ภาคปชช.ยื่น 15,000ชื่อกม.เสมอภาคระหว่างเพศฯ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 2 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1865 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายผู้หญิง ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอื่น ๆ กว่า 100 คน เข้ายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน พร้อมเอกสารเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 15,636 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา

 

สำหรับพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน ดังกล่าว มีการระดมความเห็นจากกลุ่มผู้หญิงภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาแนวทางกฎหมายความเสมอภาคระหว่างเพศในต่างประเทศ ได้แก่ กฎหมายจากประเทศเวียดนาม สเปน และฟิลิปปินส์ และปรับแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในทุกรูปแบบ โดยครอบคลุมการกีดกันทางเพศ ทั้งการกระทำทางตรงหรือทางอ้อม และส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง ตลอดจนคุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับเรื่องกล่าวกับกลุ่มภาคประชาชนที่มายื่นเสนอกฎหมายว่า ขณะนี้มีร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา 2 ฉบับ (1.ร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว 2.ร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร) ส่วนร่างกฎหมายฉบับของประชาชนนี้จะถูกนำเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบรายชื่อซึ่งอาจต้องใช้เวลา และอาจเข้าสู่การพิจารณาไม่ทันปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาทันสมัยประชุมหน้า ที่จะมีการเปิดสภา เพื่อพิจารณากฎหมายในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว จะต้องนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน เพราะมีการจัดตั้งกองทุน เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองแล้ว กฎหมายจึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

 

ด้านนางอุบล ร่มโพธิ์ทอง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ หนึ่งในผู้เข้ายื่นเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ช่วงระหว่างการรอคำตอบจากรัฐสภาทางกลุ่มก็จะจัดการให้การศึกษาภายใน เนื่องจากร่างกฏหมายภาคประชาชนที่ยื่นไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงในชั้นต่าง ๆ ของการพิจารณากฎหมาย และอาจต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเดินหน้าการเคลื่อนไหวต่อไป นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการทำงานของรัฐสภาด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             “กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิงฉบับแรกของประเทศ ถือเป็นความหวังของผู้หญิงทุกคน ในเรื่องการเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิ์” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบกล่าว

 

 

ส่วนความแตกต่างของร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชน กับฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา นางอุบลกล่าวว่า ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะคุ้มครองกลุ่มคนที่มีเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด คือเป็นการคุ้มครองคนทุกเพศ และคณะกรรมการมีความเป็นอิสระ โดยมีองค์ประกอบของภาคประชาชนเท่าๆ กับตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐ อีกทั้งมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ที่มีการกำหนดบทลงโทษเอาไว้ด้วย และมีกองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่สนับสนุนงบประมาณโดยรัฐ

 

 

             “กฎหมายที่คุ้มครองตัวเรา เราก็ต้องเป็นผู้ร่วมกำหนด” นางธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าว

 

 

นางธนพรแสดงความเห็นว่า การร่างกฎหมายที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาเนื่องจากเจ้าของปัญหาตัวจริงไม่ได้ร่วมคิดร่วมแก้ด้วย จึงกลายเป็นการเอาปัญหามาสุมขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนกฎหมายฉบับนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิของแรงงานที่เชื่อมโยงกับกฎหมายประกันสังคมและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำตามที่รัฐบาลเคยบอกไว้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนเปรียบเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล ที่ยกร่างโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

ที่มา:โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

http://ilaw.or.th/node/1661

 

1.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชน ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...” ซึ่งเป็นการขยายความหมายของ “ความเท่าเทียม” ให้บังคับใช้ได้ ต่างจากชื่อของร่างกฎหมายหน้าตาคล้ายกันของรัฐบาล ที่ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...” 

 

2.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้นิยามคำว่า “การเลือกปฏิบัติ” โดยไม่มีข้อยกเว้น ต่างจากร่างฉบับของรัฐบาล ที่ระบุให้สามารถเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้ ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ  (มาตรา ๓)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชน เพิ่มบทบัญญัติห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยรวมถึงห้ามกระทำความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศภาวะ รวมถึง ความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุประเด็นนี้ (มาตรา ๙)

 

4.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชน เพิ่มหมวดการคุ้มครองและการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ กำหนดมาตรการส่งเสริมในด้านต่างๆ และกำหนดให้คำนึงถึงกลุ่มผู้ที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษเป็นลำดับแรกเสมอ ได้แก่ หญิงที่อยู่ในภาวะยากลำบาก รวมถึงผู้ที่ได้รับความรุนแรงเนื่องจากเพศหรือ เพศภาวะและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กผู้หญิง หญิงพิการ หญิงทุพพลภาพ หญิงวิกลจริต หญิงสูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ต้องเลี้ยงดูบุตรโดยลำพัง หญิงที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการแสดงออกหรือมีเพศภาวะซึ่งแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ในขณะที่ร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุ (หมวดที่ ๒)

 

5.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชน กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับชาติ  โดยเพิ่มคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ในสัดส่วนที่สมดุลกับคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย คณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๕ คน ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ๕ คน และผู้แทนจากองค์กรหรือกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ จำนวน ๕ คน ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและจากองค์กรเอกชน รวม ๖ คน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา ๒๐)

 

6.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชน กำหนดที่มาของคณะกรรมการในกลไกรับร้องเรียน คือ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ  (คณะกรรมการ ว.ล.พ.) มาจากกระบวนการสรรหา  โดยให้ “องค์กรเอกชน” และภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเสนอชื่อเพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือก รวมทั้ง กำหนดสัดส่วนหญิง-ชาย ในคณะกรรมการฯ  ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง  (มาตรา ๒๘)

 

7. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นสำนักงานเลขาธิการในการกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ใช้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (มาตรา๓๒)

 

8.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนกำหนดสัดส่วนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่สมดุล ในคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยรวมถึงผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ผู้แทนจากกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุที่มาชัดเจน (มาตรา ๕๔)

 

9.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้ผู้เสียหายมี สิทธิขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง การบรรเทาทุกข์ หรือชดเชย ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ใช้คำว่า สิทธิขอรับการสงเคราะห์ (มาตรา ๔๖)

 

10.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และระบุสัดส่วนงบประมาณที่รัฐต้องจัดสรร ทั้งเพื่อการชดเชยบรรเทาทุกข์ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณจากรัฐ (มาตรา ๕๒)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: