เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่วัดชุมพลพานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ชาวบ้านจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน (คสข.) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง จำนวนกว่า 200คน ได้รวมตัวกันทำพิธีสักการะแม่น้ำโขง และมีแถลงการณ์ถึงผู้นำประเทศเอเชีย-ยุโรป ในวาระการประชุมอาเซมซัมมิท เพื่อคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว
ภายหลังจากการทำพิธีสักการะแม่น้ำโขงและบูชาพญานาค ทั้งหมดได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ โดยนายเสถียร มีบุญ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และแกนนำชาวบ้านกล่าวว่าชาวบ้านต้องการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขง กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนล่างที่กำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการเขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในสปป.ลาว ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัทเอกชนไทย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเดินหน้าการก่อสร้างอย่างรวดเร็ว ทั้งที่มีการคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ตลอดจนประชาชนในภูมิภาค
“พี่น้องเรากิน อยู่ อาศัยกับแม่น้ำโขง แต่การสร้างเขื่อนจะทำให้พวกเราเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงกังวลมากว่าแม่น้ำโขงจะถูกทำลาย พันธุ์ปลา การประมง การเกษตร การคมนาคม และปากท้อง วิถีชีวิตจะสูญหาย ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาถามเราว่า ชุมชมริมแม่น้ำโขงพึ่งพาแม่น้ำโขงแค่ไหน ใครจะรับรองได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน” นายเสถียรกล่าว
นายเสถียรอ่านแถลงการณ์ต่อว่า สำหรับประเทศทั้งในเอเชีย และยุโรป ที่เป็นผู้บริจาคแก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หลายปีที่ผ่านมา เราพบว่ากลไกของ MRC ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 แต่ข้อตกลงนี้ก็แทบไม่มีความหมาย เพราะการตัดสินใจไม่ได้อยู่บนฐานของ ข้อเท็จจริง ความรู้ และการมีส่วนร่วม แต่กลับเป็นเรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้า
“แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามนำเสนอผ่านสื่อมวลชนของทางการลาวว่าเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อน โปร่งใส ไม่มีการกักเก็บน้ำ ไม่กักเก็บตะกอน และไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์ปลา แต่กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการแก่สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบ และไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านที่เพียงพอที่จะใช้ประเมินความเสียหาย โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนท้ายน้ำ-เหนือน้ำ ในประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่ประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงกัมพูชา และเวียดนาม” แกนนำชาวบ้านกล่าว
หลังจากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันปล่อยขบวนเรือติดป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อนด้วยข้อความต่างๆ อาทิ น้ำโขงเลี้ยงชีวิตอย่าคิดสร้างเขื่อนกั้น หยุดเขื่อนไซยะบุรี อย่ากั้นทางพญานาค จำนวน 45 ลำ โดยล่องในแม่น้ำโขงบริเวณ อ. ศรีเชียงใหม่ ฝั่งตรงข้ามกับนครเวียงจันทน์ เพื่อประท้วงการก่อสร้างเขื่อน ทั้งนี้ขบวนเรือต้องพยายามล่องให้ประชิดชายฝั่งไทยให้มากที่สุด เนื่องจากมีเรือลาดตระเวนของทางการลาวจำนวน 3 ลำ วิ่งตรวจการและสังเกตการณ์ในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์ของทางการบินวนเวียนสังเกตการณ์อยู่หลายรอบ
ขณะเดียวกันทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านบางรายได้รับแจ้งข่าวมาจากทางจังหวัดว่า เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเวียงจันทน์ ได้โทรศัพท์แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้ปลดป้ายประท้วงออก นอกจากนี้มีคนของหน่วยราชการนับสิบคนเข้าร่วมสังเกตการณ์ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดูแลความเรียบร้อยจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศการจัดกิจกรรมเป็นไปอย่างตึงเครียด และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เร่งทำกิจกรรมให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเกรงว่าจะถูกปิดกั้นจากทางการ ซึ่งทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ