จากกรณีเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายเตือนภัยเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เรียกร้องให้รัฐบาลระงับการนำเข้าสารเคมีเกษตรร้ายแรง และบางประเทศประกาศห้ามใช้ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน, เมธโทมิล, ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เนื่องจากพบปัญหาสารเคมีเกษตรที่ตกค้างในพืชผัก และผลไม้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มักพบในข้าว มะเขือเทศ แตงโม และแตงกวา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จึงสั่งระงับการพิจารณาขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรดังกล่าว พร้อมกับอนุญาตให้ตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลวิชาการ และตรวจสอบกระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีเพื่อการเกษตร ก่อนเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานต่อไป
นอกจากนี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังสอบถามถึงปัญหาพืชผักส่งออกไปสหภาพยุโรปบางส่วนที่ถูกตรวจพบสารพิษตกค้างสูงเกินมาตรฐาน พร้อมกำชับผู้รับผิดชอบเพิ่มความกวดขัน และออกตรวจตราซ้ำในแปลงผัก และผลไม้ ที่เคยได้รับเครื่องมือว่าผ่านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารเพื่อการส่งออก (จีเอพี) รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคสินค้าปลอดสารพิษโดยผ่านร้านคิวช็อป เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างจริงจัง
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีไทย หรือไบโอไทย กล่าวว่า การระงับการขึ้นทะเบียนครั้งนี้เป็นการระงับชั่วคราวเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นความชัดเจนของฝ่ายการเมือง อย่างไรก็ตามการที่กรมวิชาการเกษตรให้ภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ กระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีเพื่อการเกษตร ในส่วนของภาคประชาชนได้เสนอไปเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่มีหนังสือยืนยันการแต่งตั้งคณะกรรมการจากกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด
“ฝ่ายการเมืองแสดงพยายามดำเนินการเรื่องนี้ เขาโทรศัพท์มาคุยกับเราก่อนจะมีคำสั่งออกมา ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่รัฐมนตรีประกาศออกมา จะมีผลในทางปฏิบัติให้ในส่วนราชการดำเนินการต่อไป อย่างไรยังรู้สึกกังวลใจแม้จะมีคำสั่งจากรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรยังไม่ดำเนินการเรื่องตั้งคณะกรรมการ ทั้งนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนที่รัฐบาลต้องมีคำสั่งชัดเจนว่า จะขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดหรือไม่ ซึ่งทางฝ่ายการเมืองต้องเร่งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเรื่องนี้ด้วย” นายวิฑูรย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คำสั่งระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีเพื่อการเกษตรครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรกรฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2555 มีข้อเรียกร้องสำคัญ 2 ประการคือ 1.ให้มีการเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ผลด้านประสิทธิภาพ พิษวิทยา พิษระยะยาว คำชี้แจงของบริษัทสารเคมีเกษตรในประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายชื่อคณะอนุกรรมการและคณะทำงานในการพิจารณาขึ้นทะเบียน 2.ให้กระทรวงเกษตรฯแต่งตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทนฝ่ายการเมืองร่วมพิจารณายกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเหล่านี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯรับปากที่จะเปิดเผยข้อมูลที่ภาคประชาชนขอภายใน 1 สัปดาห์
ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้เชิญตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายไทยแพนเข้าร่วมปรึกษาหารือ กรณีการพิจารณาระงับการขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงในบัญชีเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยในการประชุม นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังที่ได้รับปากไว้ เนื่องจากข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง ข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการศึกษาเรื่องพิษระยะยาวบางส่วน เป็นผลศึกษาของบริษัทสารเคมีเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นความลับของบริษัท ในระหว่างการประชุมอธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังเสนออีกว่า การห้ามนำเข้า จำหน่าย และครอบครองสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถ้าหากต้องการระงับการนำเข้าสารเคมีดังกล่าว ต้องเสนอต่อคณะทำงานพิจารณาวัตถุอันตราย ในบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเสนอต่อกรรมการวัตถุอันตรายตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งภาคประชาชนเสนอไปเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ