ทัศนคติ การรับรู้ ความรู้สึก : ประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มน้ำโขงต่อไทย

 

siamintelligence 4 เม.ย. 2555


 

 

 

 

รศ.ดร.วิทยา สุจริตธนารักษ์

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังยุคสงครามเย็น”

ผมจะพูดถึงเรื่องการเมืองระดับโลก องค์กรระหว่างรัฐทั้งเอกชนและที่เป็นทางการเช่น UN เป็นตัวเล่นที่สำคัญในยุค

 

เวลามีการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลก เกิดจากการเรียกร้องของคนในยุคต่างๆ นำไปสู่การล่มสลายของโซเวียต วอร์ซอร์ ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาทำให้มีความซับซ้อนพอสมควร การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่สนใจกันมาก ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเรื่อง Governance หรือ อภิบาล นำไปสู่เรื่องความยุติธรรมระดับโลก (Global Justice)

เรื่องที่ออกมาจากสหรัฐอเมริกาคือ เรื่องก่อการร้าย เรียกว่า re-engagement คือเป็นเรื่องที่อเมริกาต้องการอย่างนี้ได้รึเปล่า ซึ่งก็ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน เริ่มมีการเข้ามายุ่มย่ามของสหรัฐอเมริกามากขึ้น

ตอนนี้สหรัฐฯ เข้ามาแจมเต็มที่ทั้งเรื่อง GMS ที่โยงแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมิสซิปซิปปี้ หรือเรื่องใหญ่อย่าง TPP (Trans-Pacific Partnership) จนไปถึงเรื่องหมู่เกาะแสปรตลีย์ที่ยังตกลงกันไม่ได้ รวมถึงเรื่องการเป็นประชาธิปไตย อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้น ไม่อยากเป็นก็ต้องเป็น ลาว เวียดนาม จีน เขาไม่ได้บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เขาก็เป็นทุนนิยม

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประเทศไหนเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ตะวันตกก็เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วครับ เรียกว่า Democratic index เวลาเอาตัว index มาวัด เขาก็แบ่ง index 3 ประเภท ดังนี้

1. ประชาธิปไตยเต็มที่ (Full Democracy) ตะวันตก ญี่ปุ่น อินเดีย
2. ประชาธิปไตยบกพร่อง (Fall Democracy) มีเลือกตั้งแต่ไม่โปร่งใส ความยุติธรรมไม่ค่อยมี
3. ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม

พม่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มาเลเซียกับสิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ อินโดนีเซียตกต่ำ 32 ปีเต็มๆ ตอนนี้อินโดนีเซียนำใครหมดแล้ว สิ่งสุดท้ายคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นแบบบริโภคนิยม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่ก็ใช่ แต่มันทะลักทะลวงเข้ามา

การเคลื่อนย้ายของประชากรเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องอภิบาลในกลุ่มแม่น้ำโขงไทยก็เป็นตัวกระตุ้นอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งคิดว่า GMS กับประเทศไทยนั้น คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญครับ

ภาพจาก Rice Knowledge Bank

ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์

“ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของพม่า” การใช้สินค้าไทยในพม่าตอนนี้เป็นเสมือนเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคม และยังมีความนิยมหลายอย่างที่พัฒนามากขึ้น คนพม่ารู้จักไทยผ่านสื่อต่างๆ แรกๆ จะไม่ค่อยนำเสนอประเทศไทย เพราะเป็นสื่อรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอข่าวของนายทหารไปทำภารกิจต่างๆ

ผมเก็บข้อมูลโดยสัมภาษณ์ ในกลุ่มแรงงานพม่า มีความใกล้ชิดสังคมไทยในหลายระดับ ทั้งคนรับใช้ในบ้านที่ใกล้ชิดคนระดับสูงในสังคม คนที่ทำงานในภาคบริการ ก็จะมีชุดความรู้ที่เข้าใจไทยในระดับหนึ่ง และกระจายความรู้ไปยังสังคมในพม่า ส่วนใหญ่แรงงานในพม่าไม่ค่อยพบคนไทยสักเท่าไหร่มักจะอยู่ในสังคมตนเอง เขาจะไม่ค่อยสนใจการเรียนภาษา หรือมีเพื่อนเป็นคนไทย

กลุ่มนักศึกษาพม่าในไทย คือบุตรหลานคนชั้นกลางไปถึงคนชั้นสูงในพม่า รัฐบาลทหารพม่าจะจำกัดบทบาทสถาบันการศึกษาต่างๆ เมื่อใครมีฐานะหน่อยก็จะส่งลูกหลานไปศึกษาที่อื่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ อังกฤษ ซึ่งก็จะสามารถเข้าใจสังคมไทยระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความจำกัด นักศึกษาเหล่านี้มักใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน

นักธุรกิจและชาวพม่าที่อยู่ชายแดน ใกล้ชิดกับไทยมาก เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในด้านการค้า มีความรู้หลากหลาย คนกลุ่มนี้ใช้ได้ทั้งภาษาไทย พม่า และอังกฤษ มีมุมมองต่อประเทศไทยที่เปิดกว้างและหลากหลาย หากสำรวจคนทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ อาจสรุปได้ว่าภาพลักษณ์ไทยมีอะไรบ้าง

ภาพลักษณ์แรก เป็นแหล่งเศรษฐกิจและแหล่งหางานทำ ซึ่งมักจะคิดเหมือนกันทั้ง 3 กลุ่ม เนื่องจากปัญหาการว่างงานในพม่า และการขาดแคลนแรงงานของไทย คนส่วนมากในพม่าจะมองไทยว่าเป็นแหล่งแรงงาน

คำให้สัมภาษณ์ของแรงงานพม่า “อยู่ที่บ้านไม่มีอะไรทำ อยู่ไปเรื่อยๆ มีทำนา แต่ไม่มีรายได้อะไรเลย มาทำงานที่เมืองไทยดี มีเงินเก็บบ้าง ส่งกลับบ้านได้บ้าง และจะกลับบ้านแล้ว ปล่อยให้ลูกทำงานต่อไป”

เป็นแหล่งวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว นักศึกษาส่วนใหญ่มีแรงจูงใจหลักคือ อยากมาเที่ยวเมืองไทย เพราะเป็นการเสพสื่อของไทยที่โปรโมตเรื่องการท่องเที่ยวเยอะมาก และสังคมไทยพูดเพราะมารยาทดี

เป็นแหล่งบริการด้านสุขภาพและการศึกษา ชาวพม่ามักข้ามมาเรียนและรับการรักษาทางการแพทย์ของไทย ชาวพม่ามองว่า ไทยเป็นแหล่งพึ่งพิงโดยเฉพาะด้านนี้

เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ตามชายแดน โดยเฉพาะแม่สายจะแบ่งแยกลำบากว่าใครเป็นพม่า เป็นไทย

แหล่งที่มีอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินและการกดขี่ มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงาน โดยแรงงานพม่าที่เป็นวัยรุ่น สิ่งที่เขาต้องชั่งใจในเรื่องเก็บเงิน คือความอันตรายต่อชีวิต กลัวโดนจี้ ปล้น มักจะเกิดในกลุ่มวัยรุ่น “พวกวัยรุ่นที่ติดยาจะชอบเข้ามาเอาเงิน เปิดประตูมาก็เอาเงินไป” “เคยถูกตำรวจค้นตัว ซึ่งก็คิดว่าเป็นหน้าที่ของเขา ไม่ได้ติดใจอะไรแม้จะรู้สึกไม่ชอบนัก”

เป็นฝ่ายตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติ ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นได้ไม่นานนัก เป็นช่วงที่หลายประเทศเข้าไปลงทุนในพม่าเยอะ ไทยเองก็มีโครงการลงทุนในพม่าใหญ่ๆ หลายโครงการ

 

ภาพจาก Rice knowledge Bank

“ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของกัมพูชา” ใช้วรรณกรรมตัวบทวรรณคดีเป็นแหล่งข้อมูล ตัวบทวรรณกรรมสะท้อนมุมมองของภาคประชาชน ขณะที่เอกสารทางวิชาการมักจะเป็นของรัฐมากกว่า ชาวเขมรก็ไม่ได้เข้าถึงหนังสือพิมพ์มากนัก ได้เลือกมา 3 หัว คือ รัศมีกัมพูชา พนมเปญโพสต์ และ Phnom Pehn Post

หลักฐานทางวรรณกรรมแรกๆ ที่พูดถึงไทยโดยตรงเกิดขึ้นจากการจัดการของฝรั่งเศส วรรณกรรมเขมรเรื่องแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับไทยคือ “พระโคพระแก้ว” พูดถึงเหตุการณ์ปลายศตวรรษที่ 1๖ ที่อยุธยาเข้าตีกรุงละแวกได้สำเร็จ เรื่องที่ตรงกันคือกษัตริย์ไทยต้องการได้คัมภีร์ที่อยู่ในท้องของรูปปั้นพระโคพระแก้วไปเมืองไทย สาส์นที่สื่อออกมาคนไทยต้องการสิ่งมีค่าของกัมพูชา คือ คนไทยไม่มีความรู้ จึงได้ยึดครองสิ่งที่ล้ำค่าของกัมพูชา

วรรณกรรมนี้บันทึกเป็นครั้งแรก และมีการถ่ายทอดเสียงเป็นอักษรโรมัน เล่าว่า วิธีการตีกรุงละแวกได้ด้วยทหารไทยยิงเหรียญเงินเข้าไปในป่าไผ่ ซึ่งคนเขมรอยากเก็บเหรียญ ซึ่งภาพที่ฝรั่งเศสเน้นคือ “พวกเขาเปิดรูปปั้นเพื่อเอาคัมภีร์ไป ทำให้คนไทยเก่งกว่าคนเขมร และคนเขมรก็ทำในสิ่งที่ประเทศอื่นเขาไม่ทำกัน”

“คำสอนตามาส” เรียกไทยว่าเป็นหนึ่งในของมหาศัตรูของกัมพูชา ไทยอยากได้ดินแดนเขมร ทำให้พระมหากษัตริย์กลัวมากว่าเมืองเขมรจะถูกกลืนไป และนี่คือเหตุผลที่ต้องไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส มีการตีพิมพ์เยอะมากถึง 1๐,๐๐๐ เล่ม และเรื่อง “มาลาดวงจิต” ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกันมีการชื่นชมคนไทยว่าเวลาอยู่นอกสนามรบ ก็เป็นคนดี มีมารยาท มีน้ำใจ

เรื่อง “พระบาทพญายาด” ซึ่งเป็นราชวงศ์ของเขมรที่รวบรวมกำลังเพื่อตีเอาพระนครคืน เรียกไทยว่า เป็น “โจรปล้นแผ่นดิน” คือโจรไม่มีสิทธิที่จะมีส่วนแบ่งของทรัพย์สินเขมร แต่งขึ้นหลังจากที่กัมพูชาได้ปราสาทเขาพระวิหารไป หลังการตัดสินของศาลโลก ซึ่งเป็นภาพสะท้อนช่วงที่มีคดีเขาพระวิหาร

หลังสมัยเขมรแดง หรือสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ช่วงนี้มีกัมพูชาหนีมาอยู่ไทยเยอะมาก และไทยยังได้ช่วยสนับสนุนเขมร 3 ฝ่ายด้วย วรรณกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป คือ “ชีวประวัติเรื่อง กำจัดเธอก็ไม่สูญเสียอะไร เก็บเธอไว้ก็ไม่มีประโยชน์” เล่าว่า ทหารไทยมักจะจี้ปล้น บอกว่า เข้าใจไทยว่ากัมพูชาที่อพยพไปไทยนั้นทำให้ไทยต้องรับภาระเยอะมาก

ต่อมาเริ่มเปลี่ยนสมัยเป็นอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมีนวนิยายเรื่อง “มรณภาพที่อรัญ” ชอบมีการดูถูก ฉีดยาบ้าเพื่อให้ทำงาน บอกว่าคนเขมรไม่ขยัน กรณีที่มีเรื่องเขาพระวิหารขึ้นมาอีก ก็เริ่มมีการผลิตวาทกรรม เช่น ชาติสยามเป็นปลิงที่หิวโหยขอแบ่งฉัน ทุกคืนวันไม่หยุดจิตริษยา เบียดเบียนชาติเขมร เขาระบุว่า คนไทยเป็นฝ่ายก่อเรื่องก่อนตลอด

อยากสรุปว่า ภาพด้านบวกก็มีอยู่บ้าง แต่ภาพด้านลบมีอยู่เป็นหลักและพบอยู่ทุกสมัย คือไทยเราเป็นชาติที่รุกรานจริงๆ ชอบข่มเหง รังแกตลอด ภาพเหล่านี้ มันถูกขับเน้น ถูกเลือกด้วยผู้นำของกัมพูชาทุกยุคทุกสมัยด้วยเหมือนกัน เราคงจะเห็นว่าภาพส่วนหนึ่งเป็นการสั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต การปรับภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่ได้พยายามทำความเข้าใจไว้อย่างรอบด้าน

 

ภาพจาก Rice knowledge Bank

ผศ.ดร.มนธิรา ราโธ

“ไทยในการรับรู้และความเข้าใจเวียดนาม” งานเอกสารที่ดิฉันศึกษามาจากงานทางประวัติศาสตร์ บันทึกเดินทาง วรรณกรรม ก่อนอื่นที่เราจะทำความเข้าใจ ต้องเข้าใจเงื่อนไขหรือปัจจัยของความสำคัญ ไม่มีพรมแดนติดกัน ความขัดแย้งจึงน้อยลง ไทยไม่ใช่คู่ตรงข้ามในประวัติศาสตร์ของเวียดนาม เราเป็นแค่ลูกไล่ หรือลูกสมุนของจักรวรรดินิยมอเมริกา

ไทยเป็นฐานของการเคลื่อนไหวให้กับนักปฏิวัติเวียดนาม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อทัศนคติของเวียดนามที่มีต่อไทยด้วย

ในบันทึกตามจดหมายที่เจ้าชายเหงวียน ฟุก จู แสดงให้เห็นว่า เมื่อไทยต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้จีนก็จะมีการพัก หรือซ่อมเรือที่เวียดนามบ้าง ในการท่องเที่ยว เวลามาไทย ผู้คนขึ้นลงได้ตามใจชอบ โดยไม่มีใครซักถามอะไรทั้งนั้น คือมีการเข้าถึงง่าย สะดวก

เมื่อสยามประสบภัยแล้งปี 1798 ได้ส่งสารมาขอความช่วยเหลือกับเวียดนามและได้รับความช่วยเหลือกลับไป

สงครามความขัดแย้งระหว่างอนาม “สงครามอนามสยามยุทธ” ทั้งไทยและเวียดนามต่างมองว่า กัมพูชาเป็นเสมือน รั้ว หรือ รัฐกันชน ของตน การเผชิญหน้ากันดังกล่าวได้สร้างความเสียหายทั้งไพร่พลและทรัพย์สินให้กับสยาม เวียดนาม และกัมพูชา

สยามกับเวียดนามไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นระยะเวลานาน และค่อยๆ ลดทอนความสัมพันธ์ลง ต่อมา ในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส เราก็เป็นฐานของการเคลื่อนไหวของนักปฏิวัติเวียดนาม ซึ่งเราก็มีบริบทที่ติดต่อกันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ในระดับของทางการมีนโยบายแตกต่างออกไปในยุคฝรั่งเศส “ไม่ใช่แค่รัฐบาล พระสงฆ์ แต่ประชาชนชาวไทยทั้งคนแก่และเด็กต่างเต็มใจช่วยเหลือชาวเหวียดเกี่ยว” ไทยเป็นคนขี้สงสาร มีน้ำใจ ลุงโฮก็ได้เตือนชาวเหวียดเกี่ยวไว้อยู่เสมอว่า “เวียดนามเป็นประเทศอาณานิคม ไทยก็ตกเป็นอาณานิคมครึ่งหนึ่ง เวียดนามถูกฝรั่งเศสกดขี่ ไทยก็โดนฝรั่งเศสบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เต็มใจ เวียดนามเกลียดฝรั่งเศส ไทยก็ไม่ได้ชอบฝรั่งเศสนัก”

ปี 1981 ไทยเสียความเป็นกลาง และเอียงไปยังอเมริกาอย่างชัดเจนในการส่งกองกำลังรุกรานอินโดจีน เป็นเพราะทฤษฎีโดมิโนทำให้ไทยหวาดระแวงและมีจุดยืนเช่นนั้น ต่อมา ก็มีการระบุว่า “การพัฒนาทุนนิยมของไทย เข้าข่ายเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่”

สื่อเวียดนาม อยู่ภายใต้สังกัดควบคุมของรัฐ สื่อทุกประเภทเป็นของรัฐบาล มีอิสระแตกต่างกันไป ประเภทข่าวก็มีแตกต่างกันไปหลากหลายมิติ การรายงานข่าวก็เน้นจุดยืนที่ไม่แทรกแซง แต่ประเด็นที่มีการปิดล้อมสนามบิน และการประท้วงประชุมอาเซียนที่พัทยานั้น ส่งผลกระทบต่อเวียดนามมาก จึงต้องนำเสนอข่าวนี้ไปด้วย

ไทยมีพื้นที่ในสื่อเวียดนามสม่ำเสมอ อาจจะเรียกได้ว่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านรายอื่น และมักจะเลือกอย่างเป็นกลางเสมอ ไทยเป็นมิตรประเทศที่ดี และมักนึกถึงในแง่การท่องเที่ยวก่อน แต่ความสนิทจะน้อยกว่าลาว การศึกษาที่สิงคโปร์ดีกว่าไทยเพราะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก บรรยากาศไม่ค่อยเป็นนานาชาติเท่าไหร่ โดยรวมไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านสำคัญในอาเซียน และมองไทยเป็นมาตรวัดในการพัฒนาของเวียดนาม ไม่ได้มองไทยเป็นคู่แข่ง

 

ภาพจาก Rice knowledge Bank

อาจารย์อดิศร เสมแย้ม

“ไทยในการรับรู้และความเข้าใจ สปป. ลาว” เราศึกษา stakeholder คือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในส่วนของภาคประชาชนที่มีความสำคัญ เรื่องนี้เราศึกษาจากสื่อ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ภาคประชาชนที่มีคนลาวข้ามมาไทย ตลอดจนแรงงานลาวทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต ส่วนสุดท้ายคือการศึกษาสมาชิกสมาคมมิตรภาพลาวไทย

ข้อค้นพบโดยรวมคือ การรับรู้ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับภูมิหลัง ประสบการณ์ ความเชื่อ และภาวะอารมณ์เข้ามาเกี่ยวพันมากขึ้น ปัจจุบันสื่อเปิดกว้างมากขึ้น ลาวดูสื่อไทยอันดับ 1 ส่วนสินค้าของไทยนั้นลาวนำเข้าประมาณ 70% รองจากจีนที่ประมาณ 80-90%

คนลาวยังบริโภคความบันเทิงของสื่อไทยต่อไป แม้การจัดรายการที่มีสีสัน ความสนุกสนาน และความหลากหลาย แม้จะมีเรื่องอาชญากรรม ความรุนแรง และสาระที่เป็นพิษต่อสังคม เขาก็ถามผมว่า “ทำไมคนใช้ของคนไทยต้องเป็นคนลาว พูดภาษาลาว” ซึ่งผู้จัดละครของไทยคงลืมนึกถึง

บรรดาประเทศในอาเซียน กลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดคือไทย ซึ่งอาจเป็นประเทศที่คนลาวรู้จัก เพราะมีเขตแดนติดกันทำให้รู้จักดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ไกลห่างออกไปได้

ทัศนคติที่มีต่อไทย มองว่ามีความไม่สงบวุ่นวาย ก็เพราะดูข่าวจากสื่อไทย เห็นว่าไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว ขณะที่การเมืองลาวมีลักษณะผูกขาด จึงทำให้มองว่าการเมืองไทยมีความยุ่งเหยิง สับสน ในส่วนนักธุรกิจก็มองความมั่งคั่งของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ความน่าเชื่อถือของนักธุรกิจไทยน่าเชื่อถือน้อยกว่าจีนและเวียดนาม ขณะที่นักศึกษานั้นมองว่า เหตุผลที่ไม่ชอบไทยส่วนใหญ่มาจาก “ปมประวัติศาสตร์” ที่มาจากตำราเรียน ส่วนแรงงานนั้นบางคนก็ถูกไถ ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ผมคิดว่า จิตสำนึกเป็นเรื่องที่สร้างยาก แต่ก็ต้องสร้าง รัฐต้องหาแนวทางตัวกลางในการสื่อภาพลักษณ์ ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะมันสำคัญ จำเป็นต่อการสร้างความเข้าใจในสังคมสมัยใหม่

ที่มา : siamintelligence.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: