อาหารไทยกำลังวิกฤต(5)บรรษัทผูกขาด ทำ'สัญญาสำเร็จรูป'บีบเกษตรกรให้ผลิต ระดมสร้างเครือข่ายรื้อระบบที่ไม่เป็นธรรม

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2646 ครั้ง

 

เมืองไทยมีอาหารแต่คนเข้าไม่ถึง

 

นับจากการปฏิวัติเขียวเปลี่ยนแปลงวิถีการเกษตรที่ค่อนข้างอิงกับธรรมชาติ ให้กลายเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเข้มข้น ณ ช่วงแรกๆ พิสูจน์ชัดเจนว่า มันช่วยทำให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นจริง แต่ผ่านไปเพียงไม่นาน ทั่วโลกต่างประจักษ์ชัดเช่นกันว่า ในระยะยาวแล้ว ส่งผลเลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบอาหารมากกว่าประโยชน์

 

แม้จะเห็นผลกระทบเช่นนี้ ก็มิได้หมายความว่า รูปแบบการเกษตรอุตสาหกรรมจะเพลามือลง ตรงกันข้าม กระแสโลกาภิวัตน์ รูปแบบการบริหารจัดการสินค้าเกษตร และความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของโลก กลับสร้างระบบใหม่เพื่อค้ำจุนตัวมันเองเอาไว้ ซึ่งรูปแบบหนึ่งที่จะพูดถึงในที่นี้คือ ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)

 

มองในเชิงการบริหารจัดการสมัยใหม่ ระบบเกษตรพันธสัญญาได้รับการกล่าวขานว่า มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ รวมถึงลดความเสี่ยงด้านราคาอันไม่แน่นอน ที่จะเกิดกับเกษตรกร ทั้งยังมีรูปแบบความสำเร็จจากประเทศฝั่งยุโรปเป็นตัวอย่าง ทว่า นี่อาจเป็นความจริงเพียงด้านเดียวที่สร้างมายาคติเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญาในสังคมไทย

 

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระบบพันธสัญญา ผู้ทำวิจัยประเด็นนี้มากว่า 2 ปี เริ่มต้นด้วยการเปิดข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยว่า ประเทศที่ประกาศตัวเป็นครัวของโลกอย่างไทย มีอัตราความอดอยากอยู่ในระดับกลาง ที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ ความอดอยากระดับกลางนี้มิได้เกิดจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะคนเข้าไม่ถึงอาหาร เช่น คนที่ไม่ได้ปลูก แล้วไม่มีรายได้พอซื้อ หรือปลูก- เลี้ยง แต่ต้องสูญเสียผลผลิตที่ตนเองสร้างขึ้นมาในทันที เพราะฉะนั้นปัญหาความอดอยากและความมั่นคงด้านอาหาร จึงไม่ใช่เรื่องมีอาหารไม่พอ แต่เป็นเรื่องของ “การไม่มีอำนาจเหนืออาหาร”

 

เกษตรพันธสัญญาเป็นธรรมหรือไม่ดูที่‘อำนาจต่อรอง’

 

ระบบเกษตรพันธสัญญาไม่ได้มีรูปแบบเดียวเช่นที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่เหตุใดระบบของไทยจึงเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ทศพลกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะชี้วัดว่า ระบบเกษตรพันธสัญญามีความเป็นธรรมหรือไม่ ก็คือ “อำนาจต่อรอง”

 

การยกตัวอย่างความสำเร็จของระบบเกษตรพันธสัญญาในนิวซีแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ ทศพลระบุว่าจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นด้วย เช่น ความเป็นประชาธิปไตย อำนาจต่อรองของเกษตรกร นโยบายรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งในกรณีประเทศไทยที่มีโครงสร้างเช่นที่เป็นอยู่ และรัฐแทบไม่ทำอะไรเลยเพื่อเสริมอำนาจต่อรองและการรวมกลุ่มของเกษตรกร ไม่ขจัดการผูกขาดในตลาด ประเทศไทยจึงมีบริษัทที่ผูกขาดทั้งแนวดิ่งและแนวราบ โอนย้ายความร่ำรวยจากธุรกิจหนึ่งไปสู่ธุรกิจหนึ่ง ก่อให้เกิดการผูกขาดมากขึ้น แล้วก็ย้ายความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไป

 

เกษตรกรเป็นแค่คนรับจ้างทำของตามกฎหมาย

 

พักเรื่องอำนาจต่อรองไว้ก่อน แล้วทำความรู้จักกับระบบเกษตรพันธสัญญา จะพบเรื่องน่าแปลกใจว่า ปัจจุบันที่มีเกษตรกรอยู่ในระบบนี้หลายแสนคน กฎหมายไทยกลับยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า เกษตรพันธสัญญาคืออะไร ทศพลกล่าวว่า เพียงแค่ชื่อในภาษาไทยก็ยังพบการแปลที่ลื่นไหลแตกต่างกันไป แต่ถ้าจะนำกฎหมายที่มีอยู่มาจับ ก็สามารถจัดอยู่ในกฎหมายหมวดนิติกรรมและสัญญา เมื่อพินิจเฉพาะกฎหมายสัญญา พบว่า แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ ซึ่งเกษตรพันธสัญญาจัดอยู่ในสัญญาประเภทหลัง

 

อธิบายอย่างง่ายๆ สัญญาจ้างแรงงานก็เหมือนพนักงานบริษัททั่วไปที่กินเงินเดือนจากบริษัท มีการกำหนดค่าตอบแทน และร่วมกันแบกรับความเสี่ยง ขณะที่สัญญาจ้างทำของ มุ่งสนใจที่ผลลัพธ์สุดท้ายซึ่งก็คือตัวผลผลิตที่ได้เท่านั้น โดยผู้รับจ้างทำของเป็นฝ่ายแบกรับความเสี่ยงเพียงผู้เดียว

 

อยู่ในฐานะคนรับจ้างเลี้ยง-ปลูกไม่ใช่หุ้นส่วน

 

                     “เกษตรพันธสัญญาอยู่ในระบบจ้างทำของ เช่น นำหมูไปเลี้ยง สุดท้ายต้องได้หมูกี่ตัว น้ำหนักเท่าไหร่ คุณภาพอย่างไร แต่สิ่งที่ต่างมากๆ คือจากวันแรกที่รับหมู ไก่ หรือผักไป ถ้าระหว่างทางนั้นเกิดความเสียหาย คนที่นำไปทำรับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ต่างกันมาก แต่สิ่งที่บริษัทพยายามจะบอกคือการเป็นหุ้นส่วนกัน ร่วมกันทำ ความหมายเหมือนร่วมกันแบกรับความเสี่ยง แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ ต้นทุนความเสี่ยงเกษตรกรต้องรับผิดชอบทั้งหมด กำไรก็กำหนดกันไว้แต่ต้นเลยว่า ใครจะได้รับกำไรเท่าไหร่ เพราะมันเป็นสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่ต้นแล้วว่า จะรับซื้อหมูในราคาเท่าไหร่”

 

แต่สิ่งที่สังคมรับรู้ก็คือ ลูกหมู ไก่ ปลา หรือเมล็ดพันธุ์ ทางบริษัทคู่สัญญาก็เป็นผู้จัดหาให้เกษตรกร แล้วจะบอกว่าเกษตรกรรับความเสี่ยงผู้เดียวได้อย่างไร ทศพลอธิบายว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ความจริงก็คือ เมื่อเกษตรกรเซ็นสัญญากับธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะนำเงินกู้ที่ได้มาไปซื้อหมูจากบริษัทมาเลี้ยง แต่ในสัญญากลับเรียกว่า “จ้าง” ถ้าเกษตรกรทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เช่น มีหมูตาย ก็จะถูกหักเงิน ทศพลกล่าวว่า ขณะนี้ระบบจ้างเลี้ยงเริ่มหมด เนื่องจากส่วนหนึ่งบริษัทจะต้องรับภาระการช่วยเหลือ เช่น การจัดหาสัตวบาลมาคอยดูแล

 

                        “ตอนนี้แนวโน้มแบบใหม่คือแบ่งหน้าที่กันไปเลย ซึ่งก็คือสัญญาเช่าช่วงนั่นเอง คือเกษตรกรซื้อลูกหมู ซื้อยา ซื้อทุกอย่างไปทำ พอสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว ถ้ามีหมูที่อยู่ในขนาด บริษัทก็รับซื้อ แต่ต้องได้มาตรฐานของบริษัท ราคาเท่าไหร่อยู่ที่มาตรฐานของบริษัท เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ตลอดเวลาคือความสามารถในเชิงเทคนิค เขาจะเถียงตลอดว่า ทำไมไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยง ถูกตีว่าไม่ได้คุณภาพ เนื้อหมูถูกตีว่าเนื้อไม่แดงถึงค่าที่ตั้งไว้แล้วได้ราคาต่ำ มันไม่ใช่การโกงตาชั่งเหมือนสมัยก่อน แต่เป็นการโกงมาตรฐาน ซึ่งตัวมาตรฐานนี้เป็นเรื่องยาก เพราะคนที่จะรู้เรื่องแบบนี้ต้องเรียนจบสัตวแพทย์หรือเปล่า ต้องเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรหรือเปล่า จุดนี้ผมมองว่ารัฐก็ปล่อยปละละเลย แล้วความรู้ทั้งหมดไปอยู่ที่บริษัททั้งหมดเลย”

 

เข้าใจผิดคิดว่าได้กำไรที่แท้ก็คือค่าจ้างดูแล

 

ขณะนี้การเลี้ยงหมูเริ่มเป็นระบบเช่าช่วงค่อนข้างมาก เกษตรกรเองก็รู้ว่าไม่ใช่การร่วมทุน แต่เป็นการรับจ้างเลี้ยง ซึ่งบางครั้งเกษตรกรก็จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำต่อ ทศพลกล่าวว่า ระบบจะมีการขูดรีดกันเป็นทอดๆ เกษตรกรไทยทุกวันนี้จึงไม่มีใครลงแรงเอง ส่วนมากจะเป็นผู้จัดการฟาร์มหรือผู้จัดการสวน ทำหน้าที่ตรวจสอบว่า นำของของบริษัทมาเท่าใด เมื่อถึงปลายฤดูกาล บริษัทจะมาซื้อในราคาเท่านี้ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีจัดการต้นทุนให้ได้กำไรมากที่สุด คนงานต่างด้าวคือคำตอบ เพราะค่าแรงถูก ส่วนเทคนิคอะไรที่ช่วยลดต้นทุนก็จะนำมาใช้ เมื่อหักต้นทุนแล้ว เดือนหนึ่งเกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 5,000-10,000 บาท ซึ่งเกษตรกรจะคิดว่าเป็นกำไร แต่ทศพลมองว่า จริงๆ แล้วมันคือค่าแรงของเขาในฐานะผู้จัดการฟาร์ม ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินลงทุนนับล้าน และยังไม่ได้พูดถึงกรณีที่ล้มเหลว ต้องเลิกกิจการ ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากระบบสัญญาจ้างทำของ

 

ทศพลออกตัวว่า ที่พูดเช่นนี้มิใช่การกล่าวหาบรรษัทว่าผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่สัญญาจ้างทำของลักษณะนี้เป็นรูปแบบสัญญาที่ใช้กันทั่วโลกอยู่แล้ว มันคือระบบที่ทศพลเรียกว่า “ระบบที่นายทุนมีชัยชนะเหนือรัฐ” ซึ่งในบางประเทศมีความพยายามปรับปรุงสัญญาให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ในประเทศไทยก็มีกฎหมายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

 

ด้วยความสงสัยจึงสอบถามทศพลว่า สมมติเลี้ยงหมู 100 ตัว ถ้ามีหมู 10 ตัว ที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่บริษัทตั้งไว้ เกษตรกรสามารถนำหมู 10 ตัวนี้ ไปขายให้คนอื่นได้หรือไม่ ทศพลตอบว่า ไม่ได้ ทางบริษัทจะเป็นผู้นำหมู 10 ตัวนี้ไปจัดการเอง และนี่ก็คือประเด็นที่ทศพลพยายามบอกว่า มันมีความบิดเบี้ยวในระบบเกษตรพันธสัญญา

 

บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกรสร้างบรรษัทผูกขาด

 

ทศพลอธิบายระบบเกษตรพันธสัญญาโดยย่นย่อ ผ่านรูป “บ่วงบาศพิฆาตเกษตร” ซึ่งจะชี้ว่าระบบเกษตรพันธสัญญาดีหรือไม่ดี ผ่าน 12 ปัจจัย คือ 1.การกำหนดเป้าหมาย 2.ต้นทุนและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มี 3.ข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจ 4.การสร้างระบบความสัมพันธ์ 5.อำนาจต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ 6.ระบบวิธีการผลิตอาหาร 7.การจัดการทรัพยากรในกระบวนการผลิต 8.ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผลิต 9.การกำหนดมาตรฐานและราคาอาหาร 10.การกระจายสินค้า 11.การแลกเปลี่ยน และ 12.การสร้างภาพลักษณ์ โดยมีผู้เล่นหลัก 4 กลุ่มคือ บริษัท รัฐ เกษตรกร และผู้บริโภค ซึ่งทศพลจะมุ่งอธิบายตัวบริษัทและรัฐเป็นหลัก

 

เป้าหมายของบริษัทคือผลกำไร ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการประกอบธุรกิจ ขณะที่รัฐต้องการให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีสูงขึ้น ตัวเกษตรกรก็ต้องการอยู่ดีกินดี ปลดภาระหนี้สิน และผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ดีมีประโยชน์และราคาย่อมเยา นี่เป็นเป้าหมายทั่วไปของผู้เล่นทั้ง 4 กลุ่มในวงจร แต่การไปให้ถึงเป้าหมายก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแต่ละคน และไม่น่าแปลกใจถ้าบริษัทจะมีความพร้อมมากที่สุด

 

                         “ถามว่าเมื่ออยากไปถึงเป้าหมาย แล้วตนเองมีต้นทุนหรือเงื่อนไขอะไรอยู่ บรรษัทไม่ผิดที่จะทำธุรกิจครบวงจร ไปอ่านหนังสือเอ็มบีเอทั่วโลก เขียนเหมือนกันว่าต้องคุมเชนให้หมด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผมไปนั่งฟังเลคเชอร์เอ็มบีเอทุกที่ก็จะชื่นชมบริษัทแห่งหนึ่ง เพราะสามารถทำธุรกิจได้ครบวงจร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐเคยคิดหรือไม่ว่า ถ้าปล่อยให้องค์กรที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับควบคุมของสังคม สามารถผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้จะเกิดอะไรขึ้น ทีดีอาร์ไอบอกแล้วครับว่า เป็นความเสี่ยงมาก เพราะคนที่จะบอกได้ว่าราคาต้นน้ำเท่าไหร่ ปลายน้ำเท่าไหร่ อยู่ที่เอกชน ไม่ใช่รัฐ ตอนแรกเมล็ดพันธุ์เกษตรกรเป็นคนตั้งต้น สุดท้ายมีคนเอาไปจดสิทธิบัตร ห้ามใช้ เกษตรกรก็ซื้อ อยากได้สัตว์ไปเลี้ยง เขาบังคับขายพ่วงอาหาร ก็ต้องซื้อ ไม่อย่างนั้นเงินที่ลงทุนไปแล้วสี่ห้าล้านจะทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีปัจจัยการผลิต”

 

มีแต่ข้อมูลด้านบวก ดึงเกษตรกรทำสัญญา

 

ทศพลยังพบว่า ข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะงานด้านวิชาการ เกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญา มีลักษณะให้ภาพเฉพาะด้านบวกของเกษตรพันธสัญญาเพียงด้านเดียว แทบไม่เห็นการรับรู้อีกด้านผ่านการล่มสลายของระบบเกษตรในละตินอเมริกา ที่กลับมายึดอำนาจทางการเมือง แล้วคืนอธิปไตยด้านอาหารให้กับชาวนา ทศพลย้ำว่า ไม่พบเรื่องเหล่านี้ในงานวิชาการของประเทศไทยเลย การศึกษาของเขาจึงไม่ใช่การจับผิดบริษัท เป็นเขามองว่าเป็นการสร้างความสมดุลของข้อมูล เปิดข้อมูลอีกด้าน และเปิดเสียงซึ่งไม่เคยได้ยิน

 

 

         “โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะมีข้อมูลโปรโมทระบบเกษตรพันธสัญญาเยอะมาก แล้วเกษตรกรจะไปไหนรอดครับ เมื่ออยู่ภายใต้ข้อมูลเหล่านี้ ถูกส่งเสริมแบบนี้ เกษตรกรก็กระโดดเข้าหา บางทีไม่ได้คำนวณด้วยซ้ำ เขาบอกให้ทำก็ทำ”

 

ในประเด็นระบบความสัมพันธ์ ทศพลเล่าว่า นักศึกษาจบใหม่ด้านรัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ จำนวนมาก ถูกดึงเข้าสู่บริษัทมากขึ้น โดยมีภารกิจคล้ายกับเอ็นจีโอ คือการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทุกหมู่บ้าน เข้าหาชาวบ้าน มีลักษณะเหมือนยอดขายที่พนักงานจะต้องทำ และรัฐไม่สามารถแทรกแซงความสัมพันธ์ตรงนี้ได้ ทศพลเรียกว่า เป็น New Social Movement Under Corporate ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ชักจูงเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา

 

เกษตรกรถูกสลายกลุ่มไร้อำนาจต่อรอง

 

ส่วนเรื่องอำนาจต่อรองชัดเจนว่า เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองกับบริษัทเลย ความพยายามก่อตั้งสหกรณ์ สหพันธ์ชาวนา หรือไกลไปถึงพรรคการเมืองของเกษตรกร เป็นแค่ความเพ้อฝันที่ไม่มีทางเกิดขึ้น

 

 

                       “เรื่องเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนบอกว่า อย่ามาพูดในประเทศไทย แต่เราจะพูดเรื่องทางเลือกที่ยั่งยืน ซึ่งถ้าพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือแพ้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดเมื่อระบบเกษตรพันธสัญญาเข้ามาในประเทศไทยแล้วจึงเอียงได้ขนาดนี้ เพราะโครงสร้างไม่เอื้อให้เกิดการต่อรอง”

 

จากประสบการณ์การศึกษาของทศพล เขาเล่าว่า บริษัทจะมีกลวิธีการสลายกลุ่มก้อนเกษตรกร เช่น ถ้าเกษตรกรรวมกลุ่มกันได้ประมาณ 10 คน พนักงานบริษัทที่มีหน้าที่จัดตั้งมวลชนจะเข้าไปดึงเกษตรกรออกมาสักห้าหกคน โดยใช้หนี้สินเป็นเครื่องมือ เช่น การไม่บังคับชำระหนี้หรือการผ่อนผันหนี้ให้ สุดท้าย กลุ่มเกษตรกรก็จะสลายตัวไปในที่สุด

 

นอกจากนี้ยังพบว่า การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับชาวบ้านที่ไม่ใช่เกษตรกร ทศพลอธิบายว่า แม้จะเป็นปัญหาจริง แต่ต้องเข้าใจเกษตรกรว่า หากไม่เลี้ยงปริมาณมากๆ ก็จะไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป แม้ว่าการทำแบบนี้จะสร้างมลพิษแก่ชุมชนมากกว่าปกติก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้โยงใยกับการจัดการทรัพยากร เพราะเมื่อเกิดปัญหา รัฐกลับกลายเป็นผู้รับภาระแก้ไข แทนที่จะเป็นบริษัท จึงเป็นการนำทรัพยากรสาธารณะมาใช้

 

                          “เขาใช้ทรัพยากรกันอย่างไร ให้ไปดูแพร่ น่าน พะเยา เราจะเห็นภูเขาสวยมาก ตัดผมรองทรงหรือสกินเฮด เป็นสกินเฮดต้นข้าวโพด อ้อย มีการรุกเข้าไปในพื้นที่ป่ามีเยอะ พี่น้องชนเผ่าและชาติพันธุ์บอกว่า ที่พูดเรื่องสิทธิชุมชน การทำไร่หมุนเวียน ทำจริงทำยาก มีคนไปจับกุมพวกเขา ชาวบ้านบอกว่าทำไร่หมุนเวียน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าทำไร่เลื่อนลอย แต่ถ้าชาวบ้านรับเมล็ดพันธุ์จากบริษัทมาปลูก สบาย ไม่เคยมีใครมาจับ ชาวบ้านพูดเองครับ ผมไม่ได้พูด แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมรัฐจึงมีท่าทีแบบนี้”

 

 

ตั้งมาตรฐานบังคับใช้เอง-กฎหมายไม่ทำงาน เปิดช่องผูกขาดระบบอาหาร

 

จุดที่สร้างความได้เปรียบให้แก่บริษัทในระบบเกษตรพันธสัญญาอีกประการหนึ่งคือ การกำหนดมาตรฐานและราคา โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งทศพลตั้งคำถามว่า มาตรฐานดังกล่าวมาจากไหน คำตอบที่ได้รับมักตอบว่า กำหนดมาจากองค์การการค้าโลก (WTO) ทศพลชี้ให้เห็นว่า ในแนวคิดของกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้ประเทศต่างๆ สามารถกำหนดมาตรฐานบางอย่างได้เอง แต่สิ่งที่พบในพื้นที่คือ มีการใช้เกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปหรืออียู มาใช้กับโรงงานในจังหวัดภาคกลาง เพื่อส่งเนื้อหมูบริโภคกันเองในภาคกลาง แน่นอนว่า บางคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องดี ที่จะได้กินเนื้อหมูมาตรฐานอียู แต่ทศพลบอกว่า มาตรฐานบางอย่างของอียูเหมาะกับภูมิประเทศและภูมิอากาศเมืองหนาว

 

                   “สำหรับโรงเรือนแบบปิด หมู ไก่ ในไทยมันร้อนนะครับ เกษตรกรจำนวนมากถามว่า ทำไมไม่เลี้ยงระบบเปิด เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่มีการถกเถียงด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ ก็เซ็ตมาตรฐานเลย ผมไม่ได้บอกว่ามาตรฐานของชาวบ้าน ของบริษัท หรือของรัฐ อย่างไหนดีกว่ากัน แต่มันเป็นมาตรฐานที่ไม่มีการคุยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือแทบทุกพืชหรือสัตว์จะมีมาตรฐานที่ออกมา แล้วทำให้คนที่มีห้องแล็บง่ายและทำธุรกิจได้ อย่างคนที่ทำเมล็ดพันธุ์เองแล้วไปปลูกกันเยอะ ดีกว่าของบริษัทยี่ห้ออื่น แต่สุดท้ายโดนจับด้วยมาตรฐานอะไรก็ไม่รู้ นี่คือสิ่งที่ฉ้อฉลที่ซ้อนตามรายทางที่วิสาหกิจขนาดย่อมต้องเผชิญอยู่”

 

ประเด็นการกระจายสินค้าเป็นอีกเรื่องที่ทศพลบอกว่า ถือเป็นชัยชนะของบริษัทร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สามารถทำได้ครบวงจร เข้าถึงได้ทุกหมู่บ้าน ขณะที่วิสาหกิจชุมชนจำนวนมาก แม้จะความพยายามทำในระดับชุมชนก็ยังถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้นทุนด้านโลจิสติกสูงถึง 1 ใน 5 ของต้นทุนทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีใครเข้าไปสนับสนุน ทำให้ไม่เกิดช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างวิสาหกิจชุมชนกับผู้บริโภค

 

และยิ่งเป็นปัญหาหนัก เมื่อประเทศไทยไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 อย่างจริงจัง ทศพลกล่าวว่า จุดนี้ส่วนหนึ่งถือเป็นความผิดของกฎหมาย เนื่องจากมีการตีความแล้วว่า บริษัทในเครือไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทใหญ่ เพราะฉะนั้นบรรษัทใหญ่จึงแตกบริษัทลูก โดยมีนักกฎหมายให้คำแนะนำ เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีอำนาจเหนือตลาดตามที่ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า บัญญัติไว้ ขณะที่ในต่างประเทศ การพิจารณาว่าบริษัทใดมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ จะพิจารณารวมหมดทั้งบริษัทแม่และบริษัทในเครือ และถ้ามีอำนาจเหนือตลาดจริงก็จะถูกบังคับด้วยกฎหมายให้ลดสัดส่วนลง

 

ส่งเสริมการรวมกลุ่ม-สร้างนักกฎหมายช่วยชาวบ้านปลดบ่วงพิฆาตเกษตรกร

 

ยังนับเป็นความโชคดีที่ระบบเกษตรพันธสัญญายังไม่แพร่หลายครอบคลุมทุกองคาพยพในระบบการเกษตรของไทย ถึงกระนั้นก็มีแนวโน้มว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตจากแรงผลักของเศรษฐกิจ บ่วงบาศที่ทศพลอธิบายจึงมีสิทธิ์ที่จะรัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ

 

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะแก้เงื่อนปมของบ่วงบาศได้อย่างไร

 

                       “ในแต่ละประเด็นมันมีวิธีการแก้หมด แต่การแก้ทีละประเด็นมันยาก ใน 2 ปีที่เราศึกษามา เห็นชัดว่าปัญหาคืออะไร เรามองว่าวิธีการแก้ที่เป็นมาตรการปะทะเลยมันยาก เพราะเราไม่มีแนวร่วม สิ่งแรกคือต้องทำให้เกิดการรับรู้ เพิ่มปริมาณคนที่สงสัยต่อระบบอาหาร ประเด็นถัดมา การทำธุรกิจทุกอย่างในประเทศไทยมันติดปัญหาหนึ่งคือ การผูกขาด กฎหมายป้องกันการผูกขาดมีแล้ว แต่ว่าใช้บังคับไม่ได้ คณะกรรมการมีสัดส่วนที่มีปัญหา เครือข่ายเราก็ร่วมกับกลุ่มที่ผลักดันเพื่อแก้ไขการผูกขาดในประเทศไทย”

 

จุดสำคัญคือต้องสร้างระบบหรือกลไก ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่มั่นคงให้ได้ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และสร้างระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ทศพลกล่าวว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม อาจเริ่มต้นจากผู้บริโภคกับเกษตรกรต่างรู้อุปสงค์-อุปทานของแต่ละฝ่าย เช่น ผู้บริโภคต้องการนมหรือข้าว เมื่อก่อนต้องซื้อผ่านคนกลาง แต่ด้วยระบบเทคโนโลยี เปิดช่องให้เกษตรกรทำตลาดเอง จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ โดยรัฐเข้ามาช่วยเรื่องโลจิสติกและข้อมูล เมื่อทั้งสองฝ่ายก็มาเจอกัน วิสาหกิจชุมชนมีลักษณะเป็นบริษัทมากขึ้น สามารถจ้างนักการตลาดหรือนักบริหารมาดูแลได้ ทำตลาดเอง เข้าหาผู้บริโภคเอง ก็จะเกิดระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมขึ้น โดยเป็นการทำสัญญาตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง

 

                       “แต่ถามว่า ทำไมวันนี้วิสาหกิจชุมชนแบบนี้ จึงยังไม่สามารถขึ้นมาได้มาก นั่นเพราะติดประเด็นกฎหมายเหมือนเดิม อย่างเรื่องเมล็ดพันธุ์ ชาวบ้านก็จะติด พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 โดนแกล้งตลอด มันเป็นเรื่องของอาวุธที่ไม่เท่ากัน ผมจึงบอกว่าโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้บริษัทได้เปรียบ เพราะบริษัทสามารถเชื่อมกับรัฐได้ตลอด”

 

ประเด็นต่อมา ทศพลกล่าวว่า ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเข้ามาดูแลเกษตรกรในการทำสัญญา ช่วยตรวจสอบว่า สัญญามีความเป็นธรรมหรือไม่ และสร้างนักกฎหมายที่คอยให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถฟ้องร้องบริษัทได้ เพราะเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีต้นทุนการสู้คดีสูง ขาดทนายความและนักกฎหมายคอยให้ความช่วยเหลือ

 

ทศพลกล่าวว่า โดยทั่วไป คดีของคนชายขอบจะหาทนายความมาทำคดียากมาก เพราะมีความเสี่ยงบางอย่างอยู่ ที่จะรับคดีแนวนี้ เนื่องจากต้องไปคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ ศึกษาตัวสัญญา ซึ่งเรื่องการเกษตรมีเทคนิค มีมาตรฐาน และมีการผิดสัญญาในเชิงเทคนิคสูง ดังนั้น ต้องควบรวมความรู้หลากหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน สิ่งที่ทศพลและเครือข่ายทำอยู่ตอนนี้คือ การสร้างเครือข่ายนักวิชาการหลายแขนงขึ้น ซึ่งเขามองว่ามีช่องทางที่จะฟ้องร้องได้

 

                         “ผมเคยเห็นสัญญาพวกนี้ ซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นข้อเทคนิคมาก เช่น เลี้ยงหมูก็เป็นสัญญาแบบหมู ไก่ก็แบบไก่ แต่ที่ผิดกฎหมายแน่นอน คือมันเซ็นเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งเข้าข้อแรกของกฎหมายสัญญาที่ไม่เป็นธรรมคือสัญญาสำเร็จรูป มีการตีความแล้วว่า สัญญาสำเร็จรูปถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะคุณใช้ความสัมพันธ์ที่คุณสมมติฐานเองกับคนทั่วประเทศ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทุกคู่สัญญามันมีความแตกต่าง ข้อต่อสู้แรกที่จะสู้ในศาลคือ เป็นสัญญาสำเร็จรูปที่มีลักษณะเป็นสัญญาไม่เป็นธรรม แต่ขณะนี้ยังไม่มีโซ่ข้อกลางที่จะเชื่อมชาวบ้านเข้ากับกระบวนการยุติธรรม”

 

ทศพลเชื่อว่า หากมีเกิดการฟ้องร้องบริษัทสักคดี จะกลายกรณีแรกที่เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากระบบเกษตรพันธสัญญาคนอื่นๆ

 

                         “ผมเชื่อว่าเกษตรกรที่อยู่ในความเครียด เขาหาทางออก ถ้าเขาเห็นคนหนึ่งทำสำเร็จ เขาจะตามมา แต่ต้นทุนการสู้คดีแรกจะสูงมาก กลับกันทางบริษัทก็จะสู้คดีสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะถ้าเขาแพ้สักครั้งหนึ่ง มันมีคนรออยู่เยอะ”

 

สุดท้าย ทศพลเห็นว่า ผู้เล่นหลักที่มีความสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยปลดบ่วงนี้ออกได้ก็คือ ผู้บริโภค และสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการตั้งคำถามว่า อาหารจากไร่นาสู่โต๊ะ (From Farm to Table) ที่เรากินนั้นมาจากไหน และมันได้สร้างต้นทุนแก่สิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คนอย่างไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: