รถคันแรก’กระทบผู้ผลิต-ช่างขาดแคลน ชิ้นส่วน-อุปกรณ์รับอานิสงส์ทุ่มขยายรง. รัฐเก็บภาษีเกินเป้า-รายได้กระจายทั่วหน้า

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 3 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5667 ครั้ง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยและโลกต้องร่วมกันเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มจากวิกฤตซับไพรม์ หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ที่ประเทศสหรัฐอมริกา ที่ทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายรายล้มระเนระนาด ไม่ต่างจาก'ต้มยำกุ้ง'ของไทยเมื่อปี 2540 แต่ร้ายแรงและส่งผลกระทบมากกว่านับ 10 เท่า เพราะสหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ถัดมาเป็นวิกฤตหนี้ยุโรป ทำให้ประเทศกรีซ อิตาลี สเปน ถึงกับซวนเซ และทั้งโลกก็พลอยวุ่นวายไปด้วย ส่วนประเทศไทยเองแม้จะประคองตัวมาได้ในวิกฤตซับไพรม์ แต่เมื่อเจอวิกฤตยุโรปซ้ำดาบ 2 ก็ปั่นป่วนเช่นกัน โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่แม้การส่งออกจะกระทบ ทว่าไทยได้อานิสงส์จาก ‘นโยบายรถคันแรก' ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน และเพิ่มการจ้างงาน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีได้มากกว่าประมาณการ

 

 

โรงงานผลิตอะไหล่-ชิ้นส่วนรถยนต์ เพิ่มกำลังการผลิต

 

 

นโยบายรถคันแรกทำให้ประชาชนแห่ซื้อรถราวกับแจกฟรี ส่งผลดีไปยังบริษัทผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตอะไหล่ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ ซึ่งมีเป็นจำนวนมหาศาล เพราะรถแต่ละคันส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่นับผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับค่ายรถยนต์ ล้วนแต่หน้าบานไปตาม ๆ กัน เพราะได้รับออเดอร์ จนต้องผลิตเกือบ 24 ชั่วโมง

 

หากนับสถานการณ์รวมกับใกล้ที่จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานใหญ่ในการผลิตรถยนต์ส่งตลาดโลก ยิ่งทำให้นอกจากค่ายรถยนต์ที่ทุ่มทุน เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนยังย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาอยู่เมืองไทยอีกด้วย

 

 'เด็นโซ่' บริษัทข้ามชาติ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเกือบทุกชนิดของรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากญี่ปุ่น มาลงที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (บางปะกง) จ.ชลบุรี โดยทุ่มเม็ดเงินมากถึง 3,200ล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายนิชิมุระ ชิเกะฮิโระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่น ระบุว่า เตรียมแผนการลงทุนในประเทศไทยปี 2556 ด้วยการขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วน เพื่อรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย หลังจากที่ผ่านมา ได้ใช้งบลงทุนไปแล้ว 600 ล้านบาท ขยายในส่วนของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา

 

 

               “เราย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนบางรายการที่ผลิตในญี่ปุ่น มาผลิตในโรงงานแห่งนี้ ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่และชิ้นส่วนใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยผลิตที่ไหนมาก่อน ซึ่งการย้ายฐานการผลิตมาไทยครั้งนี้ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 โดยใช้ภูมิภาคเอเชียเป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อการส่งออกไปทั่วโลก ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย”

 

 

ขณะที่ นายถาวร ชลัษเฐียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศไทยว่า เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล และความต้องการซื้อรถยนต์ในช่วงน้ำท่วม ที่กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ผลิตไม่ทันกับความต้องการของค่ายผลิตรถยนต์ จึงได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 กะทำงาน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทเด็นโซ่ ประเทศไทย มีโรงงานการผลิต 8 แห่ง ในกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง มีพนักงานรวมประมาณ 7,500 คน รายได้ปี 2554 ประมาณ 64,000 ล้านบาท

 

 

 

ทั้งยาง-ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ รับอานิสงส์ตามไปด้วย

 

 

 

ไม่เพียงแต่โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เท่านั้น หากแต่อุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ในรถยนต์ต่างได้รับอานิสงส์เติบโตกันถ้วนหน้า เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ประเมินว่า ในปี 2555 จะยอดขายรวมทั้งประเทศราว 8,000,000 เส้น

 

นายสุทธิพงษ์ วรรณวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญ โดยสัดส่วนปัจจุบันคือ ส่งออก 50 เปอร์เซนต์ ตลาดในประเทศ 50 เปอร์เซนต์ ถ้าหากตลาดมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิต หรือขยายโรงงานได้

 

ด้าน นายเสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสยามมิชลิน ระบุว่า ตลาดยางรถยนต์ในปี 2555 เติบโตสูงตามการขายรถยนต์ ทำให้เตรียมก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จ.สงขลา คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้คือภายในปลายปีนี้

 

 

 

ขณะที่ นายยูทากะ ฟูรูกาวา กรรมการ บริษัท โยโกฮามา ไทร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมตลาดยางรถยนต์ประเทศไทยปี 2555 คาดว่า มีปริมาณขายรวมทั้งสิ้นกว่า 8,000,000 เส้น แบ่งออกเป็นตลาดยางรถเก๋งและรถปิกอัพ 6,000,000 เส้น ส่วนอีก 2,000,000 เส้น เป็นยางรถขนาดใหญ่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่เติบโตชนิดก้าวกระโดด

 

นอกจากยางแล้วสิ่งสำคัญที่รถยนต์ทุกคันต้องติดตั้งเพิ่มเติม เห็นจะไม่พ้นฟิล์มกรองแสง เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนและมีแดดจัดเกือบตลอดทั้งปี

 

ผู้นำในตลาดฟิล์มกรองแสงระดับพรีเมียมคือ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟิล์มกรองแสงรถยนต์และฟิล์มกรองแสงอาคาร'ลามิน่า ฟิล์มกลุ่มพิเศษ'ลูม่าร์ โดยน.ส.จันทร์นภา สายสมร กรรมการผู้จัดการ ประเมินว่า ปีนี้ตลาดฟิล์มกรองแสจะเติบโต 1.5-1.7 พันล้าน จากปีที่แล้ว 1.4 พันล้าน

 

 

                 “ภาพรวมตลาดฟิล์มกรองแสงในปี 2555 นี้ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของตลาดรถยนต์ใหม่และรถมือสอง ซึ่งหากพิจารณาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าแต่ละบริษัทมียอดจำหน่ายที่เติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรก”

 

 

ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ประกอบ เช่น ไฟส่องสว่าง อย่าง นายอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล กรรมการ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์ ‘สแตนเลย์’ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมงบประมาณลงทุนผลิตสินค้าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากเมื่อปีที่แล้วลงทุนไป 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับรถยนต์อีโค คาร์ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

การผลิตขยายตัวจนแรงงานขาดแคลน

 

 

การเติบโตของธุรกิจการผลิตรถยนต์ที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด ไม่ใช่มีแต่ผลดีเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาที่ตามมาในตัวธุรกิจเองก็เลี่ยงไม่พ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันคือ การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ปัญหาการศึกษาของไทยโดยเฉพาะสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษา ผลิตนักศึกษาได้น้อยลง เพราะปัญหา 'นักเรียนนักเลง' ทำให้ผู้ปกครองไม่ให้ลูกหลานเข้าเรียนในสายอาชีวศึกษา ประกอบกับนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นแรงกระตุ้น ทำให้นักเรียนที่จบอาชีวศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ตัดสินใจเรียนต่อ มากกว่าจะออกมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการแย่งตัวพนักงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน ถึงขนาดทุ่มเงินหรือสวัสดิการให้อย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้ที่ต้องการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมกลับเป็นนักเรียนที่จบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งไม่มีความรู้และฝีมือทางช่างมาก่อน ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ

 

น.ส.สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดวิกฤตแรงงานช่างประจำศูนย์บริการ ที่ขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการให้บริการรถยนต์ลูกค้า ที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด และต่อไปอาจจะส่งผลให้เกิดการแย่งซื้อตัวช่างด้วย ประกอบกับนักศึกษาสายวิชาชีพบางส่วนกลับไปเรียนหนังสือต่อเพื่อให้ได้วุฒิปริญญาตรีมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานช่างฝีมือหายไปส่วนหนึ่ง ขณะที่ปริมาณรถยนต์กลับขยายตัว เพิ่มปริมาณมากขึ้นสวนทางเป็นอย่างมาก

 

 

 

           

 

            “จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเติบโตของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ ทำให้สัดส่วนการส่งออกและใช้ภายในประเทศเริ่มกลับตาลปัตร เพราะจากปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยจะสูงกว่าการบริโภคภายในมาตลอด กระทั่งประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็น 'ดีทรอยต์แห่งเอเชีย' หรือประเทศแห่งการส่งออกรถยนต์ โดยถูกจัดอันดับเป็นประเทศส่งออกรถยนต์สูงเป็นที่ 15 ของโลก แต่มาในปี 2555 ยอดขายในประเทศมีมากถึงเกือบ 60 เปอร์เซนต์ เพราะค่ายรถยนต์หลายค่ายตัดสินใจลดยอดส่งออก เพื่อตัดรถให้คนไทยก่อน เนื่องจากมียอดจองจำนวนมาก ทำให้รถหลายรุ่นเมื่อจองซื้อแล้วต้องรอรับนานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ขณะที่บางรุ่น เช่น ซูซูกิ สวิฟต์ ซึ่งเป็นรถอีโคคาร์ ที่ได้รับความนิยม แต่โรงงานผลิตได้จำนวนไม่มากนัก ต้องใช้เวลารอรถเกือบ 1 ปี”

 

 

 

ยอดขายพุ่งส่งผลบวกกับเศรษฐกิจในประเทศ

 

 

ความต้องการรถยนต์ภายในประเทศ ที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิกฤตการเงินยุโรปและการไม่ฟื้นตัวเต็มที่ของสหรัฐฯ ที่เจ็บปวดจากวิกฤตซับไพร์ม (สินเชื่อด้อยคุณภาพ) ในช่วงปี 2550-2551 สร้างความปั่นป่วนให้ทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ยอดส่งออกตกต่ำไปตาม ๆ กัน แม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยเลข 2 หลักต่อเนื่องมาประมาณ 10 ปี ยังหดตัวโตไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

 

ส่วนประเทศไทยไม่ต้องพูดถึง จากต้นปีคาดการณ์ว่า การส่งออกจะเติบโตประมาณ 15 เปอร์เซนต์ มาถึงขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์มองว่า หากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจขยับถึง 5 เปอร์เซนต์ ก็นับว่าโชคดีแล้ว แต่การได้นโยบายรถคันแรกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนับว่ามาถูกที่ถูกเวลา เพราะรถยนต์จะใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศ และยังเป็นสินค้าที่มีอุปกรณ์ส่วนควบ หรือเจ้าของรถต้องซื้อสินค้าต่อเนื่องเพิ่มอีกไม่น้อย ประเมินกันว่า ยอดขายรถยนต์ที่เกินขึ้นมาจากความต้องการปกติ เนื่องเพราะโครงการรถยนต์คันแรก ที่คาดว่าจะมี 400,000-500,000 คันนี้ จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศได้หลายแสนล้านบาท

 

 

ธปท.ระบุเศรษฐอีสานเติบโตขึ้น

 

 

การเติบโตจากนโยบายรถคันแรกไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ขยายไปทุกภูมิภาคของประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สรุปตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอีสานว่า ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญจากโครงการรถคันแรก

 

ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า การซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวอย่างมาก ทำให้ภาคการค้าเร่งตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ที่เร่งตัวสูงมาก ดัชนีการค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.5 โดยเฉพาะการค้าในหมวดยานยนต์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 20.5

 

 

ประหยัดน้ำมัน-ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซนต์พุ่ง

 

 

การกำหนดเงื่อนไขให้รถคันแรกต้องมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ซีซี. ในเชิงลบอาจทำให้มีปริมาณบนท้องถนนรถมากขึ้น ต้องใช้น้ำมันมากขึ้น แต่ในทางกลับกันมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งตัดสินใจลดขนาดรถยนต์ที่ตั้งใจซื้อลง เพื่อให้ได้รับสิทธิ์รถคันแรก เนื่องจากธรรมชาติของผู้ซื้อรถยนต์คนไทย นิยมรถคันเดียวเที่ยวทั่วไทย จึงมักเลือกซื้อรถที่มีซีซี.มากไว้ก่อน เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานทั้งในเมืองหรือเดินทางไปต่างจังหวัด

 

ในอดีตรถยนต์ขนาด 1,600 ซีซี.ขึ้นไป จะได้รับความนิยมสูง กระทั่งในช่วงหลังเมื่อเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์แต่ละแห่งพัฒนาไปมากขึ้น ทำให้รถยนต์ขนาด 1,500 ซีซี. มีกำลังเครื่องยนต์ใกล้เคียงหรือมากกว่ารถขนาดเดียวกันในอดีตมากนัก ประกอบกับราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา ทำให้คนนิยมซื้อรถประหยัดพลังงานมากกว่าต้องการรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ หรือซีซี.สูง ๆ และยิ่งเมื่อมีโครงการรถคันแรกมาเป็นตัวกระตุ้นด้วยแล้ว เสมือนจูงใจให้ผู้ซื้อเลือกลดขนาดเครื่องยนต์ลง เพื่อได้สิทธิทางภาษี

 

แม้ในปีแรกที่เริ่มโครงการรถคันแรก อาจจะทำให้ปริมาณการซื้อรถยนต์เพิ่มมากขึ้นจนผิดปกติ เพราะผู้ที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ ส่วนหนึ่งอาจจะร่นเวลาจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายจะซื้อในอีก 1-3 ปี ข้างหน้า มาเป็นซื้อในปีนี้ แต่ผลดีคือผู้ซื้อตัดสินใจเลือกรถยนต์ ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี. ทำให้ในระยะยาวแล้วการใช้น้ำมันของไทยน่าจะลดน้อยลงด้วย

 

ข้อดีอีกประการหนึ่งของนโยบายนี้ เหมือนการสร้างรายได้ให้ภาครัฐทางอ้อม ในรูปของภาษีประเภทต่าง ๆ เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตในประเทศแต่ละคัน มีโครงสร้างภาษีหลัก ๆ คือ อากรขาเข้า, ภาษีสรรพสามิต, ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีอากรขาเข้าสำหรับรถที่ผลิตในประเทศอาจจะไม่สูงมากนัก เพราะส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ส่วนภาษีสรรพสามิตจัดเก็บตามปริมาตรกระบอกสูบ ซีซี.ยิ่งสูงจะยิ่งแพง ภาษีมหาดไทยคิด 10 เปอร์เซนต์ จากภาษีสรรพสามิต และสุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่ม คิด 7 เปอร์เซนต์ จากภาษี 3 ตัวก่อนหน้านี้รวมกัน

 

ชี้ผลกระทบเชิงบวกมีมาก สร้าง-กระจายรายได้เพิ่ม

 

 

แม้รัฐต้องคืนภาษีสรรพสามิตให้ผู้ซื้อ (1ปีหลังจากครอบครองรถ) แต่ยังมีรายได้จากภาษีอากรขาเข้า ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลจะได้รับเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติอีกหลายหมื่นล้านบาท ไม่นับภาษีมูลค่าเพิ่ม จากสินค้าส่วนควบ หรืออุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ ที่เจ้าของรถจะซื้อมาใช้งานต่อเนื่อง อาทิ ฟิล์มติดรถยนต์ ล้อแม็กซ์ ยางรถยนต์ เครื่องเสียง ฯลฯ

 

ส่วนภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รัฐบาลจะเก็บเพิ่มจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์รถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทยนั้นใหญ่โต และมีเงินสะพัดรวมกันหลายแสนล้านบาท มีพนักงานรวมกันหลายแสนคน เมื่อบริษัทเหล่านี้รายได้มากขึ้น พนักงานมีรายได้มากขึ้น ย่อมต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลมากขึ้น ส่วนทางอ้อมก็คือ เมื่อพนักงานรายได้มากขึ้นย่อมจับจ่ายซื้อของ หรือใช้บริการอื่น ๆ ซึ่งสินค้าหรือบริการเหล่านั้น ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐบาลด้วยเช่นกัน

 

 

รัฐเก็บภาษีทุกประเภทได้เพิ่มขึ้น

 

 

นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554-เมษายน 2555) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 950,682 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 37,544 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3 โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าเป้าหมายทั้งหมด

 

หากนับเฉพาะรายได้ของกรมสรรพากร เก็บได้รวม 708,289 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 23,112 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.8 ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ 8,742 ล้านบาท

 

ทั้งหมดเป็นเบื้องต้นของข้อดีที่สืบเนื่องจากนโยบายรถคันแรก แต่แน่นอนว่าเหรียญยังมี 2 ด้าน เมื่อมีข้อดี ข้อเสียก็ต้องไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ การขาดดุลการค้าที่ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมไปถึงมลพิษและสภาพแวดล้อม รวมทั้งการที่รัฐบาลต้องควักเงินภาษีจ่ายคืนให้ผู้ซื้อรถตามนโยบายนี้หลายหมื่นล้านบาท ติดตามในตอนจบวันพรุ่งนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: