เตือนทำใจ‘ข้าวสาร-น้ำมันพืช’ขึ้นราคาอีก ระบุอยู่ที่ต้นทุน-ไม่เกี่ยว'ก๊าซ-น้ำมัน'แพง เผยรัฐไม่อุ้มปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 4 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3021 ครั้ง

 

หลังจากมีการประกาศขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ และความไม่นิ่งของราคาน้ำมันตลอดเวลา ทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นเป็นเงาตาม โดยผู้ผลิตอ้างถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการผลิต วัตถุดิบ การขนส่ง ฯลฯ กระทั่งล่าสุดที่กกพ.ประกาศขึ้นค่าเอฟที ค่าไฟฟ้าอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ พร้อมกับประกาศขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด ที่ประกาศขึ้นค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า ภาระทั้งหมดต้องตกมาอยู่ที่ประชาชน ขณะที่ค่าตอบแทนในการทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ค่าครองชีพทุกอย่างกลับเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แบบไม่มีวันลดลง ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสอบถามไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการ เพื่อหาคำตอบว่า เมื่อก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน ขึ้นราคา ค่าไฟฟ้าขยับตัวตาม ค่าโดยสารรถสาธารณะขึ้นมาอีก ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีสถานการณ์เช่นไร และจะกระทบต่อคนไทยอย่างไร

 

ตรวจสอบสถานการณ์-กำหนดราคาสินค้าควบคุมทุกปี

 

นางผุสดี กำปั่นทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงการควบคุมราคาสินค้า ว่า สถานการณ์การควบคุมราคาสินค้า ขณะนี้ได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.สินค้าและบริการ โดยกำหนดมาตรการในการดูแลสินค้า ว่าจะควบคุมสินค้าชนิดใดบ้าง รวมถึงมาตรการในการกำหนดราคาสินค้า โดยในช่วงต้นปีของทุกปีจะมีการกำหนดราคาสินค้าอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยคณะกรรมการพิจารณาสินค้าควบคุม จะพิจารณาสถานการณ์ราคาสินค้า โดยยึดหลักที่ว่า หากสินค้าชนิดใดมีการควบคุมราคาสินค้าไว้ในปีก่อนๆ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะปรับลดราคาสินค้าควบคุม หรือในกรณีที่มีราคาสินค้าชนิดใดก็ตามที่ได้ควบคุมไว้มีปัญหา จำเป็นต้องกำหนดเป็นสินค้าควบคุมเพิ่มเติม

นางผุสดีกล่าวต่อว่า เมื่อกำหนดเป็นสินค้าควบคุมแล้ว จะมากำหนดมาตรการทั้งทางด้านราคา คือ  กำหนดราคาสินค้าแต่ละชนิดให้ขายได้ไม่เกินเท่าไหร่ เช่น กรณีควบคุมราคาน้ำตาลทราย โดยให้ผู้ประกอบการสินค้าชนิดนั้นๆ แจ้งราคาต้นทุน แจ้งโครงสร้างของสินค้าที่ผู้ประกอบการกำลังผลิต ให้กรมการค้าภายในทราบ เพื่อติดตามการกำหนดราคา แบ่งเป็นสถานการณ์หนัก-เบา เนื่องจากสินค้าแต่ละชนิดราคาไม่เท่ากันตามสถานการณ์การขาดแคลน และความต้องการของตลาด ณ ขณะนั้น ด้านมาตรการด้านการบริการ ต้องมีการแจ้งสถานที่จัดเก็บสินค้าและบริการ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการขาดแคลน หรือมีแนวโน้มการเก็บกัก อาจจะมีคำสั่งจากกรมการค้าภายในห้ามขนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง  เช่น กรณีการหาสาเหตุหรือที่มาของการขาดแคลน หรือการกักตุนสินค้า น้ำตาล เป็นต้น

 

 

ปล่อยราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขึ้นราคา ส่งผลต่อการกำหนดราคาสินค้าในตลาดหรือไม่ นางผุสดีกล่าวว่า นับเป็นสิ่งที่กรมการค้าภายในไม่สามารถควบคุมได้ แต่เดิมรัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชน นำเงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุน เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น แต่ขณะนี้รัฐบาลเห็นว่ากองทุนที่ใช้ไปใกล้หมดแล้ว การที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในลักษณะนี้ ทำให้ประชาชนไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด และการปรับตัวไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้การปรับราคาไม่เต็มที่

นางผุสดีกล่าวต่อว่า ในสินค้าอื่นๆก็เช่นกัน กรมการค้าภายในต้องการให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเดิมทีกลไกการค้าของไทยเป็นไปอย่างเสรีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อยากจะปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด แต่เนื่องจากการบริโภคสินค้าและบริการของประชาชน คนไทยยังอ่อนแออยู่การที่สินค้าราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชาชนรับไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล

ขณะนี้ราคาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ อาจมีผลในราคาต้นทุนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันไม่ใช่ต้นทุนหลักในการผลิตสินค้า แต่เป็นเรื่องของการขนส่ง และใช้ในระบบอุตสาหกรรม แต่ต้นทุนส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตอยู่ที่วัตถุดิบ อย่างน้อย  50 เปอร์เซ็นต์ หากวิเคราะห์ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เปลี่ยนแปลงเฉพาะเครื่องจักรหรือการขนส่งสินค้า ทางกรมการค้าภายในประเมินแล้วว่า มีผลกระทบต่อราคาสินค้าไม่มาก แต่ตอนนี้ทำไมประชาชนจึงรู้สึกว่าอะไรๆก็แพงเสียหมด

 

“ต้องยอมรับว่าเป็นภาระต่างๆ ที่ประชาชนกำลังแบกรับ ขณะนี้โครงสร้างการครองชีพคนไทยเปลี่ยนแปลงไป มีความสะดวก กินดีอยู่ดี มีโทรศัพท์มือถือใช้ทุกวัย นับเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนประกอบทำให้รู้สึกว่ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมถึงค่ารถโดยสารก็ปรับเพิ่ม ค่าไฟก็ปรับเพิ่ม หากสมมุติว่าเราเป็นแม่ค้าขายอาหาร ต้นทุนในการนำมาผลิตอาหารไม่ได้เพิ่มมาก ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ทั้งอากาศร้อน หมูราคาแพง ไก่ ไข่ ราคาแพง แต่น้ำตาล น้ำมันยังคงราคาเดิมอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายสภาพแวดล้อมทำให้ค่าใช้จ่าย ต้นทุนส่วนตัวเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการขายราคาเดิม แต่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ต่อครัวเรือนลดลง ถือเป็นความรู้สึกประชาชนทั่วไปที่รู้สึกแบบนี้”  รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว

 

 

ราคา‘ข้าวสาร-น้ำมันพืช’อาจปรับขึ้นอีก

 

 

เมื่อถามว่า ในปีนี้ข้าวสาร น้ำตาล น้ำมันพืช มีโอกาสจะขึ้นราคาอีกหรือไม่ และมีมาตรการในการควบคุมสินค้าเหล่านี้อย่างไร รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า เรื่องข้าว ทางกรมการค้าภายในเข้ามาดูแล เนื่องจากรัฐบาลอยากให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น กรมการค้าภายในมีหน้าที่ดูแลคน 3 กลุ่ม คือ เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ให้บริการ คนทั้ง 3 กลุ่มนี้อาจจะมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ถ้าอยากให้ราคาดี ราคาผลประกอบการจะสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ แต่ประชาชนยอมรับไม่ได้ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต้องแชร์ผลประโยชน์กัน

สำหรับราคาน้ำมันพืชในปีนี้วัตถุดิบไม่ได้ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันปาล์มมีการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 125-126 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คนหันมาใช้น้ำมัน B 5 มากขึ้น แต่น้ำมันพืชรัฐบาลต้องการดูแลประชาชนไม่ให้บริโภคน้ำมันพืชราคาแพง จึงควบคุมราคาให้อยู่ที่ขวดละ 42 บาท ดังนั้นราคาผลปาล์มดิบต้องไม่เกินกิโลกรัมละ 30 บาท แต่ขณะนี้ราคาปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 32-34 บาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่น้ำมันพืชจะราคาขวดละ 42 บาท จะต้องทำอย่างไรให้มีปาล์มดิบส่งโรงกลั่นที่ราคาไม่แพงเกินไป ให้สามารถขายน้ำมันพืชได้ในราคาไม่เกินขวดละ 42 บาท ดังนั้นมาตรการนี้จึงมีการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ ส่วนน้ำตาลทรายคาดว่าไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากผลผลิตเยอะมาก ราคาตลาดโลกไม่หวือหวา ไม่น่ามีปัญหา

 

ยอมรับ‘ธงฟ้า-ร้านค้าถูกใจ’แก้ปลายเหตุ

 

 

เมื่อถามว่า ในช่วงที่สินค้าปรับขึ้นราคา ประชาชนมองว่าการจัดนโยบายร้านค้าธงฟ้าและร้านถูกใจ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ นางผุสดีกล่าวว่า กรมการค้าภายในทำหน้าที่ดูแลผู้บริโภคปลายทาง ขณะที่ต้นทางมีหน่วยงานอื่นดูแล เช่น ราคาน้ำมันถูกกำหนดโดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งกำหนดให้เป็นไปตามราคาตลาด โดยไม่สนใจว่าปลายทางประชาชนจะเป็นอย่างไร ด้านเกษตรกรก็หวังอยากให้ราคาสินค้าเกษตรมีราคาดี โดยไม่ได้ใส่ใจว่าการควบคุมราคาสินค้าเป็นอย่างไร ผลกระทบก็ตกอยู่ที่ประชาชน บ่นว่าเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ในฐานะกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปลายทางตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาที่ทำอยู่ โดยเฉพาะโครงการธงฟ้า ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว ประชาชนมีความยอมรับตรงนี้

อย่างไรก็ตามโครงการธงฟ้า ทางกรมการค้าภายในก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีผลกระทบต่อร้านค้าปลีก หรือร้านค้าโชว์ห่วย ส่วนโครงการร้านถูกใจ กรมการค้าภายในคิดว่าจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้ แต่ไม่ได้สร้างร้านค้าขึ้นมาใหม่ เป็นร้านค้าโชว์ห่วยเดิมที่มีอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ เราใช้เครือข่ายเพื่อวางจำหน่ายสินค้าราคาถูกในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ หวังว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ ย้ำว่าไม่ใช่ร้านค้าเกิดใหม่ แต่เป็นการขอพื้นที่ในการวางจำหน่ายสินค้า เรียกว่าร้านถูกใจ สินค้าที่ขายก็เป็นสินค้าที่มีอยู่ในโครงการ

เมื่อถามว่ามาตรการในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าระยะยาวเป็นอย่างไร รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า หากมีการเปิดตลาดเสรีในอาเซียน ผู้ประกอบการต้องแข่งขันในระดับอาเซียน ไม่เช่นนั้นจะถูกสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา จะอยู่ไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาในด้านผลิตภัณฑ์ ค่าใช้จ่าย เพื่อจะขายในราคาที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตามหากเป็นตลาดเสรี เราก็ไม่สามารถเข้าไปควบคุมราคาสินค้าได้ จะทำให้เกิดปัญหาข้อจำกัด การดำเนินการยากลำบาก ต้องค่อยปรับให้ประชาชนเรียนรู้กลไกตลาดการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้น

 

 

สินค้าควบคุม 42 รายการ

 

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้สินค้าควบคุมมีอะไรบ้าง นางผุสดีกล่าวว่า หมวดอาหารได้แก่ 1.กระเทียม 2.ข้าวเปลือก ข้าวสาร 3.ข้าวโพด 4.มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ 5.ไข่ไก่ 6.สุกร เนื้อสุกร 7.น้ำตาลทราย 8. น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้และไม่ได้ 9.ครีมเทียมข้นหวาน นมข้นหวาน นมคืนรูป นมแปลงไขมัน 10.นมผง นมสด 11.แป้งสาลี 12.อาหารในภาชนะที่บรรจุปิดสนิท 13.อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่บรรจุภาชนะผนึก

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ได้แก่ 14.ผงซักฟอก 15.ผ้าอนามัย 16.กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า ส่วนหมวดปัจจัยทางการเกษตร เช่น 17.ปุ๋ย 18.ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช หรือโรคพืช 19.หัวอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ 20.เครื่องสูบน้ำ 21.รถไถนา 22.รถเกี่ยวข้าว 23.เครื่องวัดความชื้นข้าว 24.เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าว 25.เครื่องชั่งวัดอัตราส่วนของแป้งในหัวมัน

หมวดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่  26.ปูนซิเมนต์ 27.เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น 28.สายไฟฟ้า ส่วนหมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้แก่  29.กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว 30. กระดาษพิมพ์และเขียน 31.เยื่อกระดาษ ด้านหมวดบริภัณฑ์ขนส่ง ได้แก่ 32.แบตเตอร์รี่รถยนต์ 33.ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ 34.รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก

หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ประกอบด้วย  35.ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 36.น้ำมันเชื้อเพลิง 37.เม็ดพลาสติก ส่วนหมวดยารักษาโรค ได้แก่ 38.ยารักษาโรค หมวดอื่นๆ คือ  39.เครื่องแบบนักเรียน ส่วนหมวดบริการได้แก่ 40.การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า  41.การบริการฝากรับสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า และ 42.บริการทางการเกษตร

ชี้เปิดการค้าเสรีไม่คุมราคาสินค้า

 

เมื่อถามถึงกรณีการเตรียมการสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า การควบคุมราคาสินค้าจะเป็นอย่างไร รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ไม่ใช่ข้อดีที่จะไปกำหนดหรือดึงราคาสินค้าเอาไว้ ตรึงราคา ณ จุดใด จุดหนึ่งนานๆ ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีโอกาสพัฒนาเพื่อการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน หากภายใน 3 ปี ประชาคมอาเซียนเปิดตลาดเสรี สินค้าต่างๆจะเข้ามาในประเทศ หากสินค้าเหล่านั้นดีกว่า ราคาถูกกว่า ประเทศไทยจะสู้หรือแข่งขันกับเขาไม่ได้

 

“แต่การจะทำให้ประชาชนยอมรับสภาพกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น คงต้องค่อยๆทำ อย่างน้อยประชาชนต้องยอมรับตรงนี้ว่า สภาพไม่เหมือนเดิม การที่รัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ก็ต้องทำความเข้าใจในสภาพที่รัฐบาลทำ ซึ่งขณะนี้ราคาสินค้าควบคุมมีทั้งหมด 42 รายการ เป็นสินค้า 39 และบริการ 3 รายการ โดยตัวไหนที่ไม่มีปัญหาก็ไม่ใช้มาตรการควบคุม แต่เผื่อมีปัญหากะทันหัน ก็สามารถควบคุมได้ปัจจุบันทันด่วนทันที” นางผุสดีกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: