สำรวจ 'เกษตรแปลงใหญ่' ภายใต้วิกฤตพืชผลราคาตก

ทีมข่าว TCIJ : 23 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 10257 ครั้ง

ภายใต้วิกฤตราคาพืชผลตกต่ำ ทำความรู้จักโครงการ ‘เกษตรแปลงใหญ่’ ที่รัฐหนุนเกษตรกร‘รวมกลุ่ม-แยกกันผลิต-รวมกันขาย’ ตั้งเป้าปี 2579 จะมี 90 ล้านไร่  สำรวจข้อเท็จจริงเกษตรกรปลูกพืชชนิดไหน? รวมกลุ่มกันได้เท่าไหร่? ยังพบปัญหา ‘ที่ดินอยู่ในมือนายทุน-ผู้จัดการแปลงเก่งรอบด้านหายาก-การเข้าถึงแหล่งทุน-กลุ่มเกษตรกรไม่มีความเป็นมืออาชีพ’ นักวิชาการหวั่นนโยบายหลงทิศ ไม่ใช่แค่รวมตัวผลิตรวมตัวขายแต่ต้องเพิ่มมูลค่า ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

วิกฤตราคาพืชผลทางการเกษตร

ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ วิเคราะห์และรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรเดือน พ.ค. 2560 เปรียบเทียบเดือน พ.ค. 2559 พบว่าดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.84  เมื่อแบ่งตามกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 7.78 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มผลไม้ เมื่อเปรียบเทียบเดือน พ.ค. 2559 พบว่าดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 12.94 สินค้าสำคัญ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ทุเรียน สับปะรด เงาะ มังคุด และส้มเขียวหวาน

กลุ่มพืชน้ำมัน เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 10.93 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กลุ่มพืชไม้ดอก เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 38.18  กลุ่มปศุสัตว์ เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 5.41 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สุกร และไข่ไก่ กลุ่มประมง เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2559 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 2.23

‘สับปะรด-มังคุด’ ราคาทรุดหนัก

 

ช่วงวันที่ 10-16 ก.ค. 2560 พบว่าราคาสับปะรดในปีนี้ประสบภาวะดิ่งเหว โดยราคารับซื้อลดลงถึง 65.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559

 สับปะรด วิกฤตราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรากฏเห็นได้ชัดขึ้นในปลายเดือน มิ.ย. 2560 บริษัทประชารัฐ รักสามัคคี วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำคณะเข้ารับซื้อผลผลิตสับปะรดจากเกษตรกรชาวสวนสับปะรดพื้นที่ ต.นางแล จ.เชียงราย ที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่บ้านป่ารวก ม.8 ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ที่มีราคาตกต่ำเฉลี่ยกิโลกรัมละเพียงประมาณ 2 บาท ขณะที่เกษตรกรต้องการให้ได้ราคาตั้งแต่ 3-5 บาทขึ้นไป โดยเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในเชียงรายต่างระบุว่านับตั้งแต่ตนปลูกสับปะรดในพื้นที่มานานกว่า 30-40 ปี ยังไม่เคยเจอปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำเหมือนปีนี้มาก่อน ส่วนที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็เกิดปัญหาสับปะรดล้นตลาด-ราคาตกต่ำเช่นกัน จนทำให้กองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดด้วยการช่วยกระจายผลผลิตสัปปะรดไปจำหน่ายใน 17 จังหวัดภาคเหนือสถานการณ์ล่าสุดในช่วงวันที่ 10-16 ก.ค. 2560 เมื่อเทียบราคากับปี 2559 พบว่าราคาสับปะรดในปีนี้ยังไม่กระเตื้องขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าการรับซื้อสับปะรดโรงงานอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.38 บาท ซึ่งลดลงจากกิโลกรัมละ 12.67 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2559 ถึงร้อยละ 65.43 ส่วนสับปะรดบริโภครับซื้อกิโลกรัมละ 7.22 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 13.17 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 45.17

มังคุด ข้อมูลจากชาวสวนมังคุด จ.ตราด จ.ชุมพร พบว่า ณ เดือน ก.ค. 2560 ราคารับซื้อมังคุดหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบหลายปี ส่วนข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าราคามังคุดที่ชาวสวนขายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 15.90 บาท ลดลงจากราคาขายเดือน มิ.ย. 2560 ที่กิโลกรมละ 29.64 บาท ทั้งนี้เมื่อปี 2559 มังคุดเคยมีราคาขาย ณ ท้องตลาดสูงถึงกิโลกรัมละ 100-180 บาทมาแล้ว

 

รู้จักนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ‘รวมกลุ่ม แยกกันผลิต รวมกันขาย’

Agrimap หรือ Zoning by Agri-map ของโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูลเมื่อ 21 ก.ค.2560)

นโยบายนี้ไม่ใช่การสนับสนุนปลูกพืชในแปลงขนาดใหญ่หรือการรวมแปลงติด ๆ กันให้เป็นแปลงเดียว แต่เป็นลักษณะการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยหลาย ๆ ราย ในลักษณะ ‘แยกกันผลิต รวมกันขาย’ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่สำคัญคือเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเองเหมือนเดิม การกำหนดพื้นที่เป้าหมายของเกษตรแปลงใหญ่ ดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไป โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอนจนถึงการตลาด โดยรัฐบาลระบุว่าการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานนี้ จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มและมีการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนด้านการตลาด ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 14,500 แปลง และจำนวนพื้นที่ 90 ล้านไร่ ในปี 2579 (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่และหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการได้ที่: [1] [2])

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2559 (ณ เดือน ธ.ค. 2559) โครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 9 ประเภทสินค้า 32 ชนิดสินค้า จำนวน 600 แปลง ในพื้นที่กว่า 1,538,398 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 96,554 ราย แยกเป็นรายชนิดสินค้า ดังนี้ ข้าว 381 แปลง ในพื้นที่กว่า 9 แสนไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 63,741 ราย กลุ่มพืชไร่ มีจำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ถั่วลิสง อ้อย และหญ้าเนเปียร์ มีพื้นที่ทั้งหมด 169,362 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 9,384 ราย กลุ่มไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ รวมพื้นที่ 283,964 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 7,751 ราย กลุ่มผัก/สมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย ผัก/สมุนไพร แตงโมอินทรีย์ หอมแดง มะเขือเทศโรงงาน ในพื้นที่กว่า 11,800 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2,592 ราย กลุ่มไม้ผล มี 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ เงาะโรงเรียน ทุเรียน ฝรั่ง มะนาว มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง มังคุด ลำไย ส้มโอ รวม 51 แปลง พื้นที่กว่า 62,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 6,600 ราย กลุ่มหม่อนไหม จำนวน 3 แปลง พื้นที่ 834 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 382 ราย กล้วยไม้ จำนวน 1 แปลง 607 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 33 ราย กลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ กระบือ โคนม โคเนื้อ ไก่พื้นเมือง และแพะ รวมทั้งหมด 23 แปลง พื้นที่กว่า 25,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 3,638 ราย และ กลุ่มประมง ได้แก่ กุ้งขาว ปลาน้ำจืด และหอยแครง รวมทั้งหมด 18 แปลงใหญ่ พื้นที่ 28,700 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2,070 ราย

อนึ่ง ข้อมูลล่าสุดจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2560 (ณ เดือน มิ.ย. 2560) พบว่าว่ามีจำนวนเกษตรกรทั่วประเทศเข้าโครงการเกษตรแปลง ใหญ่เพิ่มเป็น 110,745 ราย แบ่งออกเป็น 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ข้าว 69,685 ราย, พืชไร่ 13,596 ราย, ผลไม้ 10,196 ราย, ไม้ยืนต้น 6,806 ราย, ผัก/สมุนไพร 3,458 ราย, ปศุสัตว์ 3,138 ราย, ประมง 2,399 ราย, ไม้ดอกไม้ประดับ 651 ราย, แมลงเศรษฐกิจ 597 ราย และหม่อนไหม 219  ราย (อ่านเพิ่มเติม: จับตา: จำนวนเกษตรกรเข้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ณ มิ.ย. 2560)

พบหลากหลายปัญหา ‘พื้นที่-เงินกู้-ผู้จัดการแปลง-ส่งเสริมผิด’

แรกเริ่มโครงการเมื่อปี 2558 อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) ได้ลงสุ่มตรวจพื้นที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่ จ.อยุธยา และ จ.ชัยนาท พบปัญหาคือจะมีพื้นที่ที่เกษตรกรไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการทำให้เกิดช่องว่างของพื้นที่ ซึ่งเกษตรแปลงใหญ่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาการ ผลิต โดยกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเกษตรกร ซึ่งการรวมเขตพื้นที่อาจจะมีจำนวนพื้นที่ตั้งแต่ 1,000-100,000 ไร่ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น จ.อยุธยา ส่วนใหญ่จะเน้นเจ้าของที่ดิน แต่พบว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นของนายทุนทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะเข้าร่วม โครงการได้ นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ ทางอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่าควรจะมีเสริมบ่อน้ำให้กับเกษตรกรด้วย เพราะหลายแห่งมีแหล่งน้ำไม่เหมาะสมและเพียงพอ  รวมทั้งในประเด็น ‘ผู้จัดการแปลง’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ (เกษตรอำเภอ) ซึ่งอนุกรรมาธิการฯ เป็นห่วงว่า หากการบริหารประเทศโดยรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สิ้นสุดลงและมีรัฐบาลใหม่ เกรงว่าโครงการนี้จะยกเลิก จึงเสนอให้ผลักดันปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือผู้นำเกษตรกรมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแทน และแม้แต่อธิบดีกรมส่งเสริม การเกษตรยังเคยออกมายอมรับว่า ผู้จัดการแปลงซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญที่จะทำให้โครงการเกษตรแปลงใหญ่แห่งนั้น ๆ ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเป็นคนที่รู้จักพื้นที่ รู้จักเกษตรกร เข้าใจปัญหาการผลิตและความต้องการของเกษตรกร มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการผลิตและเชื่อมโยงตลาดได้ ซึ่งหาคนที่ทำได้อย่างนี้ยากมาก (อ่านเพิ่มเติม [3] [4])

ในด้านการกู้ยืมเงินทุน ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่าในช่วงปี 2558/2559 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นโครงการเกษตรแปลงใหญ่ทำให้ยังไม่เห็นจุดอ่อนของแปลงใหญ่ แต่หลังจากมีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ย 0.01% จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ได้ยื่นขอกู้จำนวน 381 กลุ่ม แต่ผ่านการอนุมัติแค่เพียง 53 กลุ่ม สาเหตุเพราะกลุ่มเกษตรกรไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ไม่มีการจัดรูปแบบโครงสร้างการบริหาร ทั้งเรื่องการแต่งตั้งประธานกลุ่ม สมาชิกไม่ยอมค้ำประกันซึ่งกันและกัน ที่สำคัญไม่มีแผนการผลิตที่ชัดเจน จนกลายเป็นต้นเหตุทำให้ ธ.ก.ส.อนุมัติเงินกู้ให้ไม่ได้ [5]

รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมให้เพาะปลูกผิดทาง ตัวอย่างล่าสุดในเดือน ก.ค. 2560 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์เอ็มดี ทู ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังได้รับความเดือดร้อน หลังจากหน่วยงานราชการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อทดแทนผลผลิตสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีราคาตกต่ำและผลผลิตล้นตลาด ที่ผ่านมามีการสนับสนุนหน่อพันธุ์จัดซื้อหน่อละ 30 บาท เพื่อปลูกในแปลงสาธิตตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนั้น ในอนาคตมีโครงการจะใช้งบประมาณในปี 2561 จัดซื้อหน่ออีก 13 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด แต่ปรากฏว่าเมื่อผลผลิตสับปะรด เอ็มดี ทู ออกสู่ท้องตลาดเกษตรกรไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เนื่องจากไม่มีการจัดหาตลาดรับซื้อไว้ล่วงหน้า ประกอบกับรสชาติไม่ได้เป็นไปตามสรรพคุณที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ทำให้ไม่ได้ความสนใจจากผู้บริโภค [6]

นักวิชาการติง เกษตรแปลงใหญ่ยังหลงทิศ

รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ให้ความเห็นถึงโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในงานประชุม วิชาการและนวัตกรรมประจำปี 2560 ขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ยุค 4.0 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าไม่มีความชัดเจน ไม่มีการส่งเสริมให้เกิดมูลค่า มุ่งลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต การรวมตัวจะให้ใครเป็นผู้นำบริหารยังไม่ชัดเจน รัฐเน้นแต่การอุ้ม ผู้จัดการแปลงที่เข้ามาดูแลหลายแห่งเอาพนักงานส่งเสริมมาเป็นผู้จัดการแปลง บางรายไม่มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของแปลง จึงไม่รู้ลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น การตัดสินใจแก้ปัญหาจึงไม่ค่อยได้ผล

“โครงการทำนาแปลงใหญ่ ควรเน้นไปที่การยกระดับคุณค่าและมูลค่าข้าว อย่างปลูกข้าวอินทรีย์ ปลูกข้าวพันธุ์เฉพาะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก เน้นสร้างผลผลิตมีคุณค่า มีมูลค่าสูงขึ้น วิธีแบบนี้ถึงจะช่วยให้เกษตรกรมีพลังเกิดความเข้มแข็งในการผลิต และต่อไปจะมีกลุ่มมืออาชีพเข้ามาต่อยอดนำนวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อส่งออก ถ้าทำแบบนี้ได้ เราถึงจะเข้าสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริง” ดร.สมพร กล่าว

นอกจากนี้ ดร.สมพร ยังระบุว่าการบริหารจัดการของภาครัฐ ยังคงเป็นไปแบบหลงทิศหลงทาง อย่างการลงทุนซื้อรถเกี่ยวราคาหลักล้านบาท เป็นการสิ้นเปลือง เพราะแนวโน้มที่ทำกัน มีแต่มุ่งให้นำไปใช้งาน ไม่มีเรื่องซ่อมบำรุงดูแลรักษา หากเครื่องจักรเสียขึ้นมา กว่าจะตั้งเรื่องซ่อม-เบิก ใช้เวลานาน สุดท้ายต้องปล่อยทิ้ง ไม่เหมือนว่าจ้างรถมาช่วยรวดเดียว กลุ่มนี้เป็นมืออาชีพ เครื่องมือเสียส่วนใหญ่ซ่อมเองในราคาไม่แพงเกินเหตุ [7]

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จำนวนเกษตรกรเข้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ณ มิ.ย. 2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: