เป็นเวลาสี่สิบปีมาแล้ว นับตั้งแต่การพบทหารญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตกว่าสามทศวรรษในป่าบนเกาะกวมหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง เขาได้รับการต้อนรับกลับญี่ปุ่นเยี่ยงวีรบุรุษ หากแต่ตัวเขานั้นไม่ได้รู้สึกคุ้นเคยกับสังคมสมัยใหม่เลยแม้แต่น้อย
กว่า 28 ปี ที่ โชอิจิ โยโกอิ สิบตรีแห่งกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ซ่อนตัวอยู่ในป่าบนเกาะกวม โดยมีความเชื่ออย่างยิ่งว่าสหายร่วมรบของเขาจะกลับมารับเขากลับบ้านในวันหนึ่ง และแม้กระทั่งในตอนที่เขาถูกพบโดยกลุ่มนายพรานในป่าบนเกาะกวม เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1972 ด้วยวัย 52 ปี เขาก็ยังอยู่ในอาการหวาดระแวง และเชื่อว่า อาจถูกสังหาร
“เขาตื่นตระหนกตลอดเวลา” ด้วยความที่อยู่ตัวคนเดียวในป่ามาหลายปี ทำให้โชอิจิมีอาการตื่นตกใจเวลาที่ถูกผู้คนรอบข้างจับจ้อง เขาเคยพยายามแย่งปืนไรเฟิลของนายพราน แต่เนื่องจากกินอาหารไม่เพียงพอมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้เขาไม่มีแรงที่จะตะลุมบอนกับนายพรานเหล่านั้น “เขากลัวว่าจะถูกนายพรานเหล่านั้นเอาตัวไปในฐานะเชลยศึก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายเป็นอย่างยิ่งสำหรับทหารญี่ปุ่น ซึ่งเขาคิดว่าจะมีผลไปถึงครอบครัวของเขาในญี่ปุ่นด้วย” โชอิจิ ร้องให้และร้องขอให้พรานป่าเหล่านั้นฆ่าเขาเสียระหว่างที่ถูกนำตัวออกมาจากป่า โอมิ ฮาตาชิน หลานของโชอิจิ เล่า
ฮาตาชิน ใช้เวลาหลายปีในการรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์การใช้ชีวิตในป่าของลุงเขา โดยความทรงจำของ โชอิจิ โยโกอิ ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น ภายหลังการพบตัวเขา 2 ปี เช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลการพบตัวเขาโดยกลุ่มนาย พราน ณ วันนั้น หนังสือเกี่ยวกับตัวเขา ถุกพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี 2009 ชื่อ สงครามและชีวิตบนเกาะกวม ของพลทหาร โชอิจิ “ผมภูมิใจในตัวเขามาก เขาเป็นคนค่อนข้างขี้อายและพูดน้อย เขาเป็นคนดี” ฮาตาชินกล่าวเพิ่มเติม
บททดสอบสุดโหดของโชอิจิ เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1944 เมื่อกองทัพสหรัฐบุกเกาะกวมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการบุกตอบโต้ญี่ปุ่นทางทะเลฝั่งแปซิฟิก การรบดำเนินไปอย่างดุเดือด ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายนั้นสูงมาก แต่เมื่อการบัญชาการรบของกองทัพญี่ปุ่นถูกตัดขาด พลทหารอย่าง โชอิจิ และ คนอื่นๆ ในหน่วยก็ถูกลอยแพ
“พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตตัวเอง พยายามกลบเกลื่อนร่องรอยของตัวเองไม่ให้ถูกตรวจพบโดยการเดินในป่าหรือพุ่มไม้เพื่อไม่ให้เกิดรอยเท้า พวกทหารดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงแรกโดยการจับวัว ควาย ในพื้นที่มากินเป็นอาหาร “ ฮาตาชิน เล่าให้ผู้สื่อข่าวบีบีซี ฟัง
ด้วยกลัวว่าจะถูกทหารสหรัฐจับได้ พวกเขาจึงได้ตัดสินใจในที่สุดที่จะย้ายเข้าไปอาศัยในป่าที่ลึกกว่าเดิม แต่สุดท้ายก็ถูกพบโดยพรานป่า ซึ่งที่นั่น พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ ด้วยการกินคางคกพิษ ปลาไหลแม่น้ำและหนู โชอิจิ สร้างกับดักจากต้นอ้อป่าขึ้นมาเพื่อใช้ดักปลาไหล และเขายังได้ขุดหลุมเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย โดยใช้ไม้ไผ่ นำมาค้ำเป็นโครงสร้างเพื่อเสริมความแข็งแรง เขาเป็นคนเจ้าปัญญามาก และ การหาอะไรให้ตัวเองทำอยู่เสมอ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เขาไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง รวมถึงอาการคิดถึงครอบครัวด้วย หลานของเขาเล่า
หนังสือเรื่องความทรงจำของโชอิจิ เผยให้เห็นความไม่สิ้นหวังในช่วงเวลาที่ไร้ความหวังของเขาในขณะที่ซ่อนตัวในป่า โดยเฉพาะในช่วง 8 ปีสุดท้ายที่เขาต้องอยู่ตัวคนเดียว เนื่องจากเพื่อนผู้รอดชีวิตสองคนสุดท้ายตายเพราะน้ำป่าในปี 1964
โยโกอิ สาธิตการใช้งานเครื่องทอผ้าที่เขาประดิษฐ์ด้วยตัวเองเพื่อใช้ขณะอยู่ในป่า
เขาคิดถึงแม่ที่บ้าน สิ่งที่เขาเขียนไว้คือ “มันช่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายและปวดใจเมื่อต้องอยู่ในที่แบบนี้” หรือในอีกสถานการณ์ เช่น เมื่อเขาอยู่ในสภาวะหดหู่จากอาการเจ็บป่วยเมื่ออยู่ในป่า เขาเขียนบอกตัวเองไว้ว่า “ไม่ เราต้องไม่ตายที่นี่ เราต้องไม่ทิ้งศพตัวเองไว้ให้ศัตรู เราต้องกลับไปตายที่หลุมของตัวเองในประเทศของเรา เราเลือกที่จะมีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ มันจะต้องไม่เสียเปล่า”
โชอิจิได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษเมื่อเขาเดินทางกลับบ้าน หลังจากถูกพบสองสัปดาห์ เขาถูกห้อมล้อมด้วยสื่อต่างๆหลายสำนัก เขาถูกสัมภาษณ์เพื่อออกวิทยุและโทรทัศน์ และถูกเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ
ฮาตาชินเล่าว่า ตอนที่โชอิจิแต่งงานกับป้าของเขา ตอนนั้นเขาอายุหกขวบ และลุงของเขาก็ไม่เคยปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในสังคมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นได้เลย เขายังไม่ประทับใจกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็วหลังสงคราม ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยบ่นขึ้นมาเมื่อเห็นแบงค์หนึ่งหมื่นเยนว่า เงินของเรากำลังจะไม่มีค่า
ฮาตาชินยังเล่าอีกว่า ยิ่งลุงของเขาแก่ลงเขาก็ยิ่งคิดถึงอดีตของตัวเองมากขึ้น เขากลับไปเยี่ยมเกาะกวมกับภรรยาของเขาอีก 2-3 ครั้ง ก่อนที่เขาจะตายในปี 1997 เครื่องใช้ต่างๆของเขาขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า ซึ่งรวมถึงกับดักปลาไหลของเขา ยังคงถูกเก็บและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณท์เล็กๆบนเกาะกวม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ