จับตา: การลงทัณฑ์ทางวินัยทหารในต่างประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 8929 ครั้ง


ดูตัวอย่างการลงทัณฑ์ทางวินัยทหารในต่างประเทศ ‘สหรัฐฯ-ฝรั่งเศส’ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน สหรัฐอเมริกาใช้ระบบ Common Law และประเทศฝรั่งเศสใช้ระบบ Civil Law พบทหารที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัย ได้รับการคุ้มครองสิทธิหลายประการ และสามารถร้องศาลปกครองได้

ที่มาภาพประกอบ: aclj.org

ในงานศึกษาเรื่อง 'ความสอดคล้องของการลงทัณฑ์จำขังตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 กับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย' โดย พันเอกธวัชชัย ทับทิมสงวน ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต วิชาเอกกฎหมายมหาชน สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2554 ระบุว่าทุกประเทศในโลกต่างมีกำลังทหารไว้สำหรับปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตน แม้ปัจจุบันการทำสงครามตามแบบด้วยอาวุธมักไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะวิวัฒนาการของโลกได้หันไปทำสงครามทางเศรษฐกิจกันมากขึ้น แต่ก็ไม่มีประเทศใดยุบหรือยกเลิกกำลังทหาร อาจเพราะหน้าที่หลักประการหนึ่งของทหารคือการป้องกันอธิปไตยและเอกราชของชาติ เมื่อประเทศใดยังมีกำลังทหาร ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงเอกราชและอธิปไตยของชาตินั้น เมื่อมีการจัดกำลังทหาร ก็ต้องมีกฎหมายสำหรับใช้ควบคุมระเบียบวินัยของทหาร ซึ่งเป็นผู้ถือหรือครอบครองอาวุธร้ายแรงให้อยู่ในระบบการปกครองบังคับบัญชาและเพื่อความสำเร็จลุล่วงของภารกิจ กฎหมายดังกล่าวมีทั้งในส่วนของกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารและในส่วนของอาญาทหาร โดยเฉพาะกฎหมายวินัยทหาร เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างของไทยกับประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน อย่างสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบ Common Law และประเทศฝรั่งเศสที่ใช้ระบบ Civil Law มีข้อน่าพิจารณา ดังนี้

สหรัฐอเมริกา การดำเนินการทางวินัยทหารของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบ Common Law มีการจัดกำลังทหารประจำกองทัพไว้ ทั้งภายในประเทศและไปประจำในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องปกติที่การปกครองบังคับบัญชาทหารผู้ถืออาวุธ ซึ่งมีกำลังพลเป็นจำนวนมากในกองทัพจำเป็นต้องมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและกฎที่เคร่งครัด เพื่อให้อำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาทหารในการสั่งการปกครองบังคับบัญชาแก่ทหารผู้อยู่ในปกครอง จึงมีการตรากฎหมายโดยสภา Congress เพื่อใช้บังคับแก่บรรดาเหล่าทหารของกองทัพ คือ กฎหมายว่าด้วยยุติธรรมทหาร ค.ศ. 1950 (Uniform Code of Military Justice: UCMJ) โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจการลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชา (Non judicial Punishment or Disciplinary Punishment) การใช้มาตรการทางวินัย โดยโทษทางวินัยที่จะลงแก่ทหารที่กระทำผิด จะใช้หลักจำกัดสิทธิ (Less Due Process) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นโทษจำคุก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ      1. ผู้กระทำผิดวินัยเป็นนายทหารชั้นประทวน และ 2. ผู้กระทำความผิดเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร

การใช้มาตรการทางวินัย การพิจารณาโทษทางวินัย เป็นมาตรการกวดขันทางวินัยซึ่งผู้เป็นผู้บังคับบัญชาของทหาร สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาศัยอำนาจ ตามประมวลกฎหมายยุติธรรมทหาร มาตรา 1577 ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาที่รวดเร็วใช้หลักจำกัดสิทธิ เนื่องจากกระทบสิทธิของทหารไม่รุนแรงนัก เนื่องจากไม่ใช่การพิจารณาโดยศาลไม่ถือเป็นโทษจำคุก ไม่มีโทษปลดออกจากราชการ มาตรการทางวินัยมีเงื่อนไขและขั้นตอน มีดังนี้  1. เป็นการกระทำผิดต่อประมวลกฎหมายยุติธรรมทหารเท่านั้นแต่เป็นความผิดเล็กน้อย 2. ผู้กระทำผิดจะได้รับการคุ้มครองสิทธิหลายประการ เช่น สิทธิที่จะปฏิเสธการใช้อำนาจพิจารณาทางวินัยของผู้บังคับบัญชา โดยเลือกให้ศาลทหารพิจารณา สิทธิปรึกษาทนายความหากจำเป็น สิทธิตรวจสอบพยานหลักฐาน สิทธิในการพิจารณาต่อหน้าหรือพิจารณาลับหลังผู้บังคับบัญชา สิทธิในการนำพยานหลักฐานมาสืบต่อสู้ สิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์กับตนเอง สิทธิอุทธรณ์การลงโทษ

ขั้นตอนในการพิจารณาทางวินัยของผู้บังคับบัญชา มีดังต่อไปนี้ 1. ผู้บังคับบัญชาเสนอข้อกล่าวหา โดยสำเนาข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ผู้กระทำผิดทราบ 2. ผู้กระทำผิดเลือกเงื่อนไขภายในกำหนด 3 วัน โดยวิธียอมให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยหรือเลือกให้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารวิธีพิจารณาต่อหน้าหรือลับหลังผู้บังคับบัญชาหรือด้วยวิธีการแถลงเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจาว่าขอต่อสู้คดีหรือยอมรับข้อกล่าวหา ขั้นตอนที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาข้อต่อสู้หรือคำรับของผู้กระทำผิด ขั้นตอนที่ผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยว่า ผู้กระทำผิดมีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่มีความผิด ขั้นตอนผู้บังคับบัญชากำหนดโทษ โดยหารือนายทหารพระธรรมนูญ ขั้นตอนผู้กระทำผิดอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 5 วัน โดยอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือ ไม่มีสิทธิแถลงต่อหน้าผู้พิจารณาอุทธรณ์ และคำวินิจฉัยของผู้พิจารณาอุทธรณ์เป็นอันถึงที่สุด โทษทางวินัยที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้กระทำผิดวินัยเป็นนายทหารประทวนและกรณีผู้กระทำผิดเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร แม้จะเป็นเพียงมาตรการทางวินัย ทหารที่กระทำผิดต่อกฎหมายวินัยทหารของสหรัฐอเมริกา ก็ยังได้รับการคุ้มครองสิทธิ สามารถปรึกษาทนายความหากจำเป็น มีสิทธิตรวจสอบพยานหลักฐาน มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบต่อสู้หรือสิทธิอุทธรณ์การลงโทษได้ เป็นต้น

ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบ Civil Law ตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในส่วนของฝ่ายบริหารของฝรั่งเศสนั้น มีลักษณะพิเศษเรียกว่าผู้นำคู่ คือมี 2 สถาบันที่ใช้อำนาจบริหารได้แก่ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ (President of the Republic) ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) เป็นผู้นำของอำนาจฝ่ายบริหารและจอมทัพ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกองทัพโดยมีอำนาจออกรัฐกำหนดและรัฐกฤษฎีกา เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานความประพฤติ (Standard of Conducts) ของทหาร อันถือเป็นวินัยที่ทหารจักต้องปฏิบัติ ตลอดจนการตั้งระบบยุติธรรมทหารโดยกำหนดให้มีศาลทหารในระดับต่าง ๆ ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาการกระทำผิดทางอาญาเป็นเอกเทศ แยกต่างหากจากศาลของกระทรวงยุติธรรมพลเรือน ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อทหารที่กระทำผิด โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญคือการแต่งตั้งและถอดถอนนายทหารระดับนายพล โดยกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสถือว่า     ข้าราชเป็นผู้แทนและปฏิบัติราชการในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ แต่ทหารซึ่งถูกผลกระทบกระเทือนจากการกระทำทางปกครองสามารถที่จะเข้ารับการเยียวยา ด้วยการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปตามกฎหมาย

ดังนั้น ข้าราชการซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำทางการปกครอง สามารถร้องขอให้มีการทบทวนการกระทำดังกล่าวจากศาลปกครองได้ ซึ่งในกรณีของฝรั่งเศสนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทหารหรือพลเรือน จะได้รับการปกป้องคุ้มครองตามหลักกฎหมายปกครองเท่าเทียมกัน ทหารซึ่งถือเป็นข้าราชการของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานาธิบดี อันเป็นผู้นำของฝ่ายบริหาร จึงได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายปกครองเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปด้วย

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารโดยแท้นั้น ผู้บังคับบัญชาของทหารก็จะมีอำนาจตามกฎหมายในการลงทัณฑ์ทางวินัยสถานใดสถานหนึ่ง เช่น กักขัง ขังเดี่ยว ลดขั้นเงินเดือน สั่งปรับเปลี่ยนหน้าที่แก่ทหารผู้กระทำผิดได้ หากทหารผู้ถูกลงโทษเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็สามารถอุทธรณ์ต่อผู้บังคับชาชั้นเหนือขึ้นไปในสายการบังคับบัญชา ให้พิจารณาหรือทบทวนและแก้ไขคำสั่งลงทัณฑ์ได้ เช่นเดียวกับระบบการบังคับบัญชาในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ถือเป็นการแก้ไขคำสั่งทางปกครองโดยผู้ออกคำสั่งเอง หากทหารผู้ถูกลงทัณฑ์ทางวินัยเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือยับยั้งการกระทำของผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ได้

เดิมศาลปกครองฝรั่งเศสได้วางหลักในการพิจารณาไว้ว่า มาตรการลงทัณฑ์ทางวินัยของทหารภายในกองทัพ มีลักษณะเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง เป็นการจัดการบริหารภายในของส่วนราชการ ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง จึงอยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายปกครองโดยเด็ดขาด อีกทั้งเป็นคำสั่งทางการปกครองที่มีผลบังคับในทันที แม้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของทหาร ก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินกว่าที่จะนำมาอยู่ในความควบคุมของศาล แต่ใน ค.ศ. 1995 ได้มีการกลับแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองอย่างสำคัญ ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ทางวินัยทหาร โดยศาลปกครองฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัยต่อทหาร มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลบังคับในทันที อันเป็นกระบวนการทางกฎหมาย ที่ใช้เป็นปกติในกิจการทาง การปกครอง ทหารผู้ที่ถูกลงทัณฑ์หากเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการลงทัณฑ์ทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชา ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้สั่งยกเลิก เพิกถอนคำสั่งลงทัณฑ์ดังกล่าวหรือยับยั้งการกระทำของผู้บังคับบัญชาได้ ทั้งยังมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยมีสิทธิเช่นเดียวกับข้าราชการของรัฐประเภทอื่น ๆ คดีเกี่ยวกับวินัยทหารจึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองฝรั่งเศสด้วย

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: aclj.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: