จาก‘ธนูปักเข่า’สู่'‘เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่’ วลีฮิตสื่อออนไลน์-วันเดียวคนแห่ดู9แสนวิว ชี้เปิ่นคือความเก๋-ในสังคมโซเชียลมีเดีย

10 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 956 ครั้ง

 

ปรากฏการณ์ “ครูอังคณา” จากวลีดัง “เรื่องนี้ ถึงครูอังคณาแน่”  กลายเป็นประเด็นที่ใครๆ ในโลกออนไลน์กำลังพูดถึงอย่างกว้างขวาง และดูเหมือนว่ากำลังจะกลายเป็นวลีฮิต เพราะหากเข้าเว็บไซด์ Google แล้วลองค้นหาคำว่า “ครูอังคณา” จะได้ผลการค้นกว่าสูงถึง 227,000 รายการ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประเด็น “ครูอังคณา” ถูกกล่าวถึงในช่วงค่ำวันที่ 9 เม.ย.ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 10 เม.ย. ในขณะที่เว็บไซด์ของสื่อเกือบทุกแขนงต่างก็นำเรื่องราวความเป็นมาของวลีฮิตนี้ มานำเสนอกันอย่างคักคัก

 “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” เป็นวลีที่เกิดขึ้นโดยเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกระบุภายหลังจากการสืบค้นของผู้สนใจความเป็นมาของประเด็นนี้ ว่าชื่อ ด.ช.พงศธร หรือ “โต๊ด” เด็กนักเรียนชั้น ม.1/9 โรงเรียนกระทุ่มแบน “วิเศษสมุทคุณ” ที่อัดคลิปตัวเองต่อว่าต่อขานหัวหน้าชั้นเรียน พร้อมเผยแพร่ในยูทูป ต่อเนื่องถึง 3 คลิปด้วยกัน แม้จะไม่มีเนื้อหาเรื่องราวที่ชัดเจนนัก แต่ผู้ชมก็สามารถจับใจความถึงความอัดอั้นของเขาที่ถูกเพื่อร่วมชั้นบล็อกออกจากการเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก โดยดูจากน้ำเสียง เนื้อหาที่ว่า

“คิดได้เนาะให้ทุกคนไล่ออกจากกลุ่ม 1/9 ก็เพราะเรื่องกะโหลกกะลาแค่นี้เองเหรอ ทำไมอ่ะ เห้อะ ทำไมต้องไล่ออกด้วย” พร้อมกับลงท้ายประโยคด้วยวลีเชิงข่มขู่ ถ้ายังไม่นำเขากลับเข้ากลุ่ม 1/9 เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”

 

หลังคลิปถูกเผยแพร่ออกมาไม่กี่ชั่วโมง มีคนเข้าไปชมคลิปของเขากว่า 900,000 วิว พร้อมแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสการสร้างนวัตกรรมออนไลน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับประเด็นครูอังคณาเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้ง กลุ่มเฟซบุ๊กที่อ้างตัวเป็นครูอังคณา, มิวสิควีดิโอประกอบเพลงเรื่องครูอังคณา หรือแม้กระทั่งการแต่งเพลงใหม่ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความน้อยเนื้อต่ำใจของโต๊ด โพสต์ผ่านเว็บไซต์ยูทูป มากมายจนกลายเป็นเรื่องราวในโซเชียลออนไลน์ ที่หากใครไม่รู้หรือไม่ได้ดูถือว่าตกกระแส

อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดกระแสมากมายในสังคมออนไลน์ดังกล่าว ในที่สุด “ครูอังคณา” ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทย ที่ตามไปตามหาตัวจนเจอ โดยครูอังคณาได้เล่าย้อนความเป็นมาของความไม่พอใจที่เกิดขึ้นระหว่างลูกศิษย์ว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดย ด.ช.บอลซึ่งเป็นหัวหน้าห้อง ม.1/9 ได้ตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับติดต่อสื่อสารเรื่องการเรียน การบ้าน ตารางสอบ งานกลุ่มในชั้นเรียน โดยมีครูอังคณาร่วมอยู่ในกลุ่มด้วย โดยการตั้งกลุ่มเฟชบุ๊กดังกล่าวนั้น ได้มีการตั้งกฎประจำกลุ่มไว้ว่า ห้ามใช้คำหยาบ ห้ามมีพฤติกรรมเชิงชู้สาว และหากใครไม่มีเฟซบุ๊ก ก็ให้โทรแจ้งงานเพื่อนที่ไม่มีเฟซบุ๊กด้วย พร้อมกับบอกให้นักเรียนทราบว่า อะไรควรหรือไม่ควรในการใช้เฟซบุ๊ก

 

“กระทั่งในวันที่เกิดเรื่อง ด.ช.บอล ซึ่งเป็นหัวหน้าห้องกำลังใช้เฟซบุ๊กทำงานอยู่ แต่มี ด.ช.โต๊ด เพื่อนร่วมห้องโพสต์คอมเมนท์เป็นเครื่องหมาย "..." ติดกันจำนวนมาก ทำให้ระบบค้างและงานที่หัวหน้าห้องกำลังสื่อสารกันอยู่หายไป จึงตัดสินใจลบชื่อ ด.ช.โต๊ด ออกจากกลุ่ม ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์นี้ ครูอังคณาก็ได้เรียกนักเรียนมาพูดคุยกันและย้ำถึงกฎกลุ่มในเฟชบุ๊ก สรุปว่าทุกอย่างจบลงด้วยดี ด.ช.โต๊ด ก็กลับเข้ากลุ่ม ม.1/9 ได้เช่นเดิม” ครูอังคณากล่าว พร้อมกับสรุปในตอนท้ายว่า เรื่องราวทั้งหมดได้จบลงด้วยดีแล้ว แต่ยังมีการนำประเด็นดังกล่าวไปพูดถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการแอบอ้างเป็นทั้ง ด.ช.โต๊ด,ด.ช.บอล และ ครูอังคณา ซึ่งทำให้ทุกคนรู้สึกวิตกกังวล และขอร้องให้ผู้ที่กำลังดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ยุติการแอบอ้างดังกล่าวด้วย

ถือว่าเป็นการจบประเด็นข้อข้องใจของที่มาวลี “เรื่องถึงครูอังคณาแน่” ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีกมุมหนึ่งความฮิตในการใช้วลีเด็ดนี้กลับไม่ได้จบลงไปด้วย เพราะมันกลับกำลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งในสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการสนทนาในสังคมทั่วไป ในขณะนี้

เหตุใด ‘เรื่องถึงครูอังคณาแน่’ จึงกลายวลีโดนใจขึ้นมาได้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเพียงการโพสต์คลิปแบบจริงใจของ ด.ช.ชั้น ม.1 แบบใสๆ ซื่อๆ กลับทำให้ได้รับความสนใจอย่างสูง เหมือนที่เคยมีวลีฮิตเมื่อปลายปี 2554 ว่า “ธนูปักเข่า” แพร่หลายในโซเชียลออนไลน์มาแล้ว ซึ่งวลีดังกล่าวเริ่มฮิตมาจากในหมู่ผู้เล่นเกมส์ The Elder Scrolls V : Skyrim  mujมีตัวละครที่เป็นเหล่าทหารยามประจำเมืองต่างๆ  ที่มักจะชอบพูดประโยค ที่ว่า  “I used to be an adventurer like you, then I took an arrow in the knee” กันบ่อย  ซึ่งหมายถึงว่า “เมื่อก่อนฉันก็เคยเป็นนักผจญภัยเหมือนกับคุณ จนกระทั่งโดนธนูปักที่เข่า จึงต้องมาเป็นยาม” เสมือนมีความหมายเป็นการบ่ายเบี่ยง แก้ตัว ในความผิดพลาดของตัวเอง

 

เช่นเดียวกัน กรณีของ “เรื่องนี้ต้องถึงครูอังคณาแน่” จึงน่าจะมีอะไรซ่อนอยู่ในความใสซื่ออันไร้ขีดจำกัดนี้ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการนิตยสาร Digital Lifestyle วิเคราะห์ประเด็นที่น่าสนใจนี้ว่า

 

“มันเกี่ยวกับเรื่องความคูลกับความไม่คูล อะไรที่ดูดีมากๆ จะขาดความน่าสนใจไป ขณะสิ่งที่ดูเสร่อๆ เปิ่นๆ จะดูเก๋ ดูคูล แล้วลักษณะเด็กก็ตรงกับรสนิยมอะไรบางอย่างที่ไม่คูล แล้วมันก็เลยเป็นความคูลขึ้นมา คนในโซเชียลมิเดียจะมีเซนส์บางอย่างในการดึงสิ่งที่คูล ซึ่งคือความไม่คูล เอามานำเสนอให้เป็นเรื่องขึ้นมา เราจึงได้เห็นมุกตลกที่งี่เง่าๆ ถูกเอามาใช้ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ แต่ถ้าเล่นไปเรื่อยๆ ก็จะย้อนกลับไปเป็นว่ามันไม่คูลอีกแล้ว จะคูลเฉพาะช่วงแรกๆ ที่คนเล่น ถ้านานไปสัก 2-3 วันจะกลายเป็นสะเหร่อไป”

 

แต่ความเปิ่นที่กลายเป็นความคูลคงแพร่ขยายไม่ได้เร็วเพียงนี้ หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Meme ซึ่งวุฒชัยอธิบายความหมายว่า คือปรากฏการณ์เลียนแบบกันไปเลียนแบบกันมา เพื่อที่จะบอกคนร่วมสังคมว่า เราอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ซึ่งมีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพียงแต่ในโซเชียล มิเดีย ทำให้เกิดสิ่งนี้ได้แรงและเร็ว เหมือนกับสมัยก่อนท่าเต้นของไมเคิล แจ๊คสัน หรือท่าเต้นเบรกแด๊นซ์เป็นท่าฮิต แต่ไม่แพร่เร็วเหมือนยุคนี้

 

“ประเด็นเรื่องครูอังคณา หลักๆ คือเรื่อง Meme ความงี่เง่าของเด็กกลายเป็นความตลก แล้วถูกแชร์จนกลายเป็น Meme สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องคูลหรือไม่คูลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าคือเรื่อง Meme คือทุกคนอยากมีส่วนร่วมกับคนอื่น พอแชร์ปุ๊บก็รู้สึกว่าฉันเป็นเพื่อนกับคนนี้ที่แชร์ไปก่อนหน้าฉัน คนที่แชร์ไปก่อนพอเห็นว่าเราแชร์ก็รู้สึกว่าฉันเป็นพวกเดียวกับเขา โลกทุกวันนี้ ทุกคนต้องการมีส่วนร่วมกับคนอื่น แล้วทุกคนเลยใช้ Meme เดียวกันในเวลาเดียวกัน”

วุฒิชัยขยายความว่า เหมือนกับคนเราต้องการมีส่วนร่วมกับตัวตนที่ใหญ่กว่า ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอันใดเพราะคนเราคือสัตว์สังคม แล้วมันก็เป็นเหตุผลที่คนทุกวันนี้ใช้โซเชียล มีเดีย เพื่อต้องการอยู่ในสังคมเดียวกัน ต้องการอยู่ร่วมกับอะไรบางอย่างที่เป็นสังคมใหญ่

 

แต่ทำไมวลี ‘เรื่องถึงครูอังคณาแน่’ จึงฮิต วุฒชัย มองว่า มันก็มาจาก Meme อีกเช่นกัน เพราะความต้องการมีส่วนร่วมของคนในโลกออนไลน์ จึงก่อให้เกิดการกำหนดความหมายร่วมกัน

 

“คำมันไม่ได้มีความหมายอยู่ในตัวคำเอง จริงๆ มันเป็นคำอะไรก็ได้ เพียงแต่มนุษย์หรือสังคมร่วมกันกำหนดความหมายที่ใช้ร่วมกัน พอในโซเชียลมีเดีย จู่ๆ มันเกิดการกำหนดความหมายร่วมกัน เช่น ธนูปักเข่า เรื่องถึงครูอังคณาแน่ สิ่งเหล่านี้คือ Meme ถ้าเป็นก่อนจะมีโซเชียลมีเดีย เช่น คำว่า ‘ไม่ได้ดั่งใจเลย’ ซึ่งเป็นคำของตัวละครในเรื่องมงกุฎดอกส้ม พอดาราในทีวีพูด คนที่ดูละครก็จำคำนี้แล้วนำไปพูดต่อ เพื่อที่จะเป็นรหัสลับของกันและกัน คือความหมายมันออกนอกละครไปแล้ว ดังนั้น มันจึงเป็นคำอะไรก็ได้ที่ถูกใช้เพื่อเป็นรหัสร่วมกัน”

 

หากนำวลีนี้ไปใช้นอกบริบทสังคมโซเชียลมีเดีย หรือใช้กับคนรุ่นเก่า คำคำนี้ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป การใช้ภาษาจึงเป็นเพียงการแสดงการอยู่ร่วมกันในสังคมเท่านั้นเอง และจะหายไปอย่างรวดเร็วตามธรรมชาติของโลกออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: