กอ.รมน.ภาค 4 เดินหน้า‘ทำดีมีอาชีพ’หางบก้อนใหม่หนุนชาวบ้าน

มีซเราะห์ เจ๊ะเฮง โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 พ.ค. 2555


 

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการทำดีมีอาชีพของรัฐบาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพไปแล้ว 741 กลุ่ม มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกตำบลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลารวม 290 สหกรณ์ ทั้ง 290 ตำบล มีการตั้งฟาร์มประจำตำบล

สำหรับโครงการทำดีมีอาชีพ เดิมใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่ปี 2551 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เป้าหมายคือการฝึกอาชีพให้เยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 20,000 คน จนสามารถจัดตั้งกลุ่มอาชีพได้

ปัจจุบันโครงการทำดีมีอาชีพได้ใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งหมดแล้ว ขณะที่โครงการบางส่วนยังต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างๆ มีความเข้มแข็ง สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงจัดงบประมาณมาสนับสนุนโครงการต่อไป และขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานศึกษา เป็นต้น

พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีความเข้มแข็งมาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะไม่สนับสนุนงบประมาณอีกต่อไป เนื่องจากสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ต้องช่วยประคับประคอง ส่วนกลุ่มที่ล้มเหลวก็ต้องล้มเลิกไป

ด้านนางสารีป๊ะ สาและ รองประธานกลุ่มสตรีทำไอศครีมหมู่บ้านโต๊ะแนปา หมู่ 6 ต.สามัคคี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการทำดีมีอาชีพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากโครงการผ่านหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส หรือฉก.30 เมื่อเดือนมี.ค.2553 ได้รับงบประมาณดำเนินการ 40,000 บาท ขณะที่หมู่บ้านใกล้เคียงได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ทำขนม แต่ตอนนี้เลิกโครงการไปแล้ว เพราะไม่มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ

ขณะนี้มีในกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 10 คน มีนางรอบีย๊ะ แยนา เป็นประธานกลุ่ม และนางสารีปะ สาและ เป็นรองประธานกลุ่ม โดยสตรีในหมู่บ้านอีก 8 คนทำหน้าที่ผลิตไอศกรีม คนสั่งทำทุกวัน ทั้งนอกและในหมู่บ้าน หากเป็นหมู่บ้านใกล้ๆ สั่งทำก็จะไปส่งถึงที่ แต่ถ้าไกลจะให้คนสั่งมารับเอง ถ้าให้ไปส่งจะคิดค่าส่งถังละ 300 บาท ทางกลุ่มไม่ขายปลีก ตอนนี้กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเดือนละครั้ง

นางสารีป๊ะกล่าวอีกว่า ช่วงที่มีคนสั่งทำมากที่สุดคือวันรายอ ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม และวันแข่งกีฬาสีของโรงเรียนตาดีกา หรือช่วงแข่งขันกีฬาที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดขึ้น มีผู้สั่งทำ 8–9 ถัง แต่ต้องใช้เวลาทำ ตั้งแต่ 14.00 น. ถึง 02.00 น.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: