เว็บไซด์ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ถึงกรณีมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลการแก้ปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในฐานะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงให้ร่วมกับ สมช.นำปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาไปศึกษา และดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการทำงานร่วมกัน แต่ยังคงใช้นโยบายและแนวทางเดิมที่เสนอไว้ต่อรัฐสภา เพียงแต่ให้ไปดูรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมกับสมช.ว่าจะลงไปทำความเข้าใจในพื้นที่และก่อให้เกิดความสงบได้อย่างไร โดยให้ตำรวจช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงไปดูแลเป็นการเฉพาะหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คงไม่ต้อง เพราะได้มอบให้พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ เป็นคณะกรรมการดูแลอยู่แล้ว และยังมี ร.ต.อ.เฉลิม เข้ามาช่วยเสริม
ส่วนการดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เสียขวัญจากการถูกยิงรายวันนั้น นายกฯ กล่าวว่า มีกระบวนการดูแลเยียวยาอยู่แล้ว โดยเฉพาะกองทัพได้ให้ไปดูแลผู้ที่เสียชีวิตแล้ว เพราะทุกคนลงไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนกล้องซีซีทีวีที่ถูกทำลายนั้น ก็ต้องป้องกันและเลือกจุดที่ติดตั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้และปรับวิธีการทำงานในแต่ละพื้นที่อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธว่า “ไม่ใช่คะ อย่ามาพูดอย่างนั้น” จากนั้นนายกฯ หันไปทางพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมกล่าวว่า “คนนี้รู้เรื่องดี”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเด็นข่าวร้อน ผลงานยอดเยี่ยม และต้องปรับปรุงของรัฐบาล กับพฤติกรรมคนไทย ความหวัง และความกลัว ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช จำนวน 2,229 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.2 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์
ผลการศึกษาปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ร้อยละ 55.7 ระบุเป็นปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม การผสมโรงกันของผู้ก่อการร้าย รองลงมาคือ ร้อยละ 46.6 ระบุ ความไม่เป็นเอกภาพของ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน ร้อยละ 45.3 ระบุ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 44.9 ระบุ ความล่าช้าในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ร้อยละ 42.1 ระบุ เจ้าหน้าที่บางหน่วยใส่เกียร์ว่าง ขัดแย้งกันเอง ร้อยละ 36.9 ระบุ เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับขบวนการก่อการร้ายเสียเอง และร้อยละ 23.8 ระบุอื่น ๆ เช่น สภาพพื้นที่เข้าถึงดูแลยาก, ขบวนการสร้างผลงาน และกลุ่มก่อการร้ายต้องการทำลายขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นต้น
ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปสถิติความรุนแรงในสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน ระหว่างวันที่ 20-29 กรกฎาคม 2555 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 20 คน เฉลี่ยวันละ 2 คน และบาดเจ็บอีก 40 คน โดยทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด ยังเป็นชาวบ้าน รองลงมาเป็นตำรวจและทหาร โดยสถิติดังกล่าว พบว่า ในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2555 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงมากกว่าในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2554 และปี 2553 ที่ผ่านมา
โดยในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียง 8 คน โดยเป็นชาวบ้านมากที่สุด และมีผู้บาดเจ็บ 37 คน โดยเป็นทหารมากที่สุด ส่วนช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง 15 คน ยังเป็นชาวบ้านมากที่สุด และมีผู้บาดเจ็บ 15 คน เป็นทหารมากที่สุด
ทั้งนี้ศาสนาอิสลาม ได้แบ่งเดือนรอมฎอนออกเป็น 3 ช่วง และมีความสำคัญแตกต่างกัน ได้แก่ ช่วง 10 วันแรก เป็นช่วงที่พระเจ้าเปิดประตูแห่งความเมตตา ช่วง 10 วันที่ 2 พระเจ้าเปิดประตูแห่งการอภัยโทษ และ ช่วง 10 วันสุดท้าย พระเจ้าเปิดประตูให้บุคคลที่พระองค์กำหนดเป็นชาวนรกออกจากขุมนรก (ที่มาhttp://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=60&id=1604)
ตารางสถิติความรุนแรงในสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน (20-29 กรกฎาคม 2555)
รวบรวมโดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ข้อมูลเมื่อ 12.00 วันที่ 30 กรกฎาคม 2555
ตารางเปรียบเทียบจำนวนเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบจำแนกตามภูมิหลังในห้วงสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน (20-29 กรกฎาคม พ.ศ.2555 หรือ 1-10 รอมฎอน ฮ.ศ.1433) - [คอลัมน์ A] ที่เทียบกับสิบวันแรกของเดือนกรกฎาคมในปีที่แล้ว (20-29 กรกฎาคม พ.ศ.2554) – [คอลัมน์ B] และสิบวันแรกของเดือนรอมฎอนในปีที่แล้ว (1-10 กรกฎาคม พ.ศ.2554 หรือ 1-10 รอมฎอน ฮ.ศ.1432) – [คอลัมน์ C]
หมายเหตุ: เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลามที่นับในแบบจันทรคติ (ฮิจเราะห์ศักราช: ฮ.ศ.) ซึ่งจะแตกต่างกับการนับวันในปฏิทินสากลแบบเกรกอเรี่ยนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเดือนรอมฎอนในแต่ละปีจะร่นเร็วขึ้นราว 10 – 11 วัน
ที่มาของตาราง http://www.deepsouthwatch.org/node/3430
ทางด้าน นางแยนะ สะแลแม แกนนำผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 เดือนรอมฏอน ปี ฮิจเราะห์ศักราช 1433 ซึ่งตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เป็นวันครบรอบ 8 ปี ของเหตุการณ์ตากใบตามปฏิทินอิสลาม จะไม่มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมตั้งใจจะจัดงานดังกล่าวในวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบรอบตามปฏิทินสากล ทั้งนี้ อาจจะจัดหลังจากได้รับเงินช่วยเหลือเยียวผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รายละ 7.5 ล้านบาท รวม 85 คน ส่วนผู้บาดเจ็บจะได้รับตามสภาพอาการที่แต่ละคนได้รับรวม 60 คน
นางแยนะกล่าวว่า แม้ในความเป็นจริง ทางศอ.บต.แจ้งว่า จะมอบเงินเยียวยาดังกล่าวให้ทันภายในเดือนรอมฏอนนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับ เนื่องจากยังติดปัญหาเอกสารเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การมอบเงินเยียวยาดังกล่าวจำเป็นต้องล่าช้าออกไปอีก ทั้งนี้เดือนรอมฏอนยังเหลือเวลาอีก 20 วัน
สำหรับปฏิทินอิสลาม มีจำนวนวันน้อยกว่าปฏิทินสากล 11 วัน เนื่องจากปฏิทินอิสลาม ยึดถือการโคจรของดวงจันทร์ เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ ส่วนปฏิทินสากล ยึดการโคจรของดวงอาทิตย์ เรียกว่าปฏิทินสุริยคติ ทำให้มีวันครบรอบต่างกันและยิ่งห่างออกไปเรื่อยๆ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ