ตะลึง'แม่วัยใส'มากถึง1.3แสนคน สลดโจ๋ไทยเล่นจ้ำจี้ตั้งแต่อายุ12ปี จวกผู้ใหญ่ปิดเรื่องเพศจนมีปัญหา

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 12311 ครั้ง

 

 

ปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย และดูเหมือนการแก้ปัญหาจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คือ ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นไทย ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า นอกจากจะไม่สามารถทำให้เยาวชนไทยเปลี่ยนแปลงความคิดในการมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่เหมาะสมแล้ว กลับพบว่า ปัจจุบันการมีเพศสัมพันธ์ กลับ กำลังเริ่มต้นด้วยอายุที่ต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างน่าตกใจ

 

 

น่าตกใจเด็กไทยเรียนรู้มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ 12 ขวบ

 

 

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ที่รายงานผลสำรวจพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น ประจำปี 2554 ระบุว่า วัยรุ่นไทยเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ประมาณ 12-13 ปี ต่ำลงจากการสำรวจเมื่อปี 2552 ที่พบว่า วัยรุ่นเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่อายุ 15-16 ปี และ 18-19 ปี เมื่อปี 2539 ซึ่งทำให้เห็นทิศทางและแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง หากการมีเพศสัมพันธ์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในวัยรุ่นอายุน้อยลงไปกว่านี้ หรืออาจจะเกิดขึ้นในวัยเด็กนั่นเอง

 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ในปี 2554 ฉบับดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การมีเพศสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องปกติในหมู่วัยรุ่น โดยเฉพาะการพูดคุยในสถานศึกษา โดยผลสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษาระบุว่า วัยรุ่นหญิงที่ศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่า เคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ส่วนวัยรุ่นหญิงในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่า เคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับคู่ของตัวเองเช่นเดียวกัน

 

 

 

ตะลึงแม่วัยใสในปี 2554 มากถึง 1.3 แสนคน

 

 

ขณะที่วัยรุ่นหญิงที่ศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาระดับ ปวช.จำนวนมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า เคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จึงไม่แปลกที่ในปี 2554 พบว่า วัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรมากถึง 131,400 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 15 คน หรือร้อยละ 17 ของจำนวนหญิงที่คลอดบุตรทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการคลอดบุตรในวัยรุ่นระดับโลก ที่มีร้อยละ 11 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในทวีปเอเชีย ที่พบเฉลี่ยร้อยละ 14 อีกด้วย และองค์การยูนิเซฟเองก็เคยระบุว่า มีวัยรุ่นหญิงไทยที่อายุไม่ถึง 20 ปี ต้องตกอยู่ในฐานะ “แม่” จำนวนสูงถึง 150,000 คน

 

ความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูลูก ทำให้วัยรุ่นตัดสินใจยุติตั้งครรภ์ ส่วนมากใช้วิธีการที่ไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดอันตรายและเสี่ยงต่อชีวิต และยังพบวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงการขาดการตระหนักขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา และวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง

 

 

อัตราคนติดโรคทางเพศพุ่ง กว่าครึ่งเป็นวัยรุ่น

 

 

น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นไทย ที่มีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ นั้น ไม่เพียงจะส่งผลถึงเรื่องของคุณภาพชีวิต ที่ทำให้วัยรุ่นหญิงไทยต้องกลายเป็นแม่ก่อนเวลาแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคเพศสัมพันธ์ที่มากขึ้นด้วย เนื่องจากวัยรุ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้น จนกลายเป็นการเผยแพร่โรคลุกลามคนต่อคนขยายสู่วงกว้าง โดยพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่อ 1 แสนประชากร เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 29 เปอร์เซ็นต์ในพ.ศ.2550 เป็น 44 เปอร์เซ็นต์ใน พ.ศ.2554 และในจำนวนนี้ประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์เป็นวัยรุ่น ซึ่งสะท้อนว่า วัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์โดยวัยรุ่น 8 ใน 10 คน ไม่ต้องการมีลูกหลังจากการตั้งครรภ์ ซึ่งหมายถึงความไม่พร้อมในการวางแผนครอบครัวและการไม่ใช้ถุงยางอนามัย ห่วงอนามัยหรือยาคุมกำเนิดจนเกิดปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี

 

อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่า จากสถิติของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พ.ศ.2554 พบว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 34.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 ปีก่อน ประมาณ 5 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.5 ล้านคน เฉลี่ยติดเพิ่มนาทีละ 5 คน เสียชีวิต 1.7 ล้านคน เฉลี่ย 3 คนต่อนาที สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าใน พ.ศ.2555 จะมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสะสมรวม 1,157,589 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 464,414 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,473 คนเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 คน เสียชีวิต 695,905 คน กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยรายใหม่ 62 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในกลุ่มชายรักชาย พนักงานขายบริการทางเพศ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด นอกจากนี้พบว่า อัตราป่วยด้วยโรคเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิงสูงกว่าเพศชายในจำนวน 2 ต่อ 1

 

 

 

ตัวเลขเด็กมัธยม จ.อุดรฯ เป็นกามโรค สูงน่าตกใจ

 

 

ด้านน.พ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวักอุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง และยังเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มของของสถานบันเทิง และสื่อต่าง ๆ  ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาวะทางเพศของเยาวชน อันเกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้ โดยจากข้อมูลด้านสาธารณสุขของ จ.อุดรธานี พบว่า ปัญหาที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของเยาวชน จ.อุดรธานี มีอัตราความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยวัยรุ่น ที่ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมทางเพศ ที่มีแนวโน้มของการเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมทางเพศในเยาวชน ระดับ ม.2, ม. 5 และอาชีวศึกษาปีที่ 2 ระหว่างปี 2552-2554 พบว่า นักเรียนชาย ชั้นม.2 ร้อยละ 5.9 เคยมีประสบการณ์ทางเพศ ขณะที่นักเรียนชายชั้นม.5 มีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 23.8 และนักเรียนอาชีวศึกษาชายชั้น ปวช. ปีที่ 2 ร้อยละ 67.0 ส่วนนักเรียนหญิง ม.2 ร้อยละ 3 เคยมีประสบการณ์ทางเพศ ในขณะที่นักเรียนหญิง ชั้น ม.5 อยู่ที่ร้อยละ 13.7 และนักเรียนอาชีวศึกษาหญิง ชั้น ปวช.ปีที่ 2 ร้อยละ 41.2 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว

 

น.พ.สัญชัยกล่าวต่อว่า สำหรับจ.อุดรธานี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด ในเยาวชนในช่วง 3 ปีมานี้ ได้แก่ โรคกามโรค ที่มีผู้ป่วยอยู่ในอายุระหว่าง 15-19 ปี  เมื่อปี 2551 พบถึงร้อยละ 42.44 ของการป่วยกามโรคทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบโรคหนองใน ซิฟิลิส และเอดส์

 

 

               “สิ่งที่น่าตกใจคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา เป็นกลุ่มที่พบว่าติดโรคเหล่านี้มากกว่าผู้ใหญ่ และยังพบอีกด้วยว่า มีอัตราการป่วยเป็นอันดับสองรองจากพนักงานบริการ โดยชายติดจากแฟน คู่รัก ร้อยละ 55.79 หญิงติดเชื้อกามโรคจากแฟน ร้อยละ 52.63 รองลงมาติดจากหญิงบริการ ขณะที่หญิงที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี พบการติดเชื้อเอดส์ร้อยละ 0.6” น.พ.สัญชัยกล่าว

 

 

 

ชี้สาวบริการประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นสาเหตุแพร่เชื้อ

 

 

สำหรับปัจจัยสาเหตุที่ทำให้ปัญหาสุขภาวะทางเพศของเด็กวัยรุ่นใน จ.อุดรธานี มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ น.พ.สัญชัยกล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสื่อ ที่มีการขยายตัวทันสมัยมากขึ้น ใน จ.อุดรธานี พบว่า ไม่แตกต่างกับจังหวัดที่มีความเจริญอื่น ๆ เช่น พัทยา หรือภูเก็ต ทำให้มีการหลั่งไหลเข้ามาของความเจริญหลากรูปแบบ รวมไปถึงการให้บริการของหญิงบริการต่างชาติ ทั้งจากประเทศจีน หรือ ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบ หรือควบคุมได้ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นปัญหาทางสังคม ครอบครัว แต่สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาด้านสุขภาพ

 

น.พ.สัญชัยกล่าวต่อว่า แม้ว่าการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินมาตลอดหลายปี แต่ยังไม่สามารถลดปัญหาลงได้ แต่จากตัวเลขสถิติกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาอาจจะยังไม่แผนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยยุทธวิธีในการรณรงค์แก้ปัญหา ส่วนใหญ่ถูกวางมาในรูปแบบกว้าง ๆ การหากลยุทธ์ในการแก้ปัญหา หน่วยงานในพื้นที่จะต้องดำเนินการเอง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคหนึ่ง ที่ทำให้ปัญหาด้านสุขภาวะอนามัยทางเพศของเยาวชนยังไม่ลดลง

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของ จ.อุดรธานี ได้รับการพัฒนาให้เป็นจังหวัดต้นแบบบูรณาการการทำงาน ระหว่างทุกภาคส่วนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ ผ่านโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ ที่ สสส. สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการของทุกภาคส่วนในทุกระดับ และเน้นความสำคัญของการทำงานในระดับตำบล ในการจัดการสุขภาพต้นแบบด้านสุขภาวะทางเพศในเยาวชน ดังนี้ 1.พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาสำหรับเยาวชน  2.พัฒนารูปแบบการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ด้วยข้อมูลข่าวสาร 3.พัฒนาระบบและรูปแบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรแก่เยาวชน 4.สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน และ 5.พัฒนารูปแบบการระดมทรัพยากรเพื่อการขยายผลภารกิจให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

 

              “จริง ๆ แล้ว หน่วยงานด้านสาธารณสุขถือว่าเป็นปลายเหตุที่จะต้องมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากเรื่องของสังคมเป็นส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปัญหาไม่ลดลง เพราะการแก้ที่ต้นเหตุยังไม่ได้ประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเยาวชนเองก็มักจะไม่ค่อยมาพบแพทย์ หากเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์มักจะหาวิธีรักษาเอง แต่เมื่อไม่ไหวแล้วจึงจะมาหา โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเอดส์ กลุ่มนี้จะไม่มาเลย ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วหากมาตั้งแต่แรกเราจะช่วยได้ อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือสังคมทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหาที่สาเหตุจะดีที่สุด” น.พ.สัญชัยกล่าว

 

 

 

วัยรุ่นกรุงเทพฯ ติดเชื้อเอชไอวีวันละ 6 คน

 

 

สำหรับในกรุงเทพฯ ปัญหาสุขภาวะทางเพศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ล่าสุด พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะประธานมูลนิธิเอดส์กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในวัยรุ่น เป็นสาเหตุของปัญหาหลากหลาย โดยเฉพาะโรคเอดส์

 

จากการประมาณการติดเชื้อเอชไอวีของกรุงเทพฯ ในปี 2554 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 55,520 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 6 คน สำหรับปี 2555 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 54,280 คน สาเหตุหลักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ส่วนการสำรวจอัตราการติดเชื้อเป็นดังนี้ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดร้อยละ 21.3 รองลงมา กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดร้อยละ 18.97 และหญิงบริการทางเพศในสถานที่สาธารณะ ซึ่งในส่วนของ กทม.เองได้พยายามที่จะแก้ปัญหานี้โดยมุ่งไปในเรื่องของการป้องกัน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เข้าถึงในกลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มเข้าถึงยากอื่น ๆ  เช่น กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้ให้บริการ และผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ ปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ในการป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

 

 

สธ.ชี้แก้ยากเพราะผู้ใหญ่ไทยยังหลอกตัวเอง

 

 

อย่างไรก็ตามหากมองถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่ายังไม่ได้ผลเท่าเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กลับลงไปสู่กลุ่มเยาวชนมากขึ้น ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวยอมรับว่า การรณรงค์ให้เยาวชนให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากในสังคมไทย ในการที่จะยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยในการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข พยายามที่จะนำกิจกรรมรณรงค์เข้าไปในกลุ่มโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น การ ขอเข้าไปติดตั้งกล่องแจกถุงยางอนามัย หรือการรณรงค์ให้เด็กผู้หญิงควรจะพกถุงยางอนามัยออกจากบ้านคนละ 2 ชิ้นไว้เสมอ แต่กลับปรากฏว่า มักจะได้รับการปฏิเสธจากสถานศึกษา โดยเฉพาะที่อยู่ในสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน เพราะเกรงว่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ตกเป็นข่าวในสื่อ และอาจจะทำให้ถูกมองไปในทางไม่ดี ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าใจที่ผิด ตอนนี้สังคมไทยยังคงรังเกียจเรื่องเพศ เห็นว่าเป็นเรื่องสกปรก ทั้งที่ความเป็นจริง เด็กไทยจำนวนมาก เริ่มที่จะมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุน้อย ๆ กันแล้ว แต่สังคมไทยยังคงหลอกตัวเอง และพยายามคิดว่าเด็ก ๆ จะยังไม่รู้เรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่สื่อมีให้เห็นมากมาย และเมื่อเห็นข้อเท็จจริงข้อนี้แล้วก็ควรจะยอมรับ ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และมาช่วยกันคิดว่าจะหาวิธีใดในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นจะดีกว่า

 

 

            “ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ส่งผลทำให้เกิดปัญหาทางสังคมหลายอย่าง ทั้งปัญหาเด็กผู้หญิงตั้งท้องก่อนวัย ปัญหาโรคกามโรค หรือแม้กระทั่งเอดส์ พ่อแม่ ผู้ใหญ่เองจะต้องยอมรับเรื่องนี้ และควรจะให้ความสำคัญเตือนลูกหลานตัวเอง ด้วยความเป็นจริง เรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อมันเริ่มเกิดขึ้นที่เด็กอายุน้อยลง เราก็ควรช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้กับเยาวชน โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัย ที่จะช่วยป้องกันปัญหาได้ระดับหนึ่ง” น.พ.พรเทพกล่าว

 

 

 

ตั้งเป้าตรวจเลือดหาเอดส์ฟรีปีละ 2 ครั้ง

 

 

ส่วนมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ของไทยในปี 2556 อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จะเร่งรัดขยายการป้องกันกลุ่มเสี่ยง โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีแห่งชาติ โดยจะเริ่มปีหน้าเป็นต้นไป และเพิ่มการเข้าถึงโดยประชาชนเข้ารับบริการตรวจเลือดฟรีปีละ 2 ครั้งทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่ว เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษาอย่างรวดเร็วและป้องกันแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยตั้งเป้าในปี 2559 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ลดลง 2 ใน 3 ของปี 2554 กลุ่มเด็กแรกเกิดติดเชื้อน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ และผู้เสียชีวิตลดลงจากปี 2554 ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

 

ด้านนายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลประชาชนทั่วไปที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาการป้องกันติดเชื้อเอชไอวีทางฮอตไลน์ 1663 พบว่า เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน มีผู้โทรศัพท์เข้ามา 4,000 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง และจำนวนนี้มี 3,000 กว่าราย มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันและกังวลว่าจะติดเชื้อ

 

สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่พบจากโทรศัพท์เข้ามาปรึกษา ส่วนใหญ่เป็นการมีเพศสัมพันธ์ในคู่ของตัวเอง ไม่แน่ใจว่าคู่มีคนอื่นไหม ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยซึ่งสะท้อนพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ป้องกันหรือพฤติกรรมทางเพศที่มีคู่มากกว่า 1 คน ถ้าเราประมาณการณ์ว่าคนที่ติดเชื้อรายใหม่ 1.2 หมื่นคนต่อปี แต่เข้าถึงบริการเพียงแค่ 3,000 คน และที่เหลืออีกกว่า 8,000 คนไปไหน นั่นคือสถานการณ์ที่เราต้องถามว่า ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนอีกกว่า 8,000 กว่าคนที่ติดเชื้อ และก็ไม่รู้ตัวด้วย โดยเขายังคงมีพฤติกรรมทางเพศแบบเดิมโอกาสที่เชื้อจะกระจายก็มาก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: