จับตา: ภาพรวมระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน

ทีมข่าว TCIJ : 8 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 4267 ครั้ง


ที่มา: รายงานประจำปี 2559/60 ของ BTS Group

จาก รายงานประจำปี 2559/60 ของ BTS Group ได้ระบุถึงภาพรวมระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทั้ง ระบบรถไฟฟ้า BTS, ระบบรถไฟฟ้า MRT, ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (SARL), ระบบรถไฟฟ้าชานเมือง และระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ในปัจจุบัน ไว้ดังนี้

ระบบรถไฟฟ้า BTS เป็นระบบรถไฟยกระดับแห่งแรกในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นเหนือถนนสายหลักใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งบริหารโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ BTS Group เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2542 โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560 มีจำนวนรถโดยสารขนาด 4 ตู้ ทั้งหมด 52 ขบวน (รวม 208 ตู้) และระบบรถไฟฟ้า BTS เปิดให้บริการทั้งหมด 34 สถานี ระยะทางรวม 36.3 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็นสองเส้นทาง คือ สายสุขุมวิท หรือสายสีเขียวเข้ม ประกอบด้วย 22 สถานี โดยวิ่งผ่านใจกลางกรุงเทพฯ จากทิศเหนือถึงทิศตะวันออก (หมอชิต-แบริ่ง) และสายสีลมหรือสายสีเขียวอ่อน ประกอบด้วย 13 สถานี โดยวิ่งผ่านใจกลางเมืองจากทิศใต้ถึงทิศตะวันตก (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) ทั้งสองเส้นทางเชื่อมต่อกันที่สถานีสยาม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 สถานีสำโรง ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานีแรกของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ ณ ปัจจุบันรถไฟฟ้า BTS ได้เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 35 สถานี ระยะทางรวม 38.1 กิโลเมตร สำหรับยอดผู้โดยสารรวมในระบบรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ปี 2559/60 อยู่ที่ 238 ล้านเที่ยวคน และมีอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ย 9.1% ต่อปี นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ

ระบบรถไฟฟ้า MRT บริหารโดย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้เปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย (โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน) เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2547 ระยะทางรวม 20.0 กิโลเมตร 18 สถานี (หัวลำโพง-บางซื่อ) และต่อมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 ได้มีการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ระบบรถไฟฟ้ายกระดับ) ระยะทางรวม 23.0 กิโลเมตร 16 สถานี (บางใหญ่-เตาปูน) รวมระยะทางทั้งสองสาย 43.0 กิโลเมตร ทั้งนี้รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีศาลาแดง สถานีอโศก และสถานีหมอชิต สำหรับปี 2559 ที่ผ่านมา รถไฟฟ้า  MRT ในส่วนของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินมียอดผู้โดยสารทั้งหมด 99.9 ล้านเที่ยวคน

ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (SARL) เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีพญาไท ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับ ระยะทาง28.5 กิโลเมตร 8 สถานี ดำเนินงานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2553 โดยมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีพญาไท

ระบบรถไฟฟ้าชานเมือง เป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนซึ่งดำเนินงานโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดให้บริการระยะทางรวม 15.3 กิโลเมตร 4 สถานี (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โดยเปิดทดลองเดินรถด้วยรถดีเซลราง เริ่มทดลองเดินรถตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.-30 พ.ย. 2555 และเริ่มเปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว ณ วันที่ 5 ธ.ค. 2555 ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบระหว่างสถานีบางซื่อและสถานีรังสิตในปี 2563

ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT บริหารโดย BTSC เป็นโครงการแรกเริ่มของทางกรุงเทพฯ ที่จะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลายประเภทในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะให้บริการระบบขนส่งมวลชนแบบบูรณาการทั้งในเขตเมืองและพื้นที่รอบนอก โดย BRT จะมีความเร็วสูงกว่ารถโดยสารประจำทางทั่วไปเพราะจะวิ่งบนช่องทางพิเศษที่แยกออกจากถนนหลัก BRT มีระยะทางรวม 15.0 กิโลเมตร 12 สถานี (ช่องนนทรี-ตลาดพลู) โดยมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีช่องนนทรี

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: รายงานประจำปี 2559/60 ของ BTS Group

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: