The First Asian Investigative Journalism เมื่อ ‘ข่าวสืบสวน’ คืออนาคต

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ TCIJ 28 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1602 ครั้ง

เวที ‘Uncovering Asia: The First Asian Investigative Journalism Conference’ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา  ประเทศฟิลิปปินส์ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สะท้อนความสำคัญของข่าวสืบสวนที่พุ่งสู่ กระแสสูงทั่วทั้งโลก สื่อนานาชาติชี้ตรงกัน ข่าวสืบสวนคือเครื่องมือหยุดยั้งคอร์รัปชั่นและคือส่วนหนึ่งของประธิปไตยในโลกปัจจุบัน ผู้อำนวยการ  www.tcijthai.com ได้รับเชิญเข้าร่วมสัมนาและเข้าร่วมเครือข่าย Global Investigative Journalism Network โดยผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสืบสวน PCIJ ของฟิลิปปินส์ ปาฐกถาอ้างถึง TCIJ และ Thai Publica ของประเทศไทย

การเสวนาครั้งนี้  จัดขึ้นที่โรงแรม Crown Plaza Manila Galleria Hotel กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นครั้งแรกของการประชุมสื่อมวลชนสายข่าวสืบสวน  และแม้ทางผู้จัดจะตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมเป็นสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน 150 คน ทว่า กลับมีนักข่าวระดับหัวกะทิและคนรุ่นใหม่ รวมทั้งนักวิชาการสายนิเทศศาสตร์จำนวนมากจากทั่วโลกเข้าร่วมถึง 300 คน จาก 32 ประเทศ โดยมีศูนย์ข่าวสืบสวนของฟิลลิปปินส์ PCIJ หรือ Philippine Center for Investigative Journalism เป็นผู้ประสานงาน และมีองค์กรสนับสนุนทั้งมูลนิธิคอนราด อเดนาว, Global Investigative Journalism Network, Open Society Foundations, Ford FoundationFree Press Unlimited, Google เป็นต้น

นอกจากเวทีสัมมนาครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของสื่อมวลชนสายข่าวสืบสวนแล้ว ยังเป็นโอกาสการฉลองครบรอบ 25 ปีของ PCIJ ที่เคยมีผลงานข่าวสืบสวนเปิดโปงคอร์รัปชั่นสั่นคลอนรัฐบาลฟิลลิปปินส์จนมีอันเป็นไปมาแล้ว ทั้งเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส และโจเซฟ เอสตราด้า PCIJ จึงเป็นแรงบันดาลใจของสื่อมวลชนสายข่าวสืบสวนทั่วโลก รวมทั้งแก่ TCIJ ด้วย

วันที่ 23 พฤศจิกายน ยังเป็นวันที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นวันรณรงค์เพื่อยุติ ‘การละเว้นลงโทษผู้กระทำผิด’ หรือ International Day to end Impunity ซึ่งเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ผูู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ 32 คน ในจังหวัดมากินดาเนา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 เป็นเหตูให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพทั่วโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันรณรงค์เพื่อให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจ ต่อการปล่อยให้ผู้กระทำผิดในกรณีดังกล่าวลอยนวล ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้สื่อข่าวในคราวเดียวที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยคุกคามของปัญหาและผลกระทบที่ตามมาต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

รูปของนักข่าว 32 คนที่ถูกสังหารชีวิตในจังหวัดมากินดาเนา

คณะกรรมการพิทักษ์ผู้สื่อข่าว หรือ CPJ ได้รายงานว่า มีผู้สื่อข่าวกว่า 600 คนทั่วโลกถูกสังหารไปนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา และร้อยละ 90 ของจำนวนนี้ยังไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีรัฐบาลประเทศใดหยิบยกปัญหาการละเว้นการลงโทษผู้ กระทำผิดและหามาตรการแก้ไข ทั้งๆ ที่ีตัวเลขการเสียชีวิตในหน้าที่ของสื่อมวลชนมีเพิ่มขึ้นทุกปี บ่งบอกว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่

ช่วงเย็นของวันที่ 23 พฤศจิกายน หลังเสร็จจากห้องสัมนา ผู้จัดงานได้เชิญชวนสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมเวทีทั้งหมดเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนรำลึกถึงสื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารโหดที่มากินดาเนาของฟิลิปปินส์ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ EDSA People Power Shrine ท่ามกลางบรรยากาศหมองเศร้า ด้วยผ่านมา 5 ปีเต็ม ยังไม่มีวี่แววความพยายามในการคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นพล็อตนิยายซ้ำซากที่ตัวละครผู้ก่ออาชญากรรมคือผู้มีอำนาจทางการเมืองในประเทศ มักลอยนวลหายไป

การจุดเทียนร่วมรำลึกถึงนักข่าว 32 ชีวิต กรณีมากินดาเนา

จาก PCIJ ถึง TCIJ

วันแรกของเวที Uncovering Asia: The First Asian Investigative Journalism Conference เริ่มด้วยปาฐกถาของ ชีล่า โคโรเนล (Sheila Coronel) แกนนำกลุ่มผู้ก่อตั้ง PCIJ ปัจจุบันเป็นคณบดีฝ่ายวิชาการบัณฑิวิทยาลัย ด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ชีล่าเปิดประเด็นว่า 25 ปีที่ผ่านมา ข่าวสืบสวนเป็นสิ่งที่แทบไม่มีใครรู้จักหรือพูดถึง แต่วันนี้ สื่อมวลชนทั่วภูมิภาคเอเซียกำลังใช้เสรีภาพและกฎหมายข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์และเครื่องมือนานาชนิดในโลกดิจิตอล เขียนข่าวเปิดโปงคอร์รัปชั่น การค้ามนุษย์ อำนาจเถื่อน เงินสกปรก และปัญหาสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางสายตานับพันล้านของประชากรเอเชีย

"นับแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เทคโนโลยีใหม่ได้ก่อให้เกิดเสรีภาพอย่างใหม่ ตลาดและโอกาสใหม่ รวมไปถึงระเบียบโลกใหม่ก็ได้ให้พลังอำนาจแก่สื่อมวลชนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 25 ปีที่แล้ว เอเซียมีสำนักข่าวที่ทำงานข่าวสืบสวนอยู่เพียงแห่งเดียวคือ PCIJ ของฟิลิปปินส์ แต่ปัจจุบันเรามีที่เนปาล เกาหลี ปากีสถาน อินเดีย และประเทศไทยก็มี TCIJ กับ Thai Publica ข่าวสืบสวนในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เรามีแม้แต่นิตยสารรายงานข่าวสืบสวนโดยเฉพาะ เช่น Tempo ของอินโดนีเซีย และ Caixin ของประเทศจีน โทรทัศน์ในประเทศจีนส่วนใหญ่ก็มีรายงานข่าวสืบสวนเป็นรายการประจำ"

“ที่ผ่านมาเราถูกกล่อมเกลาว่า คุณค่าแห่งเอเชีย (Asian Value) คืออัตลักษณ์ของเอเชีย ไม่ใช่หรอก การพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจต่างหาก คือคุณค่าของเอเชียที่มีพลัง" ชีล่าส่งท้ายปาฐกถาของเธออย่างปลุกเร้าว่า "นักข่าวก็คือพลเมืองที่ตื่นรู้ เมื่อใดที่ได้ลิ้มรสแห่งอิสรภาพและเสรีภาพ มันยากมากที่จะให้เราหวลกลับไปในยุคมืดได้อีก"

ชีล่าและเพื่อนนักข่าวมืออาชีพกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันก่อตั้ง PCIJ ขึ้นเมื่อปี 2532 พวกเขาเห็นตรงกันว่า การ ทำงานในระบบของสื่อใหญ่นั้น ไม่สามารถทำงานข่าวสืบสวนตามปณิธานได้ เมื่อครั้งที่ ‘โครงการวิจัยแนวทางการส่งเสริมงานข่าวสืบสวนฯ’ ของสุชาดา จักรพิสุทธ์ ไปติดตามการทำงานของ PCIJ เป็นกรณี ศึกษาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ชีล่าและเพื่อนร่วมก่อตั้งได้แยกย้ายไปจาก PCIJ สู่หน้าที่การงานอื่นกันเกือบหมดแล้ว ทีมงานในปัจจุบัน ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่รุ่นพี่สร้างเอาไว้ คงมีแต่ Malou Mangahas ที่วันนี้ยังคงนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการ

PCIJ ปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันอาชีพที่ดำเนินงานฝึกอบรมงานข่าวสืบสวนให้คนรุ่นใหม่ มีรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวสืบสวน  และผลิตสื่อหนังสือรวมทั้ง Multi Media ต่างๆ และยังคงมีเว็บไซต์ www.pcij.org เป็นทั้งสื่อและเอ็นจีโอที่พึ่งตัวเองด้วยระบบการตลาด มีสมาชิกและโฆษณา ส่วนโครงการฝึกอบรมต่างๆ และการผลิตสื่อเผยแพร่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ

นักข่าวก็คือพลเมืองที่ตื่นรู้

เมื่อใดที่ได้ลิ้มรสแห่งอิสรภาพและเสรีภาพ

มันยากมากที่จะให้เราหวลกลับไปในยุคมืดได้อีก

กล่าวได้ว่า PCIJ คือต้นแบบและแรงบันดาลใจของ TCIJ ในแง่ของปณิธานอันแรงกล้า ที่เชื่อว่าข่าวสืบสวนคือพลังอำนาจของข่าวสารที่สามารถสร้างการเรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อ Investigative Journalism ผนวก Data Journalism

เวทีเสวนาทั้ง 3 วัน อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาการบรรยายและการฝึกอบรมที่สามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามความสนใจ อาทิ กลเม็ดการทำข่าวสืบสวนในประเด็นการค้ามนุษย์ ในยุคที่ระบบการผลิตสมัยใหม่ทำให้ผู้คนตกเป็นทาสมากกว่ายุคใดที่ผ่านมา รวมทั้งการปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความรุนแรงและการทารุณกรรม  วิทยากรได้เล่าถึงตัวอย่างอันน่าตกใจในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีซียและเบื้องหลังสินค้าแบรนด์ดังนานาชนิดในสหรัฐอเมริกาและจีนที่มาจากแรงงานเด็กและผู้หญิง

นอกจากนี้ มีหัวข้อแนะแนวข้อควรระวังเรื่องหลุมพรางในการทำงานข่าวสืบสวน การวางแผนการเปิดประเด็นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่งได้อย่างไร เป็นต้น หัวข้อที่ผู้เขียนสนใจมาก เหมาะสำหรับประเทศที่มีอิทธิพลคุกคามสื่อมวลชน นั่นคือ การบรรยายการใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมายในการรับมือกับการคุกคามทำร้ายและการตอบโต้การปิดกั้นเสรีภาพ อาทิ การสร้างเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ เครื่องมือและเทคโนโลยีป้องกันการจารกรรมข้อมูล ความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะและการวางแผนเดินทาง เป็นต้น

ส่วนห้องที่มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการคู่ขนานกับห้องบรรยาย ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล-สถิติด้วยโปรแกรมเอกซ์เซล คลินิกให้คำปรึกษาเรื่องการเก็บรักษาข้อมูและความปลอดภัยของเครื่องมือดิจิตอลต่างๆ ห้องฝึกอบรมที่มีคนสนใจจนล้นออกนอกห้องเห็นจะได้แก่ ห้องของ Paul Mayers นักข่าวมือรางวัลจาก BBC ในหัวข้อ Internet Detective: Digging Out Hidden Info Online หรือนักสืบอินเตอร์เน็ต ที่ Paul โชว์ลีลาเรียกเสียงฮือฮาได้ตลอด 2 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเขาขึ้นจอมอร์นิเตอร์แนะนำแหล่งข้อมูลสำคัญแล้วเพียงแค่ใส่เครื่องหมายบางอย่างจากคีย์บอร์ดเพิ่มเติมเข้าไป โลกอินเตอร์เน็ตจะพาเราฝ่าด่านข้อมูลหลังบ้านจำนวนมากไปได้ทันที หรือการใส่คำค้นที่ผิดพลาดเพียงนิดเดียว มันก็พาเราหลงทางเสียเวลาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในวันสุดท้าย ยังมีหัวข้อเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิชาการและการศึกษาสายนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริการ และยุโรป  นอกจากนี้ ยังมีห้องบรรยายแนะแนวการเขียนโครงการ การขอทุนสนับสนุนงานข่าวสืบสวน การแนะนำแหล่งทุน ซึ่งส่วนใหญ่คือแหล่งทุนที่สนับสนุนการจัดสัมนาในครั้งนี้ และเครือข่ายสำคัญที่ให้ความช่วย เหลือนักข่าวสืบสวนที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากหรือถูกคุกคาม

โดยภาพรวม เห็นได้ว่าผู้เข้าร่วมสัมนาส่วนข้างมากเป็นนักข่าวที่ทำงานข่าวเชิงลึก หรือไม่ก็เป็นสื่อมวลชนหลากสาขาทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ที่สนใจการทำงานข่าวสืบสวน ทุกห้องสัมนาและทุกหัวข้อตอกย้ำความสำคัญและความสนใจร่วมกันว่า ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของนานาชาติทั่วโลก ไม่ว่ามหาอำนาจหรือประเทศด้อยพัฒนา ต่างเต็มไปด้วยปัญหาทั่วด้านที่ส่วนใหญ่ของปัญหามีผู้เอาปรียบและผู้เสียเปรียบ มีกลโกง ผลประโยชน์และความฉ้อฉลซุกซ่อนอยู่ ตั้งแต่ตัวนโยบาย จากทำเนียบรัฐบาลไปจนถึงอิทธิพลในท้องถิ่นกันดาร ...โลกไม่สวยอีกต่อไป สื่อมวลชนจึงต้องทำหน้าที่ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ส่องไฟเข้าที่มืด เพื่อให้ประชาชนมองเห็นสิ่งที่อยู่ในที่มืดนั้น

ข่าวสืบสวนในยุคต่อไป จึงไม่เพียงแต่การขุดค้นประเด็นผลประโยชน์ของสาธารณะ ทำความจริงให้ปรากฎ  หากแต่ยังต้องไปให้ถึงข้อมูลหลักฐานที่ลึกสุด ให้คำอธิบายความซับซ้อนของปัญหาได้ดีสุด เพื่อให้ข้อมูลทำงานเต็มที่ด้วยนัยยะสำคัญของตัวข้อมูลเอง อาจเป็นข้อมูลจากงานวิจัยหรือเป็นหลักฐานข้อมูลจริงที่ผู้เกี่ยวข้องไม่อาจปฏิเสธ ซึ่งเวทีสัมนาครั้งนี้เรียกทิศทางใหม่ในการทำงานข่าวสืบสวนเชิงข้อมูลนี้ว่า Data Journalism ที่จะเติมเต็มคุณค่าข่าวของ Investigative Journalism ซึ่งท่านผู้อ่านคงได้เห็นบางตัวอย่างจากการนำเสนอของ www.tcijthai.com ที่เชื่อมโยงกับส่วนข้อมูลที่เรียกว่า ‘จับตา’ ในหน้าเว็บไซต์ของเรา

อ่าน 'จับตา: ภัยคุกคามและการสังหารสื่อมวลชน' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5241

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: