ชงปิดประชุมสภาฯ-ลากพ.ร.บ.ปรองดอง เทียบร่าง4ฉบับ-ไม่เชื่อเป็นต้นเหตุ'ปฏิวัติ' ‘แก้วสรร’ถามคดีที่คตส.ชี้โทษจะทำยังไง

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 4 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2350 ครั้ง

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนพยายามผลักดันเข้าสู่วาระการพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  สมัยสามัญนิติบัญญัติ  แต่ถูกคัดค้านโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน จนเกิดเหตุการณ์ชุลมุนในสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยเกิดความเสียหายทั้งในสายตาของคนไทยด้วยกันและต่างประเทศ ประกอบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นับพันคนชุมนุมคัดค้านอยู่ด้านหน้ารัฐสภา และมีการปิดถนนเพื่อขัดขวางไม่ให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้ามาประชุมสภาได้ ทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ร่าง ออกไปอย่างไม่มีกำหนด มีการทำร้ายร่างกาย

 

เปิดรายละเอียดพ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ

 

สำหรับพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ถูกเสนอในที่ประชุมสภามีทั้งหมด 4 ร่าง คือ ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ พร้อมด้วยส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 35 คน เป็นผู้เสนอ, ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่นายนิคม วรปัญญา ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมส.ส.22 คน เป็นผู้เสนอ, ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอพร้อมด้วยส.ส.อีก 50 คน  และร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และส.ส.กลุ่มเสื้อแดง 74 คน เป็นผู้เสนอ

โดยร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เกิดขึ้นจากการแนวคิดของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมีพล.อ.สนธิ เป็นประธานกรรมาธิการ

มีทั้งหมด 8 มาตรา มีหลักการสำคัญให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองและทำหน้าที่ปราบปรามในเหตุการณ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 ถึง 10 พฤษภาคม 2554 พ้นจากความผิดและให้ระงับการสอบสวนฟ้องร้อง ตลอดจนให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ส่วนผู้รับโทษให้ปล่อยตัว

 

ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือกระทำความผิด ที่มาจากการดำเนินการขององค์กรที่แต่งตั้งโดยประกาศ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้พ้นผิดและใช้การดำเนินการตามหลักนิติธรรม นอกจากนี้ยังคืนสิทธิทางการเมืองกับผู้ที่ถูกตัดสินยุบพรรคการเมืองด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิของบุคคลในการไปฟ้องร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งจะมีผลให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มสี  เจ้าหน้าที่ของรัฐ และรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวพ้นจากการกระทำผิด ซึ่งหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ปรองดองมีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

จากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและรุนแรงในประเทศช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 นำไปสู่การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ สาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง  โดยเกิดการยึดอำนาจการปกครองวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมไปถึงการยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ทำให้เกิดการวิจารณ์ความสอดคล้องกับหลักนิติธรรม กลไกต่างๆของรัฐ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยประชาชนตั้งการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองสมานฉันท์ด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2549  จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ด้วยการคืนความชอบธรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดี โดยกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ และขัดต่อหลักนิติธรรม รวมทั้งการคืนสิทธิทางการเมืองให้กับกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง

 

ร่างฉบับพล.อ.สนธิ-สามารถเหมือนกัน

 

สำหรับร่างของนายสามารถที่มีเนื้อหาเดียวกันกับร่างของพล.อ.สนธิ ระบุว่า มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 หากมีการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง การกระทำตามวรรคหนึ่งให้หมายความถึงการกระทำของบุคคล ดังต่อไปนี้

(1) การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง

(2) การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันระงับหรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

 

ให้เหยื่อคำสั่งคปค.เป็นโมฆะ-กก.พรรคการเมืองพ้นผิด

 

มาตรา 5 ให้ถือว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ หรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กรหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นไปตามประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการ หรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้น ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป

มาตรา 6 เพื่อให้บุคคลได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความปรองดองในสังคม ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคล ผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เพราะเหตุมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคล ซึ่งมิใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใด ซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 8 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติ

 

ร่างฉบับนิยมเน้นนิรโทษแต่ฟ้องแพ่งไม่ได้

 

ส่วนร่างฉบับนายนิยมมีเนื้อหาแตกต่างกันจากร่างอื่นๆ เรื่องช่วงเวลา และให้คืนสิทธิเลือกตั้ง แต่สิทธิหรือประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุผู้ได้รับการนิรโทษกรรมไม่สามารถเรียกร้องสิทธิทางแพ่งได้ ซึ่งเนื้อหาใจความสำคัญมีดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ......

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ......'

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายของบุคคลที่มีมูลเหตุหรือสืบเนื่องมาจากการชุมนุมเรียกร้องหรือแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าในรูปแบบหรือลักษณะใด รวมถึงการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 หากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปและให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง หากผู้นั้นต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดไม่ว่าจะถูกคุมขังอยู่โดยหมายหรือคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หากถูกคุมขังอยู่ก็ให้ปล่อยตัวผู้นั้นไป ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง การกระทำข้างต้นไม่รวมถึงการกระทำอันเป็นความผิดฐานก่อการร้าย และความผิดต่อชีวิต

มาตรา 4 การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน กล่าวหา หรือดำเนินคดีโดยบุคคล คณะบุคคลหรือองค์กร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือโดยผลของประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว อันเป็นผลมาจากการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ไม่ว่าการดำเนินการของบุคคล คณะบุคคลหรือองค์กรนั้นจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของกระบวนการดังกล่าวก็ตาม ให้ถือว่าบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นไม่เคยถูกกล่าวหา หรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการที่จะปฏิบัติต่อบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นตามหลักนิติธรรมต่อไป

มาตรา 5 เพื่อให้โอกาสบุคคลได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ และสร้างความปรองดองในสังคม ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่ศาลได้มีคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดและมีสภาพบังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผู้ใช้บังคับ ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ เป็นต้นไป

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลที่ได้รับความเสียหายในอันที่จะเรียกร้องความรับผิดทางแพ่งกับบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตน

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ฉบับคนเสื้อแดงเปิดช่องนิรโทษกรรมม็อบ

 

ส่วนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่นายณัฐวุฒิ และส.ส.เสื้อแดง มีเนื้อหาดังนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.....

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 เพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้นิรโทษกรรมบรรดาการกระทำให้ผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ รวมทั้งบุคคลหรือคณะบุคคลทั้งหลายที่ได้กระทำหลังถูกกระทำระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือการกระทำหรือถูกกระทำก่อนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ในความผิดที่เกี่ยวกับ

(1) การกระทำการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งการกระทำตามคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) การกระทำในการชุมนุมหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การกล่าวหรือการไขข่าวไม่ว่าโดยวาจาหรือโดยการโฆษณาใดๆ ที่เป็นการเรียกร้องทางการเมือง ในการต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดินหรือการต่อต้านการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

(3) การกระทำของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ถูกสอบสวน ไต่สวน ดำเนินคดีตามคำสั่งหรือประกาศหรือคำวินิจฉัยของบุคคล คณะบุคคลหรือองค์กร รวมทั้งตามคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

(4) การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ทหาร ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคล ที่ได้กระทำในการควบคุมการชุมนุม การสลายการชุมนุม ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นใด รวมถึงการกระทำการสอบสวนทางวินัยราชการอันสืบเนื่องจาก (2)

(5) การกระทำใดๆ ขององค์กรอิสระหรือองค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำตาม (1) (2) (3) หรือ (4) แล้วแต่กรณี หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงผู้กระทำทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ หากการ กระทำนั้นเป็นความผิดกฎหมาย ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง หากผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้คืนสิทธิเลือกตั้งแก่บุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา 4 การนิรโทษกรรมหรือสร้างความปรองดองแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ติงใช้สภาฟอกผิดนักการเมือง

 

หากพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองแต่ละฉบับจะเห็นว่า เป้าประสงค์เพื่อเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อล้างความผิดในอดีตนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน 2549 ไปจนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2553  โดยหลายฝ่ายมองว่า จะเป็นความพยายามใช้รัฐสภาเพื่อออกกฎหมายฟอกความผิดให้กับนักการเมือง ซึ่งหากพิจารณาตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 5 ในร่างฉบับของพล.อ.สนธิและนายสามารถ จะพบว่าเป็นการยกเลิกคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล ส่งฟ้องต่ออัยการในคดีคอร์รัปชั่นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเด็นนี้ทำให้จุดประกายแรงเสียดทานจากกลุ่มการเมืองทั้งในสภา คือ พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

 

 

มุมคนเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ลั่นไม่ถอนลุยสร้างความปรองดอง

 

 

ในมุมมองของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ปรองดองค้างอยู่ในวาระ โดยจะไม่มีการพิจารณาใดๆ เนื่องจากการเลื่อนวาระการพิจารณาออกไป อีกทั้งในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ทางคณะรัฐมนตรี จะพิจารณามีมติให้จัดทำพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยการประชุมโดยจะกราบบังคมทูล ฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย คาดว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ในสมัยประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติจะไม่มีในสมัยประชุมนี้

 

            “ยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ปรองดองจะไม่ตกไป ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระ ซึ่งกรณีที่จะทำให้ร่างพระราชบัญญัติตกไป มีเพียงกรณีการยุบสภาเท่านั้น จะไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 สมัยประชุมหน้า หรือกรณีการถอนร่างฯ โดยที่ประชุมมีมติให้ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ผมไม่มีเหตุผลจะถอน เพราะขณะนี้ไม่ได้พิจารณาอยู่แล้ว”

 

อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.ปรองดอง กว่าจะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการอีกหลายคณะ  รวมถึงการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการคืนเงินให้กับพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ก็ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจน ฉะนั้นอย่าคิดว่าพ.ร.บ.ปรองดองจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การปฏิวัติ หรือเป็นเงื่อนไขให้กับกลุ่มคนที่ต่อต้านอยู่ดี ใครอยากปฏิวัติรัฐประหารถ้าคิดว่าบ้านเมืองจะดีขึ้นก็ขอให้ทำ แต่ต้องรับผิดชอบหายนะที่จะเกิดขึ้นกับสังคม

 

อย่างไรก็ตามนายสามารถยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่ตนเสนอมีข้อความทุกประการเหมือนกับร่าง ฉบับของพล.อ.สนธิทุกตัวอักษร โดยยืนยันว่า ไม่มีการคืนเงินให้กับใคร เป็นเพียงการยกโทษทางอาญา แต่ฝ่ายตรงข้ามมีความติดใจกับการเสนอร่างของพล.อ.สนธิ  ซึ่งวัตถุประสงค์หลักๆในการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง คือ  ต้องยอมรับว่า 6 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองมีแต่ความแตกแยก ความสามัคคี ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 วิกฤติต่างๆถาโถมเข้ามาสู่ประเทศชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ ถ้ามัวแต่แตกแยกก็อายประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า

 

นายสามารถกล่าวต่อว่า ในอดีตการปรองดองได้เคยเกิดขึ้น หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16  หรือเหตุการณ์ 16 ตุลา 19 ก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งวันนี้ก็พยายามให้เกิดการปรองดองขึ้น แต่อาจจะมีกลุ่มคนที่ไม่อยากให้มีการปรองดองเกิดขึ้น ทั้งนี้หากรับผิดชอบกับผลเสียที่เกิดขึ้นโดยพยายามใช้กระบวนการทางรัฐสภา ใช้กฎหมายให้เกิดความรอบคอบรัดกุม ไม่ใช่กฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ระยะเวลา 2 เดือนที่ปิดสมัยประชุมชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง นายสามารถเสนอว่า น่าจะใช้เวลาทำความเข้าใจกันและกัน ตามแนวทางที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้เสนอการสานเสวนา หรือสุนทรียะเสวนา โดยที่ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์การทำร้ายประธานรัฐสภา หรือเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร์ ทำให้ภาพลักษณ์รัฐสภาไทยเสียหาย

 

 

แก้วสรรชี้เหตุค้านพ.ร.บ.ปรองดองเพราะขัดหลักนิติธรรม

 

 

ขณะที่นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตเลขาธิการ คตส. ยืนยันว่า เหตุผลที่คนส่วนใหญ่คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง นั้นเป็นเพราะตัวบทกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา  3 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 เพื่อเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย เพราะฉะนั้นตั้งแต่คดียุบพรรค คดียึดทรัพย์ หรือแม้แต่คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ คดีเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานของคตส.แทบทั้งสิ้น

ตัวบทกฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือมีผลอย่างไร ไม่ได้อยู่ที่คนเสนอพูดว่าจะเป็นอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าตัวบทที่เขียนออกมาเป็นอย่างไร การที่เขียนกฎหมาย ตามมาตรา 5 ซึ่งว่าด้วยการแต่งตั้งคตส. ขัดกับหลักนิติธรรม ขัดอย่างไรตัวบทกฎหมายไม่ได้ระบุว่าการทำงานของคตส. ขัดกับหลักนิติธรรมเรื่องใดบ้าง ดังนั้นคดีต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล หรือคดีที่รอการตัดสินพิพากษาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คดีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งพรรคการเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากมีการจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครในการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549

คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวิตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี, คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคซื้อเสียงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550, คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ อันเนื่องมาจากร่ำรวยผิดปกติ ในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากทรัพย์สินก่อนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำนวน 46,373 ล้านบาท คำตัดสินที่ศาลได้พิพากษาไปแล้วจะทำอย่างไร

 

ชี้ไม่ใช่นิรโทษกรรมแต่ออกใบอนุญาตกระทำผิด

 

นายแก้วสรรกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครทราบว่า ใครปรองดองกับใคร หรือใครทะเลาะกับใคร ทุกวันนี้เป็นเพียงฝ่ายที่มีอำนาจ ออกกฎหมายยกโทษให้กับพวกพ้องของตนเองเท่านั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการปรองดองอะไรเลย  แม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างเพื่อผลประโยชน์จากคนส่วนรวม  แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ ในทางกฎหมายไม่เรียกว่า การนิรโทษกรรม แต่เป็นการออกใบอนุญาตให้กระทำผิด  การนิรโทษต้องเป็นเหตุการณ์เฉพาะเจาะจง เมื่อเหตุการณ์สงบไปแล้ว มีการลงโทษไปแล้วไม่สมประโยชน์ นี่คือการนิรโทษ แต่ร่างพ.ร.บ.ปรองดองไม่เข้าข่าย

 

ร่างทั้ง 4 ฉบับแทบจะไม่ต่างกันในหลักใหญ่

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยร่างฉบับของพล.อ.สนธิ และของนายสามารถมีเนื้อหาเดียวกัน ขณะที่เนื้อหาในร่างของ พล.อ.สนธิ และกลุ่มเสื้อแดงโดยรวมไม่แตกต่างกันคือ กำหนดให้การลบล้างความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเหตุการณ์วันที่ 15 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เมื่อพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ให้ระงับการสอบสวน ยื่นฟ้อง ถอนฟ้อง จำหน่ายคดี ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง หากคดีพิพากษาถึงที่สุดให้เสมือนไม่เคยต้องคำพิพากษา คดีที่ดำเนินการโดยคตส.ก็ให้สิ้นสุดด้วยเหมือนกับไม่เคยถูกกล่าวหา

การเพิกถอนสิทธิ์นักการเมืองที่พรรคถูกยุบให้ถือเป็นโมฆะ และให้ถือว่าไม่เคยถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง การดำเนินการตามพ.ร.บ.ไม่ตัดสิทธิ์บุคคลในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง จะมีที่แตกต่างคือในมาตรา 3

ขณะที่ร่างของพล.อ.สนธิ เป็นการล้างผิดในทุกกรณี รวมทั้งคดีหมิ่นสถาบัน ส่วนร่างของนปช.ต่างจากร่างอื่นที่ช่วงเวลา โดยระบุนับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่พ.ร.บ.บังคับใช้

สำหรับร่างของนายนิยมแตกต่างกันจากร่างอื่นๆ ในมาตรา 3 โดยไม่รวมถึงการกระทำผิดฐานก่อการร้าย และความผิดต่อชีวิต และให้คืนสิทธิเลือกตั้ง แต่สิทธิหรือประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุผู้ได้รับการนิรโทษกรรมไม่สามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: