‘อียู’ออกกฎผู้ส่งออกไม้ไทย-ต้องโปร่งใส รู้ที่มาชัดตั้งแต่‘แหล่งปลูก-ที่ตัด’เริ่มปีหน้า ‘อีเกีย’เหน็บไทยยังมีไม้ผิดกฎหมายเพียบ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 2 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4098 ครั้ง

 

ตั้งแต่พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้มูลค่าปีละกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยแหล่งส่งออกหลักของไทยคือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และสหภาพยุโรป ซึ่งจากการส่งออกไม้ที่สร้างรายได้มหาศาลนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่มีความซื่อสัตย์ หรือประกอบธุรกิจท่ามกลางการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ให้ความสนใจว่า ไม้ที่จะนำมาส่งออก หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกจะมาจากแหล่งใด ผิดกฎหมายหรือไม่ มีการลักลอบตัดมาจากป่าอนุรักษ์หรือไม่ หรือใช้แรงงานผิดกฎหมายในการทำงานหรือไม่ เป็นต้น

 

ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่รับซื้อเฟอร์นิเจอร์และวัสดุไม้เหล่านี้จึงเริ่มออกกฎหมาย เพื่อรับสกัดการนำเข้าไม้ที่ผิดกฎหมาย หรือมีที่มาที่ไม่ชัดเจน ขณะที่บางประเทศมีข้อกำหนดทางกฎหมายอยู่แล้ว โดยเรียกร้องให้มีการอนุมัติความถูกต้องทางกฎหมายหรือความยั่งยืน สำหรับผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศที่ส่งออก ความเปลี่ยนแปลงของตลาดผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในวงกว้าง เพื่อยับยั้งการค้าไม้ผิดกฎหมาย

 

ฉะนั้นในฐานะที่ยุโรปเป็นตลาดผลิตภัณฑ์ไม้รายใหญ่ของไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงเกือบ 10,000 ล้านบาท มีมาตรการดังกล่าวออกมา ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับตัว หามาตรการ และทางออกที่เหมาะสมเพื่อปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อียูออกกฏสกัดไม้ผิดกฎหมาย

 

 

สหภาพยุโรปหรืออียู จะประกาศใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หรือ EU Timber Regulation- EUTR  ซึ่ง EUTR  ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 นี้ ซึ่ง EUTR จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ค้า หรือผู้ส่งออกไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้เกือบทุกชนิดของไทย ที่ส่งสินค้าไปยังอียู ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ กรอบรูปไม้ ชิ้นส่วนที่ทำจากไม้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้เกือบทุกประเภท รวมทั้งไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้มาจากป่าปลูก เพื่อการพาณิชย์ เช่น ไม้ยางพารา ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเศษไม้อัด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขี้เลื่อยและเศษไม้  ไม่ว่าจะอัดออกมาในรูปแบบใดก็ตาม รวมไปถึง ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board) ไม้ Particle board  ไม้ลามิเนต รวมถึงกระดาษและเยื่อกระดาษด้วย

 

แนวทางที่ไทยสามารถดำเนินการได้คือ เจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ หรือ VPAs (Voluntary Partnership Agreements) ในกรอบแผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า หรือ FLEGT  (Forest Law Enforcement, Governance and Trade) กับอียู เพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต FLEGT หรือไทยอาจจะเลือกใช้ระบบของไทย ที่สามารถรับรองความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ หรือการจัดตั้งระบบ การตรวจสอบและประเมินค่าของบริษัทที่ทำการค้า หรือ due diligence โดยภาคเอกชน ซึ่งการหามาตรการทางออกสำหรับประเทศไทย จึงมีความเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน หายุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจไทยในสหภาพยุโรป

 

 

ผู้ประกอบการนำเข้าในอียูโดนด้วย

 

 

โดยตั้งแต่มีนาคม 2556 เป็นต้นไป หากอียูตรวจสอบพบไม้ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากไม้ผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการในอียูที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว จะถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าวได้กำหนดภาระหน้าที่ของผู้ประกอบการ ที่นำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ในตลาดอียูว่า จะต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ โดยมีระบบ due dilligence เพื่อจำกัดความเสี่ยงในเรื่องนี้ ซึ่งหมายถึงผลกระทบและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กฎระเบียบฉบับนี้เป็นมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการ FLEGHT ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และจุดสำคัญของแผนปฏิบัติการ FLEGHT คือ ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจหรือ VPAs ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่า ไม้ที่ถูกกฎหมายเท่านั้น จะสามารถเข้าสู่ตลาดอียูได้ และเป็นการส่งเสริมการบริหารจัดการและธรรมาภิบาลป่าไม้ที่ดี รวมถึงเป็นการปกป้องสิทธิของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ของประเทศแหล่งกำเนิดของไม้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

       

 

                                       

ไม้-ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้ายุโรปต้องรู้แหล่งที่มา-ผลิต

 

 

ส่วนข้อปฏิบัติหลักของกฎข้อบังคับการทำไม้ของสหภาพยุโรป มีส่วนกระทบกับการค้าไม้ ทั้งที่มีในครอบครอง และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ผิดกฎหมาย ผ่านข้อปฏิบัติที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.ห้ามมีการจำหน่ายนำไม้ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้เถื่อน เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป 2.กำหนดให้ผู้ค้าในตลาดสหภาพยุโรป ผู้ซึ่งทำการค้าผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นครั้งแรก ต้องทำการตรวจสอบและประเมินค่าของบริษัทที่ทำการค้า หรือ Due diligence และเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้ว ไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้อาจถูกขาย หรือถูกแปรรูป ก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภคปลายทาง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยผู้ประกอบธุรกิจหมายถึง ผู้ค้าในกฎข้อบังคับนี้ มีหน้าที่ต้อง 3.เก็บบันทึกรายชื่อผู้จัดหา / ผู้จัดจ้าง และรายชื่อลูกค้า ทั้งนี้ รายละเอียดของการตรวจสอบ และประเมินค่าของบริษัทที่ทำการค้า หรือ Due diligence ผู้ประกอบการต้องดำเนินการจัดการ เพื่อลดความเสี่ยงของการนำไม้เถื่อนที่อยู่ในครอบครอง หรือผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยไม้เถื่อน เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป

 

องค์ประกอบหลักของระบบการตรวจสอบ และประเมินค่าของบริษัทที่ทำการค้า ได้แก่ 1.ข้อมูล ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ชื่อประเทศผู้มีไม้ในครอบครอง ปริมาณ รายละเอียดของผู้จัดหา จัดจ้าง และข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ  2.ประเมินความเสี่ยง ผู้ประกอบการควรประเมินความเสี่ยงของไม้เถื่อนภายในระบบการค้าของตน โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ระบุข้างต้น และคำนึงถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฏข้อบังคับ และ 3.การบรรเทาความเสี่ยง เมื่อการประเมินแสดงว่า มีความเสี่ยงของไม้เถื่อนในระบบการค้า ความเสี่ยงนั้นสามารถบรรเทาลงได้ โดยการขอข้อมูลเพิ่มเติมและการพิสูจน์จากผู้ค้าส่งของตน

 

ทั้งนี้กฎข้อบังคับดังกล่าว ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์จากไม้ในวงกว้าง รวมทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้สำหรับปูพื้น ไม้อัด เยื่อไม้ และกระดาษ แต่ไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ และหวาย ไม้ไผ่ กระดาษพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร และหนังสือพิมพ์ ในกรณีจำเป็นขอบข่ายของผลิตภัณฑ์สามารถแก้ไขได้

 

 

ยกเว้นให้ไม้รีไซเคิล-และเครื่องดนตรี

 

 

อย่างไรก็ตามกฏระเบียบที่อียูกำหนดออกมา มีข้อยกเว้นสำหรับไม้หรือผลิตภัณฑ์ไม้ที่หมดอายุ ที่จะต้องกำจัดทิ้ง และผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ที่ไม่ว่าจะใช้กระบวนการ เทคโนโลยีใดในการผลิต จะได้รับการยกเว้น ไม่อยู่ภายใต้ EUTR ในขณะที่เศษไม้ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตไม่จัดเป็นของเสีย และยังอยู่ภายใต้กฏของ EUTR กล่องหรือลังบรรจุสินค้าที่ทำจากไม้หรือเศษไม้ และถูกใช้เป็นวัสดุในการรอง หุ้ม หรือแบกรับน้ำหนักของสินค้าที่วางขาย ไม่จัดเป็นสินค้าภายใต้กฏระเบียบของอียู อย่างไรก็ตามหากเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ด่านตรวจระบุว่า กล่องหรือลังไม้นั้น มีสถานะเป็นสินค้า ให้ถือว่ากล่องหรือลังอยู่ภายใต้กฎ EUTR

 

ในขณะที่กระดาษหรือเยื่อกระดาษ จะอยู่ภายใต้บังคับของ EUTR แต่หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำมาจากไม้ไผ่หรือผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จะได้รับการยกเว้นหรือไม่จัดเป็นสินค้าภายใต้กฎระเบียบ EUTR รวมถึงของเล่นและเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ ไม่จัดเป็นสินค้าภายใต้กฎระเบียบ EUTR

 

 

กรมป่าไม้ชี้ไทยขาดข้อมูลเป็นเรื่องยากจะเข้าใจ

 

 

นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ  รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต่อการประกาศใช้มาตรการ FLEGT ในประเทศไทย เปิดเผยว่า การดำเนินการต่างๆ ของกรมป่าไม้ที่ผ่านมา อยู่ภายใต้กฏหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในขอบเขตยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความร่วมมือสาธารณะ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งแผนปฏิบัติการ FLEGT ของอียู สอดคล้องกับภารกิจของกรมป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตาม ควบคุมการทำป่าไม้ และการค้าอุตสาหกรรมไม้ในกระบวนการที่ถูกกฎหมาย

 

ทั้งนี้ปัญหาหลักที่ไทยต้องเผชิญในขณะนี้คือ การขาดความตระหนักและขาดข้อมูล แม้ว่าประเด็นสำคัญเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้างก็ตาม แต่มีคนเพียงไม่กี่กลุ่มจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องและทราบข้อมูล แม้แต่ในกรมป่าไม้ มีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่ทราบว่า ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจของแผนปฏิบัติการ การบังคับใช้กฏหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า หรือ  FLEGT คืออะไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                 “ปัญหาตอนนี้คือ คนไทยขาดข้อมูลความรู้เรื่องการประกาศใช้กฏนี้ของอียู แม้แต่คนในกรมป่าไม้เองก็รู้น้อยมาก เพราะเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำความเข้าใจในเวลาสั้น ๆ”

 

นอกจากนี้กรมป่าไม้ยังมีข้อเสนอให้สนับสนุนเพื่อยกระดับความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเทคนิคการป่าไม้ภายในเอเชีย เนื่องจากการจัดตั้งระบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน ในการควบคุมการค้าไม้ผิดกฏหมายในภูมิภาค มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกรมป่าไม้มีโครงการที่จะดำเนินการร่วมกับประชาคมอาเซียน เพื่อประสานงานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับอียู

 

อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ได้รับการสนับสนุนจากแผนปฏิบัติการการบังคับใช้มาตรการ FLEGT ในภูมิภาคเอเชีย ของสถาบันป่าไม้ สหภาพยุโรป ในการศึกษาและการทำประชาพิจารณ์ในประเด็นที่ท้าทาย คือการคงความสำคัญในตลาดการส่งออกไม้ของเรา

 

 

คณะทำงานไทยอยากให้ทุกฝ่ายเป็นกรรมการ

 

 

ด้าน ดร.สุรีรัตน์ ลัคนาวิเชียร จากศูนย์ป่าไม้และชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยเตรียมการรับมือกับเรื่องกฎของอียู ที่จะประกาศใช้ในเดือนมีนาคมปี 2556 มาประมาณ 2 ปี และก้าวหน้าไปมาก โดยมีผู้แทนจากอียู มาเป็นที่ปรึกษา สิ่งที่ศึกษาคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับมาตรการ FLEGT และ VPAs เราจะจัดวางอย่างไร ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีความสำคัญมากในกระบวนการเจรจา เพราะว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ทั้งนี้เราพยายามผลักดัน ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในส่วนของภาคเอกชน องค์กรต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการด้วย เพื่อที่จะให้การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี เพราะมาตรการ FLEGT จะพูดถึงการทำไม้แบบธรรมาภิบาลในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่มีเรื่องการค้าหรือการบังคับใช้กฏหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พยายามที่จะทำให้ประเทศไทย โปร่งใส มีส่วนร่วมในการทำตรงนี้

 

 

อียูระบุทำเพื่อปกป้องป่า-ส่งคนอบรมในไทยมา 2 ปีแล้ว

 

                                         

ด้าน Svetleana Atanasova เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฏหมาย ฝ่ายความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมและการค้า กระทรวงสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป กรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า เมื่อปี 2003 อียูได้ร่างแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับ FLEGT คือ ธรรมาภิบาลเกี่ยวกับการทำไม้ ป้องกันการทำไม้เถื่อนทั่วโลก และนำไปสู่การป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับป่าไม้ และชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ อียูจึงต้องมีกฏการทำไม้ของอียู เพื่อส่งสัญญาณให้ตลาดทั่วโลกรู้ว่าอียูไม่ต้อนรับไม้เถื่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้าน ดร. Alexander Hinriches ที่ปรึกษาในภูมิภาค โครงการของสหภาพยุโรปเรื่อง  FLEGT สำหรับภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า อียูต้องสร้างแนวร่วมเพื่อผลักดันแนวคิดนี้ ทั้งนี้อียูต้องการทำงานด้วยการมีส่วนร่วมจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งประเทศดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบ อย่างไรก็ตามการเจรจา VPAs อาจจะนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาการทำไม้เถื่อน แต่ VPAs ไม่ใช่กลไกการหยุดการตัดไม้ทำลายป่า ไทยควรจะสร้างความเข้าใจกันเอง ก่อนที่จะเจรจาอย่างเป็นทางการกับอียู ซึ่งอียูได้เข้ามาช่วยเหลือเตรียมการให้ไทยมา 2 ปีแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อทำข้อตกลง ออกใบอนุญาตจากศุลกากรยุโรปว่า ไม้จากประเทศไทยเป็นไม้ที่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมไทย จะตอบรับความต้องการของตลาดอียู และกฏของอียูจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

                               

‘อีเกีย’กระตุกไทยยังมีแหล่งไม้ผิดกฎหมาย

 

 

นอกจากนี้ในการสัมมนา ได้มีผู้แทนจาก บริษัท อีเกีย สวีเดน จำกัด บริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่จากสวีเดน ที่ทำผลิตภัณฑ์จากไม้จำนวนมาก และนำเข้าไม้จากประเทศไทยด้วย Alexey Naumov ผู้ประสานงานด้านการป่าไม้ บริษัท อีเกีย สวีเดน กล่าวว่า 80 เปอร์เซนต์ ของตลาดอีเกียถูกบังคับโดยกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการใช้วัตถุดิบไม้ที่อีเกียจะผลิตเป็นสินค้าจะต้องถูกกฏหมาย ดังนั้นอีเกียไม่ต้องการขาดวัตถุดิบจากประเทศไทย ปัจจุบันนี้ลูกค้าของอีเกียให้ความสนใจกับที่มาของไม้ รองลงมาจากคุณภาพของสินค้า

ในปี 1998 อีเกียเริ่มระบบการตรวจสอบหรือ Due Dilligence เพราะอีเกียต้องการไม้ที่มาจากป่าที่มีการบริหารจัดการที่ดี มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้อย่างถูกต้อง และไม้ต้องไม่มาจากแหล่งที่ระบุที่มาไม่ได้ ซึ่งอีเกียมีระบบการติดตามแหล่งไม้ มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างชัดเจน โดยมีผู้เชี่ยวชาญของอีเกียเป็นคนจำแนก ซึ่งเรียกว่าระบบไอเวย์ ที่อีเกียกำหนดขึ้นเอง ซึ่งจากระบบการตรวจสอบผู้ประกอบการ แหล่งที่มาของไม้ของอีเกียพบว่า หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีการทำไม้อย่างผิดกฏหมาย

 

 

สมาคมธุรกิจไม้เน้นรัฐต้องทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย

 

 

ขณะที่ผู้แทนภาคเอกชนของไทย นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย และรองประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มโรงเลื่อยและโรงอบ กล่าวว่า กฎระเบียบ EUTR และ FLEGT เป็นปัญหาของอาเซียน อียูต้องการไม้ที่ถูกกฎหมายเข้าไปในตลาดอียู ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ ซื้อไม้ที่ถูกต้องจากแหล่งที่มา ซึ่งเราไม่ควรจะคุยกันเรื่องแก้กฎหมาย แต่ต้องคุยกันเรื่องข้อปฏิบัติว่าจะต้องทำอย่างไร

 

 

                                                           

          “ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมไม้ มีทั้งสีขาวและเทา ส่วนที่เป็นสีขาวอยู่แล้วในเรื่องการส่งออกจะทำอย่างไรให้ขาวขึ้น ส่วนที่ยังมัวอยู่นั้น กฎของอียูจะเป็นตัวตั้งต้นที่ดี แต่เราไม่ควรจะปรับเพราะอียู แต่ผู้ประกอบการต้องปรับเพื่อความถูกต้อง อุตสาหกรรมต้องปรับตาม แต่จะทำอย่างไรให้เจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ไม่ยุ่งยาก เราคงไม่ต้องถึงกับเปลี่ยนกฏหมาย แต่เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างโรงไม้ที่พาคณะจากอียูไปดูงาน เป็นโรงไม้เล็กๆ ไม่ได้มีกฏขนาดไอเวย์ ของอีเกีย แต่มีข้อปฏิบัติที่คณะของอีเกียยอมรับได้”

 

 

ผู้แทนจากภาคเอกชนไทยเสนอว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีการออกกฏระเบียบให้ถูกต้อง ถ้าเป็นไม้นำเข้าต้องมีแหล่งที่มาชัดเจน ส่วนไม้ป่าปลูก ปลูกไม้อะไร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้รับรองได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมากรมป่าไม้ดูแลไม้ไม่ได้ทุกประเภท ดังนั้นต้องหาเจ้าภาพร่วมกันดูแล และช่วยทำให้ระบบสอดคล้องกับระบบของอียู EUTR และ FLEGT

 

“ตอนนี้ในประเทศไทยมีโรงงานที่ทำเกี่ยวกับไม้ ทั้งค้าไม้ ผลิต ประกอบ อบ รวม  8,000 โรง ทุกโรงควรจะต้องจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย หลังจากนี้คิดว่าประเทศไทยพร้อมเปิดเจรจา และต้องทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย รวมถึงที่ดินที่ถูกกฏหมายด้วย”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: