เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ กว่า 3 ทศวรรษ ที่กลุ่มผลประโยชน์ภาคเอกชน อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องแตกหัก เพราะปมนโยบายของพรรคการเมือง
เป็นนโยบายที่ชื่อสวยหรู ตามคำแถลงนโยบาย “เร่งด่วน” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า “จะเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละ 300 บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรายได้เดือนละ 15,000 บาท”
สิ้นเสียงนายกรัฐมนตรีเพียง 3 เดือน คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ ทันที 7 จังหวัด อาทิ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักธุรกิจทุกหย่อมหญ้า ผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมนำข้อมูล เพื่อให้ประธานสภาอุตสาหกรรม นำเสนอเข้าสู่วงประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
มีเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ อย่างเครือเจริญโภคพันธ์ หรือกลุ่มซีพี.เท่านั้น ที่ประสานเสียงเห็นด้วยกับนโยบายนี้ ขณะที่เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและย่อม ที่พากันเลิกจ้าง และทยอยปิดกิจการ แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยการเสนอให้คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 มีมติอนุมัติ ให้ อีก 70 จังหวัด มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีผลบังคับใช้พร้อมกัน ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เท่ากับว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ
กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย มีผลทำให้เจ้าของกิจการทั่วประเทศ ที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาอุตสาหกรรม รวมตัวเพื่อ “ปลด” นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ให้พ้นจากประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพราะไม่สามารถเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
สมาชิกสภาอุตสาหกรรมสุดทนขับไล่ประธาน
ความอดทนของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เมื่อวาระประชุมนัดปกติ ถูกสั่ง “ยกเลิก” จึงเกิดการนัดเปิดประชุม “นัดพิเศษ” ขึ้นนอกห้อง
บรรยากาศของการประชุมสภาอุตสาหกรรม จึงไม่แตกต่างจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อสมาชิกฝ่ายนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท. กับฝ่ายที่ต้องการปลดนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่ง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน
เพราะจู่ ๆ นายพยุงศักดิ์ ได้ทำหนังสือถึงนายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ ผู้บริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขอยกเลิกการจองห้อง สำหรับประชุมคณะกรรมการ ไปอย่างไม่มีกำหนด และทำหนังสือฉบับนี้ไปติดไว้ให้กรรมการ ส.อ.ท.รับทราบว่า ยกเลิกการประชุม
แต่นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท. และรองประธานส.อ.ท.ส่วนหนึ่งได้นัดประชุมสมาชิกหน้าห้อง จากนั้นได้เช็คจำนวนผู้ลงทะเบียนว่า ถึงกึ่งหนึ่งของกรรมการ คือ 348 คน จึงเปิดการประชุม พิจารณาวาระ การขึ้นค่าแรงของรัฐบาลที่ผ่านครม.แล้ว
จากนั้นกระบวนการปลดประธานจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เมื่อประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ได้เสนอให้ปลดนายพยุงศักดิ์ เพราะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เสียงของผู้ประกอบการถึง 139 เสียง ยกมือโหวต ปลดนายพยุงและคณะ 70 คน พ้นจากตำแหน่งทันที
จากนั้นไม่ถึงหนึ่งอึดใจ ชื่อประธานคนใหม่ ก็ถูกเสนอ คือ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ อดีตประธานส.อ.ท.ซึ่งเคยผลักดันนายพยุงศักดิ์เป็นประธาน ส.อ.ท. ปัจจุบันเป็นกรรมการ ส.อ.ท.
คลี่ปมศึกใน-ขาใหญ่ สหพัฒน์ปะทะปูนใหญ่
ผลการประชุมนัดพิเศษ ทำให้นายสันติ วิลาศศักดานนท์ ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ ต้องสวมหัวโขนประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อีกครั้ง หลังจากเคยดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย รวม 4 ปี
ข้อครหาที่หล่นบนโต๊ะประชุมสภาอุตสาหกรรม บางข้อคือ “นายพยุงศักดิ์ ประธานคนเก่า ถูกสมาชิกส่วนใหญ่พาดพิงว่า เขามีคอนเนกชั่นพิเศษกับคนในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากเกินไป และไม่ได้พยายามจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอกชนในภาคอุตสาหกรรม”
ข้อเรียกร้องของสมาชิก จึง “ขอให้หยุดนโยบายของรัฐบาล เลื่อนประกาศขึ้นค่าแรงทั่วประเทศวันละ 300 บาท จากวันที่ 1 มกราคม 2555 ไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2558 เพื่อช่วยเหลือสมาชิกธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีอยู่ราว 10,000 ราย ต้องจ้างงานกว่า 10 ล้านคน”
ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมเข้าร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณสำหรับน้ำท่วม เมื่อปลายปี 2554 ทำให้ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย เพิ่มดีกรีขึ้น
แม้นายสันติจะปฏิเสธทันทีที่ได้รับเลือกว่า ไม่อยากเป็น และไม่ได้มีใครหนุนหลัง แต่นักธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งประเทศรู้อยู่แก่ใจดีว่า นายสันติเคยคัดค้านการขึ้นค่าแรง 300 บาท และนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ก็เคยให้สัมภาษณ์ ว่า เครือสหพัฒน์ไม่เห็นด้วยในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ที่รัฐบาลจะประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 2556 และแม้ว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ก็ยอมรับในกฎกติกา
แต่นายบุญชัยปฏิเสธที่จะร่วมวงขัดแย้งกับนายพยุงศักดิ์ และหากนายสันติจะถูกเลือก ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของนายสันติ ไม่เกี่ยวข้องกับสหพัฒน์ และผู้ใหญ่ในเครือสหพัฒน์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้
ร่องรอยของ "ปูนใหญ่" การเมืองใน ส.อ.ท.
อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกรายหนึ่งเห็น "เอกสารลึกลับ" และถูกนำมาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน เขียนเหมือนข่าวว่า “ล้วงลึกประธานสภาอุตฯ" อ้างถึงเหตุการณ์ย้อนหลังไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อครั้ง ส.อ.ท.ลงมติเลือกกรรมการบริหารและเลือก นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธาน
“การเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ รอบที่แล้ว สมาชิกต้องขับเคี่ยวกับนักการเมือง กว่าจะฝ่าฟันได้รับเลือกมา แม้แต่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ยังประกาศไม่สนับสนุนนายพยุงศักดิ์จนออกจากปูนใหญ่ ไม่มีงานทำ สมาชิกส่วนใหญ่จากสายต่างจังหวัด ก็ยังให้ความสนับสนุนนายพยุงศักดิ์ แต่มาสมัยที่สองนายพยุงศักดิ์กลับกลืนเลือดไปรับ “order” เอาปูนใหญ่กลับเข้ามาเป็นกรรมการหลายต่อหลายคน พร้อมทั้งยังให้คนของปูนมาคุมสายงานหลักคือ สายงานอุตสาหกรรม กับสายงานต่างจังหวัด เพื่อเตรียมส่งคนของตนเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมฯคนถัดไป” เอกสาร-ใบปลิวระบุ
‘พยุงศักดิ์-สันติ’ แห่พึ่งบารมีนักการเมือง
หลังการโหวตปลดพยุงศักดิ์ ผ่านไป 3 วัน ว่าที่ประธานทั้ง 2 ขั้ว ต่างพากันเข้าพบนักการเมือง ทั้งนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม จากพรรคชาติพัฒนา ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง คนใน-สายตรงจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ทั้ง 2 ฝ่าย ที่เคยมีร่องรอยขัดแย้งกับฝ่ายการเมือง แต่ท้ายที่สุดต่างวิ่งพึ่งบารมีทางการเมือง ราวกับว่าที่สุดแล้วความขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรม และใครจะได้ขึ้นเป็นประธานคนต่อไป อาจต้องใช้ผู้มีบารมีทางการเมืองสนับสนุน ไม่ใช่องค์กรสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่มีสิทธิมีเสียงตามกฎหมาย
ทั้ง 2 ฝ่ายถือกฎหมายฉบับเดียวกัน แต่ตีความคนละบท คนละตัวอักษร ฝ่ายพยุงศักดิ์ เชื่อว่าเขายังคงเป็นประธานต่อไป เพราะการเลือกตั้งประธานคนใหม่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายสันติ เชื่อว่าการประชุมนัดพิเศษ ถือว่าชอบธรรม
แต่ตามกฎหมาย การก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมและการเลือกประธาน นั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530 มาตรา 18 (7) ระบุเรื่องการพ้นจากตำแหน่งว่า “รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง”
และมาตรา 33 ระบุว่า เมื่อปรากฏว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี หรือ กระทำการใด ๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกระทำการใด ๆ อันอาจ เป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งในกรณีเช่นนี้ กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง
ด้วยเหตุแห่งการตีความตามนัยแห่งกฎหมายนี้ จึงทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ห้องของรัฐมนตรี 2 คน จาก 2 พรรค เพื่อต่อท่อ ขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้วชงเรื่องขอมติต่อคณะรัฐมนตรี ตัดสินเป็นที่สุดว่า “นายพยุงศักดิ์” หรือ “นายสันติ” จะได้ขึ้นเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมต่อไป
แน่นอนว่าแนวโน้มการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ย่อมอิงกฎหมายสภาอุตสาหกรรม ในหมวด 4 ที่ระบุถึง “การควบคุมของรัฐ” สามารถสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรม และสามารถ สั่งเป็นหนังสือให้สภาอุตสาหกรรมหรือกรรมการระงับ หรือแก้ไขการกระทำใด ๆที่ปรากฏว่าขัดต่อกฎหมาย นโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรีหรือข้อบังคับ เมื่อสั่งการอย่างใดแล้วให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
หากเป็นเช่นนี้ อาจวิเคราะห์ ทำนายผลได้ว่า ประธานคนใด สามารถร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ทั้งเรื่องค่าแรง 300 บาท และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน (กกร.) ได้มากที่สุด คนนั้นคือคนที่มีสิทธิ์ได้ไปต่อ ทั้งพยุงศักดิ์-สันติ มีลุ้นทั้งคู่
ผู้ประกอบการ-รัฐบาล 2 คนยลตามช่อง ส่องประโยชน์แรงงาน
ฝีค่าแรง 300 บาทแตกเพราะมีตัวเลขชัดเจนว่า โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรม ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 70,355 ราย และวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 3,576 ราย พบว่าค่าจ้างและเงินเดือนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 17.06 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ส่วนค่าจ้างและเงินเดือนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 14.14 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน สัดส่วนค่าจ้างและแรงงาน ต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามภูมิภาคต่างๆ มีสัดส่วนค่าจ้างและแรงงานต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.54 รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 ภาคใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.66 กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 และภาคเหนือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.56
หากต้องขึ้นค่าแรงทีเดียวถึงกว่าร้อยละ 80 % อาจประสบภาระขาดทุนหรือกำไรลดลงอย่างมากหรือหากปรับตัวไม่ได้ก็อาจต้องปิดกิจการไป
ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน รายงานต่อคณะรัฐมนตรี บอกเหตุผลการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศว่า
1.คณะกรรมการค่าจ้าง ได้วิเคราะห์การขึ้นค่าจ้างควบคู่ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าบริการ พบว่า การขึ้นค่าจ้าง ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และมีจีดีพี.ขยายตัวต่อเนื่อง
2.การขึ้นค่าจ้างกระทบอุตสาหกรรม SMEs อยู่บ้าง เพราะสัดส่วนค่างจ้างเป็นสัดส่วนในต้นทุนรวม แต่โรงงานส่วนใหญ่ปรับตัวได้ ทางกลับกันทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น
3.ทำให้ลูกจ้างมีเงินออม สร้างการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจให้ประชาชน ในระยะสั้นจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในระยะปานกลางจะทำให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตมากขึ้น และระยะยาวจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ทำให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จากประเทศกำลังพัฒนา เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
4.ยกระดับการครองชีพของลูกจ้างให้เหมาะสมกับมาตรฐานการครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้างให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ