ไทยนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี แข่งซื้อกับทั่วโลก
ดร.มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงความจำเป็นของประเทศไทย ที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ที่แม้จะต้องแข่งขันในการหาซื้อกับต่างประเทศ ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเช่นเดียวกัน ทำให้ราคาแอลเอ็นจีสูงขึ้นตามลำดับขณะนี้ว่า ถึงแม้ว่าจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีในราคาแพง แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 70 ของการผลิตกระแสไฟฟ้า ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต
ขณะเดียวกันการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชนิดอื่น เช่น ถ่านหิน, พลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ หรือพลังงานนิวเคลียร์ กำลังถูกต่อต้านอย่างรุนแรง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อจากพม่า หรือ รูปแบบของเหลวอย่างแอลเอ็นจี จึงจำเป็นต้องทำมากขึ้น และการนำเข้าด้วยราคาสูงนี่เอง ย่อมจะส่งผลต่อค่าเอฟทีของไฟฟ้าอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
ญี่ปุ่นปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทุ่มซื้อแอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิง
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันหลายประเทศกำลังแข่งขัน เพื่อหาซื้อก๊าซแอลเอ็นจีกันอย่างรุนแรง เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าไปมากกว่าร้อยละ 90 ทั่วประเทศ ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องเร่งนำเข้าแอลเอ็นจี ผลิตกระแสไฟฟ้าแทนนิวเคลียร์ และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของญี่ปุ่นนี่เอง ทำให้ประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับญี่ปุ่นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีลดลง เพราะสู้ราคากับญี่ปุ่นไม่ได้ และเชื่อว่าญี่ปุ่นจะหาทางกว้านซื้อแอลเอ็นจีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
และจากสถานการณ์ของการแข่งขันการนำเข้าแอลเอ็นจีในขณะนี้ หากประเทศไทยต้องหันไปพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีด้วย จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของราคาพลังงานที่จะสูงขึ้นจากการแข่งขันในตลาด ซึ่งดร.มนูญมองว่า หากประเทศไทยไม่ต้องการจะตกอยู่ในความเสี่ยง เรื่องราคาพลังงานในอนาคต อาจจำเป็นต้องหันมาพิจารณาแหล่งพลังงานระหว่างแอลเอ็นจี ถ่านหิน หรือแม้กระทั่ง นิวเคลียร์ เพื่อแก้ปัญหาด้านพลังงานของไทย ท่ามกลางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ที่กำลังขยายตัวเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
วิกฤตพลังงานทั่วโลกแห่นำเข้าก๊าซแอลพีจี
เพราะความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่แหล่งพลังงานกำลังลดน้อยลงตามลำดับ การหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศ จำเป็นต้องรีบดำเนินการ เพื่อเตรียมเป็นพลังงานสำรองของประเทศ รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความผันผวนทางธรรมชาติ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งพลังงานเดิมๆ ในประเทศ เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นเคยเจอมาแล้วจากการเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนต้องปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานภายในประเทศเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันว่า ญี่ปุ่นต้องประสบปัญหากับการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก หลังโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์โรงสุดท้ายของญี่ปุ่นปิดตัวลง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหันกลับมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานอีกครั้งหนึ่ง โดยพบว่าที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าแทนพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นถึง 9 % หรือ 85.5 ล้านตันต่อปี และจากข้อมูลของกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ระบุว่า เมื่อเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำเข้า LNG สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 8.15 ล้านเมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 28.2 %
นอกจากนี้จากความกังวลใจต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลมาจากการปล่อยมลพิษ จากการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเกินไป มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของหลายประเทศทั่วโลกที่เข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จะเพิ่มสูงขึ้นมากตามไปด้วย เนื่องจากคุณสมบัติสำคัญของก๊าซธรรมชาติ ที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับก๊าซแอลเอ็นจีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศจีน ที่หันมาปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหินที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศมากกว่า
แผนพีดีพี 2010 ทำไทยขยับใช้ก๊าซเพิ่ม
สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์กันว่า ในปีนี้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2555 การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปริมาณ 3,776 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และประมาณการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตของการใช้ก๊าซ เฉลี่ยปีละประมาณ 3-4 % มากน้อย ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย
ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า จากแผนพีดีพี 2010 (PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ในระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2553-2573 มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนจาก 40 % ตามแผนเดิม เป็น 57 % ประกอบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการชะลอการก่อสร้างออกไป การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวทดแทนก๊าซอ่าวไทยจึงมีความจำเป็นในขณะนี้
แอลเอ็นจีจึงเปรียบเสมือนตัวช่วยด้านพลังงานของทุกประเทศทั่วโลก ในยุคของความพยายามที่จะใช้พลังงานให้ได้อย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกไปด้วย หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงด้านธรรมชาติของโลกเป็นสำคัญนั่นเอง
เปลี่ยนจากก๊าซเป็นของเหลวขนส่งง่าย-ลดมลพิษ
สำหรับ LNG หรือ Liquefied Natural Gas หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว แท้จริงแล้วคือก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันใช้เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง โดยทั่วไป แต่ถูกนำมาลดอุณหภูมิให้เหลือ -160 องศาเซลเซียส จนเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว และลดปริมาณลงหลายร้อยเท่า ทำให้สะดวกต่อการขนส่งไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ง่าย สามารถส่งไปยังพื้นที่ที่ท่อส่งก๊าซฯ ไปไม่ถึง โดยมีกระบวนการการเก็บรักษา หรือการขนส่ง LNG ที่จำเป็นต้องใช้ถังชนิดพิเศษที่สามารถรักษาอุณหภูมิให้คงสถานะในรูปของเหลวได้
ก๊าซแอลเอ็นจีถือเป็นพลังงานสะอาด สามารถลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี โดยมีคุณสมบัติพิเศษที่ ไร้กลิ่น ไร้สารพิษ และปราศจากสารกัดกร่อน นอกจากนี้หากเกิดการรั่วไหล ก็ไม่จำเป็นจะต้องหาทางขจัด เนื่องจากแอลเอ็นจีจะระเหยไปในอากาศอย่างรวดเร็ว และไม่เหลือสารตกค้างใดๆ ไว้ เนื่องจากแอลเอ็นจีไม่ได้ถูกบรรจุในถังโดยการใช้ความดันสูง ดังนั้นจึงไม่เกิดการระเบิดใดๆ หากเกิดรอยแตกขึ้นที่ถัง ทั้งนี้ปัจจัยเฉพาะที่จะทำให้เกิดการติดไฟขึ้นได้นั้น แอลเอ็นจีจะต้องกลับไปอยู่ในสถานะก๊าซ รวมทั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมปิด โดยมีปริมาณก๊าซในอากาศระหว่าง 5-15 % และมีประกายไฟเกิดขึ้น จึงจะติดไฟได้
จากแหล่งผลิตขนส่งทางเรือก่อนปรับสถานะส่งเข้าท่อ
สำหรับการได้มาของก๊าซธรรมชาติแล้ว แอลเอ็นจี มีกระบวนการดำเนินการ หลังจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติได้แล้ว ก๊าซธรรมชาติเหล่านี้จะถูกส่งผ่านท่อก๊าซฯ ตรงไปยัง Liquefaction Plant เพื่อผ่านกระบวนการเป็นสถานะให้เป็นของเหลว โดยผ่านกระบวนการแยกเอาไฮโดรคาร์บอนหนักและสารเจือปนอื่นๆ ออกไป จากนั้นจึงนำเอาก๊าซมีเทนที่ได้ไปเปลี่ยนให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิประมาณ -160 องศาเซลเซียส
แอลเอ็นจี เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีลักษณะเหลว เพื่อสะดวกต่อการขนส่ง ทำให้ลดต้นทุนด้านการขนส่งได้ดี โดยการขนส่งแอลเอ็นจีสามารถทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ขึ้นอยู่กับจุดหมายปลายทาง แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นการขนส่งทางเรือ ระหว่างประเทศผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งพบว่า ถึงแม้จะต้องรักษาอุณหภูมิของแอลเอ็นจีให้อยู่ในสถานะของเหลวตลอดการขนส่ง แต่ด้วยการออกแบบถังเก็บให้สามารถกันความร้อนได้สูง ทำให้สามารถขนส่งแอลเอ็นจีได้ แม้ระยะต้นทางกับปลายทาง จะอยู่ห่างกันเป็นระยะหลายพันกิโลเมตร
อย่างไรก็ตามความร้อนส่วนน้อยที่ผ่านเข้าไปได้ ในระหว่างการขนส่ง จะทำให้แอลเอ็นจีบางส่วนเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็นก๊าซ ซึ่งถังแอลเอ็นจีจะถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถจัดการกับก๊าซส่วนเกินนี้ได้ เพื่อรักษาความดันและอุณหภูมิของแอลเอ็นจี ให้คงสภาสถานะของเหลวไว้ ทั้งนี้ก๊าซส่วนเกินที่สูญเสียไป หรือ Boil off Gas Rate (BOG) จะอยู่ที่ประมาณ 0.1% ต่อวัน
หลังจากที่ขนส่งแอลเอ็นจีมาถึงท่ารับแล้ว จะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในถังเก็บที่ถูกออกแบบเพื่อให้รักษาสถานะของเหลวไว้ได้ จนกว่าจะต้องการจึงจะนำมาผ่านกระบวนการให้ความร้อน เพื่อเปลี่ยนสถานะให้กลับมาอยู่ในรูปก๊าซแล้วจึงจะส่งผ่านท่อส่งก๊าซต่อไป
กาตาร์ส่งออกมากที่สุดในโลก
การใช้ประโยชน์ของแอลเอ็นจีในปัจจุบัน นอกจากจะใช้ในการผลิตไฟฟ้า ในภาคสาธารณูปโภค และอุตสาหกรรมแล้ว ในภาคการขนส่ง พบว่า ปัจจุบันหลายประเทศนำก๊าซแอลเอ็นจีไปใช้ทดแทนน้ำมันแล้ว โดยหากเปรียบเทียบข้อดีกับ ก๊าซธรรมชาติปกติ (CNG) คือ สามารถเก็บก๊าซธรรมชาติได้ ด้วยพื้นที่น้อยกว่าก๊าซธรรมชาติปกติ 2.4 เท่า มีน้ำหนักเบา 5 เท่า มีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีค่าบำรุงรักษาสถานีบริการถูกกว่าแบบ CNG 5 เท่า และประหยัดค่าไฟฟ้า ในสถานีบริการได้มากกว่า 10 เท่า
ปัจจุบันจากข้อมูลของสมาพันธ์ก๊าซระหว่างประเทศ (International Gas Union:IGU) ในปี 2553 ระบุว่า กาตาร์ เป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีมากที่สุดถึง 26 % รองลงมาคืออินโดนีเซีย 11 % มาเลเซีย 10 % และออสเตรเลีย 9 % แต่ขณะนี้อินโดนีเซียและมาเลเซีย เริ่มเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้ส่งออกมาเป็นผู้นำเข้า เนื่องจากแหล่งพลังงานสำรองลดน้อยลง จากการที่มีการทำสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีล่วงหน้าในระยะยาวให้กับผู้ซื้อไปแล้ว
ดังนั้นจากสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ราคาก๊าซมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะราคาแอลเอ็นจีที่ปัจจุบันราคาในตลาดจรสูงถึง 17-18 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ปกติแล้วการทำธุรกรรมซื้อขายแอลเอ็นจีในตลาดโลกปัจจุบันนั้น สามารถทำได้โดยการทำสัญญาซื้อขายทั้งในรูปแบบสัญญาระยะยาว ระยะสั้น และการซื้อแบบ Spot หรือการซื้อในตลาดจร โดยซื้อขายด้วยราคา 2 ลักษณะ คือ ตามสูตรราคา (Formula based prices) วิธีการคำนวณใช้ในเอเชียและยุโรปตอนใต้ และ ตามราคาตลาด (Market based prices) วิธีการคำนวณใช้ในยุโรปตอนเหนือ อเมริกา เม็กซิโก และแถบแคริบเบียน โดยราคาจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน หากมีอุปทานเพิ่มขึ้นราคาแอลเอ็นจีจะต่ำ และถ้ามีอุปสงค์เพิ่มขึ้นราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
คาดจีนเร่งซื้อเพิ่มหลังลดผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน
สำหรับรูปแบบการซื้อขายในภูมิภาคต่างๆ นั้น ในส่วนของตลาดหลักของสหรัฐอเมริกา จะมีการซื้อขายในตลาดหลัก คือ เฮนรี่ ฮับ (Henry Hub) ที่มีลักษณะเป็นตลาดก๊าซเสรีที่การเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน ขณะที่การซื้อขายแอลเอ็นจี ที่ประเทศอังกฤษ จะถูกควบคุมด้วย The national Balancing Point ; NBP ซึ่งมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันตลาดนี้มีแหล่งน้ำเข้าหลักคือการนำเข้าผ่านระบบท่อมาจากประเทศรัสเซีย ซึ่งหากเปรียบเทียบราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างตลาดใน UK NBP ประเทศอังกฤษ กับ เฮนรี่ ฮับ ของอเมริกาแล้ว พบว่า ราคาใน UK NBP มีราคาสูงกว่า ตลาดเฮนรี่ ฮับ อเมริกา
ส่วนตลาดซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคเอเชีย ราคาขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง และเกาหลีใต้เป็นอันดับสอง แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนซึ่งกำลังจำกัดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ มีแผนเปิดสถานีรับแอนเอ็นจีขึ้น 3 แห่ง เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ว่า จีนจะกลายเป็นประเทศที่เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจี เป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นในปี 2563
ปตท.นำเข้าคาดกระทบค่าเอฟทีเพราะต้นทุนสูง
สำหรับการประเทศไทย จากข้อมูลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปตท.วางแผนที่จะนำเข้าแอลเอ็นจี ปีละ 1 ล้านตัน ในช่วงแรก โดยจัดซื้อจากตลาดจร (Spot) หรือในรูปแบบสัญญาระยะสั้นจากแหล่งในตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย ตามความต้องการใช้จนถึงปี 2558 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดหาเป็นสัญญาระยะยาว ที่มีการคาดการณ์ว่า จะบรรลุข้อตกลงต่างๆ ในการซื้อขายภายในปีนี้
และหากเป็นไปตามแผนปตท.คาดว่า จะมีการจัดหาในระดับ 3-5 ล้านตัน โดยปัจจุบัน มีการสร้างสถานีรับแอลเอ็นจี ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ (Jetty), ถังจัดเก็บสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (Storage) และหน่วยแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นก๊าซธรรมชาติ (Regasification unit) ก่อนส่งไปยังลูกค้าผ่านเครือข่ายระบบท่อ (Pipeline Network) และยังมีแผนจะก่อสร้างเฟสสองในพื้นที่เดิมเพื่อให้รับแอลเอ็นจีเพิ่มจาก 5 ล้านตันเป็น 10 ล้านตัน ในปี 2559 โดยใช้งบลงทุนราว 25,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามก็ตามความพยายามในการจัดหาแอลเอ็นจี เพื่อใช้ในเป็นแหล่งพลังงานสำรอง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เนื่องจากขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ที่ต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อย่างแน่นอน และจะส่งผลให้กฟผ.อ้างถึงสาเหตุดังกล่าว เพื่อเพิ่มค่า FT อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับความต้องการแอลเอ็นจี ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก การแข่งขันด้านราคา จึงน่าจะเป็นส่วนสำคัญ และเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านราคาพลังงาน ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบอีกทางถึงภาคต่างๆ ที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ก่อนจะกระทบถึงคนไทยอย่างแน่นอน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ