เครือข่ายพลเมืองเน็ตเปิดต้นทุน รัฐทุ่ม‘เซ็นเซอร์เว็บ’ปีละ140ล้าน

1 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2909 ครั้ง

สฤณี อาชวานันทกุล เปิดเผยผลงานวิจัย พบต้นทุนเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต เฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ใช้จ่ายกว่า 139 ล้านบาท ขณะภาคเอกชน ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อราย ยังไม่รวมต้นทุนในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ-ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คอมฯ อาทิ ค่าดำเนินการด้านคดีความ การใช้จ่ายในการเก็บล็อกไฟล์ ในการประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมือง ประจำปี 2555 ในหัวข้อ “อินเทอร์เน็ตกับการจัดทำนโยบายสาธารณะ” ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ “ราคาของการเซ็นเซอร์ : มุมมองทางเศรษฐศาสตร์” ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลวิจัยในเบื้องต้น โดยระบุว่า ประเทศไทยมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตสูงมาก เห็นได้จากอันดับเสรีภาพสื่อโลกของไทย ที่จัดอันดับโดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนที่ลดอันดับลง ขณะที่ต้นทุนของการปิดกั้นยังไม่เคยมีการพูดถึงกันเลย งานวิจัยนี้จะดูที่ต้นทุนของภาครัฐและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต่ใช้ในการปิดกั้น

 

สำหรับภาครัฐ กระทรวงไอซีทีไม่เปิดเผยงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้น แต่จากการศึกษาเอกสารงบประมาณและรายงานการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า กระทรวงไอซีทีน่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 139 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ

 


ที่มา: งานวิจัยของสฤณีและคณะ

 

ในส่วนของภาคเอกชน มีการออกแบบสอบถามไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และเจ้าของเว็บไซต์ 2,000 แห่งที่มียอดผู้มาเยือนสูงสุดจากทรูฮิต มีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมา 38 ราย แบ่งเป็นเจ้าของเว็บไซต์ 36 ราย ISP 1 ราย และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก 1 ราย โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 50 ใช้วิธีให้บุคลากรคอยตรวจสอบเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างเอง (user-generated content) ร้อยละ 25 เขียนสคริปท์หรือโปรแกรมกรองข้อความที่อาจเป็นปัญหา ร้อยละ 11 ให้ผู้ใช้แจ้งเนื้อหาที่มีปัญหา ร้อยละ 7 ซื้อซอฟต์แวร์คัดกรอง และร้อยละ 5 ซื้ออุปกรณ์ (ฮาร์ดแวร์) สำหรับคัดกรอง โดยเนื้อหาหลักที่ปิดกั้นแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 22 เปอร์เซนต์ ลามกอนาจาร 21 เปอร์เซนต์ หมิ่นประมาทผู้อื่น 20 เปอร์เซนต์ การพนัน 18 เปอร์เซนต์ และเนื้อหาโฆษณา 16 เปอร์เซนต์

 

ด้านค่าใช้จ่ายทางตรงในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายเองไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณไม่ต่ำกว่า 26,000 บาทต่อปี นอกจากนี้บุคลากรยังใช้เวลารวม 31,621 ชั่วโมงในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2555 คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 4.1 ล้านบาทต่อปี โดยวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดคือกรณีให้คนคอยตรวจสอบ 2 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 74,282 บาทต่อปี ต่อผู้ให้บริการ 1 ราย ซึ่งสูงพอที่จะบั่นทอนแรงจูงใจของผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายใหม่ในการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้สร้างเนื้อหาหรือแสดงความคิดเห็น

 

ทั้งนี้สฤณีระบุว่า ข้อจำกัดของงานวิจัยในเบื้องต้นคือ ไม่สามารถแยกได้ว่าค่าใช้จ่ายในการปิดกั้นเป็นเงินเท่าไหร่ เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งไม่ได้มีหน้าที่เดียว อาทิ ISOC ดูเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ด้วย อย่างไรก็ตาม ในการวิจัย พยายามแยกรายการที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ออกมา ขณะที่ตัวเลขประเมินของผู้ประกอบการลงทุน ยังไม่รวมต้นทุนการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คอมฯ อาทิ ค่าดำเนินการด้านคดีความ การใช้จ่ายในการเก็บล็อกไฟล์ ซึ่งในงานครั้งหน้าจะออกแบบให้ชัดขึ้นและขยายวงให้มากขึ้น

 

สำหรับต้นทุนทางอ้อมนั้น สฤณีกล่าวถึงตัวอย่างในออสเตรเลียว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ที่รัฐพยายามเซ็นเซอร์ คนที่พยายามคำนวณต้นทุนเป็นผู้ประกอบการบรอดแบนด์เอง ซึ่งมีข้อดีคือง่ายต่อการหาข้อมูล และสามารถอธิบายให้รัฐเห็นว่าเมื่อปิดกั้นความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลงเท่าไหร่ เสียหายเท่าไหร่

 

ด้านวสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บล็อกนัน ตั้งข้อสังเกตต่อการเลือกตัวอย่างในงานวิจัยว่า ควรดูที่จำนวนคนเข้าเว็บกับผู้ใช้จริงด้วย โดยชี้ว่า ต้นทุนจัดการเว็บที่มีแต่คนเข้าอ่านย่อมต่ำกว่าเว็บที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น เช่น เว็บไทยรัฐ คนเข้าเยอะ แต่ไม่ได้เปิดให้แสดงความเห็น ขณะที่เว็บไซต์บล็อกนัน คนเข้าอาจน้อยกว่า แต่วันหนึ่งๆ มีผู้แสดงความเห็น 3,000 ครั้งต่อวัน

 

ขณะที่ ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถามต่อจากงานวิจัยว่า แล้วราคาของการไม่เซ็นเซอร์เป็นเท่าใด เพื่อผู้ที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์จะได้คำนวณหักลบกับราคาของการเซ็นเซอร์ได้ว่าคุ้มหรือไม่ ขณะที่สฤณี มองว่า ราคาของการไม่เซ็นเซอร์นั้นคำนวณยาก เนื่องจากนวัตกรรม และเครื่องมือในการวัดที่คาดว่าจะเกิดจากการไม่เซ็นเซอร์ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

อนึ่ง การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมืองครั้งที่ 1 จัดโดย สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และเครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: