ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 5 กันยายนนี้ นานาประเทศกำลังปรึกษาหารืออย่างคร่ำเคร่งในการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ คาดการณ์ว่าประเด็นหลักของการถกเถียง และฝักฝ่ายค่ายความคิดจะยังคงเดิม นั่นคือการเกี่ยงว่า ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหตุผลหลัก ๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ อย่างจีน บราซิล หรืออินเดีย หยิบยกมาโต้แย้งเสมอ ๆ คือ ประเด็นว่าด้วยความเป็นธรรมในการพัฒนา ในเมื่อที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นภาระแก่โลก เป็นส่วนใหญ่ พอโลกป่วยไข้กลับจะห้ามประเทศกำลังพัฒนา ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างไร เพราะย่อมกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา
ฟากฝั่งประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลบเลี่ยงพันธะการลดก๊าซเรือนกระจกเสมอมา ก็ยกเหตุผลว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับ 1 อย่างจีน ควรต้องรับผิดชอบด้วย มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของประเทศพัฒนาแล้วฝ่ายเดียว กว่าโลกจะได้ข้อสรุปคงอีกนาน
อย่างไรก็ตาม ความพยายามสร้างกลไกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีมาเสมอ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังเดินหน้าโครงการเรดด์พลัสของธนาคารโลก ซึ่งเป็นกลไกที่มุ่งเน้นการรักษาพื้นที่ป่า และบริหารจัดการอย่างยั่งยืน สำหรับเก็บกักคาร์บอน ตามหลักการแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ ทว่า ในทัศนะของผู้ที่ติดตามเรดด์พลัส บางเหลี่ยมมุมของมันจำเป็นต้องขบคิดอย่างละเอียด
กลไกเรดด์พลัส จ่ายเงินแลกปล่อยคาร์บอน
เดิมทีกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้คือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือซีดีเอ็ม (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งกำหนดประเภทของโครงการ ที่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด 15 ประเภท แต่มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคป่าไม้เพียงประเภทเดียวคือ โครงการปลูกป่า แต่เพราะมีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เข้มงวด จึงพบว่าในเดือนกรกฎาคม 2554 มีโครงการปลูกป่าจากประเทศต่างๆ ภายใต้กลไกนี้เพียง 17 โครงการเท่านั้น
การประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญา United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC ครั้งที่ 11 ในปี 2548 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ประเทศปาปัวนิวกินี และคอสตาริกา จึงเสนอกลไกใหม่ที่ชื่อว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่า ในประเทศกำลังพัฒนาหรือเรดด์ (Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries: REDD) ซึ่งถือเป็นประเด็นร้อนประเด็นหนึ่ง ในการเจรจาจัดเรื่องโลกร้อนสภาพภูมิอากาศ
เมื่อถึงการประชุม COP13 ในปี 2550 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เรดด์ถูกกำหนดให้เป็นกลไกเพิ่มเติม และไม่เกี่ยวข้องกับกลไกการพัฒนาที่สะอาด กล่าวโดยสรุป เรดด์มีแนวคิดว่าประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถลดการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรมลง ควรได้ค่าชดเชยหรือผลตอบแทนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว
แม้ว่าหลายประเด็นของเรดด์ยังไร้ข้อสรุป แต่มันกลับถูกขยายแนวคิด กระทั่งในการประชุม Bangkok Climate Change Talk เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ จึงพัฒนาเป็นเรดด์พลัส (REDD-Plus) จากเดิมที่เรดด์กล่าวถึง เฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำให้ป่าเสื่อมโทรมเท่านั้น แต่เรดด์พลัสเพิ่มหลักการอีก 3 ข้อ คือ การอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน, การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการเพิ่มป่าไม้ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน แหล่งสนับสนุนทางการเงินแบบพหุภาคีของเรดด์พลัสที่ใหญที่สุดคือ ธนาคารโลก ซึ่งประมาณการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2551 ได้สนับสนุนเงินแก่ประเทศต่างๆ ไปแล้วถึง 226,800 ล้านบาท เป็นเงินของธนาคารโลกถึง 63,409.5 ล้านบาท
ถามว่าแล้วกลไกเรดด์และเรดด์พลัสทำงานอย่างไร ทำไมประเทศหรือองค์กรระดับประเทศ ต้องให้เงินสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรักษาป่า ลดความซับซ้อนของคำอธิบายลงอาจพูดแบบรวบรัดได้ว่า มันคือการซื้อสิทธิที่จะปล่อยคาร์บอน
สมมติว่าพื้นที่ป่าแห่งหนึ่งในประเทศไทยสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 50 ตัน ประเทศพัฒนาแล้วให้งบประมาณประเทศไทยบริหารจัดการพื้นที่ป่าแห่งนี้ ให้คงศักยภาพการเก็บกักคาร์บอน 50 ตันหรือกักเก็บได้มากขึ้น ประเทศผู้ให้เงินก็ไม่จำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของตนอย่างน้อย 50 ตัน หรือตามศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ป่าแห่งนั้น
กรมอุทยานฯ หวังเงินเรดด์พลัส ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่า 40 % ภายในปี 2563
“ที่ไทยเข้าไปเกี่ยวตอนนี้เป็นโครงการภายใต้ธนาคารโลกที่ชื่อว่า โครงการหุ้นส่วนป่าไม้คาร์บอน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 โดยเสนอเป็นแผนเชิงความคิดว่า จะทำอย่างไรธนาคารโลกก็อนุมัติ แต่ยังไม่มีงบประมาณ กระทั่งปี 2553 กรมอุทยานฯ ได้รับเงินสนับสนุน 6.3 ล้านบาท ให้มาจัดทำโครงการเตรียมการเรดด์พลัสคือเป็นแผนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อจะขอเงินสนับสนุน 107.1 ล้านบาท ในปี 2555” พรพนา ก๊วยเจริญ คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าว
คณะทำงานเรดด์พลัสดังกล่าวอยู่ภายใต้อนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธาน มีการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่พรพนากล่าวว่า มิใช่การรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เป็นเพียงประชาชนบางกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเท่านั้น ณ ขณะนี้ นโยบายเกี่ยวกับเรดด์พลัสได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 แล้ว
ส่วนพื้นที่ที่ได้รับการพิจารณาเป็นพื้นที่นำร่องคือ อุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและพื้นที่รอยต่อผืนป่าตะวันตก และพื้นที่แนวเชื่อม ระหว่างกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2563
เน้นเก็บคาร์บอน หวั่นกระทบป่าไม้-ชุมชน
กล่าวโดยหลักการ เรดด์พลัสน่าจะเอื้ออำนวยต่อการดูแลรักษาพื้นที่ป่า แต่ถ้ากล่าวในมิติที่ซับซ้อนกว่า กลไกเรดด์พลัสอาจสร้างผลกระทบในมิติทางสังคม วิถีชีวิต และสิทธิชุมชน เนื่องจากกลไกนี้มุ่งเน้นศักยภาพการเก็บกักคาร์บอนเป็นหลัก จักรชัย โฉมทองดี อีกหนึ่งในคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม อธิบายอย่างง่ายๆ ว่า เรดอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ถ้ารับเงินมาแล้วพื้นที่ป่าต้องไม่ลดลง สมมติว่าประเทศไทยมีป่า 100 ไร่ คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะสูญเสียพื้นที่ป่า 10 ไร่ เงินสนับสนุนจากเรดด์จะถูกใช้ไปเพื่อรักษาพื้นที่ป่า 10 ไร่นี้เอาไว้ ซึ่งจักรชัยกล่าวว่า ทุกอย่างตั้งอยู่บนโลกแห่งจินตนาการและการคาดการณ์ไปข้างหน้า
“แต่เรดด์พลัสไม่ใช่แค่รักษาป่าไว้เฉย ๆ สมมติว่า ให้บริษัทต่างชาติเข้ามารักษาป่า วิธีคิดเดิมคือป่านี้แตะไม่ได้ แต่เรดด์พลัสไม่ได้บอกว่าป่านี้แตะได้หรือไม่ได้ แต่ดูที่ศักยภาพของการเก็บกักคาร์บอน ถ้าคุณบริหารจัดการป่า แล้วการเก็บกักคาร์บอนไม่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นคุณก็ได้เงินจากเรดด์พลัส หมายความว่า จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาจัดการพื้นที่ป่าตรงนี้ แต่แทนที่จะล้อมรั้วไว้เฉยๆ เขาอาจจะเข้าไปตัดต้นไม้แล้วปลูกต้นใหม่ โดยบอกว่าต้นไม้ที่ตัดมีมูลค่าทางตลาดสูง แต่ดูดคาร์บอนดีไม่เท่าต้นไม้ที่ปลูกใหม่ แบบนี้ถือว่าบริหารจัดการป่าได้ แล้วก็จะได้เงินจากเรดด์พลัส หรือว่าการขยายพื้นที่แล้วเข้าไปบริหารจัดการ ตรงนี้ก็คือเรดด์พลัส”
วิธีคิดที่ยึดศักยภาพการเก็บกักคาร์บอนเป็นตัวชี้วัด การบริหารจัดการพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว ความเป็นป่าในมิติอื่น ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ผลิตผลจากป่า หรือมิติเชิงชุมชน อาจถูกเพิกเฉย แน่นอนว่า ตัวอย่างที่จักรชัยยกขึ้นมาค่อนข้างสุดโต่ง แต่ก็ช่วยให้เห็นภาพว่า หากประเทศไทยไม่มีกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับกลไกเรดด์พลัสที่ดีพอ ย่อมสุ่มเสี่ยงจะก่อผลกระทบที่คาดไม่ถึง
นิยามคำว่า ‘ป่า’ ไม่ชัด ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งชาวบ้าน-เจ้าหน้าที่
ประเด็นที่จักรชัยอธิบายผูกโยงกับประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงสำคัญว่า ป่าคืออะไร เหตุใดการนิยามความหมายของป่าจึงเป็นประเด็นสำคัญ พรพนาอธิบายว่า การประชุมระดับโลกก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า จะใช้นิยามร่วมกันที่ออกโดยสหประชาชาติ หรือให้แต่ละประเทศนิยามกันเอง ทั้งสองทางเลือกล้วนมีจุดอ่อน ถ้าใช้นิยามเดียวกันก็เกิดปัญหาว่า พื้นที่ป่าในแต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิศาสตร์ แล้วจะใช้นิยามเดียวกันได้อย่างไร แต่หากให้นิยามความหมายกันเอง แต่ละประเทศก็อาจจะนิยาม เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ปลูกพืชชนิดเดียวก็ถือว่าเป็นป่า เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายไทยมีการนิยามความหมายของป่าอยู่แล้ว แต่ไม่มีมิติเรื่องสังคมกับความหลากหลายทางนิเวศ
จากงานวิจัยเรื่อง ‘แนวคิดกลไกเรดด์ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมในบริบทสังคมไทย’ โดย สมหญิง สุนทรวงษ์ และระวี ถาวร กล่าวไว้ว่า
‘ป่าในชุมชนท้องถิ่นนั้น มิได้หมายถึงเพียงพื้นที่ และการปกคลุมเรือนยอด ตามที่หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้คำนิยามไว้ แต่ยังครอบคลุมถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ จุดเด่นทางธรรมชาติ ปัจจัยสี่ ตลอดจนเป็นชีวิต และมีประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย’
หมายความว่า หากการนิยามพื้นที่ป่าของกรมอุทยานฯ เพื่อขอเงินสนับสนุนจากเรดด์ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม และหน่วยงานยังยึดถือแนวคิดการจัดการป่าแบบเดิม ๆ ที่เชื่อว่า พื้นที่ป่าทุกตารางนิ้วเป็นของรัฐ ห้ามประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ พรพนาแสดงทัศนะว่า มีความเป็นไปได้ว่ากลไกเรดด์จะยิ่งทวีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนที่อาศัยป่าเป็นฐานชีวิต
“คิดว่าในทางปฏิบัติ สิ่งที่เป็นเป้าประสงค์ของเรดด์คือ ทำอย่างไรจะลดการใช้ป่าของชาวบ้าน ห้ามใช้ของจากป่า ห้ามเก็บของป่า ตัวอย่างแบบสุดขั้วคือ คุณจะแจกคูปองให้ชาวบ้านเข้าเซเว่นใช่หรือไม่ แล้วก็มีคำถามในแง่ว่า คุณจะให้เขาไปถึงเท่าไหร่ คุณเลี้ยงเขาไปตลอดได้หรือ เพราะป่ามันเป็นเรื่องของฐานยังชีพ ไม่ใช่ว่าเขาใช้ป่าทั้งหมด ชาวบ้านก็มีอาชีพอื่นๆ ด้วย แต่เมื่อสิ่งที่เคยเป็นฐานชีวิตของเขาได้รับผลกระทบ แล้วบอกว่าจะเอาเงินจากเรดด์ไปชดเชย ประเด็นการมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้มันคนละประเด็นกัน การมีส่วนร่วมคือ ทำให้ชาวบ้านเห็นด้วยกับทิศทางแบบนี้ แต่ถ้าชาวบ้านบอกว่าเขาดูแลป่าให้ก็ได้ ทำไมไม่เอาเงินจากเรดด์มาให้เขาดูแลป่าละ ทำไมต้องผ่านกรมอุทยานฯ ทำไมต้องใช้การเก็บกักคาร์บอนเป็นตัวชี้วัดว่าป่านี้จัดการดี ทำไมไม่ใช้ตัวชี้วัดเรื่องความยั่งยืน ซึ่งทำได้ในทางนิเวศ ดูความหลากหลายทางชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้นหรือไม่ สภาพป่ากลับคืนมาหรือไม่ ทำไมไม่ชี้วัดแบบนี้” พรพนากล่าว
ใช้เงินซื้อสิทธิปล่อยคาร์บอน ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
นอกจากเรื่องนิยามของป่าที่ยังตกลงกันไม่ได้แล้ว ปัญหาว่ากลไกเรดด์พลัส ควรใช้แนวทางจัดการแบบใดระหว่างกองทุนกับกลไกตลาดก็ยังไม่ข้อสรุปเช่นกัน
ความแตกต่างอยู่ที่ว่า แนวทางแรกเป็นการให้เปล่า จุดอ่อนคือไม่มีเครื่องการันตีได้ว่าเงินจะถึงชาวบ้าน ยังมินับการคอร์รัปชั่นที่มีโอกาสเกิดขึ้น ส่วนแนวทางหลังคือ การได้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนดังที่อธิบายไปแล้ว แต่เท่ากับว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ประเทศพัฒนาแล้วยังไม่ยอมลดการปล่อยคาร์บอน เพียงแค่ตีค่าเป็นเงิน และใช้เงินซื้อสิทธิการปล่อยคาร์บอนในปริมาณเดิม ซึ่งเป็นวิธีที่ราคาถูกกว่าการปรับปรุงเทคโนโลยีให้เป็นเทคโนโลยีสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ถ้าใช้แนวทางกลไกตลาดยังต้องมีระบบตรวจสอบว่า ป่าผืนนี้เก็บคาร์บอนได้จริง ต้องมีระบบรายงานผล ซึ่งแพง ต้องใช้นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ ยังไม่รู้ว่าต้องนำเข้าหรือเปล่า คำถามคือเราเอาเงินจากเรดด์ไปทำอะไร แทนที่จะเอาไปสนับสนุนชุมชน เพราะเงินมันไม่ใช่คำตอบ หลายพื้นที่ที่เงินเข้าไประบบชุมชนพังหมด การจัดการดูแลรักษาป่าไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่ว่าคุณให้สิทธิชุมชนดูแลรักษาป่ามากน้อยแค่ไหน เรื่องแบบนี้พูดมาตั้งนานแล้ว แต่กรมอุทยานฯ บอกว่าไม่ได้ พื้นที่นี้ต้องรักษาเป็นพื้นที่ป่าเท่านั้น”
หลักเรดด์พลัสที่พึงประสงค์ ก่อนความขัดแย้งลุกลาม
จากงานวิจัยของสมหญิง สุนทรวงษ์และระวี ถาวร เสนอประเด็นที่ควรพิจารณาเป็นหลักการเบื้องต้นของเรดด์พลัส ที่พึงประสงค์ในสังคมไทยว่า
1.ต้องไม่ละเมิดสิทธิวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นและต้องยอมรับพร้อมกับให้การคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรทั้งผลผลิตและบริการอย่างยั่งยืนเพื่อการดำรงชีวิต และเสริมศักยภาพการปรับตัวต่อผลกระทบความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะคนยากจนในชนบทที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพิงทรัพยากรป่า
2.ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชและสัตว์ นอกจากมองบทบาทป่าว่าช่วยเก็บกักคาร์บอน การสะสมคาร์บอนเป็นเพียงมูลค่าเพิ่ม เพราะความหลากหลายทางชีวภาพเป็นฐานสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหารและยาของทั้งชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ
3.ให้ความสำคัญต่อคุณค่าด้านบริการทางนิเวศ ทั้งการเป็นต้นน้ำ การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ ที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
4.สร้างแรงจูงใจที่หลากหลาย ทั้งมิติเศรษฐศาสตร์ ความเป็นอยู่ สวัสดิการ ฯลฯ ในการป้องกันการทำลายป่าจากการขยายของยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์
5.ส่งเสริมการฟื้นฟูระบบภูมิทัศน์ป่าไม้ (Forest Landscape Restoration) เพื่อการเก็บกักคาร์บอนควบคู่กับการเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่
6.ไม่เพิ่มเติมระดับความรุนแรงความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันเรื่องที่ดินป่าไม้ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ระหว่างชุมชนกับภาครัฐ และต้องมีการจัดการปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินป่าไม้ก่อน
7.สนับสนุนชุมชนในการจัดการป่าอย่างแข็งขันทั้งการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนชุมชนในการดูแลและฟื้นฟูป่า
8.อยู่บนหลักการจัดการป่าอย่างยั่งยืนทั้งการรักษาระบบนิเวศ ความหลากหลายชีวภาพ พัฒนาความเป็นอยู่และสังคมที่ดี รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่หลากหลายในท้องถิ่นของประเทศ
หากหลักการอันพึงประสงค์จากงานวิจัยไม่ถูกนำไปพิจารณา หน่วยงานรัฐมุ่งเน้นเพียงการเก็บกักคาร์บอนเป็นดัชนีชี้วัด แนวโน้มอนาคตก็มีโอกาสจะเป็นดังที่จักรชัยกล่าวทิ้งท้าย
“คำถามต่อไปคือการจัดการแบบนี้ ป่าจะกลายเป็นสินค้าแน่นอน จากเดิมที่รัฐอนุรักษ์ป่าตามกรอบการอนุรักษ์อย่างเดียวจะกลายเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ ซึ่งเราเชื่อว่ามีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่แล้วของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ