รุมต้านกรมประมงฟอก‘เรืออวนลากเถื่อน’ แฉตัวการทำทะเลพินาศ-ไม่เคยช่วยฟื้นฟู 'อียู'สงสัยไทยไม่เข้าใจมาตรฐานส่งออก

ชุลีพร บุตรโคตร วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 1 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5602 ครั้ง

 

กรมประมงแจงแค่จดทะเบียนเรือที่จะส่งสินค้าให้อียู

 

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร จัดประชุมเพื่อตรวจสอบ กรณีการร้องเรียนเรื่องกรมประมงเตรียมนิรโทษกรรม หรือผ่อนผันการจดทะเบียนให้กับเรือประมงอวนลาก โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน เข้าให้ข้อมูลชี้แจงรายละเอียดในประเด็นดังกล่าว ซึ่งมีตัวแทนจาก กรมเจ้าท่า กรมประมง นักวิชาการ และเครือข่ายประมง ร่วมให้ข้อมูล

 

นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่าจาก มาตรการที่อียูกำหนด ผู้ที่จะเข้าสินค้าสัตว์น้ำทุกชนิดเข้าไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป จะต้องมาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย และมีใบรับรองสินค้าชัดเจนเท่านั้น จึงจำเป็นที่กรมประมงจะต้องดำเนินการนิรโทษกรรมให้กับเรืออวนลาก เพื่อให้กลุ่มเรืออวนลากเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะสามารถทำประมงและนำสินค้าสัตว์น้ำส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียูได้ ตามข้อกำหนดดังกล่าว

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีการนิรโทษกรรมให้กับเรืออวนลากที่ดำเนินการผิดกฎหมายมาแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ ปี 2523, 2524, 2525, 2532 และ 2539 ซึ่งครั้งนี้ก็ได้มีการเพิ่มมาตรการควบคุมการทำประมงอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้กระทบกับทรัพยากรและประมงประเภทอื่น เช่น ต้องเป็นเรือที่จับสัตว์น้ำส่งออกไปอียูเท่านั้น กำหนดขนาดตาอวนใหญ่ขึ้น ขยายเขตห้ามทำประมงจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร จากชายฝั่ง เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างไม่ได้เพิ่มจำนวนเรืออวนลากแค่นำเข้าระบบ

 

 

รองอธิบดีกรมประมงยืนยันว่า มาตรการนี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวนเรืออวนลาก แต่เป็นการนำเรือเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูล พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายประมงพื้นบ้านต่าง ๆ เพื่อความรอบคอบที่สุด ตามที่ครม.มีมติให้กลับมาทบทวน หลังจากนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้  ยันทะเลไทยยังมีศักยภาพรับเรืออวนลากได้อีก

 

“ยืนยันว่า การนำเรืออวนลากจำนวน 2,107 ลำเข้าสู่ระบบครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการศึกษาศักยภาพของทะเลไทย ในการรองรับการทำประมง ซึ่งเคยระบุว่า มีการดำเนินการเกินศักยภาพประมาณ 33 เปอร์เซนต์ เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่า มีเรืออวนลากอยู่ในทะเลไทยสูงถึง 7,900 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือในทะเลอ่าวไทย 6,793 ลำ ในทะเลอันดามัน 1,145 ลำ จำเป็นจะต้องลดจำนวนเรือเหล่านี้ลงเป็นในอ่าวไทย 4,551 ลำ ในขณะที่ในทะเลอันดามันไม่จำเป็นต้องลดจำนวนลง ดังนั้นเมื่อรวมเรือที่มีอยู่ทั้งสองพื้นที่ จะสามารถรองรับได้ประมาณ 5,726 ลำ แต่จากข้อมูลพบว่า ในปัจจุบันมีเรือขึ้นทะเบียนไว้เพียง 3,619 ลำ ดังนั้นจึงสามารถที่จะรองรับเรือได้อีก 2,107 ลำ ตามกำหนด ซึ่งจะไม่มีการผ่อนผันให้จดทะเบียนเพิ่มเติมมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามยินดีที่จะรับฟังข้อมูลต่างๆ เพื่อมาประมวลหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย” นายสุรจิตกล่าว

 

 

ประมงพื้นบ้านยังค้านไม่ถอย

 

 

ด้านเครือข่ายสมาคมประมงพื้นบ้านจากหลายจังหวัด ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านการผ่อนผันการจดทะเบียนเรืออวนลากตามแนวคิดของกรมประมง โดยให้ความเห็นว่า อวนลากเป็นเครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรอย่างรุนแรง จนเกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลต่อการทำประมงพื้นบ้านกว่า 300,000 ครอบครัว แม้ที่ผ่านมากรมประมงจะมีกฎหมายควบคุม แต่ยังมีเรืออวนลากผิดกฎหมาย จนเกิดความขัดแย้งกับชาวประมงพื้นบ้านหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอให้กรมประมงทบทวนเรื่องนี้ให้รอบด้าน และไม่ควรรีบนำเสนอครม. จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนก่อน โดยเฉพาะการตีความมาตรการของอียูที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้ประเทศที่ส่งสินค้าเข้าอียู ปรับปรุงระบบการทำประมงของประเทศตัวเอง ให้เกิดความยั่งยืนและทำประมงอย่างรับผิดชอบ ซึ่งตรงกันข้ามกับการนิรโทษกรรมให้กับเรืออวนลาก โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จะนำคำชี้แจงของทุกฝ่ายไปพิจารณาก่อนจะดำเนินการต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยื่นหนังสือ สภาฯ & อียู ค้านนิรโทษกรรมเรืออวนลาก

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ประมาณ 30 คน จากสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมชาวประมงพื้น จากจ.ตรัง สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ เดินทางยังรัฐสภาฯ เพื่อ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านกรณีการเปิดให้มีการออกอาชญาบัตร (ใบอนุญาต) รอบใหม่ แก่อวนลากเถื่อน หรือการ "นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน" เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังสหภาพยุโรปได้ ตามมาตรการ IUCC Fishing  โดยการยื่นหนังสือดังกล่าว มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และนายสุรจิต ชีรเวทย์ รองประธานฯ เป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์คัดค้านดังกล่าว ก่อนที่กลุ่มเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพิ่มเติมให้กับ คณะผู้แทนสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย ถ.วิทยุ เพื่อขอรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและกำจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป พร้อมขอให้พิจารณากรณีการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนของกรมประมงไทย

 

 

ตัวแทนอียูแจงกรมประมงอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน

 

 

ในการเข้ายื่นหนังสือดังกล่าว เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทนอียู ถึงประเด็นที่กรมประมง อ้างถึงการจดทะเบียนเรืออวนลากให้ถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อตอบสนองต่อการที่อียูซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ที่ประเทศไทยส่งออกสัตว์น้ำ ไม่รับซื้อสัตว์น้ำจากกลุ่มเรือประมงที่ไม่ได้จดทะเบียน ทั้ังที่เรืออวนลากเป็นการทำประมงแบบทำลายล้าง ที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนล้างผลาญทรัพยากรสัตว์น้ำให้สูญพันธุ์ โดยไม่คำนึงสนใจ กลุ่มชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้านที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือเหมาะสม และมีการทำกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากร

 

ซึ่งจากการพูดคุยในรายละเอียด นายอันโตริโอ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการตลาด ตัวแทนอียู ผู้รับหนังสือ ได้แสดงความสงสัยต่อความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนของกรมประมง จนทำให้เกิดการนิรโทษกรรมเรืออวนลาก โดยระบุว่า ที่ผ่านมาอียูมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนกับการทำประมงจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลก และกล่าวด้วยว่า จะนำเรื่องเข้าเวทีสำนักงานใหญ่อียู กรุงรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม แน่นอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ครม.สั่งประชุมเพิ่มหลังกรมประมงยื่นเรื่องขอมติ

 

 

ก่อนหน้านี้ กรมประมงได้จัดประชุมหารือกรณีการขอผ่อนผันการจดทะเบียนเรืออวนลากตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา การขอผ่อนผันการจดทะเบียนเรืออวนลากตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเชิญกลุ่มประมงอวนลาก และประมงชายฝั่งเข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าวมีการรายงานความคืบหน้าการขอผ่อนผันการจดทะเบียนเรืออวน ซึ่งพิจารณาโดยคณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขออาชญาบัตรทำการประมง  สรุปว่า ในการขอผ่อนผันการจดทะเบียน มีเรืออวนลากเสนอขอทั้งสิ้น 2,107 ลำ พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการขอรับการผ่อนผันการจดทะเบียน

 

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมดังกล่าวทำให้ กลุ่มประมงชายฝั่งหรือกลุ่มประมงพื้นบ้านไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่า กรมประมงกำลังผลักดันให้เรื่องผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เนื่องจากเรือประมงอวนลากจำนวน 2,107 ลำ ที่กรมประมงอ้างถึงนั้น เป็นเรือประมงที่ผิดกฎหมาย และอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องปรับลดลงไป เพื่อการฟื้นฟูทะเลอยู่แล้วด้วย และเป็นเงื่อนไขตามแนวนโยบายของกรมประมงเอง แต่กรมประมงกำลังผลักดันในสิ่งที่ตรงกันข้าม จนเป็นเหตุให้กลุ่มประมงชายฝั่งออกมาเคลื่อนไหว โดยการออกแถลงการณ์ คัดค้านดังกล่าว

 

 

ประมงพื้นบ้านไม่พอใจไม่ร่วมประชุม

 

 

จากข้อมูลจากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ระบุว่า สำหรับแนวคิดของกรมประมงที่ต้องการจะ “นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน” ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายไทยในปัจจุบัน เพื่อทำให้ผลผลิตจากการทำประมงอวนลากเถื่อนนั้นถูกกฎหมาย ผ่านการรับรองของกรมประมง และสามารถส่งออกไปขายยังตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมีมาตรการจะไม่รับซื้อผลผลิตจากการประมงที่ไม่ผ่านกระบวนการรับรอง IUU Fishing เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงขนาดเล็ก จึงคัดค้านไปยังกรมประมง แต่กลับได้รับคำชี้แจงว่าเรื่องได้ผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติแล้ว และมีการยื่นเสนอการออกใบอนุญาตเพิ่มเติมแก่อวนลากผิดกฎหมายไปให้ครม.พิจารณา

 

อย่างไรก็ตาม กรมประมงแจ้งว่า เรื่องถูกตีกลับมาจาก ครม.และเชิญให้ฝ่ายประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2555 ดังกล่าว แต่ฝ่ายประมงพื้นบ้านที่ได้ทำจดหมายคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่า การประชุมดังกล่าวไม่จริงใจ เพราะมีการสอดแทรกเรื่องการออกอาชญาบัตรเพิ่มเติมแก่อวนลากไว้ในวาระการประชุม ทั้งที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกัน อีกทั้งกรมประมงไม่ยอมแสดงหลักฐานเอกสารที่ว่าเรื่องถูกตีกลับมาจากครม. และในวันดังกล่าวทางสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน ประกาศไม่เข้าร่วมการประชุม และออกแถลงการณ์ด่วน คัดค้านการพิจารณาผ่อนผันการจดทะเบียนเรือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายด้วย

 

นอกจากนี้ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านยังยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบว่า การดำเนินการผ่อนผันการจดทะเบียนอวนลากของกรมประมงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน และทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเลได้รับผลกระทบหรือไม่ และวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ตัวแทนเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านก็ได้เข้าชี้แจงแก่คณะอนุกรรมการฯ ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมกับตัวแทนกรมประมง ผู้แทนชาวประมงอวนลาก ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แฉ‘อวนลาก’ทำลายล้างสิ่งแวดล้อมในทะเล

 

 

นายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลกระบี่ แสดงความคิดเห็นว่า การทำประมงด้วยเครื่องมือประมงอวนลาก เป็นการประมงที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลมากที่สุด อวนลากที่ติดอยู่กับเรือ จะลากครูดไปกับพื้นท้องทะเล กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปตั้งแต่ระดับกลางน้ำไปจนจรดพื้นท้องทะเล ไม่เพียงแต่ปลาและสัตว์ทะเลทุกประเภททุกวัยเท่านั้น แต่ยังกวาดเอาปะการัง และหน้าดินพื้นท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ และแหล่งที่อยู่อาศัย แพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ไปจนหมดสิ้น

ผลจากการทำลายล้างทะเล มีผลกระทบต่อการลดลงของสัตว์น้ำอย่างมาก ทำให้กรมประมงประกาศไม่ให้จดทะเบียนเรืออวนลากขึ้นใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา แต่ในความเป็นจริง กลับมีเรืออวนลากเถื่อนที่ไม่มีทะเบียน ลักลอบจับปลาอยู่ในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันจำนวนมาก ส่งผลให้ทะเลไทยเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยลดลง เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวประมงและนักวิชาการทางทะเล ขณะที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ ก็ไม่เคยมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย

 

 

เจออียูเมินซื้ออาหารทะเล-รวมตัวขอจดทะเบียนฟอกตัว

 

 

เวลานี้สหภาพยุโรปซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของตลาดสัตว์ทะเลไทย ได้ประกาศจะไม่นำเข้าสินค้าจากการประมงผิดกฎหมาย ทำให้เรือประมงอวนลากเถื่อนเหล่านี้โดนใบแดง ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้อีก แต่แทนที่กรมประมงจะใช้เงื่อนไขแก้ปัญหา ในการจัดการกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย กลับหาวิธีช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงเรืออวนลากเถื่อนเหล่านี้ โดยการเตรียมนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน 2,107 ลำ ให้กลายเป็นเรือถูกกฎหมาย ด้วยการเปิดให้จดทะเบียน จึงของเรียกร้องให้กรมประมงยุติการดำเนินการดังกล่าว

 

ด้านนายหมาด โต๊ะสอ กรรมการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวประมงชายฝั่งทราบว่า คณะรัฐมนตรีกำลังเตรียมอนุมัติ ให้เรือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายได้จดทะเบียน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของทะเลไทยอย่างรุนแรง ซึ่งกรมประมงมีหน้าที่ในการปกป้องฟื้นฟูทะเล ต้องไม่ผลักดันในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการฟื้นฟูทะเล แต่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกรมประมง ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในสิ่งที่เรียกว่า นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน ทั่วประเทศ 2,107 ลำ โดยกรมประมงให้เหตุผลว่า สัตว์น้ำที่จับได้โดยเรืออวนลากเถื่อนเหล่านี้ ไม่สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ เพราะการบังคับใช้มาตรการไม่ซื้อสินค้าจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เข้าไปยังสหภาพยุโรป

 

 

เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ถ้ากรมประมงไม่หยุด

 

 

นายหมาดกล่าวอีกว่า การแสดงบทบาทของกรมประมงในครั้งนี้ เป็นการแสดงบทบาทที่ควรถูกตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของกรมประมง เพราะบทบาทหน้าที่ของกรมประมง ควรตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญสองประการ ประการแรกคือ การจัดการประมงให้เกิดการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เพื่อคงไว้ซึ่งการผลิตอาหาร และการประกอบอาชีพ ของชาวประมงทั่วประเทศ ประการที่สองคือ การกระจายการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ที่จะช่วยลดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำในสังคม และเกิดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประมง ถ้ากรมประมงดำเนินงานอยู่บนหลักสองประการนี้ ก็จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ ของกรมประมงที่ได้ตั้งไว้ ดังนั้นหากกรมประมงไม่หยุด ผลักดันนิรโทษกรรมเรืออวนลากผิดกฎหมาย ทางกลุ่มประมงชายฝั่ง หรือประมงพื้นบ้าน จะออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             

 

             “อวนลากเป็นอุปกรณ์ประมงทำลายล้าง ส่งผลเสียต่อทรัพยากรและระบบนิเวศท้องทะเล โดยอวนจะกวาดหน้าดินใต้ทะเล ทำลายแหล่งที่อยู่สัตว์น้ำและปะการัง ขนาดตาอวนที่ถี่ยังทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก เป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ การทำประมงอวนลาก จึงถือเป็นการทำประมงที่ไม่รับผิดชอบและไม่ยั่งยืน” นายหมาดกล่าว

 

 

อวนลากทำลายทะเลมากว่า 50 ปี

 

 

สำหรับการทำประมงอวนลากเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นระยะแรกเริ่มของการพัฒนาประมงทะเลของไทย ด้วยศักยภาพของเครื่องมืออวนลากทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินสูงสุด งานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่าอ่าวไทยมีศักยภาพการผลิต (carrying capacity) ของสัตว์น้ำหน้าดินอยู่ที่ประมาณ 750,000 ตัน ซึ่งต้องการการลงแรงประมงอวนลาก (fishing effort) อยู่ที่ 8.6 ล้านชั่วโมง (Muntana, Somsak, 1982 อ้างโดย the Southeast Asian Fisheries Development Center, 1987) อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินด้วยอวนลากเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยปีพ.ศ.2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่า 30 % เป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง ของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2529 ผลผลิตของเรือประมงอวนลากลดลงเหลือ 648,560 ตัน ขณะที่ต้องลงแรงทำการประมงถึง 11. 9 ล้านชั่วโมง

 

งานวิจัยของกรมประมงระบุว่า อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของการทำประมงอวนลากลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2504 อัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลาก อยู่ที่ชั่วโมงละ 297.6 ก.ก. ลดลงเหลือชั่วโมงละ 49.2 ก.ก. ในปีพ.ศ.2525 ชั่วโมงละ 22.78 ก.ก. ในปีพ.ศ.2534 (Phasuk,1994)

 

ปีพ.ศ.2552 งานวิจัยของโอภาส ชามะสนธิ และ คณิต เชื้อพันธุ์ ระบุว่า ปีพ.ศ. 2549 อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียงชั่วโมง 14.126 ก.ก.ในขณะที่งานวิจัยเรื่ององค์ประกอบของผลผลิตอวนลากได้พบว่า สัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัตว์ส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน (Chantawong,1993)

 

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำเสนอโดย FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ร่วมกับกรมประมงในปีพ.ศ.2547 ระบุว่า เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการผลิตของทะเลสูงสุดของสัตว์หน้าดิน การทำประมงอวนลากในอ่าวไทย ต้องลดลงอีก 40 เปอร์เซนต์ แต่ถ้าต้องการทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจสูงสุดต้องลดลงอีก 50 เปอร์เซนต์ ของการลงแรงประมงที่มีอยู่

 

 

 

 

 

แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำก็สูญหายไปหมด

 

 

นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยทัศนคติของชาวประมงชายฝั่ง ต่อผลกระทบของการทำประมงอวนลากพบว่าชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งได้รับความเดือดร้อนจากเรือประมงอวนลากอย่างหนักหนาสาหัสทั่วหน้ากัน อวนลากไม่เพียงแต่ทำลายสัตวน้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศสัตว์น้ำชายฝั่ง แต่ยังได้ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่วางทิ้งไว้ในทะเลเพื่อดักจับสัตว์น้ำให้เสียหายอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าการทำประมงอวนลากส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อตัวทรัพยากรทะเลและวิถีการทำประมงของชุมชนชายฝั่งซึ่งเป็นชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ถึงแม้ว่าการทำประมงอวนลากจะถูกห้ามดำเนินการในเขตพื้นที่ชายฝั่ง 3,000 เมตรทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการของกรมประมง ทำให้การควบคุมการทำประมงอวนลากให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพ ความพยายามของกรมประมงในการควบคุมจำนวนเรือประมงอวนลาก ไม่ให้เพิ่มขึ้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ ในปี พ.ศ.2523 กรมประมงประกาศที่จะไม่ออกใบอนุญาตทำประมงให้กับเรือประมงอวนลากใหม่เพื่อเป้าหมายในการลดจำนวนเรืออวนลากในระยะยาว แต่ด้วยการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการและกลุ่มประมงอวนลากในขณะนั้น ทำให้กรมประมงอนุญาตให้เรืออวนลากผิดกฎหมายที่ไม่มีทะเบียนมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย (ขออนุญาตเรียกว่านิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน) เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 3 ครั้งด้วยกัน ในปี พ.ศ.2525 พ.ศ. 2532 และ พ.ศ.2539 ทำให้เห็นว่าการควบคุมจำนวนเรืออวนลากของกรมประมงที่ผ่านมาเป็นเพียงการควบคุมตัวเลขเรืออวนลากที่จดทะเบียนเท่านั้น แต่มีเรืออวนลากเถื่อนเต็มท้องทะเลที่กำลังรอวันนิรโทษกรรม

 

 

ชี้บิดเบือน เจตนารมณ์ IUU Fishing

 

 

ทั้งนี้เครือข่ายประมงพื้นบ้านระบุว่า การที่กรมประมงกำลังดำเนินการพิจารณานิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนอยู่ในขณะนี้ด้วยเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาการส่งสินค้าประมงของไทยเข้าสหภาพยุโรปตามมาตรการ IUU Fishing ซึ่งมาจากคำว่า Illegal, Unreported and Unregulated Fishing  หมายความว่าสหภาพยุโรปจะไม่นำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงานแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ และเป็นการทำประมงที่ไม่มีการควบคุม แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลวิชาการเรื่องผลกระทบของการทำประมงอวนลากข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของมาตรการ IUU Fishing ของสหภาพยุโรปที่ต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ที่ถือว่าเป็นการทำประมงที่ส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

 

 

 

 

ปัจจุบัน หากอุปกรณ์ประมงอวนลากไม่ได้มีใบอนุญาต (อาชญาบัตร) อยู่แล้ว ถือว่าผิดกฎหมาย โดยประเทศไทยมีนโยบายควบคุมอวนลาก ในปี 2515 ประกาศห้ามอวนลากเข้าเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จากนั้นในปี 2523 มีนโยบายห้ามจดทะเบียนเรืออวนลากอีกต่อไป คือ จะไม่มีการให้ใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก โดยหวังว่าอวนลากที่มีอยู่จะค่อยๆ ลดลง เมื่ออวนเสื่อมสภาพหรือใบอนุญาตหมดอายุ แต่อวนลาก ก็ไม่หมดไปจากท้องทะเลไทย โดยมีการเปิดให้ใบอนุญาตเพิ่มเติมแก่อวนลากเถื่อน บางครั้งใช้คำว่า “นิรโทษกรรมเรืออวนลาก” 3 ครั้งด้วยกันคือ ในปี 2525, 2532 และ 2539

 

 

                 “จากผลการศึกษาต่างๆ ทั้งของ FAO และกรมประมงที่ผ่านมาล้วนบ่งชี้ว่า ท้องทะเลไทยนั้นมีการจับปลามากเกินกำลังที่ขีดความสามารถของทรัพยากรทะเลจะรองรับได้ไปแล้ว (overfishing) และหากจะให้การประมงคงอยู่ได้ ต้องลดจำนวนอวนลากลง 40 เปอร์เซนต์ แต่ล่าสุด เนื่องจากทางสหภาพยุโรปได้มีมาตรการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing) โดยจะไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการทำประมงเหล่านี้ ทำให้กลุ่มประมงพาณิชย์ที่จับปลาด้วยอวนลากเถื่อน (ไม่มีอาชญาบัตร) ไม่สามารถส่งผลผลิตไปขายยังสหภาพยุโรปได้ ได้รับความเดือดร้อน และเรียกร้องให้เปิดจดทะเบียนแก่อวนลากเถื่อนรอบใหม่ เพื่อให้อวนลากผิดกฎหมายเหล่านี้ถูกต้องขึ้นมา และสามารถส่งออกไปขายสหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้กรมประมงยังอ้างผลการศึกษาซึ่งไม่เป็นที่รับรู้มาก่อนว่าท้องทะเลไทยสามารถรองรับเรืออวนลากได้อีก 2,107 ลำ ทำให้สามารถเปิดออกอาชญาบัตรเพิ่มได้อีก” เครือข่ายประมงพื้นบ้านระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: