จับตา: การบริหารจัดการ ‘ศาสนสมบัติของวัด’

ทีมข่าว TCIJ : 2 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5293 ครั้ง


มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 25/2546 มติที่ 459/2546 ได้ระบุเรื่องปัญหาการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดทั่วราชอาณาจักร และคำตอบ 8 ข้อในการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดไว้ ที่มาภาพประกอบ: suc (CC0)

ข้อมูลจาก มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 25/2546 มติที่ 459/2546 เรื่อง ปัญหาการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าเลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือ ที่ ศพศ 078/2546 ลงวันที่  25 มิ.ย. 2546 ถึงรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) แจ้งว่า คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภา-ผู้แทนราษฎร ได้จัดให้มีการประชุมเสวนาเรื่องปัญหาการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัด ทั่วราชอาณาจักรในวันจันทร์ ที่ 23 มิ.ย. 2546 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น  ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 213-216 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา และศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยและองค์กรเครือข่ายชาวพุทธ ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ที่ประชุมมีมติให้เสนอแนวทางปฏิบัติ เพื่อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการการ-ศาสนาฯ  และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรวม 8 ข้อ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้มีบัญชาให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติชี้แจงทุกข้อว่าเป็นไปได้หรือไม่ และมีบัญชาให้รายงานมหาเถรสมาคมทราบด้วย

 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้ว ขอกราบนมัสการ ดังนี้

1. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำการสำรวจที่ดินวัดทั่วประเทศ ได้แก่ ที่ดินที่ตั้งวัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ให้ทราบจำนวนที่แน่นอนว่ามีกี่ไร่ หรือที่ดินที่ทางราชการขอใช้/เช่า หรือให้เอกชนเช่า รวมถึงที่ดินวัดร้างของแต่ละวัด โดยแยกประเภทให้เห็นว่า ทางราชการขอใช้/ให้เช่า ที่ที่เอกชนเช่า และที่วัดร้าง เป็นการรีบด่วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน

ตอบ สำหรับวัดมีพระสงฆ์เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 31 วรรคสาม เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป ดังนั้น สำหรับที่วัดและที่ธรณีสงฆ์เป็นอำนาจของวัดในการดำเนินการ และวัดส่วนใหญ่ดำเนินการตามพระราช-บัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติมหาเถรสมาคม และระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว จำนวนวัดมีพระสงฆ์ทั่วประเทศ จำนวน 33,290 วัด

สำหรับวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลที่ดินวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง มีข้อมูลดังนี้

1.1 ที่ดินวัดร้างและศาสนสมบัติกลางที่อยู่ในความดูแลของสำนักงาน-พระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดร้าง 6,960 วัด เนื้อที่ประมาณ 60,250 ไร่ 51.23 ตารางวา ศาสนสมบัติกลาง 67 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 3,330 ไร่ 2 งาน 14.95 ตารางวา    

1.2 ที่ดินศาสนสมบัติวัดที่มอบให้จัดประโยชน์แทน 157 วัด

2. ให้สำรวจที่ดินอยู่ที่ หมู่ที่ ตำบล อำเภอ จังหวัดใดบ้าง ตามข้อ 1 โดยแยกประเภทให้ชัดเจน ตรวจสอบได้ว่าแต่ละจังหวัดมีเท่าไร

ตอบ ในส่วนของวัดมีพระสงฆ์ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยวัดในเขตกรุงเทพมหานครได้จัดส่งหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดิน หรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินเก็บไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่น ส่งไปเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการศึกษาธิการจังหวัดนั้น ๆ สำหรับวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีโครงการสำรวจข้อมูลที่ดินวัดร้างและศาสนสมบัติกลางทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสังเคราะห์ข้อมูลโดยได้แยกประเภทต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ที่ตั้งของที่ดิน เนื้อที่ที่ มีเอกสารสิทธิ ไม่มีเอกสารสิทธิ มีการจัดประโยชน์ในที่ดิน ไม่มีการจัดประโยชน์ในที่ดิน แผนผังแสดงตำแหน่งที่ตั้ง เป็นต้น

3. เมื่อได้ข้อมูลตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้วนำเสนอคณะกรรมการมหาเถร-สมาคมและรัฐบาลให้รับทราบ

ตอบ ในการปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อทราบเป็นระยะ และมหาเถรสมาคมได้มีมติรับทราบ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ  เครืองาม)เพื่อทราบต่อไป

4. ที่ดินที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ที่ศาล มีที่ดินของวัดใดบ้าง อยู่ที่ไหนบ้าง จำนวนกี่ไร่

ตอบ ที่ดินที่มีการฟ้องร้องเฉพาะวัดที่เจ้าอาวาสขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีจำนวน 14 วัด ส่วนวัดอื่น ๆ ที่มีเรื่องฟ้องร้องทางวัดไปแล้ว จึงไม่อาจทราบจำนวน

5. ให้แยกที่ดินที่มีโฉนด และ น.ส.3 ให้ชัดเจน และถ้าหากหลักฐานจากวัดไม่มี ให้ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือกรมที่ดิน ถ้าไม่มีจากสถานที่ดังกล่าว ก็ให้ติดต่อกรมแผนที่ทหารเพื่อขอดูภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศต่อไป

ตอบ ในส่วนของวัดมีพระสงฆ์มีกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่อง ดังกล่าวอยู่แล้ว สำหรับวัดร้างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ดำเนินการอยู่แล้ว ตามที่ได้รายงานไว้ในข้อ 2

6. การทำสัญญาเช่าที่ดินของวัดในแบบสัญญาเช่าต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเช่าไปทำอะไร เพราะอาจจะนำที่ดินวัดไปใช้กิจกรรมส่งเสริมอบายมุขก็ได้

ตอบ แบบร่างสัญญาเช่าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติส่งให้กับวัด มีวัตถุประสงค์การเช่าที่ดินชัดเจนอยู่แล้ว และในแบบร่างสัญญาเช่าต่าง ๆ ได้ผ่านการตรวจพิจารณากลั่นกรองจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

7. ให้มีคณะกรรมการจัดการบริหารศาสนสมบัติของวัดทั่วราชอาณาจักร โดยมีการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ มีน้ำใจอุทิศตนที่จะช่วยเหลือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ไม่หาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวก จำนวนไม่น้อยกว่า 9 รูป/คน หรือไม่เกิน 19 รูป/คน กรรมการได้ดำรงอยู่ในตำแหน่ง วาระละ 4 ปี ถ้ามีผลงานดีเด่นให้ต่ออายุอีก 4 ปี สำหรับคฤหัสถ์ ถ้ามีวุฒิด้านธรรมศึกษา นักธรรม เปรียญธรรม หรือมีความรู้ด้านพระพุทธศาสนา หรือจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งสถาบันใดสถาบันหนึ่ง จะเป็นผลดีมากที่สุด ทั้งนี้ให้ประยุกต์รูปแบบการบริหารจัดการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นตัวอย่าง

ตอบ การจัดการศาสนสมบัติวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติ-คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และมีคณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เป็นประธาน  พระเถระชั้นผู้ใหญ่ จำนวน 14 รูป  และข้าราชการระดับผู้บริหารของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาการให้เช่าที่ดินของวัดมีพระสงฆ์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ หากจะเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หรือให้มีคณะกรรมการจัดการบริหารศาสนสมบัติวัดทั่วราชอาณาจักรที่มาจากการสรรหาตามข้อ 7 ต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน

8. ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เข้าไปตรวจสอบการเงินรายรับ–จ่าย ของศาสนสมบัติกลางและศาสนสมบัติของวัดทั่วราชอาณาจักรด้วย เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีสำนักงานอยู่ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถที่จะขอความร่วมมือให้ตรวจสอบการเงินศาสนสมบัติกลางและศาสนสมบัติวัดทั่วประเทศได้

ตอบ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานการเงินศาสนสมบัติกลาง ส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกเดือน และในแต่ละปีเจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินจะเข้าตรวจสอบรายการเบิกจ่าย และงบการเงินศาสนสมบัติกลางเป็นประจำ ซึ่งเงินศาสนสมบัติกลางคือเงินที่เกิดจากการจัดประโยชน์ในที่ดินศาสนสมบัติกลางและ วัดร้าง ดูแลรักษาและจัดการโดยคณะสงฆ์ (มหาเถรสมาคม) โดยมอบให้คณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) จัดทำงบประมาณทั้ง รายรับ-รายจ่าย เมื่อพิจารณาร่างงบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำปีเสร็จแล้วจะนำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณดังกล่าว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะนำ งบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำปีเสนอรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบให้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาและลงนามประกาศใช้งบประมาณประจำปี  เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงจะเบิกจ่ายเงินศาสนสมบัติกลางได้ ตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณศาสนสมบัติกลาง เงินศาสนสมบัติกลางคณะสงฆ์จะนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประโยชน์และส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ ได้แก่การศาสนศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำปี โดยอนุโลมตามประเภทรายจ่ายในงบประมาณแผ่นดิน และ ยังมีประเภทรายจ่ายพิเศษตั้งไว้เป็นส่วนกลาง ได้แก่ งบกลางสำรองจ่าย สำหรับจ่ายตามมติมหาเถรสมาคม และงบสะสมทุนสำหรับค่าผาติกรรมที่ดินศาสนสมบัติกลางประจำ

สำหรับศาสนสมบัติของวัดทั่วราชอาณาจักร หากจะให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปตรวจสอบการเงินรายรับ-รายจ่าย จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: