‘อุ้มผาง’เปิดเวทีถกกำหนดอนาคตชุมชน หวั่นศก.อาเซียนทำชาวบ้านปรับตัวไม่ทัน ห่วงปิดศูนย์อพยพ'คนทะลัก-โรคระบาด' สืบฯจับมือป่าไม้-กะเหรี่ยงรักษาป่าต้นน้ำ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 6 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1324 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ประชาคมอุ้มผางและเครือข่ายพันธมิตรร่วมกันจัดงาน “อนาคตอุ้มผาง อนาคตของเรา จากภูผาสู่ทะเล” โดยเวลา 09.00 น.มีการเดินรณรงค์เพื่อแสดงพลังในการกำหนดอนาคตตัวเองซึ่งมีนักเรียน ข้าราชการ และชาวบ้านเข้าร่วมอย่างคึกคัก หลังจากนั้นในช่วงบ่ายมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็น โดยนายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานในการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นต่ออนาคตของ อ.อุ้มผาง

นายมงคลกล่าวว่า ดรรชนีชี้วัดของความเป็นประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งตรงกับการจัดงานครั้งนี้ ทั้งนี้การมาพูดกันเรื่องของป่าและน้ำ จากประสบการณ์ขององค์กรต่างๆ จะทำให้การดูแลทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้ทางจังหวัดพร้อมที่จะสนองตอบและตนจะนำเนื้อหาไปเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดในการหาแนวทางเพื่อการพัฒนาพื้นที่อุ้งผางต่อไป

 

 

‘อุ้มผาง’ ต้องระเบิดจากภายใน-กำหนดอนาคตเอง

 

สำหรับการจัดเวทีดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่ออนาคตของ อ.อุ้งผาง อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินการโดยชาวอุ้มผางเอง ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการมุ่งหวังให้ชาวอุ้มผางสามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการสร้างภาคีเครือข่ายขึ้นมาร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปตามจุดประสงค์

นายสุชาติ จันทร์หอม ประธานภูมิเวศน์ผืนป่าตะวันตก กล่าวในเวทีว่า อยากให้คนอุ้มผางได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตก่อนที่จะหวังจากภายนอก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่อุ้งผางเป็นพื้นที่ที่มีการเข้า-ออกยาก จึงไม่ต้องการให้คนข้างนอกระเบิดเข้ามาหรือนำความเจริญการพัฒนาเข้ามา แต่อยากให้ระเบิดจากข้างในที่เป็นคนอุ้งผางเองหรือคนอุ้มผางเป็นผู้กำหนดเอง จึงพยายามสร้างภาคีต่างๆ และการที่มีการประกาศให้พื้นที่ย่านนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็สามารถทำได้ แต่คนอุ้มผางก็ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองก่อน

ด้านนายสมหมาย ทรัพย์รังสิกุล ปราชญ์ชาวปกาเกอญอ และผู้นำเครือข่ายต้นทะเล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มักเข้าใจว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายบุกรุกป่าอย่างเดียว ซึ่งก่อนปี 2525 ยังมีป่าดิบและน้ำไหลอยู่ แต่เดี๋ยวนี้น้ำและป่าไม้ไม่ค่อยมีแล้ว ตนในฐานะคนที่อยู่ต้นน้ำหรือต้นทะเล มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่า ซึ่งจริงๆแล้วความต้องการต่างๆ มาจากที่อื่นทั้งสิ้น เช่น สารพิษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการก้าวเข้ามาของคนต่างถิ่น

ขณะที่นายสัมพันธ์ ทอแสงสุวรรณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโมโกร กล่าวว่า ตนพยายามรณรงค์ให้คนในพื้นที่มีจิตสำนึกก่อน เพื่อให้อยู่ในชุมชนได้โดยพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการประกอบอาชีพ โดยคนที่อยู่บนดอย หากแบ่งสัดส่วนที่ดินให้ดี เพราะมีพื้นที่จำกัดก็จะทำให้ไม่ถูกมองว่าเป็นผู้ทำลาย

 

ป่ากับคนต้องอยู่ด้วยกันให้ได้

 

ในส่วนขององค์กรที่ดำเนินการในพื้นที่ตลอดมาเช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีตัวแทน ได้แก่ นายยุทธชัย บุตรแก้ว เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นโดยกล่าวในประเด็นเดียวกันว่า จะทำอย่างไรให้ป่าผืนนี้อยู่ได้ ซึ่งชุมชนต้องช่วยกันและทั้งคนและป่าก็อยู่ร่วมกันได้ โดยเอาพืชที่ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นน้ำมาปลูก เช่น กาแฟ ซึ่งตอนนี้มูลนิธิสืบฯ พยายามเป็นคนกลาง เพราะเข้าใจทั้งฝ่ายรัฐและชาวบ้าน ดังนั้นจึงต้องเอาทั้งสองฝ่ายมาคุยกันแทนที่จะทะเลาะกัน โดยตกลงว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เช่น การเดินลาดตระเวนร่วม ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ เจ้าหน้าที่สามารถกินข้าวร่วมกับชาวบ้านได้ ซึ่งในอดีตไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

 

“ปัญหาของอุ้มผางคือมีน้ำมหาศาล แต่ไม่สามารถเอาน้ำมาใช้ได้เพราะไม่สามารถจัดการน้ำได้ หากต้องการพัฒนาที่นี่ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาน้ำก่อน อุ้มผางควรพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพอเพียง แต่ทุกฝ่ายต้องมาคุยกันก่อนเพื่อให้เห็นความสำคัญของคนต้นน้ำ” นายยุทธชัยกล่าว

 

หวั่นโรคระบาดเพิ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

ด้าน น.พ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่า อุ้มผางมีประชากรตามทะเบียนบ้านราว 30,000 คน แต่มีประชากรจริงราว 80,000 คน โดยส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียนบ้านและอยู่ตามป่าเขา ดังนั้นการดูแลชาวบ้านต้องทำงานกันเป็นเครือข่าย เพราะไม่สามารถไปได้หมด โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลที่ต้องเดินไปเป็นวันๆ ก็มีสุขศาลาคอยดูแล เช่น หมอตำแย เพราะคนที่นี่กว่าร้อยละ 50 ยังคลอดที่บ้าน ทางโรงพยาบาลจึงได้ทำเครือข่ายหมอตำแยซึ่งอบรมไปแล้วกว่า 200 คน

 

“ที่นี่มีโรคระบาดเป็นประจำ เพราะชาวบ้านต้องติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาลาเรีย ประเทศไทยเป็นแชมป์ หรืออหิวาตกโรคเคยมีบางหมู่บ้านป่วยกว่า 500 ราย และตายไป 70-80 ราย ตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเข้าถึงบริการสาธารณสุขเท่านั้น ยังมีเรื่องของปัจจัยที่ยากลำบากตามธรรมชาติด้วย” นพ.วรวิทย์ กล่าว

 

คาดผู้อพยพทะลักหลังยุบศูนย์อพยพ 2 แห่ง

 

น.พ.วรวิทย์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทราบข่าวจากฝ่ายปกครองว่า ภายใน 3 ปี ศูนย์อพยพอุ้มเปี้ยมและนุโพจะถูกยุบ ทำให้ผู้อพยพร่วม 40,000 คนไม่มีที่อยู่ แม้จะมีการส่งกลับ แต่ธรรมชาติของคน ต้องการอยู่ในที่ซึ่งมีศักยภาพสูงกว่า และคนเหล่านี้ก็จะต้องดิ้นรน เชื่อว่าจะไหลเข้ามาในอุ้มผาง ทำให้คนในอุ้มผางมีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขจะมีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เพราะตามแนวชายแดนฝั่งพม่านั้น การพัฒนาด้านสาธารณสุขยังล้าหลังกว่าฝั่ง อ.อุ้มผาง อยู่ถึง 50 ปี เชื่อว่าจะมีคนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100,000 คน และจะมีการแข่งขันเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น จากนโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ทำให้มีคนเข้ามามากขึ้น การบุกรุกป่าเพื่อทำกินจะมากขึ้น ในฐานะที่อุ้มผางมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นลุ่มน้ำชั้น 1 เอจึงต้องระมัดระวังเรื่องลุ่มน้ำ ที่จะได้รับผลกระทบจากการที่มีคนเข้ามาอยู่มากขึ้น

 

 

อุ้มผางเมืองชายแดนในผืนป่าตะวันตก

 

สำหรับอ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นพื้นที่ชายแดนตะวันตก ที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของพื้นที่ชายแดนที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีชุมชนที่มีประเพณีวัฒนธรรมที่เด่นชัด โดย นายสรรเพชร จินดาทอง ได้ระบุไว้ในงานเขียนเรื่อง “บอกเล่า ....อุ้มผาง” จากเอกสารงานกำหนดอนาคตอุ้มผาง กำหนดอนาคตเรา จากภูผาสู่ทะเล ว่า อุ้มผาง  เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า “อุมผะ” ในภาษากะเหรี่ยง ซึ่งหมายถึงกระบอกไม้ไผ่ใส่เอกสาร มีที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ขณะนั้นอุ้มผางเป็นเมืองหน้าด่านทางชายแดนตะวันตก ขึ้นกับจ.อุทัยธานี มีพ่อค้าชาวพม่า ติดต่อค้าขาย และต้องประทับตราในเอกสาร ที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่ จุดอุมผะหรือจุดเปิดกระบอกไม้ไผ่นี้ สมัยนั้นตั้งอยู่ที่บ้านกุยเคลอะ ต.แม่กลอง ปัจจุบันคือ บ้านกุยเลอตอ ต.แม่จัน  

ณ เมืองแห่งนี้ ปี พ.ศ.2441 ได้ยกฐานะจากตำบลเป็นอ.แม่กลอง จ.อุทัยธานี ตั้งอยู่ที่บ้านแม่กลองเก่า หมู่ที่ 2 ต.แม่กลองในปัจจุบัน โดยมีหลวงประเวศ ไพวัน (เรียบ สุขุมวัฒนะ) เป็นนายอำเภอคนสุดท้าย

ต่อมาในปี พ.ศ.2469 อุ้มผางถูกยุบจากอ.แม่กลอง เป็นกิ่งอ.แม่กลอง และถูกโอนให้ขึ้นกับจ.กำแพงเพชร ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2502 ถูกยกฐานะเป็นอำเภอและขึ้นกับจ.ตาก มาจนถึงปัจจุบัน และมีคำขวัญประจำอำเภอ ว่า “แมกไม้เขียวสด ดอยหัวหมดชื่นชู ทีลอซูงามล้ำ ตระหง่านง้ำลอยฟ้า ล่องธาราแพไผ่ ชายแดนไทยอุ้มผาง”

 

 

 

 

 

 

กระเหรี่ยงประชากรส่วนใหญ่ในอุ้มผาง

 

ผู้คนในอำเภออุ้มผางประกอบด้วย 3 กลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ คนกะเหรี่ยงที่เรียกตัวเองว่า ปกาเกอญอ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่และดั้งเดิมที่สุด ในอ.อุ้มผางมีทั้งกลุ่มกะเหรี่ยงดอยหรือสะกอ และกะเหรี่ยงน้ำหรือโปว จะสังเกตได้ว่าชื่อสถานที่ ชื่อหมู่บ้านเกือบทั้งหมด มาจากภาษากะเหรี่ยง อาทิ บ้านแม่กลองคี บ้านอุ้มผางคี บ้านแปโดทะ น้ำตกทีลอซู ถ้ำตะโค๊ะบิ๊ เป็นต้น

กลุ่มคนไทยจากภาคเหนือโดยมากมาจากแถบ ลำพูน ลำปาง แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย เป็นผู้ที่อพยพเข้ามา ทำมาหากินและตั้งรกรากอยู่นานร่วม 120 กว่าปี กระทั่งมีลูกหลานเกิด และเติบโตขึ้น มีถิ่นฐานอยู่ในเขตตำบลอุ้มผาง และพื้นที่เทศบาลตำบลอุ้มผาง จนถึงทุกวันนี้

ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ แต่สำเนียงแตกต่างไปจากแถบล้านนา ส่วนชนชาวม้ง เป็นกลุ่มอพยพมาจากจ.เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร และตั้งถิ่นฐานในสองหมู่บ้าน คือ บ้านแม่กลองน้อยและบ้านแม่กลองใหญ่ ที่เชื่อมต่อมาจากบ้านอุ้มเปี่ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก

อ.อุ้มผาง มีพื้นที่ทั้งหมด 4,325,383 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,703,362.5 ไร่ เป็นอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่ายาวประมาณ 180 ก.ม.ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ส่วนใหญ่เป็นเขาสูง มีแนวเทือกเขาถนนธงชัย มีป่าไม้หนาแน่น ประกอบกับความ

ห่างไกลและทุรกันดารของพื้นที่ ทำให้วิถีชีวิตของคนอุ้มผาง เป็นวิถีที่เรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ด้านชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอญอ ยังคงมีชีวิตที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนวิถีชีวิตของคนม้ง เป็นเรื่องราวของการทำงานหนัก เพื่อผลิตผลทางการเกษตร และมีความโดดเด่นในเรื่องของการแต่งกาย ด้วยผ้าปักที่งดงามโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง

 

 

ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า-จุดเปลี่ยนของอุ้มผาง

 

การดำเนินชีวิตของคนอุ้มผางมีจุดเปลี่ยนสำคัญในปี พ.ศ.2526 ทางการได้สำรวจป่าตอนใต้ของอ.อุ้มผาง พบว่าป่าส่วนใหญ่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ มีบางส่วนถูกแผ้วถาง กรมป่าไม้จึงเสนอให้กำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์ป่าอุ้มผาง ในปี พ.ศ.2532 เนื้อที่ 1,572,281 ไร่ และประกาศเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2537 เพิ่มเนื้อที่เป็น 1,619,280 ไร่ ด้วยเหตุผลสำคัญว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศอันหลากหลาย เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง

ชื่อเสียงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ขจรขจายออกไปจนเป็นที่รู้จักทั่วไป เพราะมีแหล่งความงามตามธรรมชาติ คือ น้ำตกทีลอซู ซึ่งเป็นน้ำตกภูเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อทอ และมีความสวยงามติดอันดับโลก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตกที่งดงามที่สุดของเมืองไทย ที่ใครๆ ก็จะต้องเดินทางไปชมกันให้ได้เมื่อเดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ ประเพณีพิธีกรรมของคนอุ้มผาง โดยมากยึดตามความเชื่อทางพุทธศาสนา และประกอบประเพณีพิธีกรรม ไม่แตกต่างจากชาวพุทธในที่อื่นๆ อาทิ การทำบุญตักบาตรเป็นประจำทุกเช้า รวมถึงวันสำคัญต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทงประจำอำเภอ

ส่วนความเชื่อของกะเหรี่ยง ยังคงนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ส่งผลให้มีพิธีกรรมที่แสดงความเคารพต่อสิ่งเหล่านั้น เช่น พิธีมัดมือ พิธีกินข้าวใหม่ ทั้งนี้การละเล่นที่โดดเด่นของคนกะเหรี่ยงแถบตะวันตก ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพม่า และแตกต่างจากกะเหรี่ยงทางเหนือตอนบน คือ รำดง

‘อุ้มผาง’ ตำบลจัดการตนเอง

 

นายสรรเพชรระบุในเอกสารด้วยว่า ด้วยแนวคิดคนอยู่ร่วมกับป่า อ.อุ้มผาง จึงร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเจรจาพื้นที่ผ่อนปรนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อขอดูแลจัดการพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมเอง โดยชุมชนใช้หลักการจัดความสัมพันธ์คน ทรัพยากรและวัฒนธรรมท้องถิ่น คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้และสัตว์ป่าอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน และชุมชนใช้หลักการ ชุมชนต้องพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด โดยกิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการในช่วงเริ่มต้นเป็นการสร้างรูปธรรมในระดับพื้นที่ ได้แก่  

• ชุมชนจัดการที่ดิน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้กันแนวเขตที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ออกจากแนวป่าคุ้มครอง โดยมีข้อตกลงร่วมในชุมชนว่าจะไม่รุกออกนอกเขตที่กันไว้ หากบุกรุกออกนอกเขตขั้นแรกให้คณะกรรมการชุมชนตักเตือนก่อน หากไม่เชื่อให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการจับกุมได้ทันที ซึ่งชุมชนมีการเฝ้าระวังสำหรับสมาชิกในชุมชนที่กระทำผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ลาดตระเวนทั้งผืนป่าเดือนละ 20 วัน กิจกรรมการลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นอกจากเฝ้าระวังผู้กระทำผิดแล้ว ยังเป็นกำลังช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลผืนป่าตะวันตก และยังมีกิจกรรมร่วมกันที่ทำให้ชุมชนเข้าใจเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่เข้าใจชุมชนมากขึ้นด้วย

• การจัดการทรัพยากรป่า ได้แก่ 

1) กิจกรรมสร้างบ้านให้สัตว์ป่าหรือนัยหนึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ป่าชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์ คือ ประการแรก ให้เป็นแนวเขตป่ากันชนระหว่างชุมชนและป่าคุ้มครอง ประการที่สองเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ชุมชน และประการที่สาม เพื่อให้สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัยและชุมชนสามารถล่าเป็นอาหารได้

2) กิจกรรมการรักษาพื้นที่สีเขียวเพื่อการจัดการน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำต่างๆ ชุมชนจัดตั้งกองทุนต้นทะเลและโรงเพาะชำกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กิจกรรมการบวชป่าที่เรียกว่า “มามุตะโหมะ” ซึ่งเป็นพิธีสาปแช่งที่ร้ายแรงที่สุดของชนเผ่า คือ เมื่อป่าผืนใดได้กระทำพิธีนี้แล้ว ห้ามบุคคลเข้าไปรบกวนป่าโดยเด็ดขาดหากมีการฝ่าฝืนก็จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตทันที

3) การจัดตั้งกองทุนต้นทะเล เป็นกองทุนที่ทำหน้าที่ในการดูแลป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: