‘สื่ออาวุโส’จวก‘ไร่ส้ม-สรยุทธ’โกงอสมท. จี้หยุดรายการ-ธุรกิจเลิกหนุน-สังคมแบน นักวิชาการทวงถาม'จรรยาบรรณ'ของสื่อ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 5 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1716 ครั้ง

พลันที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แถลงข่าวชี้มูลความผิด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดังของไทย เพราะไม่เพียงกระบวนการยุติธรรมที่รออยู่เบื้องหน้า แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าภาคสังคมเริ่มเคลื่อนไหวกดดันให้นายสรยุทธ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และผู้สนับสนุนรายการ แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น

 

ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นและสถาบันอิศรา ร่วมกันจัดเสวนา “กรณีไร่ส้ม...บทพิสูจน์ความเข้มแข็งของสังคมในการต่อสู้คอร์รัปชั่น” ขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

 

สังคมควรทำอย่างไรถ้า “สื่อ” ไม่ชอบมาพากล

 

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวเปิดการเสวนาว่า ตามปกติแล้วสื่อคือผู้ติดตาม ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ถ้าวันหนึ่งสื่อกลับเป็นผู้มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลเสียเองแล้ว สังคมควรมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งนายประมนต์คิดว่าควรใช้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา โดยไม่จำกัดเฉพาะตัวบุคคล พร้อมตั้งคำถาม 4 ข้อให้สังคมช่วยขบคิดคือ

 

1.ถ้าสื่อประพฤติมิชอบเอง ตัวสื่อควรทำอย่างไร

2.เจ้าของสื่อ นายจ้าง หรือสถานีโทรทัศน์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีส่วนร่วมก็ตาม ควรพิจารณาและปฏิบัติอย่างไรต่อสื่อในสังกัดที่ประพฤติมิชอบ

3.ผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์ของรายการที่สื่อนั้นจัด ควรปฏิบัติตนอย่างไร

4,ประชาชนผู้เสพข่าว ควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสื่อผู้นั้น

 

 

ตัวการทุจริตเปิดปากสารภาพมัด ‘ไร่ส้ม-สรยุทธ’

 

 

หลังจากนั้น นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวทีนิวส์ และหนึ่งในอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า กรณีนี้เกิดขึ้นช่วงปีพ.ศ.2547-2549 เมื่อบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ทำสัญญาผลิตรายการให้แก่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) รูปแบบสัญญาเป็นลักษณะแบ่งผลประโยชน์ โดยเวลาออกอากาศ 1 ชั่วโมง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้เวลาโฆษณา 5 นาที ค่าโฆษณาที่ได้ ทั้งสองฝ่ายนำมาแบ่งกัน ถึงตรงนี้นายสนธิญาณอธิบายวิธีดำเนินธุรกิจของสถานีโทรทัศน์ว่า โดยทั่วไปเมื่อฝ่ายขายโฆษณาหาลูกค้าได้แล้ว ก็จะทำใบสั่งโฆษณาส่งไปยังฝ่ายผังรายการ เพื่อให้จัดเวลาให้ตามที่กำหนด เมื่อฝ่ายผังรายการกำหนดช่วงเวลาที่จะลงโฆษณาแล้ว จะส่งเอกสารต่อไปยังฝ่ายบัญชีและการเงิน เพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณา ฝ่ายขายโฆษณาจะนำใบยืนยันการออกอากาศ ไปยืนยันกับลูกค้าเพื่อเก็บค่าโฆษณา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่กรณีที่เกิดขึ้น มีการโฆษณาเกินเวลา 5 นาที ซึ่งนายสรยุทธเคยตั้งข้อสังเกตผ่านรายการของตนว่า การทุจริตทำนองนี้ เพียงเจ้าหน้าที่ธุรการคนเดียวจะสามารถทำได้อย่างไร นายสนธิญาณอธิบายว่า การที่เจ้าหน้าที่ธุรการคนเดียวสามารถทำได้ ก็เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายผังรายการ เมื่อใบสั่งโฆษณาจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ส่งมาถึง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็จัดผังให้และออกอากาศ ปรากฏว่าในใบผังไม่มีรายการโฆษณา แต่ทางบริษัท ไร่ส้ม จำกัด กลับทำใบออกอากาศไปยืนยันกับลูกค้า เพราะการกระทำนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อสมท.

 

กระทั่งวันหนึ่งทาง อสมท. ตรวจพบว่า ปี 2548 บริษัท ไร่ส้ม ได้โฆษณาส่วนเกินไป 40,110,000 บาท และในปี 2549 ได้โฆษณาเกินไปอีก 98,680,000 บาท เมื่อมีการตรวจพบ นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือ นางชนาภา บุญโต ซึ่งเป็นผู้จัดผังการออกอากาศ ก็ทำลายเอกสารด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ในขั้นการตรวจสอบมีการกู้คืนเอกสารที่ถูกทำลายมาตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงว่า มีการโฆษณาเกินไป 138 ล้านบาท อสมท. จึงเรียกเก็บเงินจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งบริษัท ไร่ส้ม ยินยอมจ่ายคืนให้

 

 

                     “นางชนาภายอมรับสารภาพว่าทุจริต พร้อมด้วยหลักฐาน คือเช็คที่รับจากบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เมื่อพิจารณาต่อว่า บริษัท ไร่ส้ม มีส่วนตกลงรู้เห็นกับนางชนาภาหรือไม่ พบว่า เช็คของบริษัท ไร่ส้ม นายสรยุทธเป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายทุกครั้ง รวมแล้วประมาณ 7 แสนบาท เมื่อตัวการรับสารภาพ จึงได้เสนอสำนวนต่อ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ต่อไป”

 

 

‘ดร.เสรี’ เรียกร้องช่อง 3 หยุดออกอากาศรายการสรยุทธ

 

 

เหตุการณ์นี้ ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า โดยบทบาทของสื่อแล้ว ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สื่อย่อมเท่ากับเป็นครูของสังคมไปโดยปริยาย ดังนั้นในทางทฤษฎีจึงบอกว่าสื่อต้องมีหัวใจยกระดับ

 

 

                  “สื่อต้องยึดหลักความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องคิดว่าข่าวที่เสนอหรือพฤติกรรมของตนจะกระทบสังคมอย่างไร เพราะย่อมเท่ากับสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่เหมาะสม ถ้าไม่สามารถคิดถึงผลกระทบต่อสังคมได้ ก็ควรจะออกไปจากตรงนี้ซะ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสมาคมวิชาชีพหรือไม่ แต่มันมีเรื่องจรรยาบรรณ คำว่ามืออาชีพ บางทีหมายถึงเก่งกว่าสมัครเล่น แต่ที่มากกว่าคือ การตระหนักรู้ในจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นคืออะไร และปฏิบัติตามนั้นให้ได้”

 

 

 

ดร.เสรีกล่าวอีกว่า หลายครั้งที่สื่อมวลชนวิจารณ์ข้าราชการหรือนักการเมือง ให้แสดงความรับผิดชอบต่อข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นด้วยการลาออก เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น ถ้าไม่ผิดก็สามารถกลับมาใหม่ได้ คำถามที่ดร.เสรีถามกลับก็คือ ยามที่สื่อเผชิญข้อกล่าวเสียเอง ทำไมสื่อจึงไม่แสดงความรับผิดชอบดังที่ตนเคยวิจารณ์ผู้อื่นบ้าง เช่นกัน ในฝั่งเจ้าของสถานีโทรทัศน์และผู้สนับสนุน ก็ควรพิจารณาเรื่องนี้ ว่าควรหยุดรายการและการสนับสนุนไว้ก่อนหรือไม่

 

 

               “คุณรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ เคยพูดในเวทีสัมมนาครั้งหนึ่งว่า อย่าสู้ด้วยเสียงหรือเห่าอย่างเดียว เห่าอย่างเดียวไม่กัด สุดท้ายขโมยก็ไม่กลัว ต้องกัดด้วย ไม่เห่าอย่างเดียว ผู้จ้างไม่ทำอะไร ก็แปลว่าเห่าแต่ไม่กัด สมาคมวิชาชีพไม่ออกมาแถลงอะไร ไม่ให้พักสมาชิกก็ไม่มีการกัด สปอนเซอร์ไม่ถอนตัวก่อน ก็ไม่มีการกัด ประชาชนชอบดู เรทติ้งไม่สะเทือน ก็เท่ากับไม่มีการกัด” ดร.เสรีกล่าว

 

 

ดร.สมเกียรติ’ เผยทุจริตทีวีมีมานาน แต่สังคมไม่สนใจ-ระดับสูงรอดตัว

 

 

ด้าน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโส เปิดเผยว่า เรื่องทำนองนี้ในสื่อโทรทัศน์มีมานานแล้ว มีทั้งกรณีที่ผู้จัดรายการและสถานีโทรทัศน์จับมือกัน แต่ไม่เคยมีการสืบสาวไปถึงตัวผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ได้ และกล่าวไม่เห็นด้วยกับการที่นายสรยุทธใช้เวลาในรายการของตนเองชี้แจง

 

 

               

           “การกระทำผิดจรรยาบรรณมีเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ที่ผ่านมาสังคมเฉยเมย ไม่เอาใจใส่ ปล่อยให้มีการบิดเบือนข้อมูล ผมคิดว่าต้องรับผิดชอบ จรรยาบรรณทำให้เราอยู่ได้ ไม่ใช่กฎหมาย ถ้าพบว่าผิดก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะกว่าสังคมหรือกฎหมายกว่าจะเอื้อมไปถึง มันใช้เวลานาน แต่เรื่องนี้คอยไม่ได้หรอก สำหรับวิชาชีพที่ต้องรับผิดชอบต่อจรรยาบรรณ ต้องรับผิดชอบทันที จะด้วยวิธีอะไรก็ตาม แต่ที่สุภาพและงดงามที่สุดคือ หยุด แต่ถ้าคิดว่าต้องคอยกฎหมาย ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องกดดันให้เขารับผิดชอบ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการต้องแสดงจุดยืนว่า ต้องถอนตัวออกมาก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ ช่อง 3 ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่าคลื่นที่ใช้อยู่ก็เป็นของประชาชน”

 

 

 

 

ชี้ต้นเหตุจากการแปรรูป ผู้บริหารระดับสูงอสมท.ได้ดี ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

 

ทางด้าน นักวิชาการที่ติดตามปัญหาคอร์รัปชั่นในเมืองไทยมาโดยตลอดอย่าง รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ต้นเหตุของปัญหาประการหนึ่งคือ นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในยุคนั้น อสมท.เดิมทีคือ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการแปรรูปมักเกิดจุดอ่อนเสมอ ดร.สังศิต ยกตัวอย่างงานวิจัยของธนาคารโลกหรือ เวิลด์ แบงก์ (World Bank) ว่า ประเทศที่มีการปฏิรูประบบราชการ มักจะเกิดช่องโหว่ให้มีการทุจริตอย่างมโหฬาร ซึ่งกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน

 

 

              “ในตอนแรก คุณสรยุทธก็แค่ไปรับจ้าง แต่รายการได้รับความนิยม จึงตั้งบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ขึ้นมา ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือบริษัท ไร่ส้ม มีเจ้าหน้าที่ของอสมท.ร่วมจัดตั้งด้วย และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ได้รับการรู้เห็นจากผู้บริหารระดับสูงของอสมท.หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้มีการตรวจสอบ ซึ่งถ้าเป็นจริง ไม่ว่าผู้บริหารระดับสูงจะรู้เห็นหรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่ไปจัดตั้งและเป็นกรรมการบริษัท ไร่ส้ม ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีนี้”

 

 

นอกจากนี้ ดร.สังศิตยังแจกแจงอีกว่า โดยปกติกว่าที่รายการรายการหนึ่งจะได้ออกอากาศ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ 8 ขั้นตอน แต่ในกรณีของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีการข้ามขั้นตอน ถามว่าเหตุใดจึงได้รับอภิสิทธิ์ และตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ตามทฤษฎีการคอร์รัปชั่น ถ้ามีการให้อภิสิทธิ์เกิดขึ้น ก็แสดงว่ามีโอกาสเกิดการทุจริต ซึ่งกรณีนี้น่าคิดต่อไปว่า ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 9 อสมท. ณ ขณะนั้นมีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพราะเรื่องเกิดขึ้นตั้งสองปีกว่า แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนผู้บริหารจึงเกิดการตรวจสอบ

 

ในมุมมองของดร.สังศิตเห็นว่า ผู้บริหารอสมท.หลายคนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่พยายามแก้ไข แต่เลือกที่จะเงียบ พนักงานของอสมท.ก็เช่นกัน เนื่องจากเกรงกลัวว่าจะกระทบต่อหน้าที่การงาน ทั้งยังมีเรื่องว่าคณะกรรมการตั้งผู้บริหารระดับสูงไปเป็นอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ ทำให้องค์กรขาดการตรวจสอบถ่วงดุล

 

 

เรียกร้อง ‘สังคม-สถาบันการศึกษา-สมาคมวิชาชีพ’ จัดการ

 

 

ด้านสนธิญาณ แสดงความเห็นในช่วงท้ายว่า

 

 

                “โดยปกติผมไม่ค่อยยุ่งกับองค์กรสื่อต่าง ๆ เพราะผมคิดว่าองค์กรสื่อปัจจุบันไม่มีความเข้มแข็ง พอ อยู่กันไป จะหาคนมาเป็นกรรมการยังต้องอ้อนวอนกันเลย ผมถือว่าองค์กรมีความอ่อนแอมาก เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เราพูดเรื่องจริยธรรม แต่วันนี้โลกสลับซับซ้อนมาก จากทุนนิยม วงการสื่อปัจจุบันเป็นนักข่าวอย่างเดียว แต่มีรายได้หลายทาง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นคือ ควรมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนหมอหรือทนายความ ที่ทำผิดแล้วถูกถอนใบอนุญาต นี่กระทบต่อคนคนเดียวนะครับ แต่เวลาสื่อทำ สังคมเสียหายโดยรวม แต่เราไม่มี พอพูดว่าต้องมีบ้าง ก็มีกระแสเสียงว่ากำลังหาอะไรมามัดคอตัวเอง แต่วันนี้เราไม่มีกำลังพอจะดูแลตัวเราเอง ยุคก่อนสื่อมีศักดิ์ศรี มีปัญหากับนายทุน ยกทีมออกไปตายเอาดาบหน้า ทุกวันนี้ทำไม่ได้ วันนี้องค์กรวิชาชีพจึงควรพิจารณาทบทวนตัวเอง ถ้าแค่เรียกร้องให้ออก ก็ได้แค่นี้ ไม่มีมาตรการที่จะทำอะไรได้”

 

ในช่วงท้าย ดร.เสรี มีข้อเสนอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายคือ หนึ่ง สมาคมวิชาชีพสื่อควรออกแถลงการณ์บางอย่าง เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องนี้ สอง ป.ป.ช.ควรให้รายละเอียดมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม สาม ตลาดหลักทรัพย์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายฯ ซึ่งบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนรายกายของนายสรยุทธ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรจะใช้สำนึกพิจารณาว่าต้องถอนโฆษณาก่อน และสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็ควรหยุดรายการของนายสรยุทธก่อนเช่นกัน สี่ ครู อาจารย์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์จำเป็นต้องออกมาแถลง เพื่อแสดงจุดยืนบางประการ และห้า ฝ่ายผู้เสพสื่อหรือผู้ชม ต้องเลิกชมและใช้มาตรการทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทางกดดัน รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจรัฐเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของสื่อรายนี้ สังคมเห็นแล้วว่าให้ความช่วยเหลือรัฐอย่างไรบ้าง

 

 

 

               “เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมา อย่างเรื่องการทุจริตตั้งมากมายไม่เคยไปตาม แต่ควายหายไปตัวหนึ่งตามอยู่ 3 สัปดาห์ เรื่องควรเสนอไม่เสนอ เรื่องบางเรื่องไม่ควรนำเสนอ แต่เสนอไปสิบนาที” ดร.เสรีกล่าว

 

 

ประเด็นการชี้มูลทุจริตของป.ป.ช. กรณีบริษัท ไร่ส้ม และนายสรยุทธ สุดท้ายแล้ว ดูจะไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าสื่อคนหนึ่งมีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล แต่กำลังขยายวงกว้างสู่สังคม และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า ควรมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ และที่สำคัญองค์กรวิชาชีพและสื่อมวลชนด้วยกันเอง จะอธิบายตนเองต่อสังคมอย่างไร จะลงมือกระทำอะไรหรือไม่ หรือได้เพียงอยู่เฉย ๆ หรือทำ แต่ก็ไม่เกิดผลอันใดเป็นชิ้นเป็นอันตามมา หรือนี่คือผลของวัฒนธรรม “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” ที่มีมาช้านานในวงการนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: