รุมจวกทำไมคนไทยต้องรับภาระ‘ค่าเอฟที’ ปตท.อ้างซ่อมท่อก๊าซ-กฟผ.ใช้น้ำมันเพิ่ม ปลุกผีผุดโรงไฟฟ้า-คาดสินค้าอื่นขยับตาม

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 1 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2860 ครั้ง

 

ข่าวการปรับขึ้นค่าเอฟที ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. เพิ่มขึ้นอีกหน่วยละ  30 สตางค์ ส่งผลให้อุณหภูมิความร้อนสูงขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายความว่า บิลค่าไฟฟ้ารอบบิลเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2555 จะเพิ่มเป็น 3.5 บาทต่อหน่วย ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ. ระบุว่าต้นทุนค่าเอฟทีในภาพรวมตามจริงอยู่ที่ 57.45 สตางค์ต่อหน่วย มาจากต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้า 38.40 สตางค์ต่อหน่วย และค่าเอฟทีค้างจ่ายที่กฟผ.รับภาระอยู่ 10,200 ล้านบาท คิดเป็น 19.05 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งยังไม่นำมาบวกเป็นต้นทุนในงวด ดังนั้นการคำนวณค่าเอฟทีในรอบนี้ จึงคิดเฉพาะต้นทุนที่เกิดขึ้นในรอบนี้หักส่วนลดต่างๆ อยู่ ที่ 38.40 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้ในการผลิตไฟฟ้า 70 % ได้ปรับเพิ่ม 8.63 บาทต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ 301.28 บาทต่อล้านบีทียู โดยเฉลี่ย

ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 4 % ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีค ที่ปรับขึ้น ทำให้ต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเสริม รองรับความต้องการในช่วงนี้ ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยน้ำมันเตาปรับเพิ่ม 1.08 บาทต่อลิตร เป็น 25.87 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 4.36 % และดีเซลปรับเพิ่ม 0.92 บาทต่อลิตร เป็น 28.19 บาทต่อลิตร หรือปรับเพิ่มขึ้น 3.37 %

มพบ.ชี้ขึ้นค่าเอฟทีผลักภาระให้ประชาชน

 

ศูนย์ข่าว TCIJ สัมภาษณ์ น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถึงกรณีดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการขึ้นค่าเอฟทีจะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง และจะขยายไปสู่การขึ้นราคาสินค้าประเภทอื่นตามมา ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมากตามมา น.ส.สารีกล่าวว่า การขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ ไม่ควรโยนความผิดให้กับกฟผ.เพียงฝ่ายเดียว ต้องมองไปที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้ขึ้นด้วย ต้องบอกว่าราคาพลังงานของประเทศไทย ผู้บริโภคคือคนรับภาระสุดท้าย

 

“การขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ไม่มีเหตุผล ไม่โปร่งใส และการขึ้นค่าเอฟทีทุกครั้งจะเป็นลักษณะนี้ตลอด แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้ผู้บริโภคตื่นตัวและตั้งคำถาม อาจจะมากจากผู้บริโภคมีข้อมูลมากขึ้น การทำงานของกกพ.ในบทบาทการกำกับกิจการพลังงานน่าผิดหวัง กกพ.ควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ซึ่งการจะควบคุมหรือไม่ให้มีการขึ้นค่าเอฟที กกพ.ต้องยกเลิกสูตรการคิดค่าต้นทุน อาจจะเรียกว่า การใช้สูตรต้นทุนราคาก๊าซที่ไม่เป็นธรรม”

 

ปตท.มัดมือกฟผ.ผูดขาดขายก๊าซเจ้าเดียว

 

น.ส.สารีกล่าวว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ใช้ก๊าซเป็นหลักประมาณ 70 %  แต่กฟผ.ไม่ได้สนใจตรงนี้ เพราะไม่ว่าต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจะเป็นเท่าใดก็ตาม เป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องรับผิดชอบ กฟผ.ไม่ต้องรับภาระ ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง ในขณะที่กกพ.เองไม่เคยทบทวนราคาก๊าซ ที่กฟผ.ซื้อจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลย หรือศึกษาโครงสร้างสูตรต้นทุนราคาก๊าซที่กฟผ.คิด ซึ่งจากสูตรต้นทุนราคาก๊าซ ในครั้งนี้เชื่อมโยงกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วย เนื่องจากปตท.ขายก๊าซให้ กฟผ.แพงกว่าบริษัทลูกของตนเอง นอกจากคิดแพงกว่าแล้ว ยังคิดรวมต้นทุนที่ไม่ใช่ของตนเองบวกรวมเข้าไปด้วย เช่น เรื่องท่อส่งก๊าซ รวมกับราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติ ทำให้ประชาชนไม่รู้ต้นทุนจริงๆ ที่เป็นธรรม เพราะกิจการก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยถูกผูกขาด

ในขณะที่แก๊สธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เราทำให้ไม่มีการแข่งขันและยังห้ามกฟผ.ไปเสาะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ราคาถูกลง เรียกได้ว่ากฟผ.ถูกบังคับให้ซื้อก๊าซจากปตท.เพียงเจ้าเดียว ทั้งนี้กฟผ.ไม่ได้เดือดร้อนกับการต้องซื้อก๊าซราคาแพง เพราะเป็นเจ้าเดียวในการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับผู้บริโภค “กฟผ.ไม่เดือดร้อนอะไร คนรับภาระแทนคือผู้บริโภค”

นอกจากนี้ในความเห็นของกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า การขึ้นค่าเอฟทีในระยะหลังมานี้ไม่โปร่งใสและไม่เป็นเหตุผลเป็นผล แต่เดิมอาจจะมีภาวะผันแปรของเงิน ซึ่งพอยอมรับได้ แต่เมื่อต้องมาอิงราคาก๊าซธรรมชาติและการคิดสูตรต้นทุนเป็นการคิดที่เอาเปรียบ ซึ่งจะผูกโยงกับเรื่องพวกนี้ นอกจากนี้การเปิดเผยข้อมูลของ กกพ.ที่อนุมัติให้กฟผ.ขึ้นค่าเอฟที ใช้เหตุผลอะไร นอกจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ

กกพ.คุมราคาซื้อขายก๊าซไม่ได้

 

อย่างไรก็ตามเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า กกพ.เป็นองค์กรอิสระที่เหมือนจะดูดี แต่ทำการบ้านน้อยเกินไป และหากไปดูกฎหมายของกกพ.จะเห็นว่ากกพ.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการก๊าซธรรมชาติได้  หมายถึงว่า ควบคุมกิจการก๊าซธรรมชาติไม่ได้

 

“คุณมีหน้าที่กำกับกิจการพลังงาน แต่ต้องทำตามนโยบายพลังงานตามที่คณะรัฐมนตรีทั้งหลาย เป็นคนดำเนินการ การขึ้นราคาเอฟทีครั้งนี้ มีหลายองค์ประกอบที่เราไม่เห็นด้วย ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งข้อสังเกตต่างๆ  สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กกพ.ไม่รู้เรื่อง แต่ไม่เคยเสนอทางออกให้กับสาธารณะ เมื่อกฟผ.ขอขึ้นราคาแค่ปรับราคาให้นิดหน่อย ก็อนุญาตให้ขึ้นได้ แบบนี้ใครก็เป็นกรรมการกกพ.ได้ ซึ่งถ้าเป็นเรา เราลาออกไปแล้ว เพราะทำหน้าที่ไม่ได้ เรื่องค่าเอฟทีกกพ.ไม่มีฝีมือ ถูกกฟผ.และปตท.หลอก ถ้าหากกกพ.ต้องการเป็นคณะกรรมการกำกับกิจการที่เป็นอิสระ ควรที่จะเห็นทิศทางพลังงานของประเทศจริงๆ” น.ส.สารีกล่าว

 

ค่าเอฟทีขึ้นราคาสินค้าอื่นจ่อขยับตาม

 

นอกจากนี้เครือข่ายเพื่อผู้บริโภค กำลังอยู่ระหว่างการหารือว่า สิ่งที่กกพ.ทำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการขึ้นค่าไฟฟ้าต้องถือว่าเป็นมาตรการที่ทุกคนต้องทำตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องรับฟังความคิดเห็นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่เกิด กกพ.จะเปิดรับฟังจากไหน แต่ยังมีสมาคมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สามารถเป็นองค์กรที่ฟ้องแทน และได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่กกพ.สามารถเปิดรับฟังความเห็นได้

 

“อยากให้มองเรื่องนี้ในระยะยาว เรื่องพลังงานโดยรวม เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภค บริโภคทุกอย่างกำลังจะขึ้น รวมถึงค่าโดยสารรถประจำทาง รถเมล์ รถไฟฟ้า ผู้บริโภคเป็นผู้อยู่ปลายน้ำ ที่ต้องรับภาระทั้งหมด และคิดว่าควรมีมิติอื่นบ้าง เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนของหลายอย่าง”

น.ส.สารีกล่าวด้วยว่า ค่าเอฟทีมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีก หากวิธีคิดค่าไฟยังเป็นเช่นนี้ ซึ่งเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคมีข้อเสนอว่า ควรจะใช้โครงสร้างไฟฟ้าแบบใหม่ หยุดแบบเอฟที ต้องมีการคุยกันว่าจะใช้โครงสร้างแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยรายเล็ก อย่างไรก็ตามค่าเอฟทีอาจจะไม่มีการปรับขึ้น หากกฟผ.ปรับวิธีคิดขององค์กร เพราะกฟผ.เป็นกิจการที่ต้องลงทุนและให้มีผลตอบแทนขององค์กร อันนี้คือวิกฤตขององค์กรอย่างกฟผ.ที่ไม่มีการแก้ไข กลายเป็นสูตรคิดว่าต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อให้มีผลตอบแทนขององค์กร โดยผลักภาระให้กับผู้บริโภค

 

อ้างปรับปรุงท่อก๊าซพม่าดันขึ้นค่าเอฟที

 

ด้านนายสันติ  โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ค่าไฟฟ้าฐาน และค่าเอฟที ค่าไฟฐานเป็นค่าคงที่ ส่วนค่าเอฟทีจะสามารถปรับราคาได้ทุกๆ 4 เดือน โดยอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การปรับค่าเอฟทีจากอดีตที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีแต่ปรับขึ้น  ไม่เคยมีปรับลงเลย ซึ่งค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1 สตางค์ต่อหน่วยจะทำให้ กฟผ.เก็บเงินเพิ่มจากผู้บริโภคได้ถึงเดือนละประมาณ 120 ล้านบาท สำหรับการขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ น่าจะมาจากการที่ท่อก๊าซพม่าปิดปรับปรุงในระหว่างวันที่ 8-18 เม.ย.2555 ที่ผ่านมา ทำให้ กฟผ.ต้องใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าทดแทน ต้นทุนค่าไฟจึงสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามนายสันติได้ตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ที่นำไปสู่การปรับขึ้นค่าเอฟทีว่า ทำไมจึงต้องหยุดปรับปรุงท่อก๊าซไทย-พม่าในช่วงเดือนเม.ย.ที่อากาศร้อนที่สุด และการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งขึ้นสูงสุด ผู้ลงทุนผลิตก๊าซแหล่งเยตากุน ซึ่งคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพท่อก๊าซให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะเป็นการวางแผนงานของ ปตท.สผ. โดยท่อก๊าซไม่ได้เสีย ไม่ได้ขัดข้องเหมือนตอนปี 2552 แต่ทำไมไม่ปิดซ่อมในเดือนอื่น

“เรื่องนี้สำคัญเพราะเดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงที่สุด เพราะฉะนั้นน้ำมันเตาที่นำมาใช้ทดแทนก็ต้องใช้มาก ถ้าปตท.เลื่อนการปรับปรุงท่อก๊าซไปเดือนอื่น ค่าเอฟทีก็จะขึ้นน้อยกว่านี้ หรืออาจไม่ขึ้นเลยก็ได้ เพราะเมื่อลองคำนวณดูว่าถ้าปิดซ่อมท่อก๊าซตั้งแต่เดือนมกราคม กำลังผลิตสำรองก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาเข้ามาเสริม”

จับตากฟผ.ปลุกกระแสผุดโรงไฟฟ้าเพิ่ม

 

นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า ปลัดกระทรวงพลังงานแถลงว่า การที่ก๊าซพม่าขาดส่งถือเป็นภาวะวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ เพราะกำลังสำรองเหลืออยู่เพียง 5 % รวมถึงมีการรณรงค์ประหยัดไฟเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ เพราะเพียง 2 สัปดาห์ผ่านไป ปรากฏว่า มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ทำลายสถิติไปแล้ว 7 ครั้ง

 

“หลังจากนี้กฟผ.คงจะมีการประโคมข่าวว่า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพราะไฟจะตกจะดับ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการสร้างกระแส เพื่อผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือเปล่า เพราะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของกฟผ.กำลังถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก”

 

นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวถึงสัญญาซื้อขายก๊าซว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากทุกครั้งที่เกิดปัญหากับท่อก๊าซ คนที่รับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็คือผู้บริโภค ที่ต้องจ่ายค่าเอฟที

 

“ปตท.ควรเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องท่อก๊าซขัดข้องไม่ใช่ผลักภาระนี้มาให้ประชาชน เพราะตามสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่างปตท.กับกฟผ.ที่มีเงื่อนไขเรื่อง Take or Pay กฟผ.ต้องแบกรับค่า Take or Pay จำนวนมหาศาลตอนที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีเสร็จไม่ทันกำหนด เวลารับก๊าซตามสัญญา แต่ในทางกลับกัน เมื่อ ปตท.ไม่สามารถส่งก๊าซให้กฟผ.ได้ กฟผ.กลับต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบอีก แล้วก็ส่งผ่านมาที่ค่าเอฟที ผมคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงว่าสัญญาซื้อขายก๊าซมีปัญหา เป็นสัญญาที่ประชาชนเสียเปรียบปตท. ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานควรจะปรับปรุงเรื่องนี้ให้เป็นธรรม ถ้าจะให้ดีก็ควรมีการเปิดเผยสัญญาซื้อขายก๊าซให้สาธารณชนรับรู้ด้วย”

 

คนใช้ไฟฟ้ามากกฟผ.ชอบ-กำไรพุ่ง

 

นักวิชาการจากกลุ่มพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตกล่าวต่อว่า ความมั่นคงไฟฟ้ากับภาระทางการเงินเป็นเหรียญสองด้าน ถ้าความมั่นคงสูงมากเกินควร เราก็ต้องจ่ายมากเกินควรตามไปด้วย แต่ภาระทางการเงินเหล่านี้ไม่ใช่ภาระสำหรับกฟผ. เพราะจะถูกส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภคทางค่าเอฟที ในทางตรงกันข้ามยิ่งกฟผ. ลงทุนมากเท่าไหร่ กำไรของกฟผ.ก็จะยิ่งมากเป็นเงาตามตัว เพราะรัฐบาลได้ให้หลักประกันกำไรของกฟผ.ไว้ในอัตรา 8.4 % ของเงินลงทุน ดังนั้นไม่ว่าโรงไฟฟ้าที่กฟผ.ลงทุน จะถูกนำมาใช้งานหรือเก็บไว้เป็นกำลังสำรอง กฟผ.ก็สามารถบวกกำไร 8.4 % ในค่าไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น

 

“สถานะของกฟผ.ก็คือพ่อค้าไฟฟ้า และผลประโยชน์ของกฟผ.อยู่ที่การขายกระแสไฟฟ้าให้ได้มากๆ เพราะฉะนั้น แนวทางใดๆที่จะทำให้การใช้ไฟฟ้าโดยรวมลดลง จึงไม่ใช่สิ่งที่กฟผ.อยากจะเห็น และการปรับขึ้นค่าเอฟที ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 คาดอนาคตปรับขึ้นอีก 

ชี้เหตุ 3 ประการกฟผ.ขึ้นค่าเอฟที

 

ขณะที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ 30 สตางค์ต่อหน่วย มีผลกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้าแตกต่างกัน ตามลักษณะและปริมาณของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย ซึ่งสำหรับภาคครัวเรือน การขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 หมายความว่า หากบ้านไหนใช้ไฟฟ้าประมาณ 300 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 90 บาท

ส่วนภาคอุตสาหกรรมต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมาก คืออุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามาก เช่น อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมน้ำแข็ง โรงแรม เป็นต้น

 

“ปัญหาที่สำคัญคือ การปรับเพิ่มครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มในช่วงเวลาเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ราคาก๊าซหุงต้ม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอื่นๆ ทำให้มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในภาพรวม และมีผลทางจิตวิทยาที่กระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”

 

ส่วนเหตุผลหลักในการปรับขึ้นค่าเอฟที ในครั้งนี้ มาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก เป็นการปรับเพิ่มตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติผูกอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ประการที่สอง เนื่องจากการปิดซ่อมของระบบส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า และการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการใช้น้ำมันเตาซึ่งมีต้นทุนสูงในการผลิตไฟฟ้า และประการที่สาม การแทรกแซงราคาค่าไฟฟ้าของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าค้างอยู่ในระบบ และนำมาทะยอยคิดในค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ

 

“จากเหตุผลทั้ง 3 ประการ ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติมีการปรับเพิ่มในครั้งนี้ถึงหน่วยละ 30 สตางค์ โดยเหตุผลสำคัญคือ ประการแรกต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ประการที่สอง การใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ค้างอยู่ในระบบ 18 สตางค์/หน่วย จะมีการยกไปเก็บรวมกับค่าไฟฟ้าในรอบถัดไป คือรอบบิลเดือนสิงหาคม 2555”

คาดค่าเอฟทีอาจขยับขึ้นอีก

 

ดร.เดชรัตกล่าวถึงแนวโน้มของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอนาคตว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะราคาน้ำมันจะมีผลโดยตรงกับราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า การลดการใช้น้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซลในการผลิตกระแสไฟฟ้า และสุดท้ายคือ การนำค่าไฟฟ้าที่ค้างอยู่กลับเข้ามาคิดในระบบ ดังนั้นในรอบบิลค่าไฟฟ้าถัดไปราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะลดลงเล็กน้อย ส่วนการใช้น้ำมันเตาจะลดลงเช่นกัน เนื่องจากพ้นช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด แต่จะมีการนำค่าไฟฟ้าที่ค้างอยู่ในระบบอีก 19 สตางค์ต่อหน่วย มาคิด ทำให้ค่าเอฟทีอาจจะเพิ่มขึ้นอีก แต่คงไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าครั้งนี้

ส่วนที่ว่ากฟผ.สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตไฟได้หรือไม่นั้น นักวิชาการด้านพลังงานกล่าวว่า เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ และความสม่ำเสมอในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเป็นจุดสำคัญ ดังนั้นหากต้องการจะควบคุมค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไป ก็จำเป็นจะต้องเข้าไปกำกับดูแลต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ และการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ในปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำกับเฉพาะราคาค่าไฟฟ้า แต่ยังไม่มีอำนาจไปกำกับราคาเนื้อก๊าซ ทำให้ประเทศไทยมีการนำราคาก๊าซไปผูกกับราคาน้ำมันดิบ และไม่สามารถเข้าไปดูแลให้เกิดความโปร่งใสได้ ในขณะที่เมื่อเกิดเหตุที่ปตท.ผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติ ไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ระบบ ทำให้ต้องใช้น้ำมันเตาทดแทน ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ผู้จัดหาก๊าซอย่างปตท.กลับไม่ต้องรับผิดชอบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การกำกับดูแลค่าไฟฟ้าจึงไม่สามารถดูแลเฉพาะการผลิตไฟฟ้าได้ แต่ต้องลงลึกไปถึงห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิง ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถกำกับดูแลค่าไฟฟ้าได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

“ภาคประชาชนต้องติดตามการทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าปตท. กฟผ.และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมถึงต้องพยายามผลักดัน ให้การจัดหาและการผลิตก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเชื้อเพลิงอื่นๆ ต้องอยู่ในขอบเขตการกำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานด้วย นอกจากนี้การลดการใช้พลังงาน โดยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าลงได้เป็นอย่างมาก ทั้งยังมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

จี้รัฐเดินตาม 2 แผนหลักหวังลดใช้ไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ดร.เดชรัตยังกล่าวถึง แนวโน้มสถานการณ์พลังงานของไทยว่า ภาครัฐยังคงต้องการจัดหาไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม คือ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และนำเข้าเชื้อเพลิงมาจากต่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายภาระจะตกอยู่กับประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ภาคประชาสังคม เร่งผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ซึ่งหากดำเนินการอย่างจริงจังในทั้ง 2 แผน ประเทศไทยจะสามารถลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้มากกว่า 17,000 เมกะวัตต์ โดยลดได้จากการประหยัดพลังงานแผนอนุรักษ์พลังงาน 12,000 เมกะวัตต์ บวกกับกำลังการผลิตที่ได้จากพลังงานทดแทนอีกไม่น้อยกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากทำได้ในระยะ 20 ปี ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งยังทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศได้อีกมาก ซึ่งทั้งสองแนวคิดนี้คงต้องขับเคี่ยวกันไปอีกนาน แต่การขับเคี่ยวจะทำให้ภาคประชาชนยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางวิชาการและการปฏิบัติการจริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: