พิษ‘ที่ดินอัลไพน์’-หลอน‘ยงยุทธ’ตกเก้าอี้ ‘ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ’ไม่ยื้อ-ตัดไฟแต่ต้นลม ดึง‘เพรียวพันธ์-เสริมศักดิ์’เสียบ2ตำแหน่ง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 1 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3208 ครั้ง

ชื่อของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์” ยังตกเป็นข่าว ไปอีกหลายวาระ

 

หลังมติของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย สอดคล้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ให้ “ไล่ออก” จากราชการ กรณีเป็นรักษาการปลัดกระทรวง แล้วปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ในการลงนาม “รับรองการซื้อขายที่ดิน” จำนวน 732 ไร่ ระหว่างวัดธรรมิการามวรวิหาร กับบริษัท อัลไพน์กอล์ฟ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟสปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งมี นางอุไรวรรณ เทียนทอง, นายวิทยา เทียนทอง และนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ พี่ชายของ นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย คนปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้น ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ต่อมาที่ดินดังกล่าวก็ถูกขายทอดราคา 500 ล้าน ให้กับผู้ซื้อชื่อ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร  เมื่อปี 2540

แต่ที่ดินผืนดังกล่าวเคยเป็นของ “นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” ซึ่งบริจาคให้แก่วัดธรรมิการามฯ จึงถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถซื้อขายได้

 

กรณีจึงมี 2 ทาง พิจาณาว่า 1.เขาพ้นมลทินหรือไม่ 2.เขาจะถูกพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งตัดไฟการเมืองหรือไม่ 3.การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านให้พ้นจากระดานการเมือง ด้วยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ หวังให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีด้วย

 

 

 

‘ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ’ พิพากษา‘ยงยุทธ’พ้น 2 เก้าอี้

 

 

หลังเกิดเหตุ 24 ชั่วโมง มีนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ชงวาระแรก ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  พิจารณาร่วมกันว่า จะยังอุ้ม ‘ยงยุทธ’ ไว้ใน 2 ตำแหน่ง ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อไปทั้ง 2 เก้าอี้หรือไม่

 

วาระที่สอง โทษฐานที่ ‘ยงยุทธ’ คือ คนที่มีทุกข์ร่วมต้านกับพรรคเพื่อไทย มาตลอด 2 ปี ที่เป็นฝ่ายค้าน จึงควรเหลือสุขไว้ให้ร่วมเสพเพียง 1 ตำแหน่ง โดยอาจต้องสละเก้าอี้ใดเก้าอี้หนึ่ง ออกไป

 

ซึ่งวาระที่สองนี้ เท่ากับยิงปืนนัดเดียว ได้เก้าอี้ 2 ตำแหน่ง ตามที่นักวิเคราะห์การเมือง ในพรรคเพื่อไทย คาดการณ์ไว้ว่า หากให้ ‘ยงยุทธ’ เหลือตำแหน่งรมว.มหาดไทย ตำแหน่งเดียว แล้วยกเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ไว้ให้คนในตระกูล “ดามาพงษ์” เข้าประจำการเมื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เกษียณอายุราชการ เพื่อดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติด ก็จะเป็นทางลงทางการเมืองที่ถูกที่-ถูกเวลา

 

 

แต่สุดท้าย “มติ 2 พี่น้อง” นายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตนตรี สั่งให้ยงยุทธ พ้นจากคณะรัฐมนตรี ทั้ง 2 ตำแหน่ง

 

นักการเมืองในพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์ว่า วาระนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ นายโภคิน พลกุล หรือ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช คนใดคนหนึ่งเข้าประจำการแทนที่กระทรวงมหาดไทย ใน “ครม.ปู 3”

 

ในที่สุด กรณีเลวร้ายที่สุด ถูกอนุมัติ คือ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” พิพากษาให้คณะรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3” จึงไม่มีชื่อ ‘ยงยุทธ’ เหลืออยู่ในตำแหน่ง ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงมหาดไทย แต่ยังคงให้ประจำการในตำแหน่ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น มีผลทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

 

 

ปชป.จี้ให้ตัดสิทธิการเมืองด้วยอีก 5 ปี

 

 

แต่ยงยุทธ ยังไม่พ้นบ่วงกรรม ต้องเผชิญหน้ากับ วาระของฝ่ายค้าน เพื่อรุกให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

 

ในวาระที่สาม จึงเป็นหน้าที่ฝ่ายค้าน ที่นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินว่า กรณีของ ‘ยงยุทธ’ ไม่เข้าข่ายได้รับการล้างมลทิน ตามความใน พ.ร.บ.ล้างมลทิน เพราะ ‘ยงยุทธ’ ยังไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด  

ดังนั้น ความผิดยังคงติดตัวนายยงยุทธ ที่สำคัญย่อม “ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.”

หากศาลพิจารณาถึงที่สุด นายยงยุทธพ้นจากตำแหน่ง และอาจต้องถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ตามรอย 3 อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องอาญาศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

 

พรรคประชาธิปัตย์ จึงอาศัยข้อกฏหมาย 3 ประเด็น ดำเนินการกับยงยุทธ คือ 1.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3.ศาลรัฐธรรมนูญ

 

เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (6) ที่ระบุว่า เป็นบุคคลที่เคยถูกไล่ออก ปลอดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

 

และรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (4) เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวใช้ถ้อยคำเดียวกับมาตราตรา 102 (6)

 

 

งานมหาดไทย ต้นทุนของเพื่อไทย-กำไรของยงยุทธ

 

 

ชื่อนายยงยุทธ ปรากฏเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่จดทะเบียนพรรค หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ แต่เมื่อถึงฤดูกาล-การเลือกตั้ง ชื่อเขากลับไม่ใช่คนสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อคนที่ 1 เหมือนพรรคอื่น

 

เขาเป็นเบอร์ 2 รองจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงเล่นการเมืองเพียง 45 วัน ผันตัวเป็นนายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชายงยุทธ

 

หลังเลือกตั้งเขาได้รับกำนัล รางวัลน้ำใจ จาก “ทักษิณ” ได้ครอบครอง 2 ตำแหน่ง เป็นเบอร์ 2 ที่ทำเนียบรัฐบาล และเป็นเบอร์ 1 ที่กระทรวงมหาดไทย

 

ทุกภารกิจของ “ยิ่งลักษณ์” มี “ยงยุทธ” เป็นวอลเปเปอร์ ในทุกอีเวนต์การเมือง

 

ยงยุทธ-บอกกับสื่อว่า ภารกิจของ 2 ตำแหน่ง “ครอบจักรวาล”

 

งานร้อนที่ได้รับมอบหมายเมื่อปลายปี 2554 คือ ภารกิจการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เขาเป็นน้ำที่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวปฏิบัติการ จนต้องถูกปลด แล้วให้อดีตนายตำรวจฝีมือระดับรมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ขึ้นกุมบังเหียนแทน

 

จากนั้นเขาถูกมอบหมายงานร้อนอีกเรื่อง คือ รับไม้ต่อจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อนำข้อเสนอระดับนโยบาย ลงสู่ระดับการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

 

ชื่อยงยุทธ จึงถูกเชิดเป็น ประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. (ปคอป.) ซึ่งเป็นความหวังของนักโทษ “เสื้อแดง” ทั่วประเทศ

 

 

เจ้าตัวภูมิใจที่มีคุณค่า-ได้ทำงานสำคัญ

 

 

ยงยุทธเคยเปิดใจว่า เป็นรองนายกรัฐมนตรี  ก็ภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ตัวเองมีคุณค่า และทำงานสำคัญ ๆ ให้กับแผ่นดิน ก็เหมือนกับคำพูดของ ฯพณฯ ประธานองคมนตรี ที่ให้ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน มันก็ต้องภาคภูมิใจ ยิ่งงานเยอะ มันก็เท่ากับว่าเราก็มีคุณค่าในตัวของเรา คนเห็นประโยชน์ในตัวของเราก็เลยใช้งานเรา

 

เมื่อเทียบกับการแบกภารกิจหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ตอบแทนทั้งงาน ทั้งตำแหน่ง เขาคิดว่าเป็นความ “คุ้มค่า” แม้เคยถูกเปรียบเปรย เหมือนเป็นยามเฝ้าพรรค

 

 

             “คุ้มค่าในความหมายว่าทำประโยชน์ ไปอยู่ที่พรรค คนที่พรรคก็เห็นว่าเราทำประโยชน์ได้ เชื่อถือได้ ดูแลพรรคได้ เขาก็เลือกเราเป็นหัวหน้าพรรค... เป็นหัวหน้าพรรค ยามเฝ้าพรรค   เป็นผู้บริหารพรรค แล้วแต่ช่วงเวลานั้นจะพูดว่าอะไร”

 

 

รองนายกฯของ‘ยิ่งลักษณ์’ หุ่นเชิดของ‘ทักษิณ’

 

 

นักข่าวเคยถามถึงคอนเนกชั่นพิเศษ ระหว่างตัวเขากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เขาดูเหมือนเป็นหุ่นเชิดทางการเมือง เขาไม่ตอบตรง ๆ แต่อธิบายว่า

 

 

              “แต่ละพรรคเขาก็ต้องปรึกษาคนที่เคารพนับถือ ท่านอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน) ก็อาจปรึกษาท่านชวน (หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) ท่านชุมพล (ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา) มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาท่านบรรหาร (ศิลปอาชา) ท่านชวรัตน์ (ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) ก็ต้องปรึกษาท่านเนวิน (ชิดชอบ) อาจารย์ใหญ่ของพรรค นพ.วรรณรัตน์ (ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน)  ก็ต้องหารือคุณสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ) ส่วนคุณชาญชัย (ชัยรุ่งเรือง พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน) ก็ต้องปรึกษากลุ่ม 3 พี แล้วถ้าผม ผมก็ต้องปรึกษา 2 คน ที่ผมบอกมาตลอดคือท่านสมชาย (วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ) และ ท่านทักษิณ ในเมื่อคนอื่นมีที่ปรึกษาได้ ทำไมผมจึงมีไม่ได้ แล้วทำไมผมต้องไปรังเกียจท่านทักษิณ”

 

 

 

 

หากใครจะว่า ‘ยงยุทธ’ เป็นแค่ “หุ่นเชิด” เขาคิดว่า เขาตอบโต้แทนพ.ต.ท.ทักษิณว่า คนอย่างทักษิณ ไม่ใช้งานคนที่ไม่มีกึ๋น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

น้ำตาลูกผู้ชาย จากปากคำ “กาย” ลูกชาย “วิชัยดิษฐ์” กว่าจะได้ตำแหน่งมท.1

 

 

มีคนสงสัยกันว่า ชายหนุ่มหน้าตาเกลี้ยงเกลา ที่อยู่ข้างตัวนายยงยุทธตลอดเวลา ทั้งที่กระทรวงมหาดไทย และทุกแห่งหนนั้น เป็นใคร

 

ชายคนที่ทำหน้าที่ตรวจเอกสาร เป็นเลขานุการส่วนตัว เสิร์ฟน้ำชา กาแฟให้แขกของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมาดไทย คือ  “กาย วิชัยดิษฐ์”  ลูกชายของนายยงยุทธ ที่มีความใฝ่ฝันจะเล่นการเมือง

 

เมื่อ “วิชัยดิษฐ์-ผู้พ่อ” เกษียณอายุราชการ และได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี และถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “กาย” จึงตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว ตามรอยของพ่อ

 

หลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างนั้น “ลูกกาย” เห็นน้ำตาพ่อหยดรดหน้า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร้องไห้ 2 รอบ กว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี

 

กาย-ลูกชายยงยุทธเล่าในเวลาต่อมาว่า  “ตอนที่ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ กระซิบบอกคุณพ่อว่า จะได้เป็นรัฐมนตรี คุณพ่อร้องไห้ พอ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์เห็นก็เข้ามากอดแล้วร้องไห้ตามไปด้วย ทั้งสองคนก็ร้องไห้ด้วยกันทั้งคู่ คุณพ่อเดินลงมากอดผมแล้วเริ่มร้องไห้อีกรอบ บอกว่าพ่อได้เป็นรัฐมนตรี”

 

ชะตากรรมของตัวสำรอง สองทางชีวิตการเมือง “ยงยุทธ”

 

 

แม้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายยงยุทธจะถูกมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง “รักษาการนายกรัฐมนตรี” และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 67 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23-29 กันยายน

 

แม้ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ส.ส.หลายคน จะสวมหน้ากาก หวังดี ชม เชียร์ ให้นายยงยุทธ เดินหน้าทำหน้าที่ ประธานที่ประชุมครม. แต่ก็มีนักการเมืองบางคน ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า อาจอยู่ในข่าย “สุ่มเสี่ยง” ที่จะมีผลผูกพัน ทั้งคณะรัฐมนตรี หากมีการอนุมัติ หรือเห็นชอบโครงการ งบประมาณ และมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

 

แม้ก่อนหน้านี้ นายยงยุทธจะกล่าวมาโดยตลอดว่า กรณีดังกล่าวจะไม่กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ ยืนยันจะมานั่งเป็นประธานที่ประชุมอย่างแน่นอน แต่เมื่อถึงเวลาประชุมในวันที่ 25 กันยายน คณะรัฐมนตรีกลับไม่มีใครเห็นนายยงยุทธ เข้านั่งหัวโต๊ะในห้องประชุม

 

แต่กลับซ่อนแผนอำพราง “วาระตรวจพื้นที่น้ำท่วม” แนบไว้กับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่โผล่เข้าไปแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ได้สั่งการให้นายยงยุทธ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.ปราจีนบุรีทันที”

 

ทำให้คณะรัฐมนตรีทั้ง 34 คน โล่งอก ไม่ต้องร่วมขบวนการที่อาจสุ่มเสี่ยง ต่อการพ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับนายยงยุทธ

 

ห่างจากนั้นอีก 3 วัน มีแหล่งข่าวระดับสูงในพรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อสาธารณะว่า “นายกฯยิ่งลักษณ์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้นายยงยุทธพิจารณาตัวเอง ทั้ง 2 ตำแหน่ง แล้วให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการแทน ก่อนการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ”

 

ข่าวสารจากทุกทิศทาง ทั้งใต้ดิน บนดิน ล้วนกดดันให้นายยงยุทธ พ้นจากตำแหน่ง ทั้ง 2 เก้าอี้

 

ในที่สุดวันที่ 28 กันยายน 2555 ที่วัดสระเกศ นายยงยุทธประกาศว่า ได้โอกาสนี้ได้แผ่เมตตาให้กับเจ้ากรรมนายเวรไปแล้ว ได้ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ไม่มีผู้ใดมากดดัน โดยเป็นการตัดสินใจ เพื่อที่จะได้ต่อสู้คดีด้วยตัวเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “ผมได้ตัดสินใจลาออกจากรองนายกฯและรมว.มหาดไทย ด้วยความเสียใจ และไม่มีผู้ใดมาให้ความเห็นอะไรกับผม หนังสือลาออกได้ยื่นไปที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว โดยจะลาออกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 ส่วนที่ลาออกมีเหตุผลนิดเดียวก็เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ในส่วนหนึ่งบอกผมทำหน้าที่ไม่ได้ ก็เป็นเหตุผลส่วนตัว เป็นความจำเป็นส่วนตัวเอง ก็มาเรียนว่า ได้ลาออกจากสองตำแหน่ง แต่ยังทำงานในตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และส.ส.บัญชีรายชื่อ”

 

 

จากนี้ไปคดีความและชะตากรรมของนายยงยุทธ ต้องขึ้นอยู่กับ “มลทิน” ที่เคยติดตัวมาตั้งแต่สมัยรับราชการ ในกระทรวงมหาดไทย

 

นักวิเคราะห์การเมือง ขีดเส้นทางยงยุทธ ไว้ 2 ทาง คือ ทางแรก กรณีศาลรัฐธรรมนูญอาจยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า กฎหมายล้างมลทินมีผลย้อนหลังกลับไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ตามนัยที่ว่า “ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ”  มีความหมายว่า ที่ผ่านมานายยงยุทธ ย่อมไม่เคยถูกไล่ออก และไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) และ และรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (4) และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 1 เกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี

 

ทางที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าว่า กรณีนี้ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้าง ดังนั้น โทษที่นายยงยุทธ “ถูกไล่อออก” ก็จะมีผลย้อนหลัง เขาจะมี “ลักษณะต้องห้าม” และขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี และอาจต้องยุติบทบาททางการเมือง 5 ปี

 

เส้นทางของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจซ้ำรอย 3 นายกรัฐมนตรี ที่ต้องพ้นจากทุกตำแหน่ง และต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

 

พายุใหญ่ทางการเมือง กำลังถล่มรัฐบาลอีกหน !

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: