เข้มจัดระเบียบต่างด้าว-หวั่นแย่งงานไทย ปรับรับเสรีอาเซียน-ทบทวน32อาชีพสงวน ชี้แนวโน้ม'พม่า'กลับบ้านหลังเศรษฐกิจโต

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2659 ครั้ง

 

ไทยใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคน

 

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้แรงงานต่างด้าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตลาดแรงงาน ที่บางอุตสาหกรรมยังจำเป็นต้องใช้ มีการขออนุญาตนำเข้า แต่สิ่งสำคัญคือจะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างไร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย ที่ทำงานอยู่ในฐานแรงงานระดับล่างนี้

ทั้งนี้ประเทศไทยใช้แรงงานต่างด้าวระดับล่าง มากกว่าร้อยละ 5 หรือมากกว่า 2 ล้านคน ในลักษณะของงาน 3 D คือ สกปรก (Dirty) ยากลำบาก (Difficult) และอันตราย (Dangerous) โดยมีจำนวนผู้ที่ทำงานผิดกฎหมายมากกว่าถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการกำกับดูแล การคุ้มครองให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลาดแรงงานระดับนี้จึงถูกแบ่งแยกออกไปจากตลาดแรงงานทั่วไป จึงเป็นการลดโอกาสคนไทยที่มีการศึกษาน้อยจะเข้าไปแข่งขันลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งที่คนไทยระดับนี้ก็ยังมีที่ว่างงานในทุกกลุ่มจังหวัด

การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างไร้ทิศทาง ขาดการเอาใจใส่จากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาล  มีแต่จะส่งผลให้ ผลดีทางเศรษฐกิจที่ได้จากการจ้างแรงงานราคาถูก จะถูกหักล้างด้วยผลเสียต้นทุนสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคงมนุษย์ และในที่สุดกลายเป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศ  ผลที่เกิดจึงอาจได้ไม่คุ้มเสีย

 

คนขึ้นทะเบียนลด-หนีไปทำผิดกฎหมาย

 

ดร.ยงยุทธกล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา เราละเลยเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจน เห็นได้จากจำนวนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ที่หายไปจากระบบราว 30 % หรือเกือบ 400,000 คน จากจำนวนที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งหลังสุด ที่มียอดขึ้นทะเบียนราว 1.3 ล้านคน แต่ในปี 2554 ลดลงเหลือราว 900,000 คน คนเหล่านี้ไม่ได้กลับประเทศ แต่ไปอยู่อย่างผิดกฎหมาย เมื่อเป็นลักษณะนี้ เรามักใช้วิธีการเปิดให้มีการจดทะเบียนใหม่ เป็นวัฏจักรอย่างนี้ ทั้งที่หลักการของหน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ต้องการให้มีแรงงานถูกกฎหมายมากกว่าผิดกฎหมาย

 

“ที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนและต่อเนื่อง และหน่วยงานที่รับผิดชอบยังขาดกลไก ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ จึงเกิดปัญหาและแก้ปัญหาแบบซ้ำเดิม กระทรวงแรงงานไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง ต่อข้อมูลในการบริหารแรงงานต่างด้าว โดยไม่ได้ศึกษาหรือสำรวจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการใช้แรงงานที่แท้จริง ซึ่งความชัดเจนของจำนวนแรงงานที่คนไทยทำ อยู่กับส่วนที่ต้องการเพิ่มจากต่างชาติ ในภาพรวมนั้นยังเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีอาเซียน ที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อีก”

 

หวั่นกระทบอาชีพสงวนของคนไทย

 

ดร.ยงยุทธแสดงความกังวลต่อแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย หรืออาชีพใดที่จะเปิดให้แรงงานต่างด้าวทำได้ โดยระบุว่า อาชีพที่เปิดให้ต่างด้าวขอใบอนุญาตทำงานในปัจจุบัน เป็นภาพลวงตา เพราะตราบใดที่ยังมีข้อสุดท้ายที่เปิดช่องไว้สำหรับอาชีพอื่นๆ นั่นเท่ากับว่า แท้จริงแล้วไทยเปิดเสรีทุกอาชีพอยู่ดี

ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของกระทรวงแรงงาน ที่ยังไม่ได้ศึกษาความจำเป็นและความต้องการใช้แรงงานแท้จริง ในแต่ละอาชีพเสียก่อน ซึ่งในกฎหมายเดิมอาชีพสงวนสำหรับคนไทย 32 อาชีพ นั้น มีฐานของตลาดแรงงานเดิมและความจำเป็นของคนไทยอยู่ หากเปิดเสรีโดยไม่ดูผลกระทบให้ชัดเจน อาจมีผลเสียรุนแรงในระยะยาว เพราะเมื่อเปิดไปแล้วการปรับเปลี่ยนมักทำได้ยาก การพิจารณาจึงต้องยึดหลักการปกป้องอาชีพสำหรับคนไทยก่อน   และการที่ต่างชาติบอกว่าเสรี ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเข้ามาได้ง่ายๆ เพราะต้องเข้ามาภายใต้กฎหมายที่ประเทศเรากำหนด เราจึงไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนกฎหมายบางอย่างที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

 

“การจะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกบางอาชีพ ควรจะต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนก่อน ต้องศึกษาว่าอาชีพอะไรมีคนไทยรองรับอยู่เท่าไหร่ และงานที่เขาทำอยู่นั้นมีมากน้อยเพียงใด อย่าไปมองเฉพาะว่า เป็นงานทั้งปี เพราะหลายอาชีพ ที่ผ่อนผันไป กลายเป็นงานที่คนไทยทำเป็นอาชีพเสริม โดยเฉพาะอาชีพภาคเกษตรหรือภาคนอกระบบซึ่งเป็นการทำงานตามฤดูกาล ฉะนั้นการออกกฎหมายบางอย่างต้องดูให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนไทยกลุ่มนี้และเป็นคนที่ยกระดับตัวเองได้ยากมาก เพราะความรู้น้อย”  ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอกล่าว

 

ชี้ไม่ได้ค้านเปิดเสรีแต่ห่วงคนความรู้น้อย

 

จากข้อมูลมีแรงงานประมาณ 13-14 ล้านคน มีระดับการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ในจำนวนนี้ 7 ล้านคนไม่จบระดับประถม อาชีพของเขาคือการใช้แรงงาน หรือการทำงานฝีมือที่ถ่ายทอดกันมา แรงงานแท้จริงในภาคเกษตรกรรม มีไม่เกิน 1.7 ล้านคน แต่ในช่วงฤดูกาลมีคนงานเพิ่มเป็น 3 ล้านคน นั่นหมายความว่า คนเกือบ 2 ล้านคนที่เพิ่มมาคือ คนที่เขามาหารายได้เสริมในช่วงฤดูกาล จึงอยากให้ดูตลาดให้ชัดเจน เพราะอาชีพจะผูกโยงกับวิถีวัฒนธรรมของเขาด้วยการเสริมรายได้ มิฉะนั้นเราจะทำให้คนไทยยากจนลงไปอีก

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า ไม่ได้คัดค้านการเปิดเสรี แต่ต้องรู้ให้ชัดว่าโควตาที่จะเปิดนั้นเป็นอย่างไร ต้องไม่ให้กระทบกับฐานแรงงานในอาชีพที่คนไทยทำอยู่  ต้องเอาเข้ามาเฉพาะส่วนที่ขาดเท่านั้นไม่ใช่เข้าได้อย่างเสรี  แต่ที่ผ่านมาการกำหนดโควต้าของไทยมาจากการสอบถามความต้องการของนายจ้าง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะคนที่จะกำหนดโควตา ต้องเป็นคนที่เห็นภาพรวมของทั้งตลาดแรงงาน อาชีพไหนที่ยังจำเป็นสำหรับคนไทยเราก็ควรต้องสงวนไว้

 

แนะจัดการต่างด้าวหวังเปลี่ยนทัศนคติคนไทย

 

สิ่งที่รัฐต้องทำโดยเร่งด่วนคือ การเอาจริงเอาจังกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ให้มีประสิทธิภาพให้ได้  ดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวให้ครบถ้วน เช่น สิทธิในการรวมตัว การต่อรอง การศึกษา การรักษาพยาบาล การประกันสังคม ฯลฯ เพื่อให้เป็นแรงงานคุณภาพเช่นเดียวกับคนไทย เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพแวดล้อมในการทำงานจะดีขึ้น จะทำให้ทัศนคติของคนไทยต่องาน 3 D เปลี่ยนไปได้ แรงงานไทยจะมีโอกาสทำงานได้มากขึ้นในงานบางประเภท ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ในปัจจุบัน

คาดพม่าปรับศก.-แรงงานกลับบ้านอื้อ

 

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า มีแรงงานชาวพม่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนทำงานในไทย ส่วนใหญ่เป็นงานค่าแรงต่ำ หากสภาพการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในพม่าพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแรงงานเหล่านี้จะเดินทางกลับบ้าน ส่วนคนที่ยังอยู่ในพม่าคงไม่คิดออกไปหางานทำในต่างประเทศ

ด้านบริษัทวิจัยความเสี่ยงยูเรเซียกรุ๊ปเปิดเผยผลการวิจัยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ว่า บริษัทไทยโดยเฉพาะธุรกิจภาคการผลิตและการเกษตร จะประสบปัญหาแรงงานตึงตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้แรงงานพม่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะครองสัดส่วน 25-30 % ของแรงงานทักษะต่ำ หรือแรงงานค่าแรงขั้นต่ำในไทย คนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยกว่าแรงงานไทย 30-50 % และมักทำงานที่คนไทยไม่ทำ ได้แก่ งานอันตราย งานสกปรก และงานลำบาก

 

ยูเรเซียวิเคราะห์ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจของพม่า ที่มีมาตรการยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนต่างชาติ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจพม่า และลดแรงจูงใจที่ชาวพม่าจะเข้ามาหางานทำในไทย เมื่อถึงเวลานั้นบริษัทไทยอาจต้องเพิ่มค่าจ้างให้แรงงานพม่า หรือถึงขั้นต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอินโดจีน

 

แต่นักวิจัยชี้อาจไม่เร็วเพราะงานมีน้อย

 

นายแอนดี ฮอลล์ จากสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า ไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว โดยเฉพาะแรงงานค่าแรงต่ำ ปีที่แล้วช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่แรงงานพม่าราว 100,000 คน เดินทางกลับประเทศ และส่วนใหญ่ไม่กลับมาอีก อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า การปฏิรูปในพม่าจะกระทบกับปริมาณแรงงานพม่า ที่จะเข้าไทยในอนาคตหรือไม่ เพราะแม้พม่าจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายปีข้างหน้า แต่คงยังไม่มีงานจำนวนมากให้แก่แรงงานทักษะต่ำโดยทันที

 

สิ่งที่ต้องจับตามองคือ รัฐบาลพม่าจะยังเดินหน้านโยบายส่งเสริมให้คนไปทำงานในต่างประเทศเพื่อส่งเงินกลับประเทศ หรือจะเปลี่ยนไปจูงใจให้แรงงานกลับประเทศ นายฮอลล์แนะนำว่า ในส่วนของไทยอาจต้องเริ่มมองหาแรงงานทดแทนจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม เนปาล หรือบังกลาเทศ เพราะแรงงานพม่าส่วนใหญ่มาในไทยเพื่อหนีความยากจน และทนอยู่อย่างจำใจเพราะถูกปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง หากมีโอกาสพวกเขาย่อมอยากกลับบ้านเกิดอย่างแน่นอน

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: