‘รถคันแรก’กระชากศก.พุ่ง-ค่ายรถยนต์เฮ ยอดขายครึ่งปีทะลุล้านคัน-'โตโยต้า'นำลิ่ว หวั่นกระทบจราจร-ก่อหนี้คนกระเป๋าแบน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 2 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5166 ครั้ง

กว่า 1 ปีแล้ว นโยบายประชานิยม 'รถคันแรก' ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ยังถกเถียงไม่รู้จบถึงข้อดี-ข้อเสียของนโยบายนี้ ทั้งในกลุ่มการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ หรือในระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้ง'ดอกไม้'แห่งความชื่นชม และ'ก้อนอิฐ'ที่วิพากษ์อย่างรุนแรงว่าจะสร้างปัญหาในอนาคต ศูนย์ข่าว TCIJ จึงประมวลข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรถคันแรกทั้งในเชิงบวกและลบ ผลกระทบต่างๆ ในแง่เศรษฐกิจ สังคม และวินัยการคลัง จำนวน 3 ตอน เพื่อพิสูจน์ทราบว่าแท้จริงแล้ว 'รถคันแรก' เป็นยาชุบชีวิต หรือพิษที่ซ่อนเร้นกันแน่ 

 

 

ยอดขายรถปี 55-ทุบสถิติ 1.3 ล้านคัน

 

 

ยอดขายรถยนต์ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ถือว่าทุบสถิติเก่า ๆ แบบกระจุยกระจาย นอกจากนี้ยอดขายในแต่ละเดือนก็ทุบสถิติกันเองเป็นว่าเล่น รายงานสถิติการขายรถยนต์เดือนล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 129,509 คัน เพิ่มขึ้น 63.9 เปอร์เซนต์ ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 61,044 คัน เพิ่มขึ้น 71.7 เปอร์เซนต์ รถเพื่อการพาณิชย์ 68,465 คัน เพิ่มขึ้น 57.4 เปอร์เซนต์  รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซ็กเม้นท์นี้ จำนวน 60,389 คัน เพิ่มขึ้น 61.9 เปอร์เซนต์

 

ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 8 เดือน มีปริมาณการขาย 867,703 คัน เพิ่มขึ้น 48.6 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นยอดขายสะสม 8 เดือน ที่สูงกว่ายอดขายสะสมของทั้งปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศมียอดจำหน่ายสูงที่สุด ตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 46.6 เปอร์เซนต์ ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 50.2 เปอร์เซนต์ เป็นผลจากความต้องการของตลาดรถยนต์ในประเทศที่มีอยู่สูง ประกอบกับกำลังการผลิตที่มากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดรถยนต์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘โตโยต้า’นำโด่งตลาดรถทุกชนิด

 

 

สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม - สิงหาคม 2555

 

ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 867,703 คัน เพิ่มขึ้น 48.6 เปอร์เซนต์

                              

อันดับที่ 1 โตโยต้า            334,183 คัน                เพิ่มขึ้น   54.4%             ส่วนแบ่งตลาด 38.6%

อันดับที่ 2 อีซูซุ                 132,957 คัน                เพิ่มขึ้น   26.5%             ส่วนแบ่งตลาด 15.3%

อันดับที่ 3 ฮอนด้า             86,979 คัน                  เพิ่มขึ้น   42.9%             ส่วนแบ่งตลาด 10.0%

 

ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 328,984 คัน เพิ่มขึ้น 46.6 %

                               

อันดับที่ 1 โตโยต้า          146,878 คัน                 เพิ่มขึ้น    40.0%            ส่วนแบ่งตลาด 38.5%

อันดับที่ 2 ฮอนด้า           84,902 คัน                   เพิ่มขึ้น    49.5%            ส่วนแบ่งตลาด 22.2% 

อันดับที่ 3 นิสสัน            55,408 คัน                   เพิ่มขึ้น    71.7%            ส่วนแบ่งตลาด 14.5%

 

ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) ปริมาณการขาย 424,550 คัน เพิ่มขึ้น 53.2%

 

อันดับที่ 1 โตโยต้า          172,837 คัน                  เพิ่มขึ้น   72.5%             ส่วนแบ่งตลาด 40.7%  

อันดับที่ 2 อีซูซุ               121,652 คัน                  เพิ่มขึ้น   26.5%             ส่วนแบ่งตลาด 28.7%  

อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ          58,378 คัน                   เพิ่มขึ้น   40.6%             ส่วนแบ่งตลาด 13.8%

 

ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 484,719 คัน เพิ่มขึ้น 50.2%

 

อันดับที่ 1 โตโยต้า          187,305 คัน                  เพิ่มขึ้น   68.0%             ส่วนแบ่งตลาด 38.6%  

อันดับที่ 2 อีซูซุ               132,957 คัน                  เพิ่มขึ้น   26.5%             ส่วนแบ่งตลาด 27.4%  อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ             58,378 คัน                    เพิ่มขึ้น   40.6%             ส่วนแบ่งตลาด 12.0%

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คาดยอดขายถึงสิ้นปีทะลุ 2.3 ล้านคัน

 

 

จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ 8 เดือนที่ทำได้มากถึง 867,703 คัน มีแนวโน้มอย่างสูงว่า เป้าหมายยอดขายรถยนต์ปี 2555 ที่บรรดาค่ายรถยนต์หรือภาครัฐ ประเมินว่าน่าจะไปถึง 1.2 ล้านคัน อาจจะต้องปรับเพิ่มประมาณการขึ้นอีก เนื่องจากยอดขายรถยนต์เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ เพราะในปี 2554 ทั้งปี ตลาดรถยนต์ไทยทำยอดขายได้เพียง 794,081 คัน ส่วนยอดการผลิตโดยรวมในปี 2554 มีทั้งสิ้น 1,457,795 คัน

 

ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2555 ประมาณการว่า ตลาดรถยนต์ไทยจะทะลุ 1 ล้านคันเป็นครั้งแรก แต่หลังผ่านช่วง 3-4 เดือนแรกของปี 2555 ไม่นาน คนในวงการรถยนต์ตัดสินใจปรับตัวเลขยอดขายทั้งปีขึ้นเป็น 1.2 ล้านคัน

 

กระทั่งเมื่อเห็นยอดตัวเลขครึ่งปีแรก ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องประเมินกันใหม่ โดยขยายประมาณการว่า น่าจะไปถึง 1.3 ล้านคัน เพราะในช่วงปลายปีจะเป็นเวลาที่รถยนต์ขายดีที่สุดนั่นเอง

 

และประมาณการยอดผลิตรถยนต์โดยรวมของไทยในปี 2555 คาดว่าจะขึ้นไปแตะหลัก 2 ล้านคันเป็นครั้งแรก ก่อนขยายเป็น 2.3 ล้านคันในเวลาต่อมา

 

 

‘น้ำท่วมใหญ่-นโยบายรถคันแรก’ ปัจจัยหนุน

 

 

ยอดขายรถยนต์ในปี 2554 ที่ลดลงจากปี 2553 ทั้งที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในเมืองไทยจะเติบโตต่อเนื่องทุกปี สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปี ทำให้ยอดขายสะดุดอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้าย ไม่เพียงเพราะผู้บริโภคต้องนำเงินไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านเรือนเท่านั้น หากแต่โรงงานผลิตก็โดนน้ำท่วมไม่สามารถผลิตได้ เช่น โรงงานฮอนด้า ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องหยุดการผลิต 100 เปอร์เซนต์

 

ส่วนโรงงานของค่ายอื่นๆ อาทิ โตโยต้า เชฟโรเลต มาสด้า หรือฟอร์ด ที่นับว่าเป็นโรงงานระดับแนวหน้าของประเทศ แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรง แต่เจอปัญหาที่บรรดาซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถเปิดโรงงานได้ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุด น้ำท่วมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ปี 2554 ลดลงอย่างมาก

 

แต่การลดลงของยอดขายรถยนต์ในปี 2554 จากเหตุน้ำท่วมใหญ่ ในอีกมุมหนึ่งกลับเป็นอานิสงส์ดีส่งต่อมายังปี 2555 เนื่องเพราะมีรถยนต์เสียหายจำนวนมาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงต้องหันมาซื้อรถยนต์ใหม่ทดแทน รวมทั้งผู้บริโภคที่วางแผนจะซื้อรถช่วงปลายปี 2554 ซึ่งเป็นฤดูขายที่มากที่สุดของทุก ๆ ปีอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม จึงต้องชะลอการซื้อออกไปก่อน

 

กระทั่งช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2555 โรงงานผลิตรถยนต์รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วน กลับมาเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง ประกอบกับความต้องการรถยนต์ที่อั้นมาจากปลายปี 2554 ทำให้ยอดขายรถยนต์พุ่งทะยานเกินความคาดหมาย

 

ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ในปี 2555 พุ่งสูงอย่างมากคือ ‘นโยบายรถคันแรก' ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนโยบายที่มาคู่กับ 'บ้านหลังแรก' ถือว่าเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย ใช้หาเสียงอย่างได้ผล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปิดเงื่อนไขหลัก ‘นโยบายรถคันแรก'

 

 

นโยบายรถคันแรก ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เงื่อนไขหลัก ๆ ของนโยบายรถคันแรก กรณีรถเก๋งต้องที่มีความจุหรือปริมาตรกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ซีซี. หรืออยู่ในเซกเม้นต์ ‘รถซิตี้คาร์' เช่น โตโยต้าวีออส โตโยต้ายาริส ฮอนด้าซิตี้ ฮอนด้าแจ๊ส มาสด้า 2 เป็นต้น

 

ส่วนเก๋งอีกรุ่นที่ได้สิทธิ์ไปด้วยคือ ‘รถอีโคคาร์' เพราะมีความจุกระบอกสูบ ประมาณ 1,200 ซีซี. เช่น นิสสันอัลเมร่า นิสสันมาร์ช ซูซูกิ สวิฟต์ มิตซูบิชิมิราจ ฯลฯ

 

 

รถปิกอัพก็ได้สิทธิ์รถคันแรกเช่นกัน

 

 

ผู้ซื้อต้องเป็นบุคคลที่ไม่เคยมีชื่อครอบครองรถยนต์มาก่อน จะได้สิทธิ์รับเงินภาษีสรรพสามิตคืนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งภาษีดังกล่าวรัฐบาลจะเรียกเก็บจากรถยนต์ที่ผลิตออกจากโรงงานทุกคัน คิดตามปริมาตรกระบอกสูบ ยิ่งปริมาตรสูงเท่าไหร่ก็จะเก็บแพงเท่านั้น ยกเว้นแต่รถปิกอัพที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตในราคาถูก แม้ปริมาตรกระบอกสูบจะสูงกว่ารถเก๋งทั่วไปก็ตาม

 

ภาษีสรรพสามิตที่รัฐเรียกเก็บจากรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในข่ายรถคันแรก หากเป็นกรณีรถซิตี้คาร์ จะเรียกเก็บอยู่ประมาณ 100,000 บาทเศษ จึงเท่ากับว่าผู้ซื้อจะได้รับเงินภาษีคืนสูงสุด 100,000 บาท

 

ส่วนรถอีโคคาร์จะเก็บภาษีสรรพสามิตราว 60,000 บาทเศษ และปิกอัพอยู่ที่ 30,000-50,000 บาท รถ 2 ประเภทนี้ผู้ซื้อจะได้เงินคืนตามจำนวนภาษีสรรพสามิตที่รัฐเรียกเก็บไปจริง

 

ภาครัฐจะคืนภาษีให้เมื่อครอบครองรถยนต์ไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี และผู้ซื้อห้ามขายเปลี่ยนมือภายในเวลา 5 ปี มิเช่นนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตที่ได้ไป คืนกลับเข้ารัฐตามปกติ

 

 

คาดยื่นขอเงินคืน 4.25 แสนคัน เกือบ 7 พันล้านบาท

 

 

ระยะเวลาช่วง 10 แรกจากเดือนกันยายน 2554 - กรกฎาคม 2555 กระทรวงการคลังรายงานว่า ยอดผู้มาใช้สิทธิ์โครงการรถคันแรกมีจำนวน 93,833 ราย รวมจำนวนเงินภาษีที่รัฐบาลจะต้องจ่ายคืนประมาณ 6,823 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง คาดว่าความต้องการซื้อรถยนต์คันแรกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง การเพิ่มขึ้นของยอดซื้อรถในครึ่งปีหลัง ที่กระทรวงการคลังคาดการณ์นั้น ปัจจัยสำคัญคือผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการรับรถยนต์ในโครงการรถคันแรก และขยายเวลาการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกออกไป โดยให้ผู้ขอใช้สิทธินำเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมมายื่น ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขา ภายในระยะเวลา 90 วัน ถัดจากวันรับมอบรถยนต์ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการขยายเงื่อนไขรถคันแรก จากเดิมต้องจดทะเบียนภายในสิ้นปี 2555 เลื่อนออกไปไม่มีกำหนดเพียงแต่ผู้ขอใช้สิทธิ์ต้องจองซื้อภายในสิ้นปี 2555

 

การขยายเงื่อนไขดังกล่าว มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชน รวมถึงค่ายรถยนต์ที่ประสบปัญหาปิดโรงงานไปหลายเดือนช่วงน้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกประชาชนแห่จองซื้อรถจำนวนมาก จนโรงงานผลิตไม่ทัน มียอดค้างผ่อนชำระยาวนานหลายเดือน ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเสียสิทธิ์ เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนรถใหม่ได้ทันในสิ้นปี 2555 ครม.จึงอนุมัติขยายเงื่อนไขรถคันแรกออกไปดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ผู้ที่ขอใช้สิทธิรถคันแรก จะต้องซื้อหรือจองรถยนต์ และยื่นคำขอใช้สิทธิภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และหากได้รับมอบรถยนต์แล้ว จะต้องยื่นหนังสือสัญญายินยอมสละสิทธิ์การโอนรถยนต์ใหม่คันแรก สำเนาหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ ในกรณีการซื้อด้วยเงินสด ต้องนำสำเนาใบเสร็จรับเงินหรือสำเนาสัญญาซื้อขาย สำเนาเอกสารการรับมอบรถยนต์มาด้วย

 

ส่วนในกรณีเช่าซื้อต้องยื่นสำเนาใบเสร็จรับเงิน สำเนาเอกสารการรับมอบรถยนต์  สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ สำเนาคู่มือจดทะเบียนต่อสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขาภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันถัดจากรับมอบรถยนต์ สำหรับในเงื่อนไขใหม่นี้กำหนดกรอบไว้ว่า ชื่อผู้ซื้อที่ระบุในใบจองรถยนต์ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ซื้อรถยนต์ ที่ยื่นขอใช้สิทธิดังกล่าวเท่านั้น หากเป็นบุคคลอื่นจะไม่ได้รับสิทธิ เพื่อป้องกันการซื้อและขายใบจองรถยนต์

 

ซึ่งการขยายเวลาการรับรถในครั้งนี้ ทำให้คาดการณ์ตัวเลขรถที่ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสรรสามิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 425,000 คัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ‘นโยบายรถคันแรก

 

 

แน่นอนว่านโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมาไม่จำเพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกรัฐบาลที่ผ่านมา หรือแม้แต่ในอนาคตย่อมต้องมี 2 ด้านคือบวกและลบเสมอ อยู่ที่ว่าด้านไหนจะมีมากกว่ากัน และที่สำคัญการมองบวกหรือลบ อยู่ที่จุดยืนของผู้มองด้วยเช่นกัน

 

นโยบายรถคันแรก’ ก็ไม่ต่างกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล สำหรับผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล หรือคนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ย่อมชื่นชอบ แต่หากไปถามฝ่ายค้านหรือคนที่ไม่ได้สิทธิ์รถคันแรก อาจจะเป็นด้วยไม่มีเงินซื้อ หรือตัวเองมีรถอยู่ก่อนแล้ว ย่อมไม่ค่อยพอใจนโยบายนี้มากนัก

 

ในส่วนของข้อดีที่เห็นชัดเจน คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างเงินหมุนเวียนมหาศาลในธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่ระดับต้น ๆ ของทุกประเทศ ธุรกิจรถยนต์ถือว่ามีความสำคัญและขนาดใหญ่โตไม่น้อยกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบจากต่างประเทศนับตั้งแต่หลังวิกฤตน้ำท่วม ทำให้ตัวเลขจากธุรกิจรถยนต์จึงกลายเป็นตัวเลขที่สวยงามขึ้นมาทดแทนได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

และตั้งแต่รัฐบาลประกาศนโยบายรถคันแรก ที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดไม่พ้นการขยายโรงงาน หรือย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ส่วนผลเสียมากที่สุดอยู่ที่ภาครัฐต้องเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตไปจำนวนไม่น้อย ซึ่งผู้คัดค้านมองว่าหากนำเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชน หรือนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นจะมีประโยชน์มากกว่าจะมาอุ้มเฉพาะผู้ที่มีกำลังซื้อรถยนต์เพียงอย่างเดียว

 

นอกจากนี้ปัญหาจราจรยังเป็นอีกข้อหนึ่งที่หลายคนวิตกว่าเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากนโยบายรถคันแรก เพราะปริมาณรถยนต์บนท้องถนนจะมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ของผิวการจราจรยังเท่าเดิม ย่อมสร้างปัญหาให้เมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หรือสงขลา ที่มีรถเข้ามาแย่งใช้พื้นที่มากขึ้น

 

สำหรับอีกปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาให้เห็นก็คือ การสร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อรถในปีนี้ ด้วยแรงกระตุ้นจากนโยบายดังกล่าว ด้วยหวังว่าจะได้คืนภาษีถึง 100,000 บาท แต่สิ่งที่ตามมาคือ สัดส่วนของผู้ซื้อรถด้วยเงินสดนั้นมีน้อยนิด ยิ่งเมื่อเทียบการกับซื้อรถยนต์เงินผ่อน และการซื้อรถยนต์ครั้งนี้อาจสร้างปัญหากับกับผู้ซื้อ ในกรณีที่ไม่ประเมินกำลังรายได้ของตัวเอง ว่าสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีภาระผูกพันไปถึง 4-6 ปี

 

ซึ่งส่วนหนึ่งของผู้ซื้อรถยนต์เชื่อว่า มีการกู้ยืมเงินเพื่อมาผ่อนชำระในรายเดือน และสุดท้ายผ่อนชำระไม่ไหว ต้องถูกยึดคืน ทำให้ต้องสูญเสียทั้งเงินดาวน์ เงินผ่อน และยังไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเองด้วย อาจสร้างปัญหาให้สังคมโดยไม่จำเป็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: