‘รังสรรค์’ชำแหละพ.ร.บ.ข้อมูลฯ ผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมือง ชี้สร้างความชอบธรรมรัฐปิดข้อมูล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2026 ครั้ง

 

จากเวทีฝึกปฏิบัติ ‘การใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ (Official Information Act)’ จัดโดย ศูนย์ข่าว TCIJ ด้วยการสนับสนุนจากโครงการสะพาน ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ในช่วงบ่ายมีปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ’

 

ประเด็นที่น่าสนใจที่ ศ.รังสรรค์ กล่าวย้ำตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของปาฐกถา ดูเหมือนจะอยู่ในประโยคที่ว่า

 

 

              “เราต้องเข้าใจว่า กฎหมายข้อมูลข่าวสารไม่ได้เป็นสัญญะของความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่มีกฎหมายนี้ ไม่ได้แปลว่ามีประชาธิปไตยมากกว่าประเทศที่ไม่มี”

 

เสมือนบอกเป็นนัยว่า การที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ซึ่งนับเป็นประเทศที่ 24 ของโลกที่มีกฎหมายนี้ จากทั้งหมด 77 ประเทศในปัจจุบัน แต่กลับแทบไม่มีผลต่อความเป็นประชาธิปไตยของไทยเลย

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘รังสรรค์’ ย้ำ กฎหมายข้อมูลฯ ไม่ได้แปลว่าไทยมีประชาธิปไตย

 

 

กฎหมายข้อมูลข่าวสารของแต่ละประเทศ ล้วนมีจิตวิญญาณที่ต่างกัน โดยประเทศที่ยึดหลักการสิทธิการรับรู้ จะเป็นประเทศที่ความเป็นประชาธิปไตยสูง มีการใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร เพื่อสถาปนาความโปร่งใสในสังคมการเมือง ซึ่งความโปร่งใสเป็นพื้นฐานสำคัญของกลไกการรับผิด ถ้าสังคมการเมืองไม่มีความโปร่งใส ย่อมไม่มีทางที่จะสร้างกลไกการรับผิดได้ ดังนั้นความโปร่งใส จึงเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นของการสร้างกลไกการรับผิด

 

 

                 “ประเทศอังกฤษซึ่งได้รับการยอมรับว่า ระบอบประชาธิปไตยฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน แต่เป็นประเทศที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมการปิดลับ การปกปิดข้อมูลข่าวสารราชการ อังกฤษเพิ่งจะมีกฎหมายข้อมูลข่าวสารเมื่อปี 2543 หลังไทยด้วยซ้ำไป แล้วยังต้องใช้เวลาอีก 5 ปี เพื่อให้หน่วยราชการต่าง ๆ เตรียมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารอย่างไทย มันไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าสังคมการเมืองไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย”

 

ด้วยเหตุนี้ เฉพาะตัวกฎหมายจึงมิใช่สัญลักษณ์ของประชาธิปไตย แต่ต้องย้อนกลับไปดูปรัชญาของการร่างกฎหมายว่ายึดเรื่องสิทธิในการรับรู้ของประชาชนหรือไม่ ซึ่ง ศ.รังสรรค์ ก็ให้คำตอบว่า สังคมการเมืองไทยให้ความสำคัญกับปิดลับมากกว่า เพราะข้อมูลข่าวสารคืออาวุธของชนชั้นปกครอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิเคราะห์กฎหมายข้อมูลข่าวสารผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมือง

 

 

ก่อนที่จะวิพากษ์ตัวกฎหมายข้อมูลข่าวสารผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง ศ.รังสรรค์ อธิบายถึงรากเหง้าของการเกิดขึ้นของกฎหมายฉบับนี้ในสังคมไทย โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ที่ ศ.รังสรรค์ เคยเสนอในงานวิจัยเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่ทำให้แก่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลถอยหลังไปถึงปี 2475 จนถึง ปี 2530

 

ศ.รังสรรค์ เห็นว่า มีกลุ่มปัจจัยอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย และแน่นอนว่า ปัจจัยทั้ง 4 นี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการกำหนดกลไกอื่น ๆ ในสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น โดยปัจจัยแรกคือโครงสร้างส่วนบน ซึ่งประกอบด้วยตัวแปร 2 ตัวคือ ระบอบการเมืองการปกครองในแต่ละช่วงเวลาที่เป็นตัวกำหนดกระบวนการกำหนดนโยบายอีกทีหนึ่ง ตัวแปรที่ 2 คือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในสังคมไทย

 

ปัจจัยที่ 2 คือระบบทุนนิยมโลกที่มีระเบียบทางเศรษฐกิจสังคมโลกเป็นตัวกำกับบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจโลก

 

ปัจจัยที่ 3 อุปทาน (Supply) ของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากชนชั้นปกครอง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เทคโนแครต พรรคการเมือง รัฐสภา

 

ปัจจัยสุดท้ายคือ อุปสงค์ (Demand) ที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจ ปัจจัยนี้เป็นมาจากกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ประชาชน สื่อมวลชน นักศึกษา เอ็นจีโอ ไปจนถึงบริษัทที่มีเครือข่ายทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม จากกรอบข้างต้นสู่การวิเคราะห์ต้นสายปลายเหตุการเกิดขึ้นของกฎหมายข้อมูลข่าวสาร ศ.รังสรรค์ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัจจัยตัวที่ 2 มากที่สุด-ระบบทุนนิยมโลก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฉันทามติวอชิงตัน โลกกดดันให้ไทยต้องมีกฎหมายข้อมูลข่าวสาร

 

 

ศ.รังสรรค์ เท้าความถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกและประวัติศาสตร์แนวคิดทางเศรษฐกิจว่า ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั่วโลกประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือที่เรียกว่า Great Depression ณ ขณะนั้น แนวคิดของ John Maynard Keynes ภายหลังถูกเรียกขานว่า แนวคิดแบบเคนเซียน ซึ่งเสนอให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ประเทศต่าง ๆ ที่รับแนวคิดนี้ไปปฏิบัติค่อย ๆ ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจตกต่ำ แนวคิดเคนเซียนจึงกลายเป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลเรื่อยมาจวบจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่เรียกว่า Stagflation คือประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดการว่างงาน พร้อมๆ กับเกิดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นโจทย์ที่แนวคิดเคนเซียนไม่สามารถตอบได้ เป็นเหตุให้อิทธิพลที่เคยมีมาค่อยๆ เสื่อมทรุดลงในช่วงปี 2511 และส่งผลต่อการกลับมาผงาดอีกครั้งของแนวคิดเศรษฐศาสตร์คลาสสิกที่เชื่อมั่นในกลไกตลาด หรือ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ตามคำกล่าวของอดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์คลาสสิก แล้วจึงคลี่คลายไปสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่และฉันทามติวอชิงตันในที่สุด

 

ฉันทามติวอชิงตันปกแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ผ่าน 2 ปัจจัยสำคัญ

 

             “หนึ่งคือประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ที่ส่งออกแนวความคิดฉันทามติวอชิงตันให้แก่ประเทศต่างๆ ให้ต้องดำเนินนโยบายตามแนวทางเสรีนิยม อีกปัจจัยคือองค์กรโลกบาล ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ที่นำเมนูนโยบายที่มีพื้นฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมผูกเงื่อนไขเข้ากับเงินที่ให้กู้แก่ประเทศต่างๆ”

 

 

ศ.รังสรรค์อธิบายว่า ในช่วงแรกของการส่งออกฉันทามติวอชิงตัน การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจที่ประเทศมหาอำนาจและองค์กรโลกบาลเรียกร้องจากประเทศอื่นคือ การปล่อยให้กลไกราคาทำงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไประยะหนึ่งกลับพบว่าแนวทางนี้ไม่สามารถทำให้ประเทศยากจนลืมตาอ้าปากได้ดังที่คาดคิด จึงเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 2530 จากที่เคยเน้นกลไกราคา ก็มุ่งไปเน้นที่กลไกเชิงสถาบันแทน ซึ่งในที่นี่หมายถึงการกำหนดกติกาในเกมเศรษฐกิจที่มีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   “การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2530 จึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกกับเงินให้กู้ โดยมีเรื่องเกี่ยวกับสถาบันมาเกี่ยวข้อง ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ กำหนดเงื่อนไขการทำนโยบายที่เป็นเรื่องเชิงสถาบัน เช่น การเปลี่ยนสังคมการเมืองเป็นสังคมประชาธิปไตย การสร้างธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ความรับผิด การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปการบริหารการคลัง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน”

 

 

จากแรงกดดันของฉันทามติวอชิงตันในยุคเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ที่ผู้นำประเทศ ชนชั้นปกครองบางภาคส่วนเริ่มรับหลักการธรรมาภิบาล ซึ่งอาจเป็นเพราะการส่งผ่านความคิดจากผู้นำประเทศมหาอำนาจและองค์กรโลกบาล บวกกับการเติบใหญ่ของชนชั้นกลางและภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการความโปร่งใสเพราะไม่แน่ใจว่าได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคจากรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งเป็นอุปสงค์ที่มีต่อความโปร่งใส จึงเกิดความต้องการสร้างกลไกเชิงสถาบันหรือกติกาเพื่อสร้างความโปร่งใสขึ้น และผลลัพธ์ก็คือกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540

 

 

มรดกสงครามเย็น กม.เน้นการปิดลับมากกว่าเปิดเผยข้อมูล

 

 

แต่ก็เป็นไปตามที่ ศ.รังสรรค์ กล่าวไว้ในตอนต้น การถือกำเนิดของกฎหมายนี้กลับไม่ได้เกี่ยวพันกับความเป็นประชาธิปไตยในไทยแต่อย่างใด

 

 

                  “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารของไทยคือมันเป็นมรดกของยุคสงครามเย็น กฎหมายนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมการเก็บลับ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส แต่เพื่อสร้างกลไกให้ราชการมีความชอบธรรมในการปกปิดข้อมูลบางอย่าง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายข้อมูลข่าวสารคือกลไกสร้างความโปร่งใส ซึ่งเป็นพื้นฐานของกลไกการรับผิดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องยึดหลักการสำคัญที่เรียกว่า หลักการเปิดเผยจนถึงที่สุด อันเป็นหลักการที่นักกฎหมายทั่วไปยอมรับ แต่กรณีของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความมั่นคงแห่งชาติยังคงเป็นเหตุผลในการปกปิดข้อมูลข่าวสารทางราชการ โดยไม่มีนิยามหรือมาตรวัดที่ชัดเจนว่าข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะอย่างไรจึงจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคง และใครเป็นคนวินิจฉัย ซึ่งในระบบนี้ แน่นอนว่าราชการเป็นฝ่ายวินิจฉัย ศ.รังสรรค์ จึงสรุปว่า การเมืองยุคสงครามเย็นยังมีอิทธิพลต่อการร่างกฎหมายฉบับนี้

 

ข้อสังเกตข้อที่ 2 ที่แสดงให้เห็นถึงมรดกยุคสงครามเย็นชัดเจนยิ่งขึ้นอยู่ที่ถ้อยคำ ศ.รังสรรค์กล่าวว่า ศัพท์ที่ใช้ในกฎหมายนี้ไม่เหมือนกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ซึ่งใช้คำว่า ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เป็นคำที่ชัดเจนและมีจิตวิญญาณของประชาธิปไตย แต่กฎหมายฉบับนี้กลับใช้ชื่อกฎหมายว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นการอ้างอิงความเป็นเจ้าของของราชการ ประชาชนถ้าอยากได้ ต้องมาขอ กฎหมายมิได้พูดว่าข้อมูลข่าวสารที่ราชการมีถือเป็นของประชาชนแต่อย่างใด

 

ข้อสังเกตสังเกตที่น่าสนใจประการต่อมา คือการให้ความสำคัญต่อความเป็นส่วนบุคคล สิทธิการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารกับสิทธิส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง แต่ก็มีปัญหาหลายประการเมื่อพูดถึงสิทธิส่วนบุคคล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   “สมมติผมอยากรู้ว่า ธนาคาร ก. ปล่อยเงินกู้ให้ผู้ถือหุ้น เอ หรือไม่ โดยผู้ถือหุ้น เอ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ผมควรได้ข้อมูลนี้หรือไม่ ถ้าต้องการให้สังคม เศรษฐกิจ การเงิน มีเสถียรภาพ คุณต้องเปิดเผย เพราะมีปรากฏการณ์ตลอดสามสี่ห้าร้อยปีที่ผ่านมา ที่สถาบันการเงินให้เงินกู้แก่เจ้าของ พอธุรกิจของผู้เป็นเจ้าของสั่นคลอน บางครั้งธนาคารก็ต้องล้มไป กระเทือนถึงประชาชนที่ฝากเงินในธนาคารนั้น ในกรณีนี้ ข้อมูลการปล่อยกู้ลักษณะนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ผมถือว่าข้อมูลทำนองนี้เป็นข้อมูลสาธารณะ เพราะการปล่อยกู้ให้ผู้ถือหุ้นของตนเอง มันมีผลต่อสถานะความมั่นคงของตัวสถาบันการเงินนั้น ซึ่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของไทยให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างสูง”

 

 

พ.ร.บ.ข้อมูลฯ แค่สร้างความชอบธรรมให้รัฐปิดข้อมูล

 

 

ศ.รังสรรค์ ยังได้วิเคราะห์กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการในอีก 4 ประเด็น ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว กฎหมายมิได้มุ่งให้เกิดการเข้าข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามที่เอ่ยอ้างไว้ในหมายเหตุท้ายกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                    “ผมคิดว่ากฎหมายนี้มีความครอบคลุมค่อนข้างกว้างขวาง คือไม่ใช่เฉพาะหน่วยราชการ แต่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ แต่ประเด็นคือกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงหน่วยงานที่ประกอบกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ เช่น โรงพยาบาลเอกชนหรือโรงเรียน และยังมีคำถามอีกว่าควรรวมหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการด้วยหรือไม่ ซึ่งกฎหมายไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยชัดเจน”

 

 

ประเด็นที่ 2 กฎหมายมีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นมาก โดยทางราชการมีสิทธิ์ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลที่อาจก่อความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการคลัง หรือข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของบุคคล รายงานทางการแพทย์ ข้อมูลที่ผู้ให้ไม่ประสงค์ให้เปิดเผย และที่ ศ.รังสรรค์ ถือเป็นช่องโหว่ที่รุนแรงที่สุด คือข้อยกเว้นที่ระบุว่า กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะตรากฎหมายในระดับอนุบัญญัติโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา

 

 

                     “กรณีข้อมูลประวัติศาสตร์ กฎหมายระบุว่า ถ้าพ้นเวลา 20 ปีไปแล้วสามารถเปิดเผยได้ ถ้าเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ต้องพ้น 75 ปีจึงเปิดเผยได้ แต่การขอข้อมูลประวัติศาสตร์ก็ยังถูกเซ็นเซอร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับพับลิก เรคคอร์ด ออฟฟิศ ของอังกฤษ จะไม่มีการเซ็นเซอร์ ใครอยากเข้าถึงข้อมูลก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะมีการเซ็นเซอร์ก็จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนเข้าสู่พับลิก เรคคอร์ด ออฟฟิศ แต่ของไทยแค่จะดูข้อมูลจากหอจดหมายเหตุบางเรื่องยังมีการเซ็นเซอร์”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเด็น 3 การบังคับใช้ กฎหมายไม่มีกลไกต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิผล ศ.รังสรรค์ ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน กรณีผู้ปกครองนักเรียนขอดูคะแนนสอบเข้าของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งกรรมการข้อมูลข่าวสารฝ่ายสังคมวินิจฉัยให้เปิดเผย แต่จนบัดนี้โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ ก็ยังไม่เปิดเผย และก็ไม่มีการลงโทษแต่อย่างใด

 

ประเด็นสุดท้าย คือความยากง่ายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ประชาชนต้องรู้ว่าหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยมีข้อมูลอะไรอยู่ในมือ ประชาชนต้องมีต้นทุนต่ำที่สุด ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ในกรณีประเทศไทยการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร หรืออีกนัยหนึ่ง คือการได้มาซึ่งความโปร่งใสกลับโยนภาระต้นทุนความโปร่งใสให้แก่ประชาชน เมื่อบวกกับความล่าช้าของการบังคับใช้กฎหมายด้วยแล้ว ต้นทุนส่วนนี้ก็ยิ่งสูงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

 

                    “กฎหมายไทยต้องการสร้างกลไกเพื่อปกปิดข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งทำให้ต้นทุนของข้อมูลข่าวสารสูงโดยไม่จำเป็น ต้นทุนค่าโสหุ้ยที่ว่าหรือ Transaction Cost เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ประชาชนต้องเสียค่าโสหุ้ย หน่วยราชการก็เสียต้นทุนในการปกปิด และต้นทุนนี้ก็เป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี เกิดการยื้อเวลา เอกสารที่เปิดเผยก็เอาหมึกไปลบ ทั้งที่ถ้าเรายึดว่าการได้มาข้อมูลเป็นสิทธิการรับรู้ เรื่องมันก็ง่าย หน่วยราชการก็ไม่ต้องเสียต้นทุนปกปิดข้อมูล”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดังนั้นหากจะทำให้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการผุดบังเกิดจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยและความโปร่งใสขึ้น จำเป็นที่กลับไปยึดหลักการพื้นฐานของสิทธิการรับรู้ ซึ่งประกอบด้วยหลักการเปิดเผยข้อมูลอย่างถึงที่สุด, พันธะในการตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่แก่สาธารณะ, หลักการบริหารราชการแผ่นดินโดยเปิดเผย, ต้องมีข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลน้อยที่สุด, กระบวนการวินิจฉัยและการบังคับใช้กฎหมายต้องเอื้อต่อการเข้าถึงข้อมูล, การประชุมเป็นไปโดยเปิดเผย, การเปิดข้อมูลครั้งหนึ่งๆ ต้องเป็นบรรทัดฐานของการเปิดข้อมูลครั้งต่อไป, การปกป้องผู้ที่นำข้อมูลสาธารณะมาเปิดเผย และต้องทำให้ต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนต่ำที่สุด

 

ปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น และนั่นก็ทำให้ ศ.รังสรรค์ ดูจะไม่ลังเลเลยที่จะตีตรากฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการว่า

 

 

                     “ไม่ใช่กฎหมายที่ต้องการมุ่งสร้างกลไกความโปร่งใส แต่เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างกลไกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปิดลับ”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: