ใคร ๆ ก็เชียร์ 'สายอาชีวะ' แต่ทำไมเด็กไม่เลือกเรียน?

ทีมข่าว TCIJ : 16 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 16145 ครั้ง

เด็กไม่เลือกเรียนสายอาชีวะ พบปัญหาหัวเลี้ยวหัวต่อคือ ม.3 ครูส่งเสริม-สนับสนุนให้เรียนต่อม.ปลาย ถึง 60.24% มีเพียง 39.76% ที่สนับสนุนให้เรียนต่อ ปวช.  ที่มาภาพประกอบ: ภาพยนตร์โฆษณาชุด “ฝีมือชน คนสร้างชาติ” โดยมูลนิธิเอสซีจี

ไทยแลนด์ 4.0 เห็นค่า 'คนจบอาชีวะ' แค่ 'แรงงานฝีมือ'

'ประเทศไทย 4.0' ถูกนำเสนอเป็นโมเดลพัฒนาประเทศในระลอกล่าสุด (ต่อจากยุค 1.0 ยุคพึ่งพิงภาคเกษตร, 2.0 ยุคพึ่งพิงอุตสาหกรรมเบา และ 3.0 ยุคพึ่งพิงอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก) มีการให้ความหมายกว้าง ๆ ของยุค 4.0 ไว้ว่าเป็นยุคของ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ ซึ่งโครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้คือต้องมีแรงงานฝีมือที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 โดยมีการยกข้อมูลเปรียบเทียบจาก รายงาน Human Capital Report 2016 ระบุถึงสัดส่วนของแรงงาน ฝีมือของประเทศสวีเดน, เยอรมนี, สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ ที่ร้อยละ 48 ส่วนประเทศส่วนไทยมีเพียงร้อยละ 14.4 เท่านั้น

ในแต่ละปี ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาถือเป็น ‘แรงงานฝีมือ’ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก แต่ระบบการศึกษาของไทยกลับผลิตออกมาได้น้อย สวนทางกับผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ผลิตออกมามากเกินความต้องการ (อ่านเพิ่มเติม: จบ ป.ตรี ทะลักตลาดแรงงาน 7.38 แสนคน สวนทางนายจ้างต้องการมัธยมมากกว่า) โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการว่า ในปี 2560 นี้จะมีผู้จบการศึกษาระดับ ปวช.3 จำนวน 183,233 คน และจะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 35,584 คน ส่วนผู้จบการศึกษาระดับ ปวส.2 จะมี 161,924 คน แต่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 95,600 คนเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมใน 'จับตา: ผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน ‘สายอาชีวะ’ สาขาวิชาต่าง ๆ ปี 2559-2561')

จาก กระแสเรียกร้องล่าสุดนี้ หลายภาคส่วนได้ผลักดันให้รัฐออกมาตรการส่งเสริมให้เด็กหันมาเรียนเรียนอาชีวศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงาน โดยมีการประกาศว่าภายใน 10 ปีจากนี้ ไทยตั้งเป้าหมายผลิตแรงงานฝีมือให้ได้ถึง 12 ล้านคน -- แต่เมื่อมองความเป็นจริงในปัจจุบันแล้วพบว่าทั้งตัวเด็กเองและผู้ปกครองเองมักจะไม่เลือกเส้นทางการศึกษาสายอาชีวะมากนัก หากเด็ก ๆ มีทางไปต่อในระบบการศึกษาที่ดีกว่า

ภาพจำเด็กอาชีวะ ‘ยกพวกตีกัน-หัวไม่ดี’

นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกันและความรุนแรง เป็นอีกหนึ่งภาพจำในสังคมไทย ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

‘ภาพจำ’ ที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับนักเรียนอาชีวะในสังคมไทย ก็คือความรุนแรงจากการ ‘ยกพวกตีกัน’ ของนักเรียนอาชีวะในกรุงเทพและปริมณฑล (ปัญหานี้จะพบได้น้อยกว่าในสถาบันอาชีวะตามต่างจังหวัด) หลายครั้ง สื่อมักประโคมข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงของนักเรียนอาชีวะ(ส่วนน้อยที่ก่อความรุนแรง) ให้ดูน่ากลัวเกินจริง และรัฐก็มักจะออกมาตรการควบคุมเด็กอาชีวะอย่างเข้มงวดในแต่ละครั้งที่มีข่าวแล้วก็หายไปเมื่อเรื่องเงียบ วนเวียนซ้ำๆ มาหลายยุคหลายสมัย (ล่าสุดหลังการรัฐประหาร 2557 ก็ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้ ม.44 โอนอำนาจการกำกับดูแลโรงเรียนอาชีวศึกษาของเอกชน ให้ไปขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) รวมทั้งมีความพยายามของสถาบันการศึกษาอาชีวะเองที่จะปรับภาพลักษณ์ตนเอง อย่างเมื่อปี 2558 สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยมีมติจากที่ประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 19 แห่งว่า จะให้สัตยาบันในการดูแลพฤติกรรมนักศึกษาอย่างเข้มงวดไปในทิศทางเดียวกัน โดยในปีการศึกษา 2559 จะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียนตามเกณฑ์พิจารณาเรื่องบุคลิกภาพ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลทรงผม เครื่องแต่งกาย การพกอาวุธ และยาเสพติด ซึ่งมติสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ต่อมาก็ไม่มีการติดตามมาตรการนี้ว่ามีการบังคับใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยังมีภาพจำว่า ‘เด็กเรียนอาชีวะเป็นเด็กหัวไม่ดี’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ ครูแนะแนว (บุคคลสำคัญในการชี้อนาคตทางการศึกษาของเด็กโดยจะขอกล่าวในหัวข้อต่อไป) ผู้ปกครอง รวมทั้งตัวเด็กเองไม่เลือกเรียนอาชีวะ เพราะในรุ่นเดียวกันถ้าใครเลือกเรียนอาชีวะมักจะถูกมองว่าหัวไม่ดี ไม่ใช่เด็กเก่งที่มีศักยภาพจะเรียนต่อในสายสามัญได้

อดีตนักเรียนอาชีวะรายหนึ่ง ที่เรียนในสาขาช่างเชื่อมโลหะในระดับปวช. และ ปวส. แล้วสามารถจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่าตอนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ขอโควต้าเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่งในภาคเหนือในสาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ ซึ่งในขณะนั้น (จนถึงปัจจุบัน) ภาพลักษณ์ของเด็กที่เรียนต่อช่างเชื่อมโลหะคือเด็กที่หัวไม่ดี โควต้าของวิทยาลัยเทคนิคเองนั้นอันดับแรกที่เกรดสูง ๆ จะเป็น ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างไฟฟ้า, สถาปัตยกรรม, ช่างยนต์, ช่างกล, ก่อสร้าง และช่างเชื่อม ตนเองจบ ม.3 ก็เกรดไม่ดีนักแต่ยังได้โควต้าอยู่เพราะเด็กหัวดี ๆ ไม่ค่อยจะขอโควต้าช่างเชื่อม คนอยากเรียนช่างถ้าไม่ได้โควต้าก็จะไปสอบแข่งขันแทนก่อน และแม้ในหมู่เด็กเรียนช่างด้วยกันเองก็จะล้อเด็กที่เรียนช่างเชื่อมโลหะว่าเป็นเด็กที่หัวไม่ดี ตอนนี้หลานชายก็จบ ม.3 และครอบครัวส่งเสริมให้เรียนอาชีวะ ถ้าไม่เรียนสายนี้ก็ให้ออกมาทำงาน เพราะหลานชายเรียนไม่ค่อยเก่ง ทางครอบครัวเลยอยากให้เรียนอาชีวะ จะเรียนจบง่ายกว่าสายสามัญ

“ตอนนี้หลานชายก็เลือกมาเรียนอาชีวะแล้ว คือหลานหัวไม่ค่อยดีเหมือนเราตอนนั้น ถามว่าถ้าย้อนเวลาไปได้ ถ้าเป็นเด็กหัวดีอยู่ห้องเก่งได้เกรดสามกว่า ๆ เราคงไม่เลือกเรียนอาชีวะ อยากเรียนต่อ ม.ปลายอยู่แล้ว” อดีตนักเรียนอาชีวะช่างเชื่อมโลหะรายนี้กล่าว

นักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาส=กลุ่มเป้าหมายสถาบันอาชีวะ

อาจารย์ของสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งในภาคเหนือระบุกับ TCIJ ว่า ปัจจุบันนี้กลุ่มเป้าหมายสำคัญของสถาบันอาชีวะเอกชนในภาคเหนือ กลับกลายเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา (โรงเรียนขนาดเล็กที่สอนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3) ทุก ๆ ปีสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจะออกไป ‘แนะแนวและแนะนำสถาบัน’แก่นักเรียนกลุ่มนี้ และโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ก็จะเป็นโรงเรียนประจำอำเภอรอบนอกต่าง ๆ ส่วนนักเรียนในตัวอำเภอเมืองในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและนักเรียนมีคุณภาพ มักจะไม่เลือกเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา จากข้อสังเกตของอาจารย์ท่านนี้ชี้ว่า เด็กที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถเรียนแข่งขันในระดับ ม.ปลาย และอุดมศึกษาได้แล้ว มักจะเรียนต่ออาชีวะ ทั้งเรื่องฐานะและเกรดเฉลี่ย แต่ก็มีน้อยรายที่จะคิดถึงเรื่องการจบไปเพื่อประกอบอาชีพ ยกเว้นเด็กที่มีฐานะยากจนจริง ๆ ที่อยากมีอาชีพแน่นอน หรือเด็กที่ถูกครอบครัวปลูกฝังและบังคับให้สืบทอดกิจการของครอบครัวที่ต้องใช้ทักษะทางช่าง เช่น ร้านซ่อมรถ หรือร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กของครอบครัว แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กที่เกเรมาก ๆ ที่ไม่สามารถเข้าระบบของโรงเรียนสายสามัญหรืออาชีวะของรัฐบาลได้ เด็กเกเรเหล่านี้ก็จะเข้ามาศึกษายังสถาบันอาชีวะเอกชนเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องอัตราการออกกลางคันสูง

“เด็กในระดับ ม.3 ไม่ได้มองอนาคตของเขายาวเท่าไร เขาคิดแค่หาที่เรียนต่อไปในปีต่อไปเทอมต่อเทอมเท่านั้น พวกที่เลือกเรียนเพื่อประกอบอาชีพจริง ๆ ก็มี แต่มักจะเป็นเด็กยากจนหรือเด็กที่มีหัวคิดหน่อยหรือที่บ้านทำงานช่างอยู่แล้วมากกว่า ส่วนเด็กเกเรที่ที่อื่นไม่เอาแล้ว เด็กพวกนี้ก็เป็นปัญหาของสถาบันเพราะพวกเขาแทบไม่ได้มาเรียนหาความรู้เลย สัดส่วนการออกกลางคันและเปลี่ยนที่เรียนของเด็กกลุ่มเกเรมีสูงมาก” อาจารย์จากสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนระบุกับ TCIJ

อัตราการออกกลางคัน : สูง

ปัญหาสำหรับเด็กที่เรียนอาชีวะนั้นก็มีจริง ๆ  เพราะด้วยวัยวุฒิที่ยังไม่สูงนักของเด็กที่เรียนจบ ม.3 แล้วศึกษาต่อในระดับ ปวช. ที่บางส่วนต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในขณะที่ยังไม่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตเพียงพอ ซึ่งต่างจากเด็กที่เรียนมัธยมปลายที่ส่วนใหญ่มักจะอยู่กับครอบครัวและบรรยากาศในโรงเรียนสายสามัญที่ค่อย ๆ ให้เด็กปรับตัวมีวุฒิภาวะสูงขึ้น คนละแบบกับสถาบันอาชีวะ ทำให้เด็กอาชีวะหลายต่อหลายคนไม่สามารถปรับตัวได้และเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการ ‘ออกกลางคัน’ ที่ทำให้เด็กเหล่านั้นต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

จากการสำรวจเมื่อปี 2556 โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำการวิจัยเชิงสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในสังกัดอาชีวศึกษา จำนวน 1,018 คน เรื่อง ‘เด็กอาชีวะออกกลางคัน’ จากการสอบถามเด็กอาชีวะในระดับชั้น ปวช .และ ปวส. พบว่าเด็กอาชีวะส่วนใหญ่ร้อยละ 73.38 เคยมีเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันออกกลางคันระหว่างเรียน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาส่วนตัว ร้อยละ 88.53 เช่น ไม่อยากเรียน ต้องทำงาน มีปัญหากับเพื่อน สุขภาพไม่ดี ติดแฟนและท้องระหว่างเรียน สาเหตุรองลงมา คือมีปัญหาครอบครัว ร้อยละ 85.27 เช่น ฐานะที่บ้านยากจนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน พ่อแม่หย่าร้าง เลิกกัน และมีปัญหาเรื่องการเรียน ร้อยละ 80.84 เช่น เรียนยาก รู้สึกไม่ชอบสาขาวิชาที่เรียน เนื้อหาที่เรียนไม่ตรงตามที่ต้องการ เป็นต้น

‘Career Academies’ ตัวแบบที่สหรัฐฯ

‘Career Academies’ เป็นการจัดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่ผนวกด้านอาชีพไว้ในมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน และให้เด็กได้ค้นพบตนเองในการประกอบอาชีพหรืองานที่ชอบ ที่มาภาพประกอบ: alignmentrockford.com

ที่สหรัฐอเมริกาก็เคยมีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย คือ เด็กออกกลางคันสูงถึงร้อยละ 25 โดยร้อยละ 32 ไม่เรียนต่อในระดับที่สูงกว่ามัธยมปลาย ขาดทักษะความพร้อมในการประกอบอาชีพ นอกจากนั้นยังไม่นิยมเรียนต่อด้านอาชีวศึกษา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้มีการจัดการศึกษาแบบ ‘Career Academies’ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ผนวกด้านอาชีพไว้ในมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน และให้เด็กได้ค้นพบตนเองในการประกอบอาชีพหรืองานที่ชอบ

จากการดำเนินงานมากว่า 30 ปี ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 8,000 แห่ง โดยนักเรียนที่จบการศึกษาจากหลักสูตร Career Academies สามารถเข้าสู่อาชีพได้มากถึง 79 อาชีพ ซึ่งรูปแบบการจัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 เป็นสายการศึกษาทางเลือกในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญในระดับ ม.3-6 ม.4-6 หรือ ม.5-6 รูปแบบที่ 2 หลักสูตรเตรียมอาชีพเพื่อเข้าสู่วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัย บูรณาการระหว่างวิชาชีพกับวิชาสามัญในระดับ ม.ปลาย เน้นการสอนในลักษณะโครงงานที่ให้ทั้งทักษะความรู้วิชาการและอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย และ รูปแบบที่ 3 จะเป็นการจัดการสอนแบบทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนและมหาวิทยาลัย โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เมื่อจบหลักสูตรนักเรียนสามารถมีทางเลือกได้ 3 ทาง คือ 1) เรียนต่อมหาวิทยาลัย 2) เรียนต่อสายอาชีวศึกษา 3) เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีพื้นฐานการทำงานเพียงพอ

เผยเหตุเด็กไทยไม่เรียนอาชีวะ-ต้องพัฒนาครูแนะแนวให้เข้าใจ

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเรียนสายอาชีวะนั้น น่าจะอยู่ในช่วงเวลาการตัดสินใจของนักเรียนระหว่างก่อนจบระดับชั้น ม.3 โดยในงานสำรวจรายงานผลการวิจัยเรื่อง ‘ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีวะศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3’ ของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2558 ที่ได้เก็บข้อมูลนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.3 ในปี 2558 จำนวน 6,308 คน ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น นักเรียนจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับ ปวช. โดยได้รับข่าวสารจากครูหรืออาจารย์แนะแนวมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ครูส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 60.24 มีเพียงร้อยละ 39.76 เท่านั้นที่สนับสนุนให้เรียนต่อในระดับ ปวช.

‘โครงสร้าง-แบบแผน’ เด็ก ม.3 ที่เลือกเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีวะ

งานวิจัยพบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ครูสนับสนุนให้เรียนต่อสายสามัญ (มัธยมศึกษาตอนปลาย) มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญมากกว่า นักเรียนที่ครูสนับสนุนให้เรียนต่อสายอาชีวศึกษา (ปวช.) ถึง 7.47 เท่า ที่มาภาพประกอบ: Eduzones.com

จากผลการวิจัยของกองวิจัยตลาดแรงงาน พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีวศึกษาของนักเรียนระดับชั้น ม.3 ภาพรวมทั่วประเทศพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีวศึกษาของนักเรียนระดับชั้น ม.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ประกอบด้วย 

  1. เพศ พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 เพศชายมีโอกาสที่จะเรียนต่อสายสามัญน้อยกว่าเพศหญิง 0.52 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
  2. จำนวนพี่น้อง พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่เป็นลูกคนเดียวมีโอกาสที่จะเรียนต่อสายสามัญมากกว่านักเรียนที่มีจำนวนพี่น้องร่วมกันมากกว่า 2 คน เป็น 1.3 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  3. เกรดเฉลี่ยสะสม พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2.5 (ตั้งแต่ระดับชั้น ม.1-ม.2) มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญ น้อยกว่านักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมมากกว่า 2.5 เป็น 0.52 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
  4. การได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเรียนต่อ พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเรียนต่อ มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญน้อยกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับข่าวสารเกี่ยวการเรียนต่อ เป็น 0.59 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
  5. ระดับการศึกษาที่ครูสนับสนุนให้เรียนต่อ พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่ครูสนับสนุนให้เรียนต่อสายสามัญ (มัธยมศึกษาตอนปลาย) มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญมากกว่า นักเรียนที่ครูสนับสนุนให้เรียนต่อสายอาชีวศึกษา (ปวช.) เป็น 7.47 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
  6. ผู้ปกครอง พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่เป็นบิดาและมารดา มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญมากกว่านักเรียนที่อาศัยอยู่กับผู้อุปการะ เป็น 1.35 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  7. การศึกษาสูงสุดของผู้ปกครอง พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่มีผู้ปกครองสำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามีโอกาสเรียนต่อสายสามัญมากกว่านักเรียนที่มีผู้ปกครองสำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า เป็น 1.59 เท่า อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ 0.001
  8. อาชีพของผู้ปกครอง 1) นักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่ผู้ปกครองมีอาชีพรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญมากกว่านักเรียนที่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกรรม เป็น 1.54 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001, 2) นักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่ผู้ปกครองมีอาชีพทำ งานภาคเอกชน มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญน้อยกว่านักเรียนที่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกรรม เป็น 0.74 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 3) นักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่ผู้ปกครองมีอาชีพประกอบธุรกิจ ส่วนตัวมีโอกาสเรียนต่อสายสามัญน้อยกว่านักเรียนที่ผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกรรม เป็น 0.82 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  9. รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ปกครอง พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่มีผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 บาทขึ้นไป มีโอกาสเรียนต่อสายสามัญมากกว่านักเรียนที่มีผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท เป็น 1.87 เท่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001
  10. เจตคติต่อการเรียนเพื่อการมีงานทำ พบว่านักเรียนระดับชั้น ม.3 ที่มีคะแนนเจตคติต่อการเรียนเพื่อการมีงานทำเพิ่มขึ้น 1 คะแนนมีโอกาสเรียนต่อสายสามัญลดลงร้อยละ 32 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001

ทั้งนี้จากผลการวิจัยของกองวิจัยตลาดแรงงาน มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ประการแรก ภาครัฐควรเร่งสร้างภาพลักษณ์ของการศึกษาสายอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญและความสำเร็จของผู้ที่ศึกษาในสายอาชีวศึกษา ประการที่สอง ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ โดยการร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ในการเข้าศึกษาดูงานในสถานประกอบการ เพื่อให้ได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานและโอกาสความ ก้าวหน้าของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาที่ทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งจะได้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการแนะแนวการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในระดับชั้น ม.3 ที่ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่าครูมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้นักเรียนเรียนต่อในสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ดังนั้นเมื่อครู โดยเฉพาะครูแนะแนวมีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นก็จะให้ข้อมูลด้านการศึกษาในสายอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบระหว่างสายอาชีวศึกษาและสายสามัญ และสามารถตัดสินใจเรียนต่อบนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การประสบผลสำเร็จในชีวิตการเรียนและการทำงานในอนาคต

ประการที่สาม การแนะแนวนักเรียนในระดับชั้น ม.3 ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานกับนักเรียนให้มาก เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจสภาพที่แท้จริงของตลาดแรงงานและสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และ ประการที่สี่ การแนะแนวการศึกษาและอาชีพควรให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพราะผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ปกครองเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเรียนต่อของนักเรียน โดยในเบื้องต้นอาจจัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการแนะแนวการเรียนต่อ ทุกปีในภาคการศึกษาที่นักเรียนจะสำเร็จการศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองมีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนต่อ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนค่านิยม และช่วยบุตรหลานในการตัดสินใจเรียนต่อในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยรูปแบบการดำเนินการอาจร่วมมือกันหลายภาคส่วน คือ กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงแรงงาน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับความรู้ที่ครอบคลุมครบถ้วน ทั้งด้านหลักสูตรสาขาวิชาที่จะเรียนต่อ สถานการณ์ตลาดแรงงาน และแนวโน้มความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรม

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน ‘สายอาชีวะ’ สาขาวิชาต่าง ๆ ปี 2559-2561

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: