวงยุติธรรมได้ออกมาระบุต่อสาธารณะว่า ปัญหาความเชื่อเรื่องผีพื้นบ้าน ประชาชนภาคอื่นอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับชาวบ้านภาคอีสานถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ บ้านใดที่ถูกกล่าวหาจะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย รุนแรงสุดถึงขั้นทำร้ายร่างกาย โดยพื้นที่ที่มีความรุนแรงในเรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรมจะให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเข้าไกล่เกลี่ยให้ อย่างน้อยเพื่อไม่ให้กิดการทำร้ายร่างกายกัน [3]

 

งบประมาณไล่ปอบ-จับปอบ ไม่ฟรี-มีทั้งเหมาจ่าย-ลงขันในชุมชน

ที่มาภาพประกอบ: manager.co.th

 พิธีไล่ปอบ-จับปอบ เคยเป็นพิธีที่กระทำกันเองภายในชุมชน โดยผู้มีวิชาอาคมในพื้นที่มาทำพิธี แต่ในปัจจุบัน การทำพิธีไล่ปอบ-จับปอบเริ่มใช้คนจากนอกชุมชนเข้ามาทำพิธี จนการไล่ปอบ-จับปอบกลายเป็นอาชีพ หลายชุมชนต้องลงขันกันเพื่อจ้างนักไล่ปอบที่มีฝีมือมาประกอบพิธี เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบราคาเหมาจ่ายในพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่ที่ 10,000-25,000 บาท [4] ส่วนการลงขันในชุมชม พบว่าครอบครัวหนึ่งต้องจ่ายครั้งละ 50-124 บาท [5]

 

สถิติชี้คนอีสานเจ็บป่วย 100 คน จะหาสาเหตุไม่ได้ 1 คน

หลายครั้งเมื่อมีคนเสียชีวิตในพื้นที่ภาคอีสานที่เชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาเรื่อผีปอบ มักจะได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่สามารถอธิบายได้ แต่กระนั้นก็มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในภาคอีสานจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถหาสาเหตุทางการแพทย์อธิบายได้ชัดเจน จากข้อมูล ‘จำนวนผู้ป่วยใน จำแนกตามกลุ่มสาเหตุป่วย 75 โรค จากสถานบริการสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2546 - 2555’ ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่รวบรวมโดยสำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างปี 2555 กรณีความผิดปกติจากโรคประสาท ความเครียด และอาการทางกาย ที่หาสาเหตุไม่ได้ (Neurotic, stress-related and somatoform disorders) มี12,292 คน และกรณีสาเหตุภายนอกอื่น ๆ ของการเจ็บป่วย การตาย และผลที่ตามมา ที่มิได้ระบุไว้ที่อื่นใด (Other external causes of morbidity and mortality and sequelae not specified elsewhere) มีถึง 32,179 คน ซึ่งเมื่อรวมผู้ป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ทั้ง 2 กรณีนี้จะมีถึง 44,471 คน เลยทีเดียว และเมื่อนำมาเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยที่จำแนกตามกลุ่มสาเหตุป่วย 75 โรค พบว่าในปี 2555 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งหมด 4,383,319 คน ซึ่งผู้ป่วยที่ระบุสาเหตุไม่ได้ทั้ง 2 กรณีรวมกัน (44,471 คน) จะคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.01 ของผู้ป่วยในทั้งหมด หรือสุปง่ายๆคือในจำนวนผู้ป่วย 100 คนจะหาสาเหตุอาการป่วยไม่ได้ 1 คน

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จำนวนผู้ป่วยในที่หาสาเหตุไม่ได้ในภาคอีสานระหว่างปี 2546-2555

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: