ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดแรงงานของประเทศไทยเป็นโครงสร้างที่แบ่งแยกชัดเจน เป็น 5 ระดับการศึกษา คือ ระดับมัธยมต้นหรือต่ำกว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับประกาศนียบัตร ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง และระดับปริญญาตรีและสูงกว่า ซึ่งทุกระดับล้วนมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เป็นความไม่สมดุลของความต้องการแรงงานและการผลิตแรงงานทำให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้างตลาดแรงงาน ทำให้มีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำงานจากปัญหาจบการศึกษาที่หนึ่งแต่กลับต้องไปทำงานอีกที่หนึ่ง และการผลิตล้นเกินทำให้เกิดการว่างงานและเป็นความสูญเปล่ากับประเทศโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนในระดับอุดมศึกษาโดยผู้จบป.ตรีมีว่างงานสะสมราว 1 แสนคนจากจำนวนผู้จบแต่ละปีประมาณ 2.2 แสนคน และปรากฏว่าคนที่ว่างงานมีทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นปัญหาส่งไปถึงโครงสร้างการจ้างงานและการศึกษาซึ่งยังมีการขยายตัวของตลาดแรงงานที่รองรับการจ้างงานทางด้านวิทยาศาสตร์ได้น้อย และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประกอบชิ้นส่วนซึ่งไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาสูงมากนัก
จากผลการศึกษาตลาดแรงงานในทุกกลุ่มจังหวัดของประเทศทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ล่าสุด ยืนยันว่าการจัดการศึกษากระจายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา มีการขยายทั้งสถานศึกษาและสาขาที่เปิดสอน ขยายออกไปเปิดมากขึ้นในกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ แต่มักเป็นสาขาทั่วไปหรือสาขาเฉพาะแต่ไม่มีแหล่งจ้างงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดรองรับ ได้เพียงพออีกทั้งการกระจายสถานศึกษายังมีความไม่สมดุลในเรื่องการให้บริการ ทั้งมาตรฐาน คุณภาพ ความเท่าเทียม และบุคลากร ส่งผลถึงคุณภาพของผู้จบการศึกษาทั้งจำนวนการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษาที่ออกมา
“ในภาพรวม มีพยายามนำการศึกษาไปให้ใกล้ตัวผู้เรียนแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาและหลุดออกมาสู่ตลาดแรงงานหรือเตร็ดเตร่อยู่ จนอายุ 18 ปีจึงเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะหลุดมาในช่วงของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ไม่ได้เรียนต่อจากปัญหาครอบครัวและการขาดแคลนทุนทรัพย์ บางคนได้เรียนต่อแต่ก็จบออกมาด้วยคุณภาพการศึกษาที่ต่างจากส่วนกลางมากจึงแข่งขันไม่ได้ ผู้ที่ได้งานทำก็มักทำงานในอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องการคนที่มีศักยภาพสูงมากนัก”
ขณะที่การศึกษาในสายอาชีวะ (ปวช.,ปวส.) ก็มีคุณภาพแตกต่างกันระหว่างสถานศึกษาของรัฐกับของเอกชน และแหล่งจ้างงานในพื้นที่มีไม่พอ ส่วนระดับป.ตรี สถานศึกษาขยายตัวเข้าไปมาก แต่สาขาที่เปิดสอนไม่มีแหล่งจ้างงานในกลุ่มจังหวัดรองรับ เช่น สอน วิศวะ ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งพบว่าไม่มีอุตสาหกรรมที่จะรองรับผู้จบป.ตรีสายวิทยาศาสตร์ได้มากพอ จึงมีจำนวนผู้จบเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีแหล่งงานรองรับ จึงต้องออกไปหางานนอกพื้นที่และมีค่าใช้จ่ายในการหางานและการไปทำงานนอกพื้นที่ส่วนมากจะยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครในส่วนกลางและเมืองใหญ่ต่าง ๆ
ข้อเสนอสำหรับการแก้ปัญหา ป.ตรี คือ ต้องปรับโครงสร้างภาคการผลิต ป.ตรี ปรับปรุงด้านการผลิตกำลังคนป.ตรีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยเกณฑ์ต่ำสุดจะต้องลดการผลิตบัณฑิตที่ตลาดมีความต้องการถดถอยลง เช่น สาขาบริหารธุรกิจ สาขาศิลปะศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ครุศาสตร์ ฯลฯ มหาวิทยาลัยในภูมิภาคไม่จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตจำนวนมากและสาขาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง แต่อย่างน้อยไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ต้องมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตป.ตรีที่มีคุณภาพเอาไว้ก่อน พร้อมกับขยายฐานการจ้างงานให้มีการใช้ ป.ตรีมากขึ้น
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ความจริงแล้วในช่วงที่ 5 ปีที่ผ่านมา มีการขยายการจ้างงานป.ตรี ในสถานประกอบการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 8-9% ต่อปี คือจากที่เคยจ้าง ป.ตรี 6-7 หมื่นคน มาเป็นราว 1.5 แสนคนต่อปีในปัจจุบัน แต่ก็มีข้อวิตกว่าหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายต้วได้ถึง 4-5% ก็อาจจะไม่เอื้อต่อการดูดซับแรงงานป.ตรีได้มากขึ้น สิ่งที่น่าห่วงคือนโยบายการปรับค่าจ้างป.ตรีเดือนละ 1.5 หมื่นบาท อาจจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของสถานประกอบการที่กำลังขยายฐานการจ้างงาน ป.ตรีมากขึ้นหรือไม่ เพราะจะไปกระทบคนที่อยู่เดิมที่เงินเดือนไม่ถึงระดับ 1.5 หมื่นบาท มากกว่า 8 แสนคน และอาจจะทำให้ต้นทุนสูงมากขึ้นในภาคเอกชน
นอกจากนี้การผลิตระดับ ป.ตรี ควรผลิตเพื่อป้อนตลาดแรงงานเฉพาะมากขึ้น คำนึงถึงแหล่งจ้างงานในกลุ่มจังหวัด ไม่ใช่สาขาทั่วไปที่เปิดเหมือนกันไปหมดทุกแห่ง การสอนปริญญาตรีนั้นต้องสอนแล้วให้เขามีงานทำด้วย จึงจะเป็นการเรียนการสอนอย่างมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ในระยะยาว หากตลาดแรงงานไทยไม่สามารถรองรับได้ก็ควรมองหาตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดอาเซียน ฯลฯ วางแผนการเทรนคนเพื่อเปิดตลาดแรงงานไทยระดับบนในประเทศต่าง ๆ โดยใช้ความรู้ด้าน ป.ตรีมากขึ้น
สำหรับแรงงานกลุ่ม ปวช.และปวส. นั้น ตลาดแรงงาน ปวช.เป็นเรื่องที่ต้องการการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน โดยอาจลดภาระการสอนในสายอาชีพที่ไม่ใช่ช่างให้น้อยลงและปรับเปลี่ยนทรัพยากรที่มีจำกัดมาทุ่มกับการเรียนการสอนในสายช่างในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลมีโปรแกรมพิเศษในการสนับสนุนสถานศึกษาหรือวิทยาลัยที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ข้อเสนอสำหรับสองกลุ่มนี้คือ ควรเน้นการเติมความรู้เฉพาะทางที่ตลาดต้องการให้ก่อนจบการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาส พร้อมกับสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนแหล่งจ้างงาน ใช้ระบบ matching ที่ทำให้นายจ้างเข้าถึงตัวคนที่กำลังจะจบ และสร้างแรงจูงใจผู้เรียนด้วยการปรับโครงสร้างค่าตอบแทนของผู้เรียนสายช่าง (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ในระดับ ปวช. เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท และ ปวส. 1.5 หมื่นบาทอย่างไรก็ตาม เดิมเราเคยเสนอให้มีการปรับโครงสร้างการศึกษามาผลิตสายช่างมากขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงคงทำได้ยาก อีกแนวทางที่จะเป็นไปได้คือ การเติมความรู้ในส่วนที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ตลาดแรงงานต้องการให้กับคนในสายสามัญเพื่อสร้างโอกาส ส่วนในสายช่าง ปวช.ปวส.ก็เพิ่มความเข้มข้นเฉพาะทางมากขึ้นให้คิดเป็นทำเป็น
สำหรับ ป.ตรี ต้องจบพร้อมคุณภาพแต่ยังไม่พอ ต้องผลิตโดยดูทิศทางความต้องการของตลาดแรงด้วย แนวทางดังกล่าวไม่ยากเกินทำได้และจะช่วยปรับทิศทางการศึกษาและตลาดแรงงานไทยให้สอดคล้องกันมากขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ