โพลชี้ส.ส.ทำภาพลักษณ์เสื่อม ทำให้แตกแยกมากกว่าปรองดอง

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 2 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1204 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากประชาชนทุกสาขาอาชีพ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการลงพื้นที่ภาคสนาม และการโทรศัพท์สัมภาษณ์ จำนวน 1,374 คน ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2555

 

เมื่อถามถึง ความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ

ฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 46.38 ระบุว่า พยายามที่จะหาทางออกให้กับพรรคพวกของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง ร้อยละ 33.33 ระบุว่า ได้ทำหน้าที่ของตนเองในการผลักดันให้มีการพิจาณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเร่งรีบ และร้อยละ 20.29 ระบุว่า รักพวกพ้องมากเกินไป และหลงกับอำนาจในเสียงข้างมาก

ฝ่ายค้าน  ร้อยละ 41.90 ระบุว่า ใช้วาจา และพฤติกรรมที่รุนแรง ใช้อารมณ์ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ร้อยละ 39.52 มีความพยายามในการทำหน้าที่ของตนเอง และตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล และร้อยละ 18.58 ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

ส่วน ประธานสภา ร้อยละ 39.95 ระบุว่า ไม่มีความเด็ดขาด สุภาพเกินไป ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในสภาได้ ร้อยละ 33.58 ระบุว่า ไม่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ร้อยละ 26.47 ระบุว่า มีความพยายามในการทำหน้าที่ของประธานอย่างเต็มที่แล้ว

 

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยหรือไม่ ร้อยละ 77.34 ระบุว่า มีผลกระทบ เพราะรัฐสภาเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เห็นถึงความแตกแยกมากกว่าการปรองดอง มีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งของคนไทยและต่างชาติ ฯลฯ ร้อยละ 17.33 ตอบว่า ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่เข้าใจเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง เท่าที่ควร ,ไม่ทราบข้อเท็จจริง ว่าใครผิดใครถูก, ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป  ฯลฯ  ส่วนร้อยละ 5.33 ระบุว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ,ในต่างประเทศมีความรุนแรงมากกว่านี้  ฯลฯ

 

เมื่อถามว่า จากสถานการณ์การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ประชาชนคิดว่าจะทำให้การปรองดองเกิดขึ้นได้หรือไม่ ร้อยละ 50.56 ระบุว่า เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างถือประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก, มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ฯลฯ ร้อยละ 32.29 ตอบว่า ไม่แน่ใจ เพราะ ความขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้น, แนวทางการปรองดองยังไม่ชัดเจน, ต่างฝ่ายต่างรักพวกพ้องตนเองมากจนเกินไป ฯลฯ และร้อยละ 17.15 ตอบว่า เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ ฯลฯ

 

เมื่อถามความคาดหวัง ของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ประธานสภา ในการสร้างความปรองดองให้เกิดเป็นรูปธรรม

 

ฝ่ายรัฐบาล ควรปฏิบัติดังนี้  ร้อยละ 56.79 ตอบว่า ทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ดูแลและเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชนก่อน  ร้อยละ 22.72  ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย  ข้อบังคับ กฎระเบียบของรัฐสภา และสังคม  และร้อยละ 20.49 ตอบว่า ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และควรใช้เหตุผลให้มากกว่าใช้อารมณ์

ฝ่ายค้าน ควรปฏิบัติดังนี้  ร้อยละ 43.70 ตอบว่า คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ / ช่วยกันหาทางออกเพื่อ สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้จริง ร้อยละ 28.70 ระบุว่า ควรใช้เหตุผลให้มากกว่าใช้อารมณ์  รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงรัฐบาลอย่างใจกว้างและเป็นธรรม ส่วนร้อยละ 27.60 มองว่าเคารพกฎข้อบังคับ และกติกาของสภา ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ประธานสภา ควรปฏิบัติดังนี้  ร้อยละ 51.26 ระบุว่า ต้องมีความเป็นกลาง  ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ร้อยละ 25.739 ตอบว่า ทำหน้าที่โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ขณะที่ร้อยละ 23.01 ระบุว่า ต้องมีความเด็ดขาด ใช้อำนาจของประธานสภา อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เมื่อถามประชาชนคิดว่า “ทางออกของความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นในรัฐสภาควรแก้ไขอย่างไร ร้อยละ 46.09 ตอบว่า ให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างจริงจัง และเคารพในข้อบังคับ กฎระเบียบ ของรัฐสภา ร้อยละ 36.02 ตอบว่า เปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ใช้เหตุผล ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้  และ ร้อยละ 17.89 ระบุว่า ถอน พ.ร.บ.ปรองดอง ออกไปก่อนเพื่อพิจารณาใหม่ให้รอบคอบก่อนนำเสนอในที่ประชุม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: