พลังงานยันผุดโรงไฟฟ้าเพิ่ม-ชี้สำรองต่ำ เดินหน้าใช้'ถ่านหิน'แทน'ก๊าซ-นิวเคลียร์' นักสิ่งแวดล้อมติงศึกษาให้ชัดก่อนขัดแย้ง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 3 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4454 ครั้ง

จากสภาพเศรษฐกิจของโลกที่กำลังขยายตัว ประกอบกับพิบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากในระยะหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นยังถูกนำไปใช้ในการปรับปรุง ฟื้นฟูประเทศอันเกิดจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติร้ายแรง ที่เกิดขึ้นในเกือบทุกภูมิภาคของโลกอีกด้วย

 

 

เศรษฐกิจโลกโต ยอดใช้พลังงานเพิ่ม

 

 

จากรายงานของ World Energy Technology and Climate Policy Outlook (WETO) 2030 ระบุว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2543-2573 (ค.ศ.2000-2030) ทั่วโลกจะมีปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นปีละ 1.8 % โดยประเมินจากสมมติฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ที่คาดวาจะเพิ่มขึ้นปีละ 3.1 % และจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นปีละ 1%

 

สำหรับภูมิภาคเอเชียจะมีปริมาณความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นปีละ 3.7 % โดยถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำนวนมากในเอเชีย ยังคงเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในสัดส่วน 48 % แต่จะมีปริมาณความต้องการน้ำมันและก๊าซเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน

 

ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าในอนาคตเกือบทุกประเทศ จะต้องพยายามแข่งขันกันแสวงหาแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการการฟื้นฟูประเทศ ในขณะที่แหล่งพลังงานที่แม้พบว่า ยังมีแหล่งเชื้อเพลิงสำรองเหลือเพียงพอต่อปริมาณความต้องการของโลก แต่ปัญหากลับอยู่ที่การกระจุกตัวของการผลิตที่ยังคงจำกัดอยู่ในบางภูมิภาค หรือบางองค์กร สิ่งท้าทายจึงอยู่ที่นโยบายของรัฐ ว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศของตนเองได้อย่างไร ในยุคของการแข่งขันเพื่อแสวงหาพลังงานที่อาจจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

 

คาดไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึง 2.2-2.4 ล้านล้านบาท

 

 

ในส่วนของประเทศไทย นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานและการแผนการเตรียมการด้านพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล ระหว่างการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์พลังงานไทย เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ในการสัมมนา “Energy Forum : ทางเลือก ทางรอด ไฟฟ้าไทย?” จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยจากข้อมูลการใช้พลังงานของประเทศไทยในปีที่ 2554 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยใช้พลังงานขั้นต้น หากเทียบเป็นน้ำมันดิบอยู่ที่ 1.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลักในการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้ภาคขนส่ง นอกจากนี้ยังมีน้ำมันดิบ ส่วนใหญ่ใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งน้ำมันดิบที่ประเทศไทยผลิตได้อยู่ที่ร้อยละ 15 ของการจัดหา ในขณะที่ต้องนำเข้าร้อยละ 85

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามักมีการพูดกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เอง ถึงขั้นอยู่ในลำดับที่ 14 ของโลก ซึ่งต้องทำความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะขณะนี้ถึงแม้ว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เอง ในปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณการผลิตของบรูไน หรือประมาณ 200,000 กว่าบาร์เรล ต่อวัน แต่หากเทียบกับปริมาณการใช้จะแตกต่างกันมาก เพราะประเทศบรูไนมีจำนวนประชากรในประเทศน้อยกว่า ปริมาณการใช้ในประเทศจึงน้อยกว่า ทำให้เหลือน้ำมันดิบที่สามารถส่งออกขายยังต่างประเทศได้ ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมากกว่า ทำให้ต้องใช้พลังงานสูง โดยเฉพาะมีการใช้น้ำมันดิบปริมาณมากในแต่ละปี ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่เพียงพอ จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากการคาดการณ์การนำเข้าน้ำมันดิบในปี 2556 หากเทียบเป็นเงินคาดว่าอยู่ที่ 2.2-2.4 ล้านล้านบาท

 

 

เล็งนำเข้าถ่านหินสะอาดผลิตกระแสไฟฟ้าแทน

 

 

รมว.พลังงานกล่าวต่อว่า สำหรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลัก จากข้อมูล 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 65 % ส่วนหนึ่งเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และที่เหลือนำเข้าจากประเทศพม่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความเข้าใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นของตัวเอง แต่ก็เป็นอดีต เพราะปัจจุบันเนื่องจากมีปริมาณการใช้เพิ่มมากขึ้น มีการใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศพม่า

 

นอกจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นการใช้ถ่านหินชนิดลิกไนต์ ที่ทราบกันว่า เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำที่สุดในโลก แต่พบมากในประเทศไทย ที่ผ่านมาจึงประสบปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดจากถ่านหินชนิดนี้

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นถ่านหินที่ให้ความร้อนที่มีคุณภาพดี ควันและเขม่าน้อยกว่า ขณะนี้ถ่านหินมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ทำให้การใช้ถ่านหินกลายเป็น คลีน โคล (Clean Coal) ซึ่งหากมองทางด้านยุทธศาสตร์ ประเทศไทยจะต้องหันมาพิจารณาว่าประเทศไทยจะเอาอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มักจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรง เนื่องจากประชาชนไม่ทราบข้อมูลว่า ถ่านหินมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปมากแล้ว ดังนั้นจึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ความรู้กับประชาชนในประเทศว่า ถ่านหินปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นไปมากแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

 

 

อ้างใช้ไฟมากทำให้เหลือไฟฟ้าสำรองแค่ 5 % ต้องหาเพิ่ม

 

 

                     “ขณะนี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย หากเราไม่เตรียมพร้อมจัดหาแหล่งพลังงานไว้สนับสนุน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของประเทศ ถือเป็นช่วงพีคสุดของการใช้พลังงาน มีตัวเลขรายงานพบว่า ประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมากถึง 26,221 เมกกะวัตต์ เป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่ากลัว เพราะพบว่าในวันนั้นเราเหลือไฟฟ้าสำรองของประเทศเพียง 5 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยปกติควรจะที่มีพลังงานสำรองไม่ต่ำกว่า 15 % และหากวันนั้นเกิดมีความร้อนสูงขึ้นไปอีก จนมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอีก คนไทยก็อาจจะต้องได้พบกับประสบการณ์ไฟฟ้าดับก็เป็นได้” รมว.พลังงานกล่าว

 

นายอารักษ์ยังกล่าวถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ พีดีพี 2012 ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุมัติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มียุทธศาสตร์ในแผนฉบับนี้ระบุว่า จะมีการผลิตกำลังไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือที่เหมาะสมอยู่ที่ 15 % ขณะเดียวกันจะต้องลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านให้น้อยลง และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน ในแผนพีดีพีฉบับปัจจุบัน โดยจากตัวเลขที่นำเสนอในแผน ระบุว่า  จะต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าลงเหลือ 57 % ภายในปี 2573  มีการใช้พลังงานหมุนเวียน 18 %  ขณะนี้ใช้ถ่านหิน 20 % ขณะเดียวการในแผนฉบับนี้ยังมีการระบุถึง การใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่ที่ 5 % ด้วย

 

 

ระบุต้องมีนิวเคลียร์ในแผน-หนุนอุตสาหกรรม

 

 

                   “แม้ว่าเราจะระบุไว้ในแผนเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความเราจะต้องทำเรื่องนิวเคลียร์ แต่ก็ระบุไว้เพื่อเป็นนโยบายในการที่จะทำการศึกษาไว้ เพื่อให้เกิดความรู้และความพร้อมในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งเรื่องของพลังงาน ถ้าเราตัดสินใจจะทำอะไร จะต้องรีบตัดสินใจ เพราะหากคิดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าอะไรสักอย่าง ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะใช้อย่างน้อย 7-10 ปี ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานรอไม่ได้ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย หากไม่มีการวางแผนในระยะยาวอย่างทันท่วงทีก็จะเกิดผลกระทบได้ โดยเฉพาะเรื่องของการสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศเรามีความพร้อมมาก หากบอกว่าตอนนี้เพื่อนบ้านจะมาสู้ ณ เวลาคงยาก แต่ในอนาคตหากเราไม่เตรียมการ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์กว่า ก็อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอาจจะไล่ตามมาทันได้ หากเราไม่ทำอะไรเลย พวกนี้ก็จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ดังนั้นเรื่องของพลังงานจึงจำเป็นต้องเตรียมการและปรับปรุงเทคโนโลยีตลอดเวลา” รมว.พลังงานระบุ

 

 

ดันใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 25% ภายใน 10 ปี

 

 

อย่างไรก็ตามในแผนพีดีพี ฉบับใหม่นี้ นายอารักษ์ระบุว่า จะมีการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินสะอาดอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นทางออกที่สำคัญ ในการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันใช้ในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 65 % ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มากขึ้นทุกวัน ถ่านหินที่สะอาดจะสามารถแก้ปัญหาได้ และนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติได้ โดยมีแผนลดการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าลงเหลือ 57 % ภายในปี 2573 รวมทั้งลดการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลงให้เหลือเพียง 7% จากปัจจุบันใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ 10 % และจะนำเข้าถ่านหินสะอาดจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นเป็น 13% จากปัจจุบันใช้ถ่านหินนำเข้าในการผลิตกระแสไฟฟ้า 9 % ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด

 

 

                  “แผนพีดีพี ฉบับใหม่ จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้น แต่อยู่บนฐานของการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะดูแลเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือสังคม จะต้องมีส่วนร่วมในเรื่องของการตัดสินใจ สิ่งท้าทายของเราคือ ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ดังนั้นจึงต้องทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทั่วถึง และยอมรับเทคโนโลยีได้ ขณะเดียวกันเรื่องของการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการให้ชัดเจน ส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนนั้น จะเป็นไปตามแผนคือจะมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ให้ได้ 25 % ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเชื่อว่าคนไทยจะสามารถทำเรื่องของพลังงานทดแทนได้” นายอารักษ์กล่าว

 

 

เร่งให้ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกับประชาชน

 

 

ทั้งนี้ในแผนพีดีพี  2010 (2553-2573) ได้กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใน ปี 2573 จำนวน 9 แห่ง เพื่อกระจายความเสี่ยงกรณีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่เคยวางแผนไว้ว่าจะต้องผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์  ซึ่งสิ่งท้าทายที่กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องเผชิญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของถ่านหินสะอาดที่ถูกกล่าวถึง ว่าจะสามารถทำให้ประชาชนยอมรับกับแหล่งพลังงานชนิดใหม่นี้อย่างไร หลังจากที่สังคมรับรู้ถึงความรุนแรง ของผลกระทบที่เกิดจากถ่านหินลิกไนต์ ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปางมาแล้ว

 

ก่อนหน้านี้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าไว้ในระบบมากขึ้น เนื่องจากเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และด้วยปริมาณถ่านหินที่กระจายอยู่ในแหล่งต่างๆ ทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย จีน และออสเตรเลีย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามการเลือกใช้เชื้อเพลงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะต้องพิจารณาถึงศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิง ความมั่นคงในการจัดหา ราคาของเชื้อเพลิง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเภทของโรงไฟฟ้าที่ต้องการนำเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าแต่ละช่วงเวลา ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินไปมาก หรือ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) ที่มีระบบการจัดการมลภาวะต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้มั่นใจว่า เป็นการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีปริมาณสำรองมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ราคาเชื้อเพลิงค่อนข้างต่ำและมีเสถียรภาพด้านปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องของแหล่งพลังงาน ที่จะใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ พลังงานจากถ่านหิน และนิวเคลียร์ ที่อาจจะเกิดได้ยากกว่าถ่านหิน

 

 

เชื่อเทคโนโลยีสะอาดสังคมยอมรับได้

 

 

สำหรับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด หรือ Clean Coal Technology (CCT) คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเหมือง การจัดการถ่านหิน และการใช้ประโยชน์จากถ่านหิน โดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่ยอมรับได้ แต่ยังคงประสิทธิภาพและการประหยัด ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มเทคโนโลยีได้ออกเป็นกลุ่มหลักๆ คือ

 

1.เทคโนโลยีก่อนการเผาไหม้ (Pre-combustion) ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นการนำเข้าถ่านหิน มาผ่านกระบวนการเพื่อลดปริมาณเถ้า กำมะถันและสิ่งเจือปนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มค่าความร้อนของถ่านหิน ก่อนนำไปเผา เรียกวิธีการนี้ว่า Coal Preparation, Coal Beneficiation หรือ Coal Upgrading เป็นการทำความสะอาดโดยวิธีทางกายภาพ เช่น การล้างด้วยน้ำ การทำความสะอาดโดยวิธีทางเคมี เช่น การล้างด้วยสารเคมี และการทำความสะอาดโดยวิธีทางชีวภาพ เช่น การให้แบคทีเรียย่อยสลายสารที่ไม่ต้องการ

 

2.เทคโนโลยีระหว่างการเผาไหม้ (Combustion) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเตาเผาและหม้อไอน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดมลพิษ เทคโนโลยีในกลุ่มนี้มีการพัฒนาหลายรูปแบบ เช่น Pulverized Coal Combustion (PCC),Fluidized Bed Combustion(FBC),Pressured Fluidized Bed Combustion (PFBD) และ Ultra Super Critical (USC)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.เทคโนโลยีการเผาไหม้ (Post combustion) เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากถ่านหินเผาไหม้แล้ว ได้แก่ ระบบดักจับฝุ่น โดย Electrostatic Precipitator (ESP) ระบบการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีการลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในก๊าซทิ้ง Selective Catalytic Reduction (SCR) เป็นกระบวนการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีประสิทธิภาพสูง ระบบนี้จะใช้แอมโมเนีย ทำปฏิกิริยากับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เกิดเป็นไนโตรเจนและน้ำ

 

4.เทคโนโลยีการแปรสภาพถ่านหิน (Coal Conversion) เคยมีการศึกษาพบว่า การแปรสภาพถ่านหินให้เป็นก๊าซโดยกระบวนการ Gasification ทำให้สามารถนำก๊าซที่ได้ ไปกำจัดกำมะถันออกก่อนที่จะเอาไปเผาไหม้ ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้มีข้อดีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดกำมะถันให้ต่ำลง ปริมาณของเสียจากการกำจัดน้อยลง และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการแปรสภาพถ่านหิน ให้อยู่ในรูปของของเหลว (Liquefaction) ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดิบอีกด้วย

 

 

ภาคธุรกิจหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด

 

 

จากข้อมูลด้านเทคโนโลยีข้างต้นทำให้การผลักดันเรื่องของการสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน เริ่มมีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฟากฝั่งของภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มาจากก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียวในปัจจุบัน

 

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความคิดเห็นต่อทางเลือกของประเทศในด้านพลังงานว่า ตอนนี้ทางเลือกของประเทศไทยค่อนข้างมีน้อย เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน มักถูกต่อต้านจากประชาชน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไป และพลังงานทางเหลือดูเหมือนจะพึ่งพาเป็นพลังงานหลักได้ยาก รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องให้ความสำคัญและตัดสินใจอย่างจริงจัง ท่ามกลางทางเลือกที่จำกัดในขณะนี้

 

       “แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบในเชิงเกษตรกรรม ที่สามารถนำพืชผลทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงประเภท โรงไฟฟ้าชีวมวลได้ แต่ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับที่สูงกว่า พลังงานฟอสซิลมากและอาจจะส่งผลกระทบไปยังเรื่องอื่นๆ อีก เพราะปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทน มีสัดส่วนการใช้อยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาพิจารณา การใช้เชื้อเพลิงทั้งจากถ่านหินและนิวเคลียร์ เพราะถึงแม้ที่จะคำนึงถึงความปลอดภัย แต่ควรทำการศึกษา เพราะขณะนี้เรามีทางเลือกด้านพลังงานไม่มากนัก” ประธานสภาอุตสากรรมกล่าว

 

 

พลังงานยัน‘ถ่านหิน-นิวเคลียร์’ไม่สร้างก็ต้องศึกษา

 

 

ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า ปัจจุบันทางเลือกในการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงมีน้อยลง จากการที่ก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงขึ้น หายากขึ้น สิ่งที่ต้องหันกลับไปดูคือเรื่องของถ่านหิน ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่มีราคาถูก แต่ประชาชนก็ยังไม่ยอมรับ ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ถูกมองว่ายังไม่ปลอดภัย ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเรื่องของพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามหาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ ซึ่งต้องใช้การวางแผนระยะยาว เพราะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ในการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 3-6 ปี แต่ประเทศขาดกระแสไฟฟ้าไม่ได้ เพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และหากประเทศไทยมีความไม่มั่นคงทางพลังงาน ก็จะทำให้ประเทศถูกลดทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การลงทุนลง และหากเสียความเชื่อมั่นไปแล้ว จะเรียกคืนกลับมาจะลำบาก ดังนั้นแม้ว่าขณะนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกเลื่อนจากแผนพีดีพีออกไปอีก 3 ปี เป็นปี 2569 แต่ก็ต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

 

                  “อย่างไรก็ตามหากเราตัดสินใจจะสร้างโรงไฟฟ้าด้วยการใช้พลังงานชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็จะต้องรีบตัดสินใจพิจารณา เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ต้องมีระยะเวลา ขั้นตอน บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 7-10 ปี ดังนั้นกระทรวงพลังงานต้องพยายามผลักดัน และทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้มากที่สุด เพื่อจะให้ประเทศไม่ขาดพลังงาน และถือเป็นหน้าตาและความเชื่อมั่นของประเทศไทยด้วย”

 

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมติงเรื่องความขัดแย้ง

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากระทรวงพลังงานจะยืนยันว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่มีความมั่นใจในความสะอาดได้ในระดับหนึ่งนั้น แต่ในมุมของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันคือ แม้ว่าจะเป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในความเห็นก็คิดว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเตรียมการเรื่องของพลังงานไว้ เพราะปัจจุบันพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงชุมชน และพื้นที่ และสามารถที่จะจัดการเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

 

ดร.ธงชัยยังยกตัวอย่างเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมื่อกล่าวถึงย่อมได้รับคำตอบจากทุกคนว่า ไม่อยากได้ เพราะยังห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัย แต่ในส่วนตัวดร.ธงชัยกลับคิดว่า แม้จะกลัว แต่ก็ไม่ควรปฏิเสธที่จะศึกษาเรื่องนี้เลย เพราะประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อม ทำการศึกษาอย่างละเอียดไว้เช่นกัน เพราะหากเกิดอะไรขึ้นแล้วไม่ได้ศึกษาอะไร จะทำให้ตามคนอื่นไม่ทัน ซึ่งในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เมื่อจะสร้างขึ้นก็ต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่จะก่อสร้าง เพื่อให้เหมาะสมและสนับสนุนการผลิต กล่าวคือ จะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งเชื้อเพลิง ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้จุดที่ขนส่งสะดวก ซึ่งแน่ชัดว่า จะต้องกระทบกับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ

 

ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความสมดุลกันระหว่างการพัฒนากับความเป็นอยู่ และการยอมรับของชุมชน ที่ผ่านมาพบว่า มีการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกของกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเมื่อมีตัวเงินเป็นหลักก็ทำให้เกิดปัญหา มีการจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นคิดว่า ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ขึ้นมาดูแล เพื่อให้กลไกของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

                  “ส่วนเรื่องของพลังงานทดแทน เราคงต้องมาดูว่า อะไรทำได้มากน้อยแค่ไหน จะส่งเสริมอย่างไรเพราะต้องคำนึงถึงเรื่องของพื้นป่า ที่อาจจะถูกตัดเพื่อไปปลูกพืชพลังงาน หรือพื้นที่ทางเกษตรกรรมที่อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงานเช่นกัน และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของประเทศมากขึ้น เรื่องนี้กระทรวงพลังงานคงต้องศึกษาให้รอบคอบด้วย” ดร.ธงชัยกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: