จับตา: 2 โมเดลการท่องเที่ยวเชียงดาว ‘บ้านหัวทุ่ง-บ้านนาเลา’

TCIJ School รุ่นที่ 4 20 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 8067 ครั้ง


บ้านหัวทุ่ง: การจัดการท่องเที่ยวทางเลือกโดยชุมชนมีส่วนร่วม

ภาพวิวดอยหลวงเชียงดาวที่บ้านหัวทุ่ง

ชุมชนบ้านหัวทุ่ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 14 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ระหว่างแนวต่อเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำห้วยแม่ลุและห้วยละครที่ไหลลงสู่ลำน้ำปิง ทิศตะวันตกมีชายขอบของผืนป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านยังคงวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ที่นี่จึงเป็นชุมชนต้นแบบที่โดดเด่นในด้านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ป่าชุมชน การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ภายใต้กฎกติกาที่สมาชิกในชุมชนจัดทำร่วมกัน มีการใช้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน เช่น กิจกรรมบวชป่า พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำหรือต้นน้ำ การทำการเกษตรแบบไม่เผา การนำแก๊สชีวภาพจากขี้หมูมาใช้ในครัวเรือนเพื่อลดการใช้ฟืนในการหุงต้ม

ทั้งนี้ โครงการ ‘การท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน’ ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2548 โดยการสนับสนุนของสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) ซึ่งเป็นโครงการที่นำจุดเด่นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตการพึ่งตนเองในชุมชน ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ชาวต่างชาติ โดยมีการอบรมให้ความรู้ในการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยว อบรมชาวบ้านที่สนใจทำที่พักโฮมสเตย์ อีกทั้งวางแผนกิจกรรมกรรมการท่องเที่ยวร่วมกัน ชุมชนมีรายได้และสามารถกระจายรายได้ให้กับทุกกลุ่มในชุมชน

ศิริวรรณ รู้ดี กรรมการหมู่บ้านหัวทุ่ง นำคณะจาก TCIJ School แวะดู ‘น้ำออกฮู’ หรือ ‘น้ำออกรู’ แหล่งท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อ ที่มีน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากตาน้ำบริเวณตีนดอยหลวงเชียงดาว

ศิริวรรณ รู้ดี หนึ่งในกรรมการหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า ชุมชนบ้านหัวทุ่งมีทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากและเป็นแหล่งหารายได้เข้าชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชนคือ ความร่วมมือของคนในชุมชนที่สามารถรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ เช่น การตั้งกลุ่มสมุนไพร การปลูกป่าไผ่เศรษฐกิจ การสานก๋วย ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนปลอดจากการเผา กิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ ทำให้ชุมชนบ้านหัวทุ่ง กลายมาเป็น ‘แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ’

“ชุมชนเรามีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดี แต่เราก็ไม่ใช้เพียงอย่างเดียว เรายังปลูกทดแทนคืนให้กับธรรมชาติด้วย ทุกกิจกรรมในชุมชนจะเน้นการจัดการร่วมกันของชาวบ้าน เพื่อที่จะให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม และหวงแหนทรัพยากรที่มีค่าของชุมชนและมีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งด้วย”

‘รางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ’ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเครื่องการันตีให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติอยากมาเยือนที่นี่ จึงได้เกิด โฮมสเตย์จำนวน 5 หลังขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น

ด้านแม่คำจันทร์ แก้วไหลมา หนึ่งในชาวบ้านที่จัดบ้านพักโฮมสเตย์เอาไว้รองรับนักท่องเที่ยว เล่าว่า การต้อนรับแขกไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของเธอและครอบครัวเปลี่ยนไป เธอยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม แค่มีเพื่อนร่วมชายคาเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง บางคนมาอยู่หลายคืนผูกพันกันมากเหมือนลูกเหมือนหลาน โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่พร้อมมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแท้จริง

เมื่อแขกมาเยือน เจ้าของบ้านจะพาเดินดูวิถีชีวิตของคนในชุมชนว่าอยู่กันอย่างไร มีกิจกรรมเดินเที่ยวในป่าชุมชน แวะดู “น้ำออกฮู” หรือน้ำออกรู แหล่งท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อ ที่มีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากตาน้ำบริเวณตีนดอยหลวงเชียงดาว โดยมีมัคคุเทศน์ประจำหมู่บ้านคอยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมนี้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ติดตามไปเพื่อเรียนรู้พร้อมกับนักท่องเที่ยวด้วย

“แม่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ต้อนรับแขก บางกลุ่มกลับไปแล้วก็ยังเขียนจดหมายมาหา ส่งรูปมาให้ บอกว่าจะกลับมาเที่ยวอีก” แม่คำจันทร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยยิ้มกว้าง

รายได้จากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะถูกหักเพื่อไปสมทบเป็นเงินกองกลางพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนการจัดการเรื่องบ้านที่พักของนักท่องเที่ยวจะใช้ระบบเวียนกันไปใน 5 หลัง ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของหมู่บ้านว่าหากมีปัญหา จะยกเลิกการจัดการทองเที่ยวทั้งหมด เพราะไม่อยากให้เกิดความแตกแยกภายในหมู่บ้าน

นอกจากนั้น ยังมีการคัดกรองผู้คนที่เข้ามาท่องเที่ยวด้วย ส่วนใหญ่จะต้องมาเป็นครอบครัวซึ่งสามารถดูแลและควบคุมกันเองได้ และในแต่ละรอบปีก็จะรับนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากนัก เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่าธรรมชาติและไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านจนเกินไป

การ ‘สานก๋วย’ อันเป็นผลผลิตต่อเนื่องของ ‘ป่าไผ่เศรษฐกิจ’

เพราะธรรมชาติเป็นต้นทุนสำคัญของหมู่บ้าน นอกจากป่าชุมชนแล้ว ที่นี่ยังมี ‘ป่าไผ่เศรษฐกิจ’ ที่ชาวบ้านจำนวน 94 ครอบครัวได้ช่วยกันปลูก ในพื้นที่ 42 ไร่ ของหน่วยทหารพัฒนาการพื้นที่ 32  เดิมพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านจึงเข้าไปขอเพื่อปลูกป่า‘ไผ่บงกาย’ ที่เป็นไผ่พื้นเมืองและไผ่เอนกประสงค์ หน่อกินได้รสชาติอร่อย เนื้อไม้แกร่ง เหนียว ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี

พ่อถวิล ศรีเงิน เล่าว่าชาวบ้านที่นี่ ‘สานก๋วย’ หรือกระบุงกันแทบทุกหลังคาเรือน เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน เดิมทำนาเป็นอาชีพหลัก สานก๋วยเป็นอาชีพเสริม พอแก่ตัวลงสองตายายก็หันมาเอาดีทางการสานก๋วยแทน โดยใช้ไผ่ของหมู่บ้านที่ช่วยกันปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2542

“แต่ละปีจะไปช่วยกันตัดต้นไผ่จากในป่า ตัดได้เท่าไร จะมาแบ่งเป็น 94 กองเท่าๆ กัน แล้วก็ติดหมายเลขไว้ จากนั้นให้แต่ละครอบครัวที่ร่วมกันปลูกมาจับฉลาก ได้เบอร์ไหนก็หอบไผ่กองนั้นกลับบ้านไป” พ่อถวิลเล่าให้ฟังขณะที่มือยังสานก๋วยพัลวัน

บอลลูนแก๊สเพื่อแปรสภาพขี้หมูให้เป็นแก๊สชีวภาพ

นอกจากนี้ ปัญหากลิ่นขี้หมูจากฟาร์มหมูที่อยู่มาก่อนจะมีหมู่บ้าน เมื่อมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น จึงคิดที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจัง โดยเริ่มต้นจากการสร้างเวทีประชาคมเพื่อหาความร่วมมือในการแก้ปัญหานี้ จนได้ข้อสรุปว่า สร้างบอลลูนแก๊สเพื่อแปรขี้หมูให้เป็นแก๊สชีวภาพ โดยอาศัยความร่วมมือกันของสามฝ่ายคือ เจ้าของฟาร์ม บริษัทอาหารหมูและชุมชน ในขณะนั้นมีเงิน SML ของหมู่บ้านประมาณสองแสนบาท ก็ใช้ไปกับโครงการนี้

ปัจจุบันมีทั้งหมด 164 หลังคาเรือนที่ใช้แก๊สชีวภาพนี้เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน โดยเก็บเงินเข้ากองกลางครัวเรือนละ 40บาทต่อเดือนเพื่อเป็นค่าซ่อมบำรุง โดยแก๊สนี้จะเปิด-ปิดเป็นเวลา โดยเริ่มเปิดตั้งแต่ 16.00-08.00 น. ดังนั้นแต่ละครัวเรือนจึงต้องมีแก๊สสำรองไว้ด้วย

นอกจากใช้เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน ช่วยลดกลิ่นที่เป็นมลภาวะทางอากาศแล้ว แก๊สชีวภาพนี้ยังมีบทบาทช่วยลดการปล่อยแก๊สมีเทน แก๊สเรือนกระจกได้ด้วย ซึ่งโครงการดีๆ นี้เกิดจากการจัดการร่วมกันของคนในชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้หมดไป

จุดเด่นทางกายภาพที่สำคัญของชุมชนบ้านหัวทุ่งคือ การที่ทุกพื้นที่ในชุมชนสามารถมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวและดอยนาง ได้อย่างชัดเจนสวยงาม แต่จุดแข็งที่สำคัญกว่าคือการมีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกันของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนนี้เข้มแข็งและเป็นชุมชนต้นแบบที่มีหลายรางวัลการันตี ทำให้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจที่จะส่งต่อวัฒนธรรมดี ๆ นี้สู่ลูกหลานต่อไป

บ้านนาเลา: คนอยู่กับป่าและการท่องเที่ยว

หมู่บ้านนาเลาตั้งอยู่ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อยู่ตรงข้ามกับดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทยและมีความสูงเป็นลำดับ 3 ของประเทศรองจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก โดยมีความสูงกว่า 2,275 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้คนที่ยืนอยู่ฝั่งบ้านนาเลามองเห็นทิวทัศน์ของดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างใกล้ชิด

เดิมในพื้นที่นั้น เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าลีซอ และเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ชาวบ้านมีอาชีพทำเกษตรกรรมซึ่งรวมถึงการปลูกฝิ่น ต่อมามติคณะรัฐมนตรีปี 2541  ได้อนุญาตให้ชาวบ้านในท้องที่สร้างโฮมสเตย์เพื่อการท่องเที่ยวได้ โดยอนุญาตให้เปิดโฮมเสตย์รองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 8-10 คนต่อครอบครัว ( ภายใต้ข้อจำกัดของอุทยาน หากซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง ต้องยกเลิกสิทธิครอบครอง)  ชาวบ้านมีรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม แต่ต่อมามีความนิยมมากขึ้น ทำให้มีการสร้างที่พักโฮมสเตย์และรีสอร์ทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนมากที่สุดถึง 19 แห่ง ในปี 2559 และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ต่อมาได้มีการร้องเรียนจากคนนอกพื้นที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามารื้อถอนโฮมสเตย์บางส่วนและจัดระเบียบการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวใหม่เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา โดยควบคุมไว้ให้มีผู้ประกอบการ 19 ราย แต่ละรายสามารถทำบ้านพักให้เป็นโฮมสเตย์ได้บ้านละ 2 ห้อง พื้นที่ลานกางเต้นท์ได้ 4 หลัง และระเบียงสำหรับชมวิวดอยหลวงเชียงดาวได้ 1 จุด ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน เพราะคำนวณว่าจำนวนที่พักดังกล่าว จะรองรับนักท่องเที่ยวได้ 200 คนต่อวัน ตามศักยภาพของหมู่บ้าน จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวมากสุดประมาณ 1,000 คนต่อวัน

‘นิคม’ หรือชื่อจริง ‘คมศักดิ์ วงษ์สุข’ เจ้าของบ้านระเบียงดาว ที่บ้านนาเลา

ชุมชนบ้านนาเลาเริ่มการทำธุรกิจโฮมสเตย์เมื่อปี 2540  นิคม หรือชื่อจริง ‘คมศักดิ์ วงษ์สุข’ เจ้าของ ‘บ้านระเบียงดาว’ ผู้บุกเบิกธุรกิจโฮมเสตย์ เล่าให้ฟังว่า ตนไม่ได้เป็นคนที่นี่ แต่มามีครอบครัวอยู่ที่บ้านนาเลา และเห็นว่าวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวลีซอนั้นทำรายได้ได้น้อย ทั้งเห็นว่าหน้าบ้านของตนเองมีวิวสวย และมีประเพณีวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีเสน่ห์ จึงคิดเปลี่ยนมาทำการท่องเที่ยว เริ่มโดยการติดต่อธุรกิจกับเกสต์เฮ้าส์ด้านล่าง ประสานกันว่าชาวบ้านนาเลาจะจัดโปรแกรมการท่องเที่ยว มีการเดินป่าที่ใช้เวลาสองคืน จากนั้นก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ว่าถ้ามาที่เชียงดาว จะมีการเดินป่า มีถ้ำ มีชนเผ่า ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวดีมาก ต่อมานายนิคมได้ตกลงกับเกสต์เฮาส์ด้านล่างว่า จะให้นักท่องเที่ยวมาพักที่บ้านคืนหนึ่งระหว่างเส้นทาง จึงได้เริ่มสร้างโฮมสเตย์ขึ้น ต่อมาโฮมสเตย์นี้เริ่มเป็นที่รู้จักในอินเตอร์เน็ต ทำให้นักท่องเที่ยวเยอะขึ้น ปีต่อมาก็เลยทำเพิ่มทีละหลัง เรื่อย ๆ จนถึง 13 หลัง แต่หลังจากทำมา 6 ปี ก็เลิกโครงการเดินป่าไป เหลือแต่โฮมสเตย์

นอกจากบ้านระเบียงดาวที่มีชื่อเสียงแล้ว ที่บ้านนาเลาก็ยังมีโฮมสเตย์อีกหลายหลัง

ในปี 2556 รายการคู่เลิฟตะลอนทัวร์ได้มาอัดรายการที่นี่ ทำให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากขึ้นอีก และในปี 2557 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ก็มาอ่านข่าวตอนเช้าเช่นกัน เมื่อบ้านระเบียงดาวมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านก็อยากทำตามทั้งหมู่บ้าน แต่กรมป่าไม้ตั้งกติกาว่าให้ทำแต่ในบริเวณบ้านของตัวเองเท่านั้น

เศษซากการรื้อถอนโฮมสเตย์หลังจากการจัดระเบียบเมื่อต้นปี 2560

ปัจจุบัน บ้านนาเลามีธุรกิจโฮมสเตย์ทั้งหมด 19 ราย  เนื่องจากมีคนนอกพื้นที่ไปร้องเรียนที่กรมป่าไม้ว่าทำไมภูทับเบิก เขาใหญ่ โดนรื้อ แต่บ้านระเบียงดาวยังอยู่ได้ จึงทำให้อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สนธิกำลัง 300-400 คน โดยมีทหาร ตำรวจตะเวนชายแดน ตำรวจท้องที่ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้ข้อสรุปว่าต้องรื้อ แต่ชาวบ้านขอเจรจาจนหน่วยราชการให้การอนุโลมว่าให้ทำสร้างโฮมสเตย์ได้ครัวเรือนละสองหลัง ถ้าเกินจะรื้อออก โดยหัวหน้าเขตป่าไม้จะควบคุมห้ามรถนำวัสดุก่อสร้างขึ้นไป

ตามข้อตกลงร่วมกันหลังการจัดระเบียบ ชาวบ้านสามารถทำบ้านพักให้เป็นโฮมสเตย์ได้บ้านละ 2 ห้อง พื้นที่ลานกางเต้นท์ได้ 4 หลัง และระเบียงสำหรับชมวิวดอยหลวงเชียงดาวได้ 1 จุด

นิคมบอกว่า การลดจำนวนสิ่งปลูกสร้างลงนั้นดี แม้รายได้จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ได้ เพราะถ้าโฮมสเตย์เยอะเกินไป ขยะก็จะตามมา ทั้งยังทำให้ทัศนียภาพและบรรยากาศของดอยหลวงเชียงดาวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการค้ามากเกินไป แต่ชาวบ้านกลับเห็นว่าไม่ควรรื้อ เพราะพวกเขาก็ต้องการรายได้ และลงทุนมาเป็นแสนแล้ว บางคนยังยืมเงินคนอื่นมา ทำให้ชาวบ้านมีทัศนคติไม่ดีกับกรมป่าไม้ นิคมคาดการณ์ว่าหลังจากนี้จำนวนโฮมสเตย์คงมีเท่านี้ เพราะกรมป่าไม้ส่งคนเข้ามาดูอยู่เป็นประจำ ส่วนกลุ่มผู้ ประกอบการก็มีการประชุมหารือกันเรื่อยๆ เช่น เรื่องการต่อเติมอาคารต่างๆ การบริหารจัดการขยะในช่วงก่อนปีใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีนักท่องเที่ยวอีกจำนวนไม่น้อยตั้งใจจะเข้ามาชมทัศนียภาพของดอยหลวงเชียงดาวจริงๆ แต่ด้วยพื้นที่ขนาดย่อมของบ้านนาเลา และการบริหารจัดการเรื่องสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดการขยะ ทำให้บ้านนาเลายังประสบกับปัญหาความไม่พร้อมเหล่านี้

หลังจากการจัดระเบียบพื้นที่อุทยานดอยหลวงเชียงดาว กลุ่มผู้ประกอบการและชาวบ้านและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้คิดทำศูนย์วัฒนธรรมขึ้น โดยขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เช่น ฝ่ายปกครอง และพัฒนาชุมชน เข้าร่วมกับชุมชนในการวางแผนเพื่อพัฒนาให้หมู่บ้านนาเลา ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าลีซอ ให้มีวิธีการประกอบกิจการท่องเที่ยวเชิงวิถีวัฒนธรรม โดยเฉพาะการสร้างศูนย์วัฒนธรรม และร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าชุมชน มีการขายสินค้าของชาวบ้าน มีการแสดงประเพณีท้องถิ่นเป็นบางวัน เพราะต้องคำนึงถึงหลายอย่าง เช่น การตัดไม้มาทำอุปกรณ์

นิคมบอกว่า อนาคตที่ตนอยากเห็น คือเชียงดาวอยู่แบบธรรมชาติเหมือนเดิม แต่ขอให้ภาครัฐเปิดโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะข้อจำกัดได้บ้านละ 2 ห้อง พื้นที่ลานกางเต้นท์ได้ 4 หลัง และระเบียงสำหรับชมวิวดอยหลวงเชียงดาวได้ 1 จุดนั้น น้อยเกินไป ตนเชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดี ให้มีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกสัก 2-3 หลัง โดยตกลงกันระหว่างผู้ประกอบการ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ป่าได้ ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ภายใต้กติกาที่เหมาะสม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: