จับตา: อุปสรรค 'เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน' จากมุมมองของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4523 ครั้ง


 

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุถึงปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง ขับเคลื่อนได้ช้าทั้งปัญหากฎระเบียบต่าง ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ถนนในบางพื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ระบุถึงปัญหาที่ทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง ขับเคลื่อนได้ช้า ว่ามาจากปัญหาหลัก ๆ ได้แก่

1.กฎกระทรวงมหาดไทย ที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2560 ห้ามก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ที่มีขนาดเกิน 500 ตารางเมตร ซึ่งมีประมาณ 4-5 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4-5 แห่งที่ติดปัญหานี้ ซึ่งจะต้องรอกฎหมายผังเมืองออกมาจึงจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว


2. ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมบางแห่ง ติดปัญหาชุมชน ทำให้จัดหาที่ดินในการนำมาใช้ได้ล่าช้า เช่น นิคมฯ แม่สอด จ.ตาก พึ่งจะแก้ปัญหาได้ ซึ่ง กนอ. ต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ในการพัฒนานิคมฯ จึงทำให้เอกชนเข้าไปลงทุนได้ช้า


3. ถนนในบางพื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งต้องใช้เวลา รวมทั้งยังมีปัญหาการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในการเปิดด่านถาวร


4. ประกาศมาตรการสนับสนุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นแบบต่ออายุปีต่อปี ซึ่งล่าสุดมาตรการส่งเสริมที่จะหมดอายุในปี 2560 BOI ก็ต่อให้อีก 1 ปี เป็นสิ้นสุดในปี 2561 ซึ่งควรจะปรับเป็นมาตรการระยะยาวมีอายุ 5 ปี


5. กฎระเบียบต่าง ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เช่น รถขนส่งสินค้าข้ามไปพม่าจะต้องทำวีซ่า ต้องทำเป็นหนังสือผ่านแดน (Border Pass) ซึ่งจะเปิดทำการช่วง 8.30 น. แต่ด่านชายแดนเปิดทำการตั้งแต่ 05.30 น. ทำให้มีรถบรรทุกจำนวนมากต้องไปจอดรอติดขัดที่ด่านชายแดน รวมทั้งไทยยังไม่อนุญาตให้รถบรรทุกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ทำให้ต้องจอดขนถ่ายสินค้าเกิดความติดขัดหน้าด่าน ทำให้การจนส่งต่าง ๆ ยากลำบาก

6. ปัญหาการแลกเปลี่ยนเงินต่างชาติเป็นเงินบาท ไม่เป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: